เรื่องที่ 142 : ข้อพิพาทเงื่อนไขพิเศษว่าด้วย 50/50 ระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา
(ตอนที่สอง)
เมื่อบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองงานติดตั้งนั้น (ในที่นี้ขอเรียกว่า บริษัท B) ได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองระหว่างการขนส่ง (ในที่นี้ขอเรียกว่า บริษัท A) รับผิดนั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายได้สรุปประเด็นพิพาทออกได้เป็น 3 ประเด็น เพื่อให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้
1) สาเหตุแห่งความเสียหายกิดจากอะไร? และเกิดในช่วงเวลาใด?
เนื่องจากบริษัท B อ้างว่า เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการขนส่งทั้งทางรถกับทางเรือซึ่งมีสาเหตุมาจากแรงสั่นสะเทือนในช่วงเวลาขนถ่ายนั้นเอง โดยเฉพาะจากสภาพถนนที่ไม่ดีเป็นปัจจัยสำคัญ
ขณะที่บริษัท A โต้แย้งว่า รอยแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากแรงเค้น (Fatigue Stress Cracking) ตรงท่อของบล็อกตัวประหยัดน้ำมัน (Economizer) นั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากของแรงลมมากกว่า ซึ่งได้เกิดขึ้นมาระหว่างช่วงการทดสอบ (Testing Period) เครื่องจักรกับอุปกรณ์ เพราะตัวเครื่องจักรกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งนั้นได้ถูกขนส่งมาถึงสถานที่ทำงาน ตั้งแต่เมื่อประมาณสี่ถึงหกเดือนที่ผ่านมาแล้ว
2) ถ้าการสั่นสะเทือนจากสภาพถนนเป็นต้นเหตุจริง น่าเชื่อได้ว่า การเสื่อมสภาพในตัวเอง (Inherent Vice) ของอุปกรณ์ท่อที่นำมาติดตั้งนั้นเป็นปัจจัยสาเหตุใกล้ชิดที่เสริมเพิ่มเติมเข้ามาจนทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวในท้ายที่สุด
โดยหลักการของสาเหตุใกล้ชิด เมื่อมีสองสาเหตุเกิดขึ้นพ้องกัน ถ้าสาเหตุหนึ่งเป็นข้อยกเว้น แม้อีกสาเหตุหนึ่งจะเป็นภัยคุ้มครองก็ตาม ให้ถือว่า ล้วนจะมิได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น ซึ่งภัยการเสื่อมสภาพในตัวเองก็ตกอยู่ในข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลด้วย ฉะนั้น บริษัท A ไม่จำต้องรับผิดแต่ประการใด
3) ตัวเลขความเสียหายที่บริษัท B ได้ชดใช้ไปทั้งสิ้น 4,600,000 ปอนด์ (หรือเทียบเท่าประมาณ 197.8 ล้านบาท) นั้นเป็นตัวเลขที่ถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า?
ภายหลังจากได้รับฟังพยานหลักฐาน และความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ แล้ว ศาลได้วินิจฉัยออกมา ดังนี้
1) ประเด็นที่หนึ่ง สาเหตุจากลมนั้น มีความน่าจะเป็นค่อนข้างน้อยที่จะสร้างความเสียหายนี้ขึ้นมาได้ เพราะแรงลมมิได้ถึงขนาดรุนแรงมากมาย ตัวท่อเองก็มีส่วนปกป้องกันเอาไว้อยู่
2) ประเด็นที่สองเนื่องจากการสั่นสะเทือนจากสภาพถนนเป็นต้นเหตุนั้นมีความน่าจะเป็นสูงมาก เมื่อพิจารณาจากหลักฐานบางส่วนจากหีบห่อที่บรรจุ ดูแล้วเชื่อว่าไม่น่าจะถูกต้องเหมาะสมเพียงพอ ครั้นเมื่อเจอกับสภาพถนนที่ไม่ดี จึงส่งผลทำให้เกิดความเสียหายนี้ขึ้นมาได้
ส่วนประเด็นการเสื่อมสภาพจากการกัดกร่อนจากความชื้นของน้ำทะเลนั้น ไม่น่าจะเป็นผล อีกทั้งก็ไม่ปรากฏข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดจากการออกแบบ หรือการผลิตของโรงงานผลิตท่อเหล่านี้ด้วย
ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกโดยอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อันตกอยู่ในความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล
3) ประเด็นที่สาม ตัวเลขความเสียหายที่บริษัท B ได้ชดใช้ไปทั้งสิ้น 4,600,000 ปอนด์ (หรือเทียบเท่าประมาณ 197.8 ล้านบาท) นั้น และได้มาเรียกร้องเงินคืนจากบริษัท A เป็นสัดส่วน 80% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 3,680,000 ปอนด์ (หรือเทียบเท่าประมาณ 158.3 ล้านบาท) ซึ่งบริษัท A จำต้องรับผิดชอบนั้น (บริษัท B รับผิดเพียง 20%) ศาลเห็นพ้องด้วยตามคำฟ้อง
หมายเหตุ: เนื่องด้วยคดีนี้ศาลวินิจฉัยสาเหตุหลักของความเสียหายนี้มาจากช่วงระหว่างการขนส่ง ขณะที่สาเหตุจากแรงลมยังมิอาจตัดทิ้งไปได้อย่างสิ้นเชิงเสียทีเดียว จึงทำให้สามารถจัดแบ่งความรับผิดออกไปได้เป็น 80/20 ขณะที่เงื่อนไขพิเศษ 50/50 นั้น เป็นกรณีที่ไม่อาจบ่งชี้สัดส่วนความรับผิดได้อย่างชัดเจน จึงเหมารวมให้รับผิดคนละครึ่งแทน
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี European Group Limited & Others v Chartis Insurance UK Ltd [2012] EWHC 1245 (QB))
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น