วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 138 : อายุความฟ้องร้องคดี (Statute of Limitation) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะเริ่มนับเมื่อใด?

 

(ตอนที่สอง)

 

ในการทำความเข้าใจตัวอย่างคดีศึกษาอายุความฟ้องร้องคดี สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของประเทศโคลอมเบีย เนื่องจากคดีศึกษาดังกล่าวไม่ปรากฏมีรายละเอียดคดีมาให้มากพอ จึงขอแจกแจงเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ดังนี้

 

ผู้เอาประกันภัยได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักควบคู่กันกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง

 

สมมุติ ระยะเวลาประกันภัยทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย คือ 1 ปี

เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2004 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2005

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

 

ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (Maximum Indemnity Period) คือ 6 เดือน

 

อุบัติเหตุไฟไหม้เกิดขึ้น ณ สถานที่เอาประกันภัย ณ วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004

 

สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบางส่วน จนทำให้ผู้เอาประกันภัยจำต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราว เพื่อทำการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิม ซึ่งช่วงเวลานั้นได้ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางการเงิน อันได้แก่ รายได้ (Turnover) กับผลกำไรขั้นต้น (Gross Profit) ที่ลดลงไปด้วย

 

เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าวแก่บริษัทประกันภัยของตนแล้ว สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น บริษัทประกันภัยนั้นตกลงยอมรับชดใช้ให้ แต่ความสูญเสียทางการเงินนั้นได้มีการร้องขอให้ผู้เอาประกันภัยนำส่งหลักฐานที่จำเป็น เพื่อประกอบการพิจารณาเสียก่อน

 

หลังจากได้ซ่อมแซมความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

ผู้เอาประกันภัยได้กลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2005

 

ขณะที่ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด 6 เดือน จะครบกำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2005

 

ผู้เอาประกันภัยได้รวบรวมนำส่งหลักฐานทางการเงินตามที่ร้องขอ ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2005

 

ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นฟ้องคดีต่อบริษัทประกันภัยนั้น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 เพื่อเรียกร้องให้รับผิดเฉพาะในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ฉบับพิพาท

 

โดยกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า หลังจากนำส่งหลักฐานทางการเงินตามที่ร้องขอให้แก่บริษัทประกันภัยนั้นเรียบร้อยแล้ว จนล่วงเวลากว่าสองปี ก็ยังมิได้รับคำตอบใด ๆ จากบริษัทประกันภัยนั้นเลยว่า ตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้หรือไม่? อย่างไร?   

 

บริษัทประกันภัยนั้นในฐานะจำเลยต่อสู้คดี โดยหยิบยกอายุความฟ้องร้องคดี 2 ปีมาต่อสู้ว่า คดีนี้ได้สิ้นสุดอายุความไปแล้ว นับแต่วันที่เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าว คือ วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004

 

เนื่องจากกฎหมายประกันภัยแห่งประเทศโคลอมเบียได้บัญญัติให้นำคดีตามสัญญาประกันภัยมาฟ้องภายในสองปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้ทราบถึงข้อความจริงอันก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือวันที่ผู้เอาประกันภัยควรจะได้ทราบถึงข้อความจริงดังกล่าวนั้นเอง

 

ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับฝ่ายจำเลย พิพากษาให้ยกฟ้อง

 

ผู้เอาประกันภัยฝ่ายโจทก์ไม่ยอมแพ้ ยื่นฎีกา

 

ศาลฎีกาได้วิเคราะห์รูปแบบความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ฉบับพิพาทว่า เป็นของประเทศอังกฤษ พร้อมกับอธิบายเสริมเพิ่มเติมอีกว่า รูปแบบความคุ้มครองดังกล่าวสามารถจัดแบ่งออกได้เป็นสองค่ายใหญ่ ๆ ดังนี้

 

1) ค่ายประเทศอังกฤษ

 

จะให้ความคุ้มครองภายในระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ (Indemnity Period & Maximum Indemnity Period) สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหายทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อผลกำไรขั้นต้นของผู้เอาประกันภัย จนกว่าจะทำให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิม เสมือนหนึ่งมิได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเลย โดยให้ความคุ้มครองรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น (Increase in Cost of Working) ตามความจำเป็นด้วย

 

2) ค่ายประเทศสหรัฐอเมริกา

 

จะให้ความคุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายทางการเงินต่อรายได้รวมขั้นต้น (Gross Earnings) ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เงินได้สุทธิกับค่าใช้จ่ายประจำในการดำเนินงานนั่นเอง จนกว่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายนั้นจะได้กลับคืนสู่สภาพดังเดิม โดยแตกต่างจากค่ายแรกตรงที่ความคุ้มครองของค่ายนี้จะมิได้คุ้มครองไปจนถึงสถานะทางการเงินของผู้เอาประกันภัยกลับคืนดังเดิมด้วย เว้นแต่จะได้ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมเอาไว้ก่อน

 

ฉะนั้น โดยหลักการ ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะเริ่มมีผลใช้บังคับ ต่อเมื่อ

 

(ก) เกิดความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากภัยที่คุ้มครอง

 

(ข) ธุรกิจได้รับผลกระทบหรือจำต้องหยุดชะงักไป สืบเนื่องจากความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าว

 

(ค) ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหรือจำต้องหยุดชะงักไป อันจะได้รับความคุ้มครองนั้นจะต้องเป็นผลโดยตรงมาจากความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวด้วย

 

(ง) ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองเพียงภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนเท่านั้น ได้แก่ ช่วงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่กำหนดไว้ (Indemnity Periods) (สำหรับค่ายประเทศอังกฤษ) หรือช่วงระยะเวลาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายกลับคืนสู่สภาพดังเดิม (Restoration Period) (สำหรับค่ายประเทศสหรัฐอเมริกา)   

 

เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ฉบับพิพาทมีรูปแบบความคุ้มครองของประเทศอังกฤษ อายุความฟ้องร้องคดีจึงมิได้จำกัดอยู่เพียงนับแต่วันที่เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากภัยที่คุ้มครองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง

 

(1) วันที่สถานะทางการเงินของผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สภาพดังเดิม หรือ

 

(2) วันที่ครบกำหนดระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่กำหนดไว้

 

แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน

 

ทั้งนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยตามความสูญเสีย หรือความเสียหายทางการเงินอย่างแท้จริง จนทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิม เสมือนหนึ่งมิได้เกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้นมาเลย

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว อายุความฟ้องร้องคดีภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ฉบับพิพาทของผู้เอาประกันภัย จึงยังมิอาจเริ่มนับได้จนกว่าจะถึงวันที่สถานะทางการเงินของผู้เอาประกันภัยได้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมแล้ว หรือ ณ วันที่ครบกำหนดระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น

 

จึงพิพากษากลับให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ฉบับพิพาท เนื่องจากวันที่ยื่นฟ้องยังไม่พ้นกำหนดอายุความสองปี เพราะวินาศภัย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหายทางการเงินแท้จริงทั้งหมดนั้นเพิ่งถูกประเมินออกมาได้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 ด้วยเหตุแห่งความซับซ้อนของเงื่อนไขความคุ้มครองกับหลักฐานที่หลากหลายของการประกันภัยประเภทนี้ การเริ่มนับอายุความจำต้องนับตั้งแต่วันที่ประเมินตัวเลขความเสียหายดังกล่าวออกมาได้แล้วเท่านั้น

 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Cueros y Diseños S.A. v BBVA Seguros Colombia S.A. และบทความ Business Interruption - Colombia Supreme Court rules on BI limitation, Clyde & Co LLp – Angela Carazo Gormley, December 7, 2016 & Colombia's Supreme Court hands down time bar judgment on BI insurance, DAC Beachcroft – Juan Diego Arango Giraldo and Sascha Stullenberg, April 11, 2017)

 

กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ฉบับมาตรฐานบ้านเราก็อาศัยต้นแบบจากประเทศอังกฤษ ไม่แน่ใจเหมือนกัน ศาลไทยท่านจะวินิจฉัยเรื่องอายุความตามแนวของตัวอย่างคดีศึกษานี้หรือไม่?

 

ทางที่ดีและปลอดภัยที่สุด ขอให้คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน ตั้งแต่ต้นที่ตกลงทำสัญญากันดีกว่านะครับ เพราะรูปแบบความคุ้มครองกับหลักฐานที่ใช้ประกอบเวลาขอทำประกันภัยกับเวลาเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้ว มีมากมาย และใช้เวลานานไม่น้อยเลยล่ะครับ

 

ขอให้โชคดีครับ

 

เรื่องต่อไป แนวคำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุดแห่งประเทศอังกฤษประเด็นกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับโรคไวรัสโควิด - 19

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น