วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

 

เรื่องที่ 137 : ข้อยกเว้นการลักทรัพย์ (Theft) กับการไม่ซื่อสัตย์ (Dishonesty) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไร?

 

(ตอนที่สอง)

 

คดีนี้มีความซับซ้อนค่อนข้างมากในการค้นหาและวิเคราะห์ตัวเลขของความเสียหายที่แท้จริง โดยเฉพาะส่วนความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งผู้เอาประกันภัยให้ความสนใจมากกว่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน เนื่องด้วย

 

ก) สาเหตุความเสียหายและช่วงระยะเวลาความเสียหาย

เกิดจากการลักทรัพย์ของลูกจ้าง ซึ่งกระทำผิดติดต่อเรื่อยมาร่วมห้าปี ถ้าสาเหตุจากไฟไหม้ หรือน้ำท่วมจะสามารถพิสูจน์ได้ง่ายกว่า

 

ข) จำนวนครั้งความเสียหาย

มีเงื่อนไขเรื่องค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองก่อนอยู่ที่ 5,000 ปอนด์ ต่อความเสียหายแต่ละครั้งและทุกครั้ง

 

ค) กรมธรรม์ประกันภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายฉบับ

ช่วงปี ค.ศ. 2004, มีสองบริษัทประกันภัยร่วมกันรับผิดรายละ 60% และ 40%

ช่วงปี ค.ศ. 2004 - 2006, มีสามบริษัทประกันภัยร่วมกันรับผิดรายละ 50%, 30% และ 20%

ช่วงปี ค.ศ. 2006 - 2007, มีสามบริษัทประกันภัยร่วมกันรับผิดรายละ 50%, 25% และ 25%

ช่วงปี ค.ศ. 2007 - 2009, มีหนึ่งบริษัทประกันภัยรับผิด 100%

 

ง) ตัวเลขความเสียหายที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยกับฝ่ายบริษัทประกันภัยประมาณการมาได้มีความแตกต่างกัน

ศาลจำต้องพยายามพินิจพิเคราะห์จากพยานหลักฐานที่นำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย โดยจำแนกลำดับ ดังนี้

 

1) ความน่าจะเป็นของจำนวนชิ้นของสินค้าที่ถูกขโมยไป และในช่วงเวลาใดบ้าง?

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยอ้างว่า คนร้ายรายนั้นขโมยสินค้าโดยเฉลี่ย 3.5 กล่อง ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง แต่ละกล่องบรรจุสินค้าประมาณ 68.25 ชิ้น หรือโดยเฉลี่ยขโมยไป 238 ชิ้น ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง

ช่วงปี ค.ศ. 2004/2005: สินค้าถูกขโมยรวม 9,685 ชิ้น หรือ 42.6 เหตุการณ์

ช่วงปี ค.ศ. 2005/2006: สินค้าถูกขโมยรวม 19,018 ชิ้น หรือ 88.9 เหตุการณ์

ช่วงปี ค.ศ. 2006/2007: สินค้าถูกขโมยรวม 24,269 ชิ้น หรือ 112.1 เหตุการณ์

ช่วงปี ค.ศ. 2007/2008: สินค้าถูกขโมยรวม 35,049 ชิ้น หรือ 164.2 เหตุการณ์

ช่วงปี ค.ศ. 2008/2009: สินค้าถูกขโมยรวม 35,529 ชิ้น หรือ 163.3 เหตุการณ์ (ประมาณ 8 เดือนกว่า)

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยโต้แย้งไม่น่าจะเป็นไปได้ อย่างมากน่าจะเกิดขึ้นช่วงสามปีหลังที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของสต็อกสินค้า

 

2) ความเสียหายต่อกำไรขั้นต้นแต่ละช่วงปี?

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยประมาณการโดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ได้ตัวเลขออกมา (ก่อนหักค่าเสียหายส่วนแรก) ดังนี้

 

ช่วงปี ค.ศ. 2004/2005 เสียหายรวม 343,374 ปอนด์

ช่วงปี ค.ศ. 2005/2006 เสียหายรวม 620,640 ปอนด์

ช่วงปี ค.ศ. 2006/2007 เสียหายรวม 880,357 ปอนด์

ช่วงปี ค.ศ. 2007/2008 เสียหายรวม 1,173,928 ปอนด์

ช่วงปี ค.ศ. 2008/2009 เสียหายรวม 1,159,329 ปอนด์

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยไม่ยอมรับด้วยเหตุผลหลายประการ

 

3) ค่าเสียหายส่วนแรกที่จะถูกนำมาใช้บังคับ

ฝ่ายบริษัทประกันภัยเห็นว่า ตัวเลขที่เรียกร้องมานั้นเป็นตัวเลขรวม เมื่อนำค่าเสียหายส่วนแรกต่อความเสียหายแต่ละครั้งมาหักออกไปแล้ว จะไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เลย เนื่องจากค่าเสียหายแต่ละครั้งมีจำนวนเงินต่ำกว่าค่าเสียหายส่วนแรก

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยยอมรับว่า ตัวเลขที่เรียกร้องมาข้างต้นยังไม่ได้นำค่าเสียหายส่วนแรกมาใช้บังคับ แต่เวลานำไปหักก็ควรหักจากตัวเลขยอดรวมแต่ละปีไปเลย

 

ศาลวินิจฉัยประเด็นลำดับแรกที่ว่า สินค้าที่สูญหายไปนั้นเนื่องจากการลักทรัพย์ของลูกจ้างรายนั้นจริงหรือเปล่า?

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจำต้องพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้เช่นนั้น มิใช่แค่อ้างสินค้าได้สูญหายไปร่วมห้าปี ขณะที่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพียงสามเหตุการณ์เท่านั้น

 

การที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยอ้างหลักการภาระพิสูจน์ กรณีความคุ้มครองแบบสรรพภัยตกอยู่แก่บริษัทประกันภัยเป็นลำดับแรกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตกอยู่ในข้อยกเว้นหรือเปล่า ศาลเห็นพ้องด้วย แต่ประเด็นที่หาข้อสรุปไม่ได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้นมีจำนวนเงินต่ำกว่าหรือสูงกว่าค่าเสียหายส่วนแรกนั้น มิใช่เป็นเรื่องของข้อยกเว้นดังอ้างถึง ประเด็นนี้เป็นเรื่องตัวเลขความเสียหายจึงอยู่ที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจำต้องมีภาระพิสูจน์ให้เห็นและยอมรับได้เสียก่อน

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยตั้งสมมุติฐานจำนวนครั้ง/ชิ้นที่เกิดเหตุจากงบสินค้าคงคลังล่าสุดเป็นเกณฑ์ตั้งต้นย้อนหลังไปนั้น ไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ เพราะอาจตั้งสมมุติฐานพฤติกรรมของคนร้ายได้ค่อนข้างหลากหลาย เป็นต้นว่า คนร้ายอาจเริ่มขโมยทีละเล็กน้อย แล้วมากขึ้นภายหลัง หรืออาจลักษณะตรงกันข้ามก็ได้ เพราะหลัง ๆ อาจเกรงกลัวเริ่มเป็นที่สงสัยได้

 

ด้วยเหตุผลดังอ้างข้างต้น ประกอบกับลักษณะธุรกิจของฝ่ายผู้เอาประกันภัยมีสินค้าหลายรูปแบบ หลายราคา และหลายฤดูกาล ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพิสูจน์ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริง ให้เป็นที่ยอมรับฟังได้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้อย่างเพียงพอว่า ความเสียหายของฝ่ายผู้เอาประกันภัยนั้นมีจำนวนเกินกว่าค่าเสียหายส่วนแรก

 

สรุป คือ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคดีนี้ได้ นี่คือปัญหามักพบเห็นได้บ่อยครั้งในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งจำต้องอาศัยพยานหลักฐานทางด้านบัญชีมาพิสูจน์กัน แต่ถ้าหลักฐานทางด้านบัญชีสูญหาย หรือไม่ชัดเจนพอ ก็เจอปัญหาแน่นอนครับ อย่างคดีศึกษาข้างต้น อีกประเด็นหนึ่งที่มิได้กล่าวถึง คือ การจัดทำหลักฐานทางบัญชีมาสนับสนุนนั้นจำต้องอาศัยกำลังผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามา และอาจใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่เกิดการเกี่ยงกันว่า ให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยบอกมาก่อนว่า ถ้าเสียเงิน เสียเวลาไปแล้ว สรุปจะเคลมได้หรือไม่? ฝ่ายบริษัทประกันภัยไม่กล้าตอบ กลับเกี่ยงให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจัดหาหลักฐานมาให้ครบถ้วนก่อน แล้วค่อยว่ากล่าวกัน จนสุดท้ายเป็นคดีขึ้นมาดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนราคาแพงมากนะครับ

 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Ted Baker v AXA Insurance UK Plc [2014] EWHC 3548 (Comm) & [2017] EWCA Civ 4097))

 

เรื่องต่อไป : อายุความฟ้องร้องคดี (Statute of Limitation) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะเริ่มนับเมื่อใด?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น