เรื่องที่ 139: แนวคำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุดแห่งประเทศอังกฤษประเด็นกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19
(ตอนที่หนึ่ง)
ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งทั่วโลก ได้ก่อให้เกิดข้อพิพาททางด้านประกันภัยด้วยเช่นกัน เนื่องจากทั้งภาคประชาชนกับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาเรียกร้อง หรือคาดหวังว่า กรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ ซึ่งตนได้ซื้อเอาไว้จะมาช่วยต่อยอดในการดำรงชีวิต หรือประคับประคองธุรกิจของตนให้ยืนยาวต่อไปได้อีก แม้ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ยังดี นอกเหนือจากความช่วยเหลือของภาครัฐแล้ว
แต่ภาคธุรกิจประกันภัยเองก็ตั้งรับอย่างเข้มแข็งด้วยหวั่นเกรงว่า หากขืนโอนอ่อนไปให้บ้าง ตนอาจประสบปัญหาทางการเงินได้เหมือนกัน เพราะขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นกระจายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเภทการประกันภัยที่เรียกว่า “การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption)” ซึ่งปริมาณความเสียหายนั้นค่อนข้างสูงมากทั้งในแง่ของมูลค่าความเสียหายกับจำนวนผู้ได้รับความเสียหาย
เดิมพันของการประกันภัยประเภทนี้จึงสูงมาก ระหว่างฝ่ายผู้เอาประกันภัยผู้เรียกร้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยผู้ทำหน้าที่ชดใช้ซึ่งตั้งการ์ดเอาไว้สูง
ความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายจึงตกมาเป็นภาระของคนกลางผู้พยายามยุติข้อพิพาทด้วยความเป็นธรรม นั่นคือ ศาล ซึ่งให้มุมมองในเรื่องนี้แตกต่างกันไปทั่วโลกอีก บ้างก็ตีความโน้มไปทางฝ่ายผู้เอาประกันภัย บ้างตีความโน้มไปทางฝ่ายบริษัทประกันภัย ชวนให้ลุ้นอย่างระทึกใจไปได้อีกเหมือนกัน
ส่วนตัววิเคราะห์ว่า ประเด็นปัญหาหลักอยู่ตรงถ้อยคำที่เขียนในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ กอปรกับข้อความจริงในแต่ละคดี ตลอดจนความเข้มแข็งของทนายความกับพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายที่จะสามารถโน้มน้าวให้ศาลท่านคล้อยตามไปได้มากน้อยเพียงใด
ประเด็นปัญหาข้อพิพาทคงยังมีให้ลุ้นต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องด้วยเดิมพันค่อนข้างสูงอย่างที่ว่านั่นเองครับ
ส่วนตัวได้พยายามติดตามข่าวสารเรื่องนี้จากทั่วโลกเป็นระยะ จะพยายามหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังเรื่อย ๆ นะครับ
สำหรับบทความเรื่องนี้ เป็นคดีนำร่อง หรือคดีตัวอย่าง (Test Case) จากคำพิพากษาศาลฎีกาแห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นค่ายระบบประกันภัยยักษ์ใหญ่ของโลก ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยนานาชาติต่างให้ความสำคัญและคอยรับฟังอย่างใจจดจ่อ เช่นเดียวกับบ้านเราซึ่งใช้ระบบประกันภัยจากประเทศนี้เป็นต้นแบบ
คดีนำร่องนี้ ทางหน่วยงานกำกับควบคุมธุรกิจประกันภัยแห่งประเทศอังกฤษ ที่เรียกว่า The Financial Conduct Authority (FCA) ใช้สิทธิยื่นฟ้องในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อให้ศาลทำการวินิจฉัยประเด็นความคุ้มครองประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่สำคัญ ในกรณีเฉพาะที่มีการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงโรคภัยต่าง ๆ ที่ต้องรายงาน (Notifiable Diseases Clause/Diseases Clause) เอาไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายที่ทางหน่วยงานนี้มิได้ตั้งประเด็นรวมไปถึงข้อพิพาทถึงความหมายของความเสียหายทางกายภาพควรรวมถึงจากสาเหตุของโรคโควิด – 19 หรือไม่เข้าไปด้วย ศาลท่านจึงได้ข้ามประเด็นเรื่องนี้ไป โดยมุ่งเน้นไปวินิจฉัยวางแนวทางคำพิพากษา เพื่อให้เป็นต้นแบบการตีความในประเด็นอื่นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาฟ้องร้องแทน ซึ่งศาลท่านได้พิจารณาจากตัวอย่างกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจำนวนยี่สิบเอ็ดฉบับ จากบริษัทประกันภัยแปดแห่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกคัดเลือกมาจากกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองอยู่ประมาณเจ็ดร้อยกว่าฉบับของบริษัทประกันภัยกว่าหกสิบแห่ง โดยมีผู้เอาประกันภัยที่คอยลุ้นอยู่ร่วมสามแสนกว่ารายเป็นเกณฑ์ ทั้งเป็นการข้ามลำดับอำนาจศาลอุทธรณ์ คือ จากศาลชั้นต้นไปสู่ศาลฎีกาเป็นกรณีพิเศษ
ผมจึงขอหยิบยกประเด็นเหล่านั้นที่ศาลฎีกาแห่งประเทศอังกฤษได้วินิจฉัยออกมา เมื่อกลางเดือนที่แล้วมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ครับ
1) ความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงโรคภัยต่าง ๆ ที่ต้องรายงาน
(Notifiable Diseases Clause)
1.1) โรคภัยต่าง ๆ ที่ต้องรายงาน (Notifiable Diseases Clause) มี
ความหมายเช่นใด?
เงื่อนไขพิเศษนี้เป็นการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมในกรณีที่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังเช่นความคุ้มครองปกติทั่วไป
ศาลชั้นต้นกับศาลฎีกาเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยว่า
ถ้าใช้เงื่อนไขพิเศษโรคภัยต่าง ๆ ที่ต้องรายงาน (Notifiable Diseases Clause) เนื่องจากลักษณะถ้อยคำนี้จำกัดเฉพาะโรคภัยต่าง ๆ ที่ประกาศโดยหน่วยงานภาครัฐระบุไว้อย่างชัดแจ้งเท่านั้น จึงไม่ควรรวมถึงไวรัสโควิด – 19 ด้วย เพราะเป็นโรคระบาดใหม่เพิ่งถูกค้นพบช่วงเวลานี้ ทั้งถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายจากรัฐบาลอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2020 (ขณะที่บ้านเราถูกประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
แต่ถ้าใช้เงื่อนไขพิเศษที่มีลักษณะถ้อยคำไม่จำกัดโรคภัย (Diseases Clause) ถือว่ารวมถึงไวรัสโควิด – 19 ด้วย
สำหรับประเด็นที่เหลือของข้อนี้ในเรื่องที่ว่า จะถูกจำกัดอยู่เพียงอาณาบริเวณรัศมี 25 ไมล์ (40.23 กิโลเมตร) และควรนับเป็นกี่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)?
คงต้องขอนำไปกล่าวถึงสัปดาห์หน้าแล้วล่ะครับ พร้อมกับประเด็นที่เหลือของข้อพิพาทอื่น ๆ อีก
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น