เรื่องที่ : 132 เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมัน
(ตอนที่สี่)
สืบเนื่องจากคำถามข้อที่
2) ซึ่งคงติดค้างไว้ว่า
เหตุการณ์เติมน้ำมันปนเปื้อนให้แก่รถหลายคันในช่วงเวลาที่แตกต่างกันนั้นจะสามารถนับออกมาได้เป็นกี่เหตุการณ์?
กรณีเงื่อนไขความคุ้มครองสำหรับความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของปั๊มน้ำมันได้กำหนด ดังนี้
วงเงินความรับผิดสูงสุดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น/ครั้ง= 100,000 บาท
วงเงินความรับผิดโดยรวม (Aggregate)
ตลอดระยะเวลาประกันภัย = 2,000,000 บาท
ความเสียหายส่วนแรก (Deductible)
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น/ครั้ง = 1,000 บาท
หากปรากฏมีรถยนต์ได้รับความเสียหายรวม 52 คัน
คิดเป็นค่าซ่อมโดยเฉลี่ยประมาณคันละ = 3,000 บาท
รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น = 156,000 บาท
(ก) หากถือการเติมน้ำมันปนเปื้อนให้แก่รถแต่ละคันแยกออกเป็นแต่ละ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกัน
บริษัทประกันภัยจะรับผิดชดใช้ค่าซ่อม
โดยเฉลี่ยคันละ = 2,000 บาท
(3,000 บาท - 1,000 บาท)
รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น
= 104,000 บาท
นั่นคือการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของผล (Effect Theory) ซึ่งมุ่งเน้นไปยังผลลัพธ์ที่เกิดแก่ผู้เสียหายแต่ละรายเป็นเกณฑ์
(ข) หากถือการเติมน้ำมันปนเปื้อนให้แก่รถทุกคันรวมเป็นเหตุการณ์ที่
เกิดขึ้นคราวเดียวกัน
บริษัทประกันภัยจะรับผิด
ชดใช้ค่าซ่อมรวมทั้งหมดเพียง = 99,000 บาท
(100,000 บาท - 1,000 บาท)
นั่นคือการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) ซึ่งมองไปที่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแต่ละรายเป็นเกณฑ์
ดังที่เคยกล่าวไว้ในบทความที่ผ่านมา ศาลต่างประเทศจะอาศัยทั้งสองทฤษฏีเป็นเกณฑ์
โดยที่เสียงส่วนใหญ่จะโน้มเอียงไปทางทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) มากกว่า
แต่บางครั้งก็ไม่อาจนำมาปรับใช้ให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างเพียงพอ
ปัจจุบันจึงเกิดทฤษฏีที่สามเพิ่มเติมขึ้นมาเรียกว่า ทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย
(Unfortunate
Events Theory) อันเป็นการมองภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดแทนที่จะมองเพียงเหตุกับผลด้านใดด้านเดียวเท่านั้น
ในกรณีตัวอย่างนี้ถูกวินิจฉัยโดยยึดถือตามข้อ (ข) อันมีสาเหตุมาจากถังเก็บน้ำมันใต้ดินรั่วไหลเพียงถังเดียว
สรุป
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้ว
ประเด็นหลักที่จำต้องพิจารณาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ก็คือ สาเหตุที่ตรวจค้นพบได้นั้นเกิดจากมีรอยรั่วจุดหนึ่งที่ถังเก็บน้ำมันใต้ดิน ทำให้น้ำใต้ดินแทรกซึมเข้าไปได้จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา
เมื่อมิใช่เป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ผลิตน้ำมัน
หรือกระทั่งของผู้รับเหมาติดตั้งถังเก็บน้ำมันใต้ดิน เจ้าของปั๊มน้ำมันจำต้องรับผิดฐานะไม่ดูแลรักษาให้ดีพอจนส่งผลทำให้น้ำมันถูกปนเปื้อนขึ้นมาดังกล่าว
และได้ขายผลิตภัณฑ์ที่บกพร่องออกไปจนสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภค
อันตกอยู่ในข้อยกเว้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
ฉะนั้น ถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจัดอยู่ในเกณฑ์คุ้มครองวันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis) ก็ตาม แต่กลับตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวซึ่งระบุว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองรวมถึง
2. ความรับผิดใดๆ ซึ่งเกิดจาก หรือสืบเนื่องจาก
........................
2.4 สินค้าหรือสิ่งของใดๆ ซึ่งผลิต ขาย จัดหา ซ่อมแซม บริการ
หรือดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัยหรือผู้กระทำการแทนผู้เอา
ประกันภัย”
กรณีตัวอย่างนี้
ผู้เอาประกันภัยเจ้าของปั๊มน้ำมันจึงต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด
แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของต่างประเทศที่ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ควบรวมกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability Insurance Policy) ภายใต้เกณฑ์คุ้มครองวันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis) ก็จะสามารถได้รับความคุ้มครองได้ตามข้อ (ข) ข้างต้น ในหมวดความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์
(อ้างอิงและเทียบเคียงจากบทความ Is an Occurrence the Bodily Injury or Property Damage? By Craig F. Stanovich, Liability Insurance December 2011, สืบค้นจาก
สัปดาห์หน้า เรื่องที่ 133 : เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมันอีกแล้วเหรอนี่
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น