วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563

 เรื่องที่ 132 : เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมัน

(ตอนที่สาม)

มีหลักการทางกฎหมายอยู่หลายทฤษฏีที่ใช้ในการวิเคราะห์วันที่ของ “เหตุที่เกิดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ศาลต่างประเทศมักจะใช้ทฤษฏีทางกฎหมาย 4 ลักษณะที่จะวินิจฉัยบ่งชี้ว่า เมื่อใดถึงจะถือว่าได้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินขึ้นมา ทั้งนี้ โดยขึ้นอยู่กับข้อความจริงของแต่ละกรณีประกอบด้วย ดังพอสรุปได้ ดังนี้

1) ทฤษฏีความเสียหายจริง (Injury-in-Fact Theory) ศาลจะพิจารณาถึงวันที่ได้เกิดความบาดเจ็บ/ความเสียหายขึ้นมาจริง

ดังตัวอย่างกรณีปั๊มน้ำมัน จะเป็นวันที่รถยนต์ได้รับความเสียหาย เป็นวันที่ของ “เหตุที่เกิดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” โดยไม่คำนึงถึงว่า จะมีต้นเหตุเมื่อใด หรือมีการปนเปื้อนของน้ำมัน หรือมีการเติมน้ำมันเมื่อใด?

2) ทฤษฏีการแสดงผล (Manifestation Theory) เป็นวันที่ผู้เสียหายค้นพบ หรือควรค้นพบถึงความบาดเจ็บ/ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ของตน

3) ทฤษฏีการปรากฏผล (Exposure Theory) ศาลจะพิจารณาถึงวันที่มีการปรากฎความบาดเจ็บ/ความเสียหายซึ่งอาจใช้เวลาสะสมมาช่วงระยะเวลาหนึ่งกว่าจะปรากฏอาการออกมาให้เห็นหรือรับรู้ได้ โดยให้ถือวันแรกที่ได้เห็นหรือรับรู้นั้นเป็นวันที่ของ “เหตุที่เกิดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” (อาจจะมีกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับเข้ามาเกี่ยวข้อง) หรือ

4) ทฤษฏีการทำงานอย่างต่อเนื่องของกลไก (Continuous Trigger Theory) หรือบางคราวเรียกกันว่า “ทฤษฏีกลไกสามจังหวะ (Triple-trigger Theory) ด้วยการผสมผสานสามทฤษฏีแรกเข้ามาประกอบการพิจารณากับข้อความจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากลักษณะเหตุการณ์ค่อนข้างซับซ้อน ใช้เวลาสะสมมายาวนาน และอาจมีกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับ หลายบริษัทประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมานั้น หากมีข้อพิพาท ศาลอาจจำต้องหยิบยกนำวันที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อค้นหาว่า ใครบ้างควรรับผิดชอบ หรือควรเข้ามาร่วมรับผิดบ้าง?

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ฉบับที่สอง จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้นในตอนที่ผ่านมาดูเสมือนเมื่อพิจารณาโดยอาศัยเกณฑ์คุ้มครองวันเรียกร้อง (Claims Made Basis) แล้วค่อนข้างไม่มีปัญหานัก เนื่องด้วยเงื่อนไขความคุ้มครองกำหนดให้ทั้งวันที่เกิดเหตุแห่งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (วันที่เสียหาย) กับวันที่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาประกันภัยเดียวกัน หรือระยะเวลาคุ้มครองย้อนหลัง (หากมี) แต่กรณีตัวอย่างกลับปรากฏว่า ทั้งสองวันนั้นมิได้อยู่ภายในช่วงระยะเวลาประกันภัยเดียวกันเลย

ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกฉบับแรกที่ใช้เกณฑ์คุ้มครองวันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis)) นั้น โดยหลักการทั่วไป ควรยึดถือวันที่เสียหาย เพราะนั่นคือวันที่ผู้เสียหายสามารถประเมินราคาค่าเสียหายที่ตนได้รับ เพื่อนำไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำผิดหรือจากบริษัทประกันภัยของผู้กระทำผิดนั่นเอง อันเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองที่ให้พิจารณาจากวันที่เกิดวินาศภัยหรือเหตุที่ก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย และจะต้องเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาประกันภัยเป็นเกณฑ์นั่นเอง

สอดคล้องกับข้อตกลงคุ้มครองดังระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวที่ว่า

บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหาย อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมาย อันสืบเนื่องหรือเป็นผล (as a consequence or result of) มาจากอุบัติเหตุจากการประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เอาประกันภัย ภายใต้ขอบเขตของการเสี่ยงภัย ในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย ณ อาณาเขตความคุ้มครองซึ่งระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

โปรดสังเกตถ้อยคำตรงที่ขีดเส้นใต้ มิได้ใช้คำว่า “วันที่เกิดอุบัติเหตุ หรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้น (Date of Accident or Occurrence)” แต่ประการใด

อันเป็นการมองมุ่งไปที่ผลลัพธ์ (Effect) มากกว่าที่ต้นเหตุ/สาเหตุ (Cause)

นั่นคือ แนวทางการวิเคราะห์สำหรับคำถามที่ 1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) นั้นจะเริ่มมีผลคุ้มครองนับแต่วันใดเป็นเกณฑ์? กับ 3) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายฉบับใดจะเข้ามารับผิดชอบ?

ส่วนคำถามที่ 2) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะนับได้เป็นกี่เหตุการณ์? นั้น กรุณาติดตามต่อตอนหน้าครับ

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น