เรื่องที่ : 134 เมาตกน้ำตายถือเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
ลูกเรือกลุ่มหนึ่งของเรือประมงลำหนึ่ง ครั้นถึงเวลาพักเข้าฝั่งได้ตระเวนดื่มเหล้าตามบาร์หลายแห่งตั้งแต่ช่วงหัวค่ำกระทั่งถึงเวลาบาร์ปิด จนต่างพากันเมามายอย่างมาก และได้ช่วยกันประคองตัวกลับไปพักผ่อนยังเรือของตน เนื่องจากเรือประมงของตนได้จอดเทียบคู่กับเรือลำอื่น มิได้จอดเทียบกับท่าเรือโดยตรง ดังนั้น ในการกลับขึ้นเรือของตน ทั้งหมดจำต้องปีนข้ามเรือลำแรกไปก่อน เพื่อนบางคนสามารถช่วยตนเองขึ้นเรือประมงของตนไปได้ ยกเว้นผู้ตายซึ่งโชคร้ายเกิดพลาดตกน้ำเสียก่อน เพื่อนที่เห็นเหตุการณ์จึงได้ช่วยกันโยนเชือกและวัสดุที่หยิบฉวยได้เพื่อให้ผู้ตายเกาะประคองตัวเอาไว้ก่อน โดยที่ทุกคนต่างลืมนึกถึงห่วงชูชีพบนเรือในช่วงเวลานั้น แต่ผู้ตายมิอาจช่วยเหลือตัวเองได้ และได้จมหายไปท้ายที่สุด
เมื่อหน่วยงานช่วยเหลือกู้ภัยมาถึงก็สามารถงมศพของผู้ตายขึ้นมาได้
ผลการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ ได้ลงความเห็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการจมน้ำตาย
โดยแพทย์ให้ความเห็นประกอบว่า
จากปริมาณแอลกอฮอลล์ที่ตรวจพบมีระดับสูงมากจนส่งผลทำให้ผู้ตายขาดสติสัมปชัญญะและความสามารถในการช่วยเหลือตนเองดังเช่นคนปกติ
ภรรยาของผู้ตายในฐานะทายาทตามกฎหมายได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ตายอยู่
แต่ได้รับการปฏิเสธโดยอ้างว่า การเสียชีวิตมิได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ
ทั้งยังตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ซึ่งระบุว่า
“ไม่คุ้มครองการที่ผู้เอาประกันภัยตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา สารเสพติด
หรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้
(เว้นแต่เป็นกรณีการใช้สารเสพติดตามคำสั่งของแพทย์เพื่อการรักษาทั่วไปที่มิใช่การบำบัดการติดสารเสพติด)”
ประเด็นข้อพิพาทที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัย
ได้แก่
1) การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?
2) หากเป็นอุบัติเหตุแล้วจะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่?
ศาลได้พิเคราะห์ทั้งสองประเด็นเป็นลำดับดังนี้
ประเด็นข้อแรกเรื่องความหมายของอุบัติเหตุ
ที่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า
แม้การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นผล (Accidental Result) มาจากการจมน้ำจนขาดอากาศหายใจอันเป็นอุบัติเหตุ
แต่ก็มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้าอย่างมากมายติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง
โดยไม่ยับยั้งชั่งใจว่า จะก่อให้เกิดผลอันตรายแก่ร่างกายของตนเองอย่างไรบ้าง
ประกอบกับความเห็นของแพทย์ผู้ชันสูตรก็ให้ความเห็นว่า
ต่อให้มีใครโยนห่วงชูชีพให้ผู้ตายก็ตาม
ผู้ตายในสภาวะขณะนั้นไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้เลย
ไม่แม้แต่จะว่ายน้ำช่วยเหลือตนเองได้
จึงเป็นการดื่มเหล้าโดยสามารถเล็งเห็นผลได้ว่า อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเองได้แล้ว
ซึ่งมิใช่ปัจจัยจากอุบัติเหตุ (Accidental Means) ดังคำนิยามของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
ซึ่งให้ความหมายว่า จะต้องมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกที่รุนแรงและเห็นได้อย่างชัดเจน (Accidental
Outward Violent and Visible Means)
ศาลไม่เห็นพ้องด้วย
เพราะการตีความควรอ้างอิงจากความเห็นของวิญญูชนทั่วไป ซึ่งล้วนลงความเห็นว่า
การจมน้ำตายถือเป็นอุบัติเหตุ และไม่มีมูลเหตุหรือหลักฐานพิสูจน์เป็นอย่างอื่นว่า
ผู้ตายเจตนาทำร้ายตนเองหรือประสงค์จะฆ่าตัวตาย นอกจากนี้
เพื่อนที่ร่วมดื่มด้วยกันต่างมิได้ประสบโชคร้ายเช่นเดียวกับผู้ตาย
สำหรับประเด็นข้อที่สอง
เมื่อพิจารณาคำถามว่า ทำไมผู้ตายถึงตกน้ำลงไปจนเสียชีวิตได้?
แม้จะปราศจากพยานหลักฐานอย่างชัดเจน
แต่ครั้นพอมาพิจารณาถึงสาเหตุความเป็นไปได้แล้ว เชื่อว่า สืบเนื่องจากการดื่มเหล้าจนเมามายอย่างมากขนาดนั้นจนส่งผลทำให้สภาวะทางจิตใจและสภาพร่างกายไม่สามารถควบคุมตนเองดั่งเช่นคนปกติในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตดังกล่าว
ฉะนั้น
การดื่มเหล้าจนตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถครองสติของตนเองได้เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดตอนจนนำไปสู่การจมน้ำเสียชีวิตของผู้ตาย
ส่วนการที่ผู้ตายไม่พยายามว่ายน้ำช่วยเหลือตนเองนั้นไม่ก่อให้ผลเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ไปได้ เพราะถึงจะว่ายน้ำแล้ว ก็ยังจำต้องได้รับการช่วยเหลืออยู่ดี
จึงวินิจฉัยว่า บริษัทประกันภัยนี้ไม่จำต้องรับผิด เนื่องจากกรณีเข้าข้อยกเว้นดังอ้างอิงของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี JULIE ANN WARD v. NORWICH UNION INSURANCE LIMITED [2009] CSOH 27)
เรื่องต่อไป ผู้เช่าพักรีสอร์ทริมทะเล ลงเล่นน้ำทะเลหน้ารีสอร์ทแล้วเกิดจมน้ำเสียชีวิต รีสอร์ทจะต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น