เรื่องที่ 133 : เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมันอีกแล้วเหรอนี่
ดูเสมือนปัญหายุ่ง ๆ ที่ปั๊มน้ำมันยังไม่จบ คราวนี้เกิดขึ้น ณ ปั๊มน้ำมันล้ำยุคแห่งหนึ่ง ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต้องสมัครเป็นสมาชิกและเปิดบัญชีกับทางปั๊มน้ำมันนี้เสียก่อน เพื่อตั้งระบบคอมพิวเตอร์กำหนดปริมาณเติมน้ำมันสูงสุดแต่ละครั้งให้แก่สมาชิกแต่ละราย หลังจากนั้น สมาชิกก็จะได้รับมอบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในการใช้บริการดังกล่าว โดยที่ปั๊มน้ำมันนี้แต่ละแห่งล้วนใช้ระบบอัตโนมัติทั้งสิ้น
เจ้าของปั๊มน้ำมันนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพแบบสรรพภัยแก่ทรัพย์สินทั้งหมดของตนรวมถึงน้ำมันที่จัดเก็บให้บริการ โดยมีค่าความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบเองอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) แต่ละครั้ง
ต่อมา เมื่อตรวจเช็คสต็อกน้ำมันที่จัดเก็บไว้ พบว่าปริมาณน้ำมันได้ขาดหายไปจำนวนหนึ่ง จากการสืบสวนปรากฏว่า มีสาเหตุมาจากการตั้งโปรแกรมให้แก่ลูกค้ารายหนึ่งผิดพลาดไปด้วยความประมาทเลินเล่อ กล่าวคือ ลูกค้ารายนี้มีข้อตกลงจำกัดปริมาณเติมน้ำมันสูงสุดเจ็ดสิบห้าแกลลอนในแต่ครั้งเท่านั้น ครั้นได้มีการขยายให้บริการรวมถึงกลุ่มลูกค้านี้เพิ่มเติมอีกแหล่งหนึ่ง กลับตั้งผิดไปอยู่ที่ปริมาณสูงสุดหนึ่งร้อยแกลลอนแต่ละคราวแทน และที่ผ่านมาได้มีการเรียกเก็บเงินค่าน้ำมันกับลูกค้ากลุ่มนี้ทั้งหมดเพียงตามปริมาณที่ได้ตกลงกันจริงอยู่ที่สูงสุดไม่เกินเจ็ดสิบห้าแกลลอนเท่านั้น
เจ้าของปั๊มน้ำมันนี้จึงได้ไปแจ้งขอเรียกเก็บเงินค่าน้ำมันเพิ่มเติมจากกลุ่มลูกค้ารายนี้ ก็ได้ถูกปฏิเสธกลับมา
เจ้าของปั๊มน้ำมันนี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องมาแจ้งเรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยของตนแทน โดยอ้างว่า น้ำมันจำนวนที่สูญหายไปนั้นเกิดจากการลักทรัพย์ เนื่องจากผู้ขับขี่บางรายของลูกค้ากลุ่มนี้รับรู้ถึงความผิดพลาดและได้ถือโอกาสฉกฉวยเอาประโยชน์แก่ตน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดถือรวมกันเป็นหนึ่งเหตุการณ์ซึ่งเกิดแก่ลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว อันส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยมีสิทธิหักค่าความเสียหายส่วนแรกทั้งหมดเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เนื่องด้วยมิได้มีการกำหนดคำนิยามของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้
บริษัทประกันภัยปฏิเสธความรับผิด พร้อมต่อสู้ว่า แม้กรณีนี้จะเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองการลักทรัพย์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวควรถูกจำแนกออกไปแต่ละคราวที่มีการเข้าใช้บริการเติมน้ำมัน มิใช่ถูกนับรวมกันเป็นหนึ่งเหตุการณ์ดังที่ผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้าง
ที่สุดแล้ว คดีนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นตัดสินเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยเรื่องการนับจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปตามจำนวนครั้งที่มีลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาใช้บริการแตละคราว
ผู้เอาประกันภัยฝ่ายโจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า แม้นจะมิได้มีคำนิยามของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม แต่จากการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) ซึ่งมองไปที่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแต่ละคราวเป็นเกณฑ์แล้ว ก็ถือเป็นหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อีกทั้งจากพยานหลักฐานที่ปรากฏและต่างเป็นที่ยอมรับ คือ ตลอดช่วงเวลาที่เกิดความเสียหายดังกล่าว ราคาน้ำมันต่อแกลลอนยังคงที่อยู่ไม่เกินสี่ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน และส่วนที่มีการเติมน้ำมันเกินไปนั้นแต่ละครั้งก็มิได้เกินกว่าร้อยแกลลอนแต่ประการใด ฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีครั้งใดเลยที่เกินกว่าค่าความเสียหายส่วนแรก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง อันเป็นจำนวนเงินซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบเองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ทำให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ประการใด
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Port Consolidated, Inc. v. International Insurance Company of Hannover, PLC, 2020 WL 5372281 (11th Cir 2020))
ปัญหาเรื่องวุ่น ๆ ของปั๊มน้ำมันคงพักเพียงเท่านี้ ขอไปต่อเรื่องอื่นบ้างนะครับ แล้วคอยติดตามต่อว่า จะเป็นเรื่องใด?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น