วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 

เรื่องที่ 129 : คุณทำอย่างนี้กับผมได้ยังไง?

(ตอนที่สอง)

ขอทวนคำถามทิ้งท้ายตอนที่แล้วอีกครั้งนะครับ คุณคิดว่า 

1) การที่ผู้รับเหมาถูกว่าจ้างจากผู้เช่าบ้านให้เข้าไปดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบ้านของผู้ให้เช่า และได้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินบางส่วนของผู้ให้เช่าออกไปไว้ที่อื่น โดยมิได้รับความเห็นชอบจากผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริงเลย ถือเป็นความรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ให้เช่าในฐานะบุคคลภายนอกไหม?

2) ถ้าใช่ บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายแก่ผู้รับเหมาในฐานะผู้เอาประกันภัย จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยแก่ผู้ให้เช่าในฐานะบุคคลภายนอกไหมครับ?

ศาลชั้นต้นพิจารณาในส่วนความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกฉบับพิพาท แล้ววินิจฉัยว่า

การกระทำของจำเลยผู้รับเหมาสามารถจำแนกออกได้เป็นสองส่วน คือ

(1) ส่วนความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้านหลังดังกล่าว

(2) ส่วนความสูญเสียและความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปเก็บไว้สถานที่แห่งอื่น

ทั้งสองส่วนนั้น เป็นการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เห็นชอบและยินยอมให้กระทำการนั้นได้แต่ประการใด

อย่างไรก็ดี แม้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อโจทก์ แต่เนื่องจากเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวระบุเพียงคุ้มครองเฉพาะการกระทำโดยอุบัติเหตุเท่านั้น ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ส่งผลทำให้จำต้องจำแนกการวินิจฉัยออกเป็นสองส่วน ดังนี้

(1) ส่วนแรก สำหรับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้านหลังดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยผู้รับเหมา (ผู้รับจ้าง) ตามคำสั่งของผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดตามตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

(2) ส่วนที่สอง สำหรับความสูญเสียและความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปเก็บไว้สถานที่แห่งอื่น ซึ่งปรากฏบางชิ้นได้สูญหายไปและบางชิ้นได้เสียหายนั้น มิได้เกิดขึ้นโดยเจตนาของจำเลยผู้รับเหมา แต่เนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาที่ดี ถือเป็นอุบัติเหตุซึ่งบริษัทประกันภัยจำเลยร่วมจำต้องรับผิดชอบตามตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว จึงวินิจฉัยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินประมาณ 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ

ทั้งโจทก์กับจำเลยร่วมต่างยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยออกมาเป็นประเด็น ดังนี้

1) ประเด็น “อุบัติเหตุ (Accident)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวได้กำหนดนิยามของ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)” หมายความถึง อุบัติเหตุ รวมทั้งกรณีที่ก่อให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตรายตามปกติทั่วไปเช่นนั้นอย่างต่อเนื่อง และซ้ำซ้อน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน โดยที่ผู้เอาประกันภัยมิได้มุ่งหวังหรือมิได้เจตนาให้เกิดขึ้น

เมื่อจำเลยผู้รับเหมา (ผู้รับจ้าง) ได้กระทำการดังกล่าวตามคำสั่งของผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง จึงไม่ตกอยู่ในความหมายของอุบัติเหตุดังกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว อีกทั้งจำเลยผู้รับเหมาก็ได้ยอมรับผิดในชั้นศาลชั้นต้นไปแล้วว่า ตนได้กระทำการไปโดยปราศจากความยินยอมและความเห็นชอบจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง

ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะต้องไปจำแนกการกระทำดังกล่าวของจำเลยผู้รับเหมาออกเป็นสองส่วน เพราะทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาจากการกระทำด้วยความจงใจของจำเลยผู้รับเหมาทั้งสิ้น

กอปรกับโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลอุทธรณ์เห็นได้อย่างชัดเจนและรับฟังจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยผู้รับเหมากระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาของตน เพียงแต่กล่าวอ้างว่า ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแก่ทรัพย์สินของตนเท่านั้น 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ตีความคำว่า “อุบัติเหตุ” ต้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยไม่ได้เจตนา มิใช่มองเพียงผลที่ได้รับโดยไม่ได้ตั้งใจเท่านั้น

การครอบครองทรัพย์สินในส่วนที่สอง อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า “Conversion” นั้น คำแปลภาษาไทยใช้คำเรียกว่า “การเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่น” หรือบ้างก็แปลว่า “การรบกวนสิทธิครอบครองในสังหาริมทรัพย์” จะเห็นได้ว่า ล้วนแต่เกิดขึ้นโดยเจตนาทั้งสิ้น จึงไม่อยู่ในความหมายของอุบัติเหตุ ถึงแม้จำเลยผู้รับเหมาอ้างว่า เป็นการถือครองเพียงชั่วคราว และมีเจตนาจะนำส่งกลับคืนภายหลังก็ตาม

2) ประเด็นที่สอง กรณีส่วนที่สอง สำหรับความสูญเสียและความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปเก็บไว้สถานที่แห่งอื่นนั้นถือเป็นการสูญเสียการใช้งาน (Loss of Use) ของทรัพย์สินนั้นได้ไหม?

แม้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมถึงการสูญเสียการใช้งานของทรัพย์สินนั้นด้วย แต่ทั้งหมดล้วนตกอยู่ในเงื่อนไขของกรณีอุบัติเหตุทั้งสิ้น 

การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า กรณีน่าจะเข้าข่ายเป็นการสูญเสียการใช้งานซึ่งมิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้ก็ตาม และควรจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การสูญเสียการใช้งาน (Loss of Use) กับความสูญเสียและความเสียหายแก่ทรัพย์สิน (Loss of Property) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น กรณีรถยนต์ถูกขโมยไป มูลค่าของการสูญเสียการใช้งานของรถยนต์คันนั้น คือ ค่าเช่ารถยนต์คันอื่นที่ใกล้เคียงกันมาใช้งานแทนช่วงเวลาที่ได้รับความเสียหายดังกล่าว ขณะที่มูลค่าความสูญเสียของรถยนต์คันนั้นจะเทียบเท่ากับมูลค่าการจัดซื้อรถยนต์คันใหม่มาทดแทน ซึ่งในคดีนี้ สิ่งที่โจทก์มาเรียกร้องนั้นเป็นความสูญเสียและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของตนต่างหาก

ดังนั้น การตีความของกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องมองจากภาพรวมทั้งฉบับประกอบด้วย มิใช่เพียงมองแต่บางจุดเท่านั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้บริษัทประกันภัยจำเลยร่วมไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Collin v. American Empire, Ins. Co. (1994) 21 Cal.App.4th 787, 818)

เรื่องต่อไป การตีความหมายของคำว่า “งานฝีมือ (Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy)

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น