เรื่องที่ 128 : ผู้เช่าที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเช่าถือเป็นบุคคลภายนอก อันกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของผู้ให้เช่าสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ผมได้เขียนบทความสองเรื่องต่อเนื่องกัน คือ เรื่องที่ 60: ผู้เช่าบ้านทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเช่า หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบ้านเช่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าบ้านได้หรือไม่? และเรื่องที่ 61: ผู้เช่าส่วนหนึ่งของอาคารทำร้านอาหาร แล้วทำให้เกิดไฟไหม้อาคารที่เช่าทั้งหลัง หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอาคารเช่านั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนไปแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าที่เป็นต้นเพลิงได้หรือไม่?
พร้อมให้ข้อสังเกตุแนวทางคำพิพากษาของศาลทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอังกฤษที่เดินทางตามแนวเดียวกัน โดยอาศัยการพิจารณาจากประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
1) ประเด็นหลักกฎหมายสัญญาเช่าที่ว่า ความเสียหายใหญ่ที่เกิดแก่ทรัพย์สินที่ให้เช่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า ส่วนความเสียหายเล็กน้อยเนื่องจากการใช้ทรัพย์สินที่เช่านั้นตามปกติวิสัย ให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อเกิดไฟไหม้ หรือน้ำท่วม จึงตกเป็นภาระของผู้ให้เช่าไป
2) ประเด็นลักษณะการเช่า เช่น เช่าเพื่ออยู่อาศัย เช่าเพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น และอายุสัญญาเช่า สั้น หรือยาว หากเป็นการเช่าช่วงสั้น ๆ โดยปกติแล้ว คงไม่สมเหตุผลนักที่จะกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้จัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่เช่า แนวศาลประเทศสหรัฐอเมริกามองว่า สำหรับการเช่าเพื่ออยู่อาศัย ถ้ามิได้มีข้อกำหนดของสัญญาเช่าอย่างชัดแจ้ง ให้ถือเบื้องต้นว่า ผู้ให้เช่าเป็นผู้จัดทำประกันภัยทรัพย์สินที่ให้เช่าเอง ส่วนศาลประเทศอังกฤษมิได้แยกแยะเช่นนั้น
3) ประเด็นสัญญาเช่าได้มีข้อกำหนดอย่างชัดแจ้งต่างจากหลักกฎหมายข้างต้นหรือไม่? มีข้อกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้จัดทำประกันภัยครอบคลุมถึงทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่? ถ้ามี ก็ว่ากันไปตามข้อกำหนดระหว่างคู่สัญญาเช่านั้น ๆ
ตราบใดที่มิได้มีข้อกำหนดแห่งสัญญาเช่าเป็นอย่างอื่นอย่างชัดแจ้ง เบื้องต้นให้ถือว่า การจัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่เช่าเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่า เพื่อประโยชน์ของผู้เช่าด้วย แม้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นจะระบุเพียงผู้ให้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียวเท่านั้นก็ตาม ศาลตีความให้ผู้เช่าเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยร่วม (implied co-insured) โดยอาศัยหลักกฎหมายเรื่องตัวการ ตัวแทนมาพิจารณาประกอบด้วย จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้บริษัทประกันภัยมิอาจรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าได้ ถึงแม้จะเป็นผู้กระทำละเมิดแก่ผู้ให้เช่าก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังมีมุมมองประเด็นนี้แตกต่างกันอยู่ ยังมิได้ถือเป็นยุติเสียทีเดียว แต่น่าสนใจว่า หลายประเทศ อย่างประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซีย ก็ใช้แนวคำพิพากษาของศาลประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า “ทฤษฏีซัตตัน (Sutton Rule)” นี้ ในการอ้างอิงด้วยเหมือนกัน
อีกทั้งได้ทิ้งท้ายไว้ว่า เท่าที่ค้นคว้า ผมยังไม่พบเจอคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยในประเด็นเรื่องนี้ แต่เจตนารมณ์ที่นำประเด็นข้อพิพาทนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มมุมมองที่แตกต่างออกไปเท่านั้น จึงขอความกรุณาใช้วิจารญาณด้วยนะครับ
บัดนี้ลองขอให้พิจารณาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้เทียบเคียงดูนะครับ
ซึ่งผมเห็นว่า หลักกฎหมายความรับผิดเรื่องละเมิดกรณีทำความเสียหายแก่ผู้อื่นนั้น
ความหมายผู้อื่นหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุคคลภายนอก”
นั้น อาจเป็นกรณีผู้ให้เช่ากระทำละเมิดต่อผู้เช่า หรือในทางกลับกันก็ได้ แล้วแต่กรณี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 849/2490
เกิดไฟไหม้บ้านเช่า ในขณะที่ผู้เช่าเป็นผู้ครอบครอง
ในฐานะเป็นผู้เช่านั้น แม้ผู้ให้เช่าจะสืบไม่ได้ความชัดว่า ไฟเกิดขึ้นด้วยเหตุใด หรือใครทำให้เกิดขึ้นก็ดี
เมื่อได้ความว่าไฟเกิดขึ้นจากบ้านที่เช่า ไม่ใช่เกิดขึ้นที่อื่นแล้วลุกลามมาไหม้บ้านเช่าแล้ว
ผู้เช่าก็ย่อมมีหน้าที่สืบแสดงข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิด ถ้าสืบไม่ได้ก็ไม่พ้นความรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6159/2551
เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งหลัง
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 เมื่อทรัพย์ที่เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง
จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น
คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน
นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า
กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้
ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี
นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน
เมื่อปรากฏว่า
คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่า
ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง
แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า
จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อย
เมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ
จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี
เหตุเกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อมิใช่เหตุสุดวิสัยและมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
เรื่องต่อไป
โปรดติดตามนะครับว่าจะนำเรื่องอะไรเอ่ยมาเล่าสู่กันฟัง
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น