เรื่องที่ 127
: การที่ผู้เอาประกันภัยนำบ้านไปปล่อยให้ผู้อื่นเช่าอยู่อาศัยแทน
จะส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองของบ้านเช่าหลังนั้นหรือไม่?
(ตอนที่สอง)
จากคดีศึกษาตอนแรก
เราจะเห็นได้ว่า ต่างประเทศมีการแยกแยะรูปแบบการประกันภัยกันอย่างชัดเจนระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยกับกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการเช่า
ซึ่งอย่างหลังแยกย่อยลงไป ดังนี้
ก) กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ให้เช่า
(Landlord Insurance Policy) อันเป็นการคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่ให้เช่าออกไปนั้นเอง
บางครั้งก็เรียกกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่ให้เช่า (Rental
Property Insurance Policy) โดยที่ควรมีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของผู้ให้เช่า
(Landlord Liability Insurance Policy) ประกอบไปด้วย
และ
ข) กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เช่า
(Renter Insurance Policy) ซึ่งให้ความคุ้มครองถึงทรัพย์สินส่วนตัวของผู้เช่าเอง ทั้งควรจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของผู้เช่า
(Renter Liability Insurance Policy) ด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดข้างต้นนี้
ไม่ว่าจะเป็นการเช่าเพื่อการอยู่อาศัย หรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ก็ตาม ล้วนตกอยู่ภายใต้มุมมองของบริษัทประกันภัยในการประเมินความเสี่ยงภัยสูงกว่าบ้านพักอาศัยอย่างเดียว
เนื่องจากถือเป็นการดำเนินกิจการค้าหารายได้จากการให้เช่า
ทำให้จำต้องมีการกำหนดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นแยกแยะมิให้ทับซ้อนกัน
โดยเฉพาะบางกรณี เจ้าของบ้านอาจมิได้ให้เช่าบ้านทั้งหลัง อาจเป็นการจัดแบ่งห้องบางห้องภายในบ้านหลังนั้นให้เช่าพักอาศัย
(rooming house) ก็ได้
มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยจะต่างกัน
คือ บ้านที่อยู่อาศัยอย่างเดียวจะถูกกว่าบ้านที่ให้เช่าทั้งหลัง
หรือกระทั่งแบ่งพื้นที่ให้เช่าบางส่วน
เมื่อกลับมามองกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานบ้านเรา
โดยเฉพาะในส่วนของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
(คุ้มครองแบบระบุภัย) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
(คุ้มครองแบบสรรพภัย) ซึ่งฉบับหลัง แม้ในทางปฏิบัติ บริษัทประกันภัยไม่ใคร่อยากจะนำไปใช้กับที่อยู่อาศัยมากนัก
แต่ก็มิได้มีข้อห้ามชัดเจนถึงขนาดนั้น และอย่างที่เคยเขียนบทความให้ความเห็นไปแล้วว่า กรณีคอนโดมิเนียม
ไม่สมควรอย่างยิ่งที่ตัวนิติบุคคลอาคารชุดในส่วนของทรัพย์สินส่วนกลางไปจัดทำเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ขณะที่ส่วนของห้องชุดแต่ละห้องไปจัดทำเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
จะส่งผลให้มีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอนครับ แนะนำให้จัดทำเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดดีที่สุดครับ
เนื่องจากทั้งรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานทั้งสองฉบับมิได้ถูกกำหนดแยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างบ้านอยู่อาศัยอย่างเดียวกับบ้านที่ให้เช่าทั้งหลัง
หรือกระทั่งแบ่งพื้นที่ให้เช่าบางส่วน รวมถึงพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยตามคำสั่งนายทะเบียน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็มิได้ระบุแยกย่อยลงไปเช่นนั้น
ทำให้เวลาระบุในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องเขียนว่า สถานที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น
ไม่สามารถหาลักษณะภัยอื่นใดมาเทียบเคียงได้เลย
ฉะนั้น
หากนำคดีศึกษาต่างประเทศกรณีดังกล่าวมาเทียบเคียงปรับใช้กับรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานทั้งสองฉบับบ้านเราแล้วล่ะก้อ
เห็นได้ว่า บริษัทประกันภัยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำมาใช้อ้างปฏิเสธความรับผิดในเรื่องการให้เช่าบ้านได้เลยนะครับ
ส่วนที่เคยมีคดีให้เช่าห้องชุดในคอนโดมิเนียม
แล้วศาลชั้นต้นตัดสินให้มีความผิดนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แต่ในส่วนของข้อตกลงตามสัญญาประกันภัยถือเป็นคนละกรณี จะนำมาเชื่อมโยงกันนั้นไม่น่าจะถูกต้อง
อย่างไรก็ดี
ควรระวังการหยิบยกการผิดเงื่อนไขจากบริษัทประกันภัยมาใช้กล่าวอ้างไม่รับผิดชอบแทนเผื่อไว้บ้างก็ดี
ดังนี้
1)
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
สำหรับที่อยู่อาศัย
6. เงื่อนไขทั่วไป
6.13
การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัย
ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ เป็นอันระงับสิ้นไปทันทีเมื่อ
6.13.1
มีการเปลี่ยนแปลงการใช้สถานที่เอาประกันภัยจากที่อยู่อาศัย
เป็นการประกอบการประเภทอื่นโดยไม่มีการใช้อยู่อาศัย
และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทำให้การเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยตามตารางอัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้น
…………………………………..
6.13.5 ……………………………..
อย่างไรก็ตามเงื่อนไขข้อ 6.13
นี้
จะไม่นำมาบังคับใช้หากผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบและบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป
โดยได้ออกใบสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยไว้เป็นหลักฐานแล้ว
2)
กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป
9 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัย
ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันที
เมื่อ
9.1 มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการค้า การผลิตหรือลักษณะการใช้สถานที่ หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบต่ออาคารหรือสถานที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น
9.2 …………………………………..
…………………………………..
9.1 มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการค้า การผลิตหรือลักษณะการใช้สถานที่ หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบต่ออาคารหรือสถานที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น
9.2 …………………………………..
…………………………………..
9.5 …………………………………..
ข้อ 9.1 ถึง 9.4 จะได้รับความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบก่อนเกิดความเสียหายขึ้น และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบสลักหลังแนบท้ายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้
เรื่องต่อไป ผู้เช่าที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเช่าถือเป็นบุคคลภายนอกอันกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของผู้ให้เช่าสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet
Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น