วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

127

เรื่องที่ 127 : การที่ผู้เอาประกันภัยนำบ้านไปปล่อยให้ผู้อื่นเช่าอยู่อาศัยแทน จะส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองของบ้านเช่าหลังนั้นหรือไม่?

(ตอนที่หนึ่ง)

มีคำถามสอบถามเข้ามาประเด็นเรื่องการประกันภัยทรัพย์สินกับการให้เช่าบ้านหรือที่พักอาศัย เห็นว่าน่าสนใจมาก กอปรกับได้รับบทความคดีศึกษาเรื่องนี้จากต่างประเทศพอดี

เรามาลองดูคดีศึกษาต่างประเทศกันก่อนนะครับ

พนักงานสาขาของธุรกิจแห่งหนึ่งจำต้องถูกโยกย้ายเพื่อไปกินตำแหน่งที่สูงขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่อีกรัฐหนึ่ง โดยที่ยังไม่ได้รับแจ้งเลยว่าจะต้องใช้ช่วงเวลาทำงาน ณ สถานที่แห่งนั้นนานขนาดไหน

ด้วยความที่พนักงานผู้นี้ไม่อยากปล่อยบ้านเดิมซึ่งอยู่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ทิ้งไว้เฉย ๆ จึงได้ปล่อยให้เช่าบ้านหลังนั้นแก่เพื่อนของตนเองเป็นระยะเวลาหนึ่งปี นับแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2014  ที่ตนได้ถูกโยกย้ายไป ครั้นเมื่อครบอายุสัญญาเช่าดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีการต่ออายุสัญญาเช่านั้นอีกเพียงเดือนต่อเดือน เนื่องจากไม่แน่ใจว่า ตนจะถูกย้ายกลับมาเมื่อใด

จวบจนกระทั่งมาเกิดไฟไหม้บ้านหลังนั้นในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2016 เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของผู้เช่า ซึ่งตั้งแต่ช่วงเวลาที่ให้เช่าบ้านหลังนั้นจนถึงวันที่เกิดไฟไหม้ดังกล่าว ตนเองได้มีโอกาสแวะกลับมาดูบ้านเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

โชคดีที่ตนได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองบ้านหลังนั้นพร้อมทั้งทรัพย์สินของตนเอาไว้แล้ว โดยใช้ชื่อของตนเองเป็นผู้เอาประกันภัย มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปีระหว่างวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 2016 ถึง ค.ศ. 2017 แต่ครั้นเมื่อไปแจ้งเหตุเพื่อขอเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายจากไฟไหม้ กลับถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธด้วยการอ้างว่า การให้เช่าบ้านหลังที่เอาประกันภัยนั้นถือเป็นการประกอบกิจการค้า มิใช่เพื่ออยู่อาศัยเอง อันเป็นการผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับบ้านอยู่อาศัยฉบับดังกล่าว ซึ่งได้กำหนดคำนิยาม “การประกอบกิจการค้า (business purposes)” หมายความรวมถึง การให้เช่าทรัพย์สิน หรือการมีทรัพย์สินเพื่อให้เช่า เว้นแต่ถ้าการให้เช่านั้นเป็นการให้เช่าเป็นครั้งคราวเพื่อการอยู่อาศัย (it is rented occasionally for use as a residence)

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้พบว่า ในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับบ้านอยู่อาศัยฉบับพิพาทได้ระบุการใช้สถานที่เป็นที่อยู่อาศัย (residence premises) และมีเงื่อนไขกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า จะไม่คุ้มครองส่วนหนึ่งส่วนใดของสถานที่นั้นซึ่งได้ถูกใช้เพื่อประกอบกิจการค้า ซึ่งได้กำหนดคำนิยาม “การประกอบกิจการค้า (business purposes)” หมายความรวมถึง การให้เช่าทรัพย์สิน หรือการมีทรัพย์สินเพื่อให้เช่า เว้นแต่

ก) ถ้าการให้เช่านั้นเป็นการให้เช่าเป็นครั้งคราวเพื่อการอยู่อาศัย (it is rented occasionally for use as a residence)
ข) ถ้าให้เช่าพื้นที่บางส่วนแก่ผู้เช่าพักอาศัยไม่เกินสองคน
ค) ถ้าให้เช่าพื้นที่บางส่วนให้เป็นโรงรถส่วนบุคคล

ประเด็นปัญหา คือ ผู้เอาประกันภัยโจทก์จะสามารถใช้ข้อยกเว้น ก) มาโต้แย้งได้ไหมว่า การให้เช่าของตนเป็นเพียงครั้งคราว?

เนื่องจากคำว่า “เป็นครั้งคราว (occasionally)” มิได้ถูกกำหนดคำนิยามเอาไว้ ศาลชั้นต้นจำต้องอาศัยการแปลความหมายจากพจนานุกรมหลายฉบับ บ้างให้ความหมายถึง บางครั้ง (now and then) บ้างก็ให้ความหมายว่า ไม่บ่อยครั้ง ไม่สม่ำเสมอ (not often or regularly) ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความหมายถึงเป็นการกระทำที่มีลักษณะไม่บ่อยครั้ง หรือไม่สม่ำเสมอนั่นเอง

ฉะนั้น การที่ผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้ให้เช่าบ้านทั้งหลังรวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ประจำบ้านไปด้วย รวมระยะเวลาประมาณเกินกว่าสองปีครึ่ง แม้สามารถจัดแบ่งช่วงเวลาเช่าออกเป็นหนึ่งปีตอนต้นกับช่วงเวลาต่อมาเป็นเดือนต่อเดือนได้ก็ตาม

นอกจากนี้ ขณะที่ได้ไปจัดทำประกันภัยบ้านอยู่อาศัยฉบับพิพาทและตลอดช่วงระยะเวลาประกันภัย โจทก์ก็มิได้เคยพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นเลย ประกอบกับปรากฏพยานคำให้การรับฟังได้อีกว่า ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017 (ภายหลังเหตุไฟไหม้) โจทก์ได้ปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้โอนย้ายกลับเมืองที่ตนเคยอยู่แต่แรก และเป็นสถานที่ตั้งบ้านหลังนี้ด้วย  เนื่องจากสมาชิกครอบครัวบางรายมีปัญหา

จากเหตุผลข้างต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การให้เช่าบ้านหลังนั้นมิได้ตกอยู่ในความหมายเป็นครั้งคราวอันที่จะอยู่ในข้อยกเว้นของเงื่อนไขดังกล่าวที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น บริษัทประกันภัยจำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า หากถ้อยคำของข้อยกเว้นดังกล่าวเขียนว่า “เป็นการให้เช่าในโอกาสเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย (it is rented for an occasion for use as a residence)” ประกอบกับพยานหลักฐานเสริมอีกว่า โดยมีวัตถุประสงค์โดยชัดแจ้งเพื่อให้คงสภาพบ้านที่มีคนอยู่อาศัยเอาไว้ในช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านได้ไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นชั่วคราว กรณีนี้อาจช่วยสนับสนุนคำกล่าวอ้างของโจทก์ให้ศาลรับฟังได้อีกแง่มุมหนึ่ง แต่เนื่องจากถ้อยคำที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทค่อนข้างชัดเจน คือ คำว่า “เป็นครั้งคราว” นั้นเป็นการขยายถึงถ้อยคำของคำว่า “ให้เช่า

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Kelly v. Metropolitan Group Property & Casualty Insurance Co., No. 19-1326, 2020 WL 1845869 (6th Cir. Apr. 13, 2020))

หากนำคดีนี้มาปรับใช้เทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันทรัพย์สินฉบับมาตรฐานบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

คุณคิดว่า จะให้ผลทางคดีเหมือนกันหรือแตกต่างออกไปบ้างไหมครับ?

สัปดาห์หน้า เราค่อยมาวิเคราะห์กันนะครับ

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น