เรื่องที่ 126 : ความผิดพลาดของผู้ได้รับความคุ้มครองบางคนอาจสร้างหายนะแก่กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารได้ไหม?
(ตอนที่สอง)
ดังที่เกริ่นให้รับทราบบ้างแล้วเกี่ยวกับแต่ละแบบความคุ้มครองของข้อกำหนดที่ขอเรียกชื่อว่า
“ข้อกำหนดความคุ้มครองหลากหลายราย (Severability
Provision)” (ภาษากฎหมายจะเรียกว่า
“การแยกข้อสัญญาส่วนที่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะ
(Severability Clause)”
ซึ่งส่วนตัวรู้สึกอาจไม่ตรงกับเนื้อหาที่นำเสนอมากนักจึงขอใช้คำเรียกดังกล่าวแทน)
แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1) ลักษณะความคุ้มครองหลากหลายรายที่สมบูรณ์ (Full Severability)
การแถลงข้อความอันเป็นเท็จ
หรือการปกปิดข้อความจริงในสาระสำคัญของผู้เอาประกันภัยบางรายจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยรายอื่นไปด้วย
2) ลักษณะความคุ้มครองหลากหลายรายที่จำกัด (Limited Severability)
การแถลงข้อความอันเป็นเท็จ
หรือการปกปิดข้อความจริงในสาระสำคัญของผู้เอาประกันภัยบางราย
หรือผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ลงนามในใบคำขอเอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัยรายอื่นจะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยทุกราย
ทั้งสองกรณีข้างต้นอาจเกิดขึ้นด้วยเจตนาหรือความพลั้งเผลอของผู้เอาประกันภัยล้วนส่งผลกระทบต่อสัญญาประกันภัยดังกล่าวทั้งสิ้น
ต่อไปนี้ คือ
ตัวอย่างคดีศึกษาของข้อกำหนดดังกล่าว
1) ลักษณะความคุ้มครองหลากหลายรายที่สมบูรณ์ (Full Severability)
ในคดี Re
HealthSouth Corp. Ins. Litigation, 308 F. Supp. 2d 1253 (N.D. Ala. 2004 ซึ่งกลุ่มบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดสำหรับกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารล้วนอ้างว่า
การที่อดีตเจ้าหน้าที่บริหารรายหนึ่งได้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องถึงสถานะทางการเงินของธุรกิจที่เอาประกันภัย
และต่อมาได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง กลุ่มบริษัทประกันภัยเหล่านั้นจึงปฎิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเหล่านั้นทั้งหมด
แต่ผู้เอาประกันภัยรายอื่น ๆ ได้ต่อสู้ว่า เนื่องจากข้อกำหนดความคุ้มครองหลากหลายราย (Severability Provision) ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้นได้ระบุ
“ถ้อยแถลงใดในใบคำขอเอาประกันภัย
หรือถ้อยแถลงที่รับรู้โดยผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งรายใดจะไม่ส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยรายอื่นใด” ดังนั้น
บริษัทประกันภัยเหล่านั้นจำต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยทุกรายซึ่งมิได้มีส่วนรับรู้ถึงการแถลงข้อความอันเป็นเท็จนั้นด้วย
ศาลได้เห็นพ้องกับข้อต่อสู้ดังกล่าวของผู้เอาประกันภัย
จึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยเหล่านั้นรับผิด
2) ลักษณะความคุ้มครองหลากหลายรายที่จำกัด (Limited Severability)
ศาลชั้นต้นแห่งประเทศเยอรมันได้ตัดสินเมื่อวันที่
21 กันยายน ค.ศ. 2011 ให้บริษัทประกันภัยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันภัยความรับผิดสำหรับกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors’ & Officers’ Liability Insurance Policy)
ได้อันเป็นผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่บริหารรายหนึ่งได้แถลงข้อความเท็จของข้อมูลซึ่งเป็นสาระสำคัญในการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัยแห่งนั้น
ถึงแม้ว่า เจ้าหน้าที่บริหารรายอื่นจะมิได้สมคบกระทำการเช่นนั้นก็ตาม
สัญญาประกันภัยฉบับนั้นคงตกเป็นโมฆียะทั้งฉบับ (อ้างอิงจากคดีเลขที่ IV ZR 38/09)
เหล่านี้ คือ
ตัวอย่างคดีศึกษาสำหรับข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
มิได้จำกัดใช้เฉพาะกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดสำหรับกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารเท่านั้น
สามารถนำข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษนี้ไปใช้กับประเภทกรมธรรม์ประกันภัยอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยผู้เอาประกันภัยหลายรายได้อีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ฯลฯ
เรื่องต่อไป การที่ผู้เอาประกันภัยนำบ้านไปปล่อยให้ผู้อื่นเช่าอยู่อาศัยแทน
จะส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองของบ้านเช่าหลังนั้นหรือไม่?
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet
Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น