วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 125 : ประเด็นหน้าที่ความรับผิดของรถโรงเรียนจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด?

นี่โรงเรียนหรือสถานศึกษาใกล้จะเปิดเทอมอีกวาระหนึ่งแล้ว เราลองมาพิจารณาคดีศึกษานี้กันหน่อยก็ดีนะครับ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาถึง

ก) หน้าที่ความรับผิดชอบของรถโรงเรียนจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด? และ
ข) หน้าที่ความรับผิดชอบเช่นว่านั้นจะต้องมีระดับสูงกว่าปกติทั่วไปไหม?

ดีเร็ก เด็กชายอายุสิบสองขวบคนหนึ่งใช้บริการรถโรงเรียนส่วนบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากโรงเรียนแห่งนั้นให้ดำเนินการรับส่งนักเรียน บ่ายวันหนึ่ง ช่วงขากลับจากโรงเรียน รถคันนั้นวิ่งเพลินจนเลยจุดส่งดีเร็กตามปกติ ทำให้ดีเน็กจำต้องลงที่จุดถัดไปโดยอยู่อีกคนละฝั่งถนน พอดีเร็กข้ามถนนทางด้านหน้ารถโรงเรียน ก็ได้ถูกรถอีกคันหนึ่งชนได้รับบาดเจ็บ

พ่อของดีเร็กได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้คนขับรถพร้อมโรงเรียนรับผิดโทษฐานประมาทเลินเล่อมิได้ใช้ความระมัดระวังพิเศษในระดับที่สูงกว่ารถรับจ้างทั่วไป

ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้แล้ว มีความเห็นว่า เนื่องจากรถโรงเรียนคันนี้เป็นรถรับจ้างทั่วไปที่มิได้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยพิเศษเหมือนอย่างเช่นรถโรงเรียนโดยเฉพาะ ฉะนั้น ระดับการใช้ความระมัดระวังจึงยังคงเป็นเช่นดั่งรถรับจ้างทั่วไป ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการนำส่งผู้โดยสารถึงจุดส่งอย่างปลอดภัยเท่านั้น ภายหลังจากนั้นจะเกิดอุบัติเหตุอะไรตามมา คนขับรถก็ไม่จำต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมอีก

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Smith v. Sherwood, 2011 N.Y. LEXIS 244 (February 15, 2011)

ขณะที่ภาระความผิดชอบของรถโรงเรียนโดยเฉพาะจะเริ่มต้นตั้งแต่รับนักเรียนขึ้นรถและนำส่งถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย และต่อเนื่องจนถึงขากลับนำส่งนักเรียนจนถึงจุดหมายตามที่กำหนดไว้อย่างปลอดภัย คือ มีระดับการดูแลเอาใจใส่สูงกว่า 

แต่ทั้งนี้ แนวทางคำพิพากษาศาลต่างประเทศยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ บ้างก็เห็นว่า ถึงแม้เป็นรถโรงเรียนโดยเฉพาะ ก็มีระดับการดูแลเอาใจใส่ไม่แตกต่างจากรถรับจ้างทั่วไป โดยอาศัยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ของวิญญูชนทั่วไป ขณะที่บางศาลก็เห็นต่างออกไปว่า สำหรับนักเรียนเด็กเล็กนั้นไม่สมควรนำหลักเกณฑ์ของวิญญูชนทั่วไปมาใช้อ้างอิง ควรมองจากมุมมองของเด็กในวิสัยและสภาวะของเด็กระดับเดียวกันเป็นเกณฑ์มากกว่า

เท่าที่ค้นแนวคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรา ยังไม่พบนะครับ 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรถโรงเรียนออกมาใช้บังคับหลายฉบับด้วยกัน เป็นต้นว่า ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถในการรับจ้างรับส่งนักเรียน พ.ศ. 2547 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ซึ่งน่าสนใจว่า ดูเสมือนจะมีระดับการดูแลเอาใจใส่สูงกว่ารถรับจ้างสาธารณะทั่วไป แต่จะถึงขนาดให้ดูแลนักเรียนข้ามถนนจนปลอดภัยแล้วถึงจะออกรถได้ดั่งเช่นระเบียบของต่างประเทศหรือไม่นั้น? จำต้องรอดูต่อไป

อย่างไรก็ดี อยากจะหวังว่า เมื่อได้มีระเบียบปฏิบัติออกมาเข้มแข็งอย่างนี้ ข่าวคราวที่เกี่ยวกับรถโรงเรียนน่าจะให้ภาพเป็นบวกสมความตั้งใจดีที่วางไว้นะครับ

เรื่องต่อไปจะขอยกตัวอย่างคดีศึกษากรณีการประกันภัยความรับผิดสำหรับกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors & Officers Liability Insurance) กันบ้างนะครับ

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 124 : เรื่องวุ่น ๆ ของการประกันภัยก่อสร้าง (Construction Insurance) เมื่อความเสี่ยงภัยทุกชนิด มิได้หมายถึงความเสียหายทุกกรณี

เป็นที่รับรู้ว่า การประกันภัยก่อสร้าง (Construction Insurance) หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance) หรือที่บ้านเราเรียกว่า “การประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance)” นั้น ทั้งหมดจะให้ความคุ้มครองในรูปแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risks) 

ถ้อยคำซึ่งฟังแล้วดูดีมากและชวนเคลิบเคลิ้มนั้น น่าเสียดายที่มักกลับสร้างความนึกคิดผิด ๆ อยู่บ่อยครั้ง

เหมือนดั่งเช่นที่เกิดเป็นคดีข้อพิพาทเรื่องนี้

ผู้ว่าจ้างได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาให้ก่อสร้างอาคารร้านค้าหลังหนึ่งขึ้นมา ภายหลังจากได้รับมอบงานที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยจากผู้รับเหมาดังกล่าวและใช้งานไปได้เป็นปีแล้ว ผู้ว่าจ้างได้พบปัญหาวัสดุพรมแผ่นปูพื้น (carpet tiles) เกิดหลุดร่อนออกมาจำนวนมาก และได้นำเรื่องยื่นฟ้องให้ผู้รับเหมานั้นรับผิดชอบ

เนื่องจากผู้รับเหมารายนี้ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองงานก่อสร้างนี้เอาไว้ตามข้อกำหนดของสัญญาว่าจ้าง จึงได้ทำการเรียกให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีด้วย

คดีนนั้นสามารถตกลงกันได้ด้วยการที่ผู้ว่าจ้างได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,300,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ในส่วนของ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐตกอยู่ในส่วนความรับผิดของบริษัทประกันภัยตามวงเงินความคุ้มครองสูงสุดภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยก่อสร้างฉบับดังกล่าว

ต่อมา บริษัทประกันภัยเป็นโจทก์นำเรื่องยื่นฟ้องเรียกจำนวนเงินดังกล่าวนั้นคืนจากผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างและตกเป็นจำเลยในคดีนี้ โดยอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องของผู้ว่าจ้างนั้น มิใช่อุบัติเหตุอันที่จะทำให้ได้รับความคุ้มครองได้ แต่เกิดจากความจงใจของผู้เอาประกันภัยมากกว่า การที่บริษัทประกันภัยจำต้องจ่ายเงินชดใช้ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปนั้นเป็นการจ่ายตามคำสั่งศาล ด้วยเหตุที่ว่า ตนมิอาจหยิบยกข้อยกเว้นตามสัญญาประกันภัยไปปฏิเสธกับผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้ จึงต้องมายื่นฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากผู้เอาประกันภัยเป็นอีกคดีหนึ่ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว รับฟังได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะมิใช่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ เพราะก่อนหน้าที่ผู้รับเหมาช่วงงานปูพื้นจะดำเนินการได้หารือกับผู้รับเหมาหลักจำเลยในคดีนี้แล้วว่า ได้ตรวจสอบระดับความชื้นในคอนกรีตภายในพื้นที่ที่จะปูแล้ว ปรากฏยังคงมีความชื้นสูงเกินกว่าแบบที่กำหนดไว้อยู่มาก จำต้องรอคอยอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งไปก่อน แต่ด้วยความที่ผู้รับเหมาหลักกังวลเรื่องงานอาจล่าช้าออกไปจนเสร็จไม่ทันกำหนดตามสัญญาว่าจ้าง อันจะส่งผลทำให้ถูกปรับเงินได้ จึงสั่งให้ผู้รับเหมาช่วงนั้นรีบดำเนินการไปได้เลย คาดว่าคงไม่น่าจะเกิดปัญหาตามมาหรอก สุดท้ายก็บังเกิดปัญหาขึ้นมาจนได้ ฉะนั้น ถือว่า ผู้รับเหมาหลักในฐานะตัวการได้สั่งให้ผู้รับเหมาช่วงตัวแทนกระทำการไปทั้งที่ตนรับรู้หรือคาดหมายได้ว่า จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา และก็ได้บังเกิดขึ้นมาจริงท้ายที่สุด อันไม่เข้าอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

สำหรับคำโต้แย้งของผู้รับเหมาหลักจำเลยที่ว่า ความเสียหายนั้นมิได้บังเกิดขึ้นทันทีทันใด กลับใช้เวลาเป็นปีจึงปรากฏขึ้นมานั้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้ ศาลชั้นต้นไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากพยานหลักฐานกลับแสดงว่า ได้ตรวจพบความเสียหายนั้นครั้งแรกในเวลาไม่กี่เดือนและก่อนหน้าที่เปิดดำเนินกิจการด้วยซ้ำไป อนึ่ง ช่วงระหว่างเวลาที่ลงมือกระทำการกับเวลาที่ความเสียหายปรากฏขึ้นนั้น ไม่จำเป็นจะต้องบังเกิดขึ้นฉับพลันทันที หรือทิ้งช่วงออกไปไม่นาน จำต้องพิจารณาข้อความจริงแต่ละกรณีประกอบไปด้วย และศาลชั้นต้นเองก็ไม่พบปัจจัยอื่นใดที่อาจจะเข้ามาแทรกแซงด้วยเช่นกัน จึงน่าเชื่อว่ามีสาเหตุเกิดขึ้นเพียงจากปัจจัยระดับความชื้นในคอนกรีตสูงเกินกว่าแบบที่กำหนดไว้ดังกล่าว บริษัทประกันภัยโจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

ผู้รับเหมาหลักจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้ผู้รับเหมาหลักจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทประกันภัยโจทก์

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Navigators Specialty Insurance Co. v. Moorefield Construction, 6 Cal. App. 5th 1258 (2016))

นี่คือ บทเรียนตัวอย่างเรื่องหนึ่งของความหลงเข้าใจถึงคำว่า “ความเสี่ยงภัยทุกชนิด” ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้จำต้องมีการพยายามเลี่ยงไปใช้คำว่า “สรรพภัย” แทน 

ไม่มีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดในโลกหรอกครับที่สามารถให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิดได้จริง ทั้งขอให้พึงระลึกอยู่เสมอด้วยนะครับว่า ทุกกรมธรรม์ประกันภัยต้องมีข้อยกเว้นและเงื่อนไขกำกับอยู่ด้วยเสมอ

โดยทั่วไป ข้อตกลงคุ้มครองมักจะเขียนในลักษณะว่า ให้ความคุ้มครองถึงอุบัติภัย หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในข้อยกเว้น
 
นั่นหมายความว่า เวลาพิจารณาความคุ้มครองเมื่อเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายขึ้นมา โปรดไล่เรียงลำดับเป็นขั้นตอน ดังนี้ 

ลำดับแรก

จะต้องพิจารณาให้ได้เสียก่อนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็น “อุบัติภัย (accidental peril)” หรือมีสาเหตุมาจาก “อุบัติเหตุ (accident)” ใช่หรือไม่?

ถ้าลำดับนี้ ไม่ผ่าน ก็ปิดเรื่องทำใจได้เลย

หากผ่าน ให้ไปพิจารณาลำดับถัดไป

ลำดับที่สอง

วัตถุที่เอาประกันภัยได้รับความสูญเสียหรือความเสียหายใช่หรือไม่?

ถ้าลำดับนี้ ไม่ผ่าน ก็ให้ตัดใจเช่นกัน

หากผ่าน ให้ไปพิจารณาลำดับต่อไป

ลำดับที่สาม

ความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นที่ระบุไว้ใช่หรือไม่?

ถ้าลำดับนี้ ไม่ผ่าน ก็หมดหวังได้แล้ว

หากผ่าน ให้เตรียมตัวรับเงินค่าสินไหมทดแทนได้

บังเอิญปัญหาที่มักเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ทั้งของต่างประเทศกับของบ้านเรา คือ มิได้มีการให้คำนิยามเอาไว้ภายใต้การประกันภัยเหล่านั้นเลยว่า “อุบัติภัย (accidental peril)” หรือ “อุบัติเหตุ (accident)” นั้นมีความหมายเช่นใด?

ถึงต่อให้มีคำนิยามเขียนไว้ก็เถอะ อย่าเพิ่งหลงดีใจ ยังมีประเด็นให้ทะเลาะกันอยู่ดี ไอ้ที่เขียนไว้อย่างนั้น ทำไมถึงเข้าใจได้ไม่ตรงกันเสียนี่?

ช่างน่าปวดหัว และเจ็บปวดกระดองใจจริง ๆ นะครับ

จากประสบการณ์การทำงานในธุรกิจประกันภัย เคยได้รับการปฏิเสธไม่รับผิด เนื่องจากไม่อยู่ในความหมายของอุบัติเหตุหนึ่งครั้ง ยังจำได้อย่างแม่นยำ และได้นำมาหยิบยกเป็นอุทาหรณ์เวลาอบรมให้ความรู้ประกันภัยอยู่เนือง ๆ แต่มิใช่ในฐานะบริษัทประกันภัยไปปฏิเสธลูกค้านะครับ กลับเป็นกรณีผู้รับประกันภัยต่อหยิบยกมาต่างหาก

เรื่องต่อไปขอวนกลับมาเรื่องของประกันภัยรถยนต์อีกครั้ง แม้จะเป็นประเภทประกันภัยที่ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากที่สุด แต่กลับคงมีประเด็นข้อพิพาทเกิดมากที่สุดเช่นกัน: ประเด็นหน้าที่ความรับผิดของรถโรงเรียนสิ้นสุดเมื่อใด?

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 123 : เมื่อการชำระเบี้ยประกันภัยออนไลน์ไม่ช่วยทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองจากไฟไหม้ (Insurance Premium Payment Online Fails Policyholder from Fire)?

เดี๋ยวนี้ การชำระเงินผ่านทางระบบออนไลน์สามารถทำได้โดยง่ายและสะดวกมาก จึงเป็นที่ได้รับการยอมรับและนิยมทำเพิ่มมากขึ้น

แต่ถ้ามองในแง่ของผู้รับเงิน คุณนึกไหมครับว่า ผู้รับเขาจะทราบได้ไหมว่า เงินนั้นชำระเป็นค่าอะไร? เพื่ออะไร? 

ถ้าไม่มีเงื่อนเวลากำหนดชำระ ก็อาจดูไม่น่าห่วง แต่ถ้ามีเงื่อนเวลาบังคับล่ะ จะบังเกิดผลอะไรขึ้นมาได้บ้าง?

ลองดูคดีศึกษาเรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์บ้างก็ดีนะครับ

โรงงานผลิตเจ้าหนึ่งได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนกับบริษัทประกันภัยโดยผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 และมีข้อตกลงแบ่งชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นรายงวดตามที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันภัยรวมทั้งหมดค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ เงื่อนไขข้อหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวระบุว่า บริษัทประกันภัยมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยในกรณีผู้เอาประกันภัยไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัย ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือถึงผู้เอาประกันภัยไม่ต่ำกว่า 10 วันก่อนที่วันบอกเลิกจะมีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ การบอกเลิกดังกล่าวจะไม่บังเกิดผลใช้บังคับ หากว่า ผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยแล้วก่อนหน้าวันที่บอกเลิกนั้นจะมีผลใช้บังคับ  

ณ วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้ส่งหนังสือเตือนให้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดแรกซึ่งจะถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2013

เมื่อมิได้รับชำระค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าว บริษัทประกันภัยจำต้องทำหนังสือบอกเลิกสัญญาประกันภัยล่วงหน้าลงวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 ไปถึงผู้เอาประกันภัย โดยระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวจะสิ้นผลบังคับนับแต่วันที่ วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เป็นต้นไป เว้นเสียแต่ผู้เอาประกันภัยจะได้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยเรียบร้อยแล้วก่อนหน้าที่วันนั้นจะมีผลบังคับ ซึ่งสำเนาหนังสือดังกล่าวยังได้นำส่งถึงนายหน้าประกันวินาศภัยของผู้เอาประกันภัยให้รับทราบด้วย

ถึงกระนั้น ฝ่ายผู้เอาประกันภัยคงนิ่งเฉย บริษัทประกันภัยไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องออกใบสลักหลังระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวมีผลคุ้มครองตามส่วนนับตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เนื่องด้วยสาเหตุการไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัย

เมื่อคนเราถึงคราวดวงตก โชคร้ายที่มิได้นึกฝัน มันก็บังเกิดขึ้นมาได้จริง ๆ

ถัดจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวสิ้นผลบังคับ คือ ช่วงบ่ายของวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ณ โรงงานแห่งนั้นของผู้เอาประกันภัย ด้วยความกังวลใจและหวาดผวาขณะเฝ้าดูพนักงานดับเพลิงกำลังทำการดับไฟอยู่อย่างแข็งขันอยู่ ผู้เอาประกันภัยได้รีบทำการชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดแรกทางออนไลน์ไปถึงบริษัทประกันภัยโดยทันที

สามวันต่อมา นายหน้าประกันวินาศภัยของผู้เอาประกันภัยได้ติดต่อแจ้งเหตุไฟไหม้ให้บริษัทประกันภัยรับทราบ 

ครั้นวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ผู้เอาประกันภัยก็รีบชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดต่อไปทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก

วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้แจ้งผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยนั้นว่า ตนยินดีที่จะให้ความคุ้มครองกลับมามีสถานะดังเดิมได้ต่อเมื่อได้รับหนังสือยืนยันกลับมาจากผู้เอาประกันภัยภายในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ว่า ไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้นมานับแต่วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

เมื่อไม่มีคำตอบกลับมาจากผู้เอาประกันภัย นายหน้าประกันวินาศภัยนั้นจึงได้แจ้งแก่ผู้เอาประกันภัยในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ว่า บริษัทประกันภัยยืนยันความคุ้มครองสิ้นสุดลงไปแล้ว นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เป็นต้นไป

วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้นำส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับชำระ สำหรับระยะเวลาที่ไม่ได้คุ้มครองคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย 

ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 2013 บริษัทประกันภัยได้ทวงถามค่าเบี้ยประกันภัยคงค้างชำระ สำหรับระยะเวลาคุ้มครองตามส่วนช่วงแรก          
ผู้เอาประกันภัยจึงได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดต่อสาเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2013 แต่เมื่อถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธ ผู้เอาประกันภัยได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณา

โดยผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์อ้างว่า การที่บริษัทประกันภัยจำเลยได้ยอมรับค่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระให้ภายหลังจากความเสียหาย ถือเป็นการยกเลิกการบอกเลิกความคุ้มครองที่ได้แจ้งมานั้นแล้ว บริษัทประกันภัยจำเลยจึงจำต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวตามหลักกฎหมายปิดปาก (Doctrines of Estoppel & Waiver) 

ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับฝ่ายจำเลยว่า จำเลยได้ดำเนินการบอกกล่าวการเลิกสัญญาประกันภัยถูกต้องตามเงื่อนไขนั้นทุกประการแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจึงสิ้นผลบังคับนับแต่วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่รับผิดชอบภายหลังจากนั้น และกรณีก็ไม่เข้าหลักกฎหมายปิดปากดังอ้าง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นว่า ฝ่ายจำเลยจะยอมรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยโดยปราศจากเงื่อนไขอย่างชัดแจ้งว่า ตนยินดีที่จะทำให้ความคุ้มครองนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปดังเดิม ฝ่ายจำเลยกลับกำหนดเงื่อนไขและคำขอให้ยืนยันจากฝ่ายโจทก์เพิ่มเติมอีก เมื่อไม่ได้รับคำตอบ ฝ่ายจำเลยก็ได้ดำเนินการคืนค่าเบี้ยประกันภัยให้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ฝ่ายจำเลยไม่ได้ยกเลิกการบอกเลิกความคุ้มครองดังกล่าวนั้นเอง อันจะส่งผลทำให้ถูกปิดปากที่จะไม่โต้แย้งความรับผิดชอบของตนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทเลย หลักกฎหมายดังอ้างของฝ่ายโจทก์ไม่อาจรับฟังได้

อนึ่ง จากคำให้การพยานซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีของฝ่ายจำเลย ในทางปฏิบัติเวลามีการโอนเงินเข้าบัญชี จะไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนในระบบได้ว่า นี่คือ การชำระค่าเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่คงมีผลบังคับอยู่ หรือที่เลยกำหนดชำระ หรือที่ถูกบอกเลิกไปแล้ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ต้องรับผิด

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Megna v. Leading Ins. Services, Inc., No. A-O (N.J. Super. - App. Div. Jan. 30, 2017))

คดีศึกษาเรื่องต่อไป: เรื่องวุ่น ๆ ของการประกันภัยก่อสร้าง?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/