วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 122 : ความเสียหายโดยอุบัติเหตุต่อทรัพย์สินที่มิใช่ของ (Not Belonging To) ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกหมายความถึงอะไร?

(ตอนที่หนึ่ง)

ปัญหาเรื่องการจัดทำประกันภัยระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่ามักเกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่เนือง ๆ ทั้งในต่างประเทศและบ้านเรา

ใครควรเป็นผู้ทำประกันภัย? และ

ควรจัดทำประกันภัยประเภทใด?

ผมเองได้รับการสอบถามเรื่องเหล่านี้อยู่เป็นระยะ ล่าสุดไม่กี่วันมานี้ ก็มีคำถามเข้ามาอีก

ถ้าพิจารณาจากหลักการเบื้องต้นที่ผมยึดถือเสมอมา คือ

ใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด? ผู้นั้นก็มีส่วนได้เสียและมีหน้าที่จัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินเหล่านั้นของตนเอง ทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า “การประกันภัยทรัพย์สินของบุคคลที่หนึ่ง (First Party Property Insurance)” โดยถือผู้เอาประกันภัยเป็นบุคคลที่หนึ่ง และบริษัทประกันภัยเป็นบุคคลที่สอง

ทรัพย์สินของบุคคลอื่นจะนำเอามาทำประกันภัยมิได้ เว้นแต่จะจัดทำเป็นประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จึงทำให้บางคราวถูกเรียกว่า “การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก หรือบุคคลที่สาม (Third Party Liability Insurance)” โดยถือบุคคลอื่นเป็นบุคคลที่สามนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ทุกหลักการอาจมีข้อยกเว้นได้ เช่นเดียวกับหลักการเบื้องต้นดังกล่าว เอาไว้จะค่อย ๆ หยิบยกนำมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมภายหลังนะครับ

เชื่อว่า ถ้าเราพยายามยึดถือหลักการเบื้องต้นเหล่านี้ ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าน่าจะลดน้อยลงไปได้

แม้กระนั้น กรณีที่เกิดขึ้นจริงอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ มากมายซึ่งอาจก่อให้เกิดคำถามค้างคาใจ ไม่แน่ใจขึ้นมาได้ ดั่งกรณีคดีศึกษานี้ที่ประเทศอังกฤษซึ่งใช้เวลาต่อสู้คดียาวนานเกือบสิบปีทีเดียว

เจ้าของอาคารหลังหนึ่งสูงสี่ชั้นได้ปล่อยให้บริษัท พี มาเช่าตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปชั้นสี่ รวมทั้งหมดสามชั้น โดยจัดทำเป็นสัญญาเช่าระยะยาวนานถึง 999 ปี (นานกว่าสัญญาเช่าเกาะฮ่องกง 99 ปีเสียอีก) ซึ่งบริษัท พี ผู้เช่าได้ทำสัญญาเช่าช่วงทั้งสามชั้นบนที่จัดเป็นห้องพักได้เจ็ดห้องต่อไปอีกทอดหนึ่ง

ณ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2010 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นจากภัตตาคารที่อยู่ชั้นล่างและประกอบการโดยเจ้าของอาคารเอง เปลวไฟได้ลุกลามอย่างรุนแรงขึ้นไปชั้นบนจนสร้างความเสียหายอย่างมากแก่อาคารหลังนั้นทั้งสี่ชั้น ผลการพิสูจน์ไฟไหม้ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าของภัตตาคารและเป็นเจ้าของอาคารหลังนั้นด้วย

โชคดีที่เจ้าของอาคารหลังนั้นได้จัดทำชุดกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกรวมอยู่ในฉบับเดียวกันกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้อยู่แล้ว ดังมีข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นที่สำคัญ พอสรุปได้ดังนี้

ก) หมวดความคุ้มครองทรัพย์สิน (Material Damage Section)
ระบุคุ้มครองตัวอาคารทั้งสี่ชั้นและทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันภัยด้วย ในวงเงิน 700,000 ปอนด์ (เป็นวงเงินที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ 900,000 ปอนด์)

ข) หมวดความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกสำหรับเจ้าของสถานที่กับสำหรับผลิตภัณฑ์ (Public & Products Liability Section)
ระบุคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยต่อบุคคลภายนอก ทั้งในส่วนชีวิต ร่างกายของบุคคลภายนอก และในส่วนความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 

โดยกำหนดข้อยกเว้นไม่คุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันภัย (not belonging to) เอง หรือที่ผู้เอาประกันภัยครอบครอง ดูแล หรือควบคุมอยู่   

ทันทีที่บริษัทประกันภัยได้รับแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดของชุดกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว จึงได้ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

) ภายใต้หมวดความคุ้มครองทรัพย์สิน ชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ จำนวนเงินทั้งสิ้น 610,000 ปอนด์ (หักส่วนเฉลี่ยการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว)

) ภายใต้หมวดความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ชดใช้ให้แก่ผู้เช่าช่วงทั้งเจ็ดรายซึ่งได้รับความเสียหายครั้งนี้ เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 225,250 ปอนด์

ก่อให้เกิดความมึนงงและความไม่พอใจอย่างมากแก่บริษัท พี ผู้เช่า ซึ่งก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ทำไมกลับถูกมองข้ามไปได้เสียนี่ จึงได้ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยรายนี้ให้รับผิดชอบตามชุดกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวในปี ค.ศ. 2016 โดยอ้างว่า

1) เจ้าของอาคารหลังนี้และในฐานะผู้ให้เช่ามีหน้าที่จะต้องจัดทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคารหลังนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ผู้เช่าจำต้องควักเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายในการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเพิ่มเติมอีก 225,000 ปอนด์ ฉะนั้น บริษัทประกันภัยรายนี้ต้องชดใช้เงินกลับคืนมาให้แก่ตนด้วย

2) บริษัท พี ผู้เช่า วางแผนที่จะทำการปรับปรุงอาคาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีโครงการจะขายห้องทั้งเจ็ดห้องแบบมีภาระผูกพันออกไปแทนที่จะปล่อยให้เช่าช่วงแบบเดิม โดยคาดว่าจะทำให้มีกำไรรวมประมาณ 3,803,721 ปอนด์ แต่จำต้องสูญเสียโอกาสเช่นนี้ไป บริษัทประกันภัยรายนี้ต้องรับผิดชดใช้สำหรับความเสียหายพิเศษนี้ด้วย หรือมิฉะนั้นก็ให้ชดใช้สำหรับการสูญเสียค่าเช่าที่คาดว่าจะได้รับไปทั้งสิ้น 275,000 ปอนด์

อันที่จริง ได้ยื่นฟ้องผู้ให้เช่าด้วย แต่บังเอิญผู้ให้เช่ากลายมาเป็นบุคคลล้มละลาย  ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากมาฟ้องให้บริษัทประกันภัยรายนี้รับผิดชอบแทน

ผลการพิจารณาคดีจะออกมารูปแบบใด? กรุณาอดใจรอติดตามสัปดาห์หน้าครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 121: ต้องขนาดใดถึงเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive Total Loss) สำหรับการประกันภัยตัวเรือ (Marine Hull Insurance)?

แม้ไม่ใคร่ถนัดเรื่องประเภทการประกันภัยทางทะเล แต่เห็นมีคดีศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศอังกฤษ จึงขอเลือกนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ครอบคลุมทุกประเภทของการประกันวินาศภัย

คดีนี้เป็นเรื่องการประกันภัยตัวเรือ (Marine Hull Insurance) ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 อธิบายว่า การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรือเดินทะเลหรือเรือที่เดินในน่านน้ำ โฮเวอร์คราฟต์ อากาศยาน รวมทั้งเครื่องจักรและเครื่องใช้ในเรือ โดยทั่วไปการประกันภัยตัวเรือทางทะเลนั้น ผู้รับประกันภัยจะคุ้มครองความรับผิด 3 ใน 4 ส่วนของความเสียหายจากเรือโดนกันด้วย (มีความหมายเหมือนกับ hull and machinery insurance)” 

อันจัดเป็นการประกันภัยทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง และมีลักษณะความเสียหายคล้ายคลึงกับการประกันภัยทรัพย์สินปกติทั่วไป ได้แก่ ความเสียหายบางส่วน ความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง และความเสียหายสิ้นเชิง

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ความเสียหายบางส่วน คือ เสียหายบางส่วนเล็กน้อย ซ่อมแซมได้ สำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง คือ เสียหายบางส่วนค่อนข้างมากหรือรุนแรง พอจะซ่อมแซมได้เหมือนกัน แต่ไม่คุ้มนั่นเอง เนื่องจากระดับค่าซ่อมแซมสูงเกือบเท่าหรือใกล้เคียงมูลค่าทรัพย์สินนั้น สู้จ่ายเต็มมูลค่าไปเลยดีกว่าที่จะมาเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ส่วนความเสียหายสิ้นเชิงนั้นไม่อาจซ่อมแซมได้เลย

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภาดังกล่าว แม้จะกำหนดคำนิยามทั่วไปของความเสียหายบางส่วนกับความเสียหายสิ้นเชิงเอาไว้ แต่กลับไม่มีของความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงด้วย เว้นแต่เป็นของการประกันภัยทางทะเลเท่านั้น ดังนี้ 

ความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive Total Loss) คือ ความเสียหายบางส่วนแก่วัตถุที่เอาประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการกู้วัตถุนั้นขึ้นจากทะเล หรือค่าซ่อมแซมหรือปรับปรุง สูงกว่ามูลค่าหลังจากซ่อมแซมปรับปรุงวัตถุนั้นแล้ว ในการเรียกร้องความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง ผู้เอาประกันภัยต้องแสดงความจำนงสละทิ้งวัตถุที่เสียหายนั้นให้เป็นสิทธิของผู้รับประกันภัยซึ่งเรื่องดังกล่าวใช้ในการประกันภัยทางทะเล” 

ตามพจนานุกรมข้างต้นให้ความหมายว่า การที่จะจัดเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงได้นั้น ไม่อาจพิจารณาจากค่าซ่อมสำหรับความเสียหายบางส่วนโดยลำพังได้ จำต้องนำเอาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นต้นว่า ค่าใช้จ่ายในการกู้ตัวเรือมาบวกเข้าไปเสียก่อนจนส่งผลทำให้มีจำนวนเงินรวมทั้งหมดสูงกว่ามูลค่าตัวเรือที่กำหนดไว้
 
ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้เอาประกันภัยแสดงความจำนงสละทิ้งตัวเรือให้ตกเป็นของบริษัทประกันภัยเสียก่อนอีกด้วยอีกขั้นหนึ่ง 

อ่านแล้วเราสามารถเข้าใจได้อย่างชัดแจ้งดีไหมครับ?

เนื่องจากครั้นพอเกิดเหตุจริงขึ้นมาล่าสุด ปราฏว่าผู้เอาประกันภัยตัวเรือลำหนึ่งกับบริษัทประกันภัยต่างแปลความหมายดังกล่าวไม่ตรงกันจนเกิดเป็นเรื่องราวกันเกิดขึ้น

ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2012 มีเรือที่เอาประกันภัยลำหนึ่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากไฟไหม้ระหว่างอยู่ในทะเล ผู้เอาประกันภัยเจ้าของเรือได้ว่าจ้างผู้ช่วยเหลือกู้ภัย (Salvor) เข้าไปดำเนินการภายใต้สัญญาแบบฟอร์มมาตรฐานของสถาบันลอยด์ว่าด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล (Lloyd’s open form; Lloyd’s form of salvage agreement) และมีข้อกำหนดว่าด้วยค่าทดแทนพิเศษ การได้รับความคุ้มครองและชดใช้ (Special Compensation, Protection and Indemnity Clause (SCOPI)) ประกอบไว้ด้วย

ในการช่วยเหลือ เรือลำดังกล่าวได้ถูกลากจูงเข้าฝั่งเพื่อขนถ่ายสินค้าลง และถูกลากจูงต่อไปเพื่อประเมินตรวจสอบสภาพความเสียหายที่แท้จริง

โดยที่ตัวเรือและเครื่องจักรอุปกรณ์ได้จัดทำทุนประกันภัยไว้อยู่ที่ 12 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายใต้ข้อกำหนด Institute Time Clauses (Hull) 1/10/83 (ITC) ซึ่งมีเงื่อนไขข้อหนึ่งถอดความได้ว่า “จะไม่ชดใช้ให้สำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive Total Loss) อันประกอบด้วยค่าใช้จ่ายส่วนที่รับคืน (Recovery) และ/หรือค่าซ่อมแซม นอกเสียจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นเองมีจำนวนเงินรวมกันแล้วสูงกว่าทุนประกันภัย
 
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยมูลค่าส่วนเกิน (Increased Value Policy) เผื่อไว้อีกเป็นวงเงิน 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ 

(พจนานุกรมข้างต้น ให้ความหมายกรมธรรม์ประกันภัยมูลค่าส่วนเกินนี้ว่า “ในการประกันภัยสินค้าทางทะเล หมายถึง กรมธรรม์ประกันภัยที่มักจะกำหนดเงื่อนไขให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรกและฉบับที่ซื้อเพิ่มร่วมกันเฉลี่ยตามสัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่ให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรกต้องรับผิดเต็มมูลค่าก่อน กรมธรรม์ประกันภัยฉบับหลังจึงจะชดใช้ให้”)

ทั้งผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยไม่อาจตกลงกันได้เรื่องค่าซ่อมซึ่งต่างฝ่ายต่างจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาประเมิน เมื่อผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ค่าซ่อมที่คำนวณได้นั้นสูงเกินกว่าทุนประกันภัยของตัวเรืออันถือเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงแล้ว จึงได้ทำหนังสือแจ้งการสละทิ้ง (Notice of Abandonment (NOA)) เรือลำนั้นลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ส่งมอบให้แก่บริษัทประกันภัยเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับดังกล่าว

(พจนานุกรมข้างต้น ให้ความหมายการแจ้งการสละทิ้ง คือ “การที่ผู้เอาประกันภัยแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบว่า ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง และพร้อมที่จะสละทิ้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นให้แก่ผู้รับประกันภัย)

บริษัทประกันภัยนั้นไม่ยินยอมตามที่เรียกร้อง โดยต่อสู้ว่า ผู้เอาประกันภัยได้ออกหนังสือแจ้งการสละทิ้งฉบับดังกล่าวล่าช้าเกินไป จึงทำให้สูญเสียสิทธิการเรียกร้องสำหรับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงได้ คงได้เพียงแต่ค่าซ่อมความเสียหายบางส่วนเท่านั้น

ผู้เอาประกันภัยได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ล้วนต่างเห็นพ้องกับฝ่ายผู้เอาประกันภัยให้ได้รับการชดใช้ในลักษณะของความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงตามฟ้อง

บริษัทประกันภัยยืนกรานตามข้อต่อสู้ของตน และนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาในท้ายที่สุด ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาและวินิจฉัยประเด็นพิพาทต่าง ๆ ออกมา ดังนี้

1) ประเด็นข้อพิพาทเรื่องการจัดส่งหนังสือแจ้งการสละทิ้งล่าช้าเกินหรือไม่?

เนื่องด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาประเมินค่าซ่อมนั้น มีขั้นตอนยุ่งยากและจำต้องใช้เวลาพอสมควร ศาลฎีกาเห็นว่า ช่วงเวลาระหว่างการเกิดความเสียหายกับการจัดส่งหนังสือแจ้งการสละทิ้งนั้น มีความเหมาะสมดี ไม่ได้ล่าช้าเกินไปดังที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง

2) ประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จะต้องนำมาใช้ในการคำนวณความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง?

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปจริงหรือคาดว่าจะจ่ายในอนาคตทั้งในส่วนของค่าซ่อมกับค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยและการทุเลาความเสียหายต่าง ๆ นับแต่เวลาเกิดความเสียหายเป็นต้นมา เพื่อสะท้อนหลักการชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง มิใช่เพียงคำนวณค่าใช้จ่ายถึงวันที่ออกหนังสือแจ้งการสละทิ้งดังที่บริษัทประกันภัยโต้แย้ง

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าทดแทนพิเศษ การได้รับความคุ้มครองและชดใช้ (Special Compensation, Protection and Indemnity Clause (SCOPI)) แต่ประการใด เพราะได้กำหนดอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ค่าใช้จ่ายนี้คือ ค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นซึ่งเจ้าของเรือต้องจ่ายให้แก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย ในกรณีที่เรือหรือทรัพย์สินบนเรือคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม อันไม่เกี่ยวข้องกับค่าซ่อมแซมหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเอง

ศาลฎีกาจึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับดังกล่าว และให้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทุเลาความเสียหายด้วย (Sue and Labour Costs) โดยให้ย้อนคดีกลับเพื่อพิจารณาตัวเลขค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องชดใช้ต่อไป

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Sveriges Angfartygs Assurans Forening (The Swedish Club) v Connect Shipping Inc [2019] UKSC 29))

คดีศึกษาเรื่องต่อไป: ความเสียหายโดยอุบัติเหตุต่อทรัพย์สินที่มิใช่ของ (Not Belonging To) ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกหมายความถึงอะไร?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/


วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 120: ตราบใดรถยังไม่ได้ถูกขับเคลื่อนออกไป ยังไม่อาจถือได้ว่ามีความผิดฐานขโมยรถใช่หรือไม่?

 

การขโมยรถหรือการลักรถในบ้านเรา หรือที่ต่างประเทศเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นกันได้มากมายไม่แตกต่างกัน ขนาดบางประเทศตั้งอยู่บนเกาะ คดีขโมยรถเป้าหมายเพื่อนำออกไปขายยังต่างประเทศก็เกิดขึ้นได้อยู่บ่อย ๆ

ประเด็นปัญหาคดีศึกษาเรื่องนี้มีข้อโต้แย้งในการแปลความหมายของการลักทรัพย์ (Theft) ซึ่งตามกฎหมายแห่งประเทศอังกฤษกับของประเทศไทยมีหลักกฎหมายคล้ายคลึงกัน จึงขอยกหลักกฎหมายไทยเทียบเคียงแทน โดยมาตรา 334 แห่งประมวลกฎหมายบัญญัติว่า

ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ (Whoever, dishonestly taking away the thing of other person or which the other person to be co-owner to be said to commit the theft) .........

เมื่อพิจารณาถ้อยคำของกฎหมายนี้ตรงที่ระบุว่า “ไปโดยทุจริต (dishonestly taking away)” ก่อให้เกิดปัญหาในการตีความสำหรับกรณีการขโมยรถหรือการลักรถว่า ความผิดนี้จะสำเร็จต่อเมื่อ

1) คนร้ายเข้าไปนั่งในรถตรงผู้ขับขี่แล้ว และ/หรือ
2) คนร้ายต้องนั่งตรงตำแหน่งผู้ขับขี่ และสตาร์ทรถแล้วด้วย และ/หรือ
3) คนร้ายต้องขับเคลื่อนรถออกไปด้วยเสียก่อน

กล่าวคือ ต้องเข้าองค์ประกอบข้างต้นข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ หรือจำต้องครบทุกข้อเท่านั้น

เรื่องราวของคดีนี้เกิดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ

ช่วงเย็นวันหนึ่ง ผู้เอาประกันภัย นาย เอ กับเพื่อนอีกสองคนได้นั่งกินเหล้าร่วมกัน ครั้นจนถึงประมาณตีหนึ่ง ผู้เอาประกันภัย นาย เอ และเพื่อนหนึ่งในสองคนได้เข้าไปนั่งในรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย โดยมีนายเอ เป็นคนขับ และผู้เอาประกันภัยนั่งเคียงข้างไปด้วยบนเบาะหน้า เนื่องด้วยความเมา นาย เอ ซึ่งขับรถด้วยความเร็วได้วิ่งไปชนเกาะกลางถนน (central reservation) จนรถเสียหลักพลิกคว่ำหลายตลบก่อนที่ไปชนเข้ากับประตูเหล็กของสถานที่แห่งหนึ่ง ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงทางสมอง และได้มาฟ้องเรียกร้องให้นายเอ กับบริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุครั้งนี้

สำหรับกฎหมายเกี่ยวข้องซึ่งได้ถูกอ้างอิงในคดีนี้ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก ค.ศ. 1988 ได้กำหนดว่า กรณีที่ความสูญเสียหรือความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ขับขี่ที่ไม่มีประกันภัย ให้ความรับผิดของผู้รับประกันภัยขยายรวมไปถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีประกันภัยนั้นด้วย หากศาลเห็นว่า การกระทำของผู้ขับขี่ที่ไม่มีประกันภัยนั้นจะได้รับความคุ้มครองภายใต้การประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ เสมือนหนึ่งเป็นผู้ขับขี่ที่มีประกันภัยนั้นเอง ทั้งนี้ โดยผลของกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ผู้รับประกันภัยไม่จำต้องรับผิดสำหรับกรณีดังต่อไปนี้

ความรับผิดสำหรับการเสียชีวิต การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดซึ่งในช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดความรับผิดนั้น ได้ยินยอมให้ตนถูกนำพาไป หรือเข้าไปอยู่ในรถคันนั้นเอง โดยที่รับรู้หรือควรได้รับรู้ว่ารถคันนั้นถูกลักมาหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริต แต่ไม่รวมถึงบุคคลผู้ซึ่ง

(ก) ไม่รู้และไม่มีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักมาหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริตจนกระทั่งเริ่มต้นการเดินทางนั้นเอง และ
(ข) ไม่อาจคาดหวังได้ตามสมควรว่า ตนจะสามารถออกจากรถคันนั้นได้

ผู้เอาประกันภัยให้การตนจำได้ว่าตนเมาจนไม่อาจขับรถได้ จึงให้เพื่อนขับแทน โดยมีเพื่อนอีกคนที่นั่งไปด้วยให้การสอดคล้องกันว่า ผู้เอาประกันภัยกับนาย เอ ต่างถกเถียงกันถึงเรื่องใครควรขับรถคันดังกล่าว แต่มิได้พูดถึงว่าผู้เอาประกันภัยได้พยายามห้ามมิให้นาย เอ ขับรถหรือเปล่า? เพียงแต่ได้บอกให้นาย เอ ขับรถช้าลงหน่อยเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยยังจำได้ว่า นาย เอ ได้ล้วงกระเป๋าเอากุญแจรถของตนไปทั้งที่ตนได้พยายามบอกไปแล้วว่ายังสามารถขับรถเองได้อยู่ แต่ท้ายสุดก็ยอมให้นาย เอ  ขับรถแทนได้ยังไงก็ไม่รู้ หากว่านาย เอ มิได้เมาและมีประกันภัยคุ้มครองอยู่ และจำได้อีกว่า บอกให้นาย เอ ขับรถช้าลงได้ไหม? 

สรุปได้ว่า ผู้เอาประกันภัยไม่ได้ส่งมอบกุญแจให้นาย เอ แต่นาย เอ ได้ล้วงออกจากกระเป๋าไปเอง ทั้งผู้เอาประกันภัยมิได้อนุญาตให้นาย เอ ขับรถ แต่ด้วยความเมาของตนเอง จึงมิได้ทำอะไรเพื่อหยุดการกระทำของนาย เอ เพียงแต่มุดตัวเข้าไปนั่งในรถประกบข้างเท่านั้น

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงได้ต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดของตนโดยอ้างว่า

ช่วงเวลาตีหนึ่ง ผู้เอาประกันภัยรู้สึกตัวว่าเมาจนไม่อยู่ในสภาพที่จะขับรถได้ ตั้งใจจะนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านแทน แล้วค่อยกลับมาเอารถของตนวันรุ่งขึ้น

แต่ขณะอยู่ตรงที่จอดรถ นาย เอ ได้ล้วงหยิบเอากุญแจรถไปโดยตนไม่ยินยอม

ทั้งเข้าไปในรถและเริ่มสตาร์ทรถโดยปราศจากความยินยอมของตนด้วยเช่นกัน

ฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยจำต้องเข้าไปนั่งประกบข้างบนเบาะหน้า

โดยมีเจตนาเพียงเพื่อห้ามมิให้นาย เอ ขับรถออกไปเท่านั้น แต่ก็มิอาจทำเช่นนั้นได้เลย ช่วงเวลาที่อยู่บนรถคันนั้น ตนไม่ได้เต็มใจจะอยู่ในสภาพของผู้โดยสารแต่ประการใด

ประเด็นความรับผิด

บริษัทประกันภัยอ้างจากคำให้การดังกล่าวว่า ตนไม่ควรต้องรับผิด เพราะความบาดเจ็บของผู้เอาประกันภัยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ได้ยินยอมนำตนเองเข้าไปอยู่ในรถคันนั้น ทั้งที่รับรู้และมีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักไป หรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริต

ขณะที่ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่าตนไม่รู้และไม่มีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักไปหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริตจวบจนกระทั่งเริ่มต้นการเดินทางนั้นเอง และตนไม่อาจคาดหวังได้ตามสมควรเลยว่า ตนจะสามารถออกจากรถคันนั้นได้ ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวตนไม่เคยยินยอมเป็นผู้โดยสารแต่ประการใด

บริษัทประกันภัยยอมรับฟังว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยไปอยู่ในรถแล้ว โอกาสที่จะพาตัวออกมานั้นไม่มี

อย่างไรก็ดี มีข้อควรพิจารณาถึงการรับรู้และมีเหตุอันเชื่อได้ตามสมควรว่า รถคันนั้นได้ถูกลักไปหรือถูกยึดถือการครอบครองโดยทุจริต (unlawfully taking) จะบังเกิดผลตั้งแต่เมื่อใด?

พยานฝ่ายบริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยตีความว่า การที่นาย เอ ล้วงเอากุญแจรถ และเข้าไปอยู่ในรถคันนั้นเพียงพอที่จะถือว่าเป็นการยึดถือการครอบครองโดยทุจริต (unlawfully taking) แล้ว รวมตลอดจนถึงตัวผู้โดยสารที่ได้พาตนเองเข้าไปอยู่ภายในรถคันนั้นด้วย ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นจะต้องมีการขับเคลื่อนรถออกไปเสียก่อน

ขณะพยานฝ่ายผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ได้โต้แย้งว่า ตราบใดที่ยังมิได้ขับเคลื่อนรถออกไป จะถือเป็นการเข้ายึดถือครอบครองรถคันนั้นได้อย่างไร? จำต้องมีการขับเคลื่อนรถคันนั้นประกอบไปด้วย จึงถือได้ว่ามีการยึดถือการครอบครองโดยทุจริตอย่างแท้จริง

ศาลในคดีนี้เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ว่า การหยิบเอากุญแจรถไป การเข้าไปนั่งตรงที่นั่งผู้ขับขี่ หรือรวมถึงการสตาร์ทเครื่องด้วยนั้น ทั้งหมดนี้ยังไม่อาจถือมีการยึดถือการครอบครองโดยทุจริตอย่างแท้จริง จำต้องมีการขับเคลื่อนรถคันนั้นประกอบไปด้วย

ส่วนประเด็นการยินยอมให้ตนเป็นผู้โดยสาร

ศาลไม่เห็นด้วยกับพยานฝ่ายจำเลยที่กล่าวว่า การพาตนเองเข้าไปอยู่ภายในรถ เรียกได้ว่ายินยอมให้ตนมีสถานะเป็นผู้โดยสารได้เลยนั้น

ศาลเห็นคล้อยตามพยานฝ่ายโจทก์ซึ่งหยิบยกตัวอย่างประกอบว่า ถ้าคิดเช่นนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า คนที่ถูกลักพาตัวไปบนรถ หรือตำรวจที่มุดตัวเข้าไปในรถคนร้ายเพื่อทำการจับกุม ก็ล้วนกลายเป็นผู้ยินยอมให้ตนเป็นผู้โดยสารด้วยนั้น ไม่น่าถูกต้อง จำต้องพิจารณาจากข้อความจริงแต่ละกรณีประกอบด้วย

ด้วยเหตุที่พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลรับฟังได้อย่างปราศจากสิ้นข้อสงสัย ดังที่จำเลยกล่าวโต้แย้ง ศาลจึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทย์ตามฟ้อง

เรื่องนี้น่าจะจบลงเพียงเท่านี้

แต่ปรากฏนาย เอ กลับไปเรียกร้องเงินจากบริษัทประกันภัยอีกว่า ตนเป็นผู้โดยสารและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งที่ได้ให้การในคำฟ้องว่า ตนเป็นผู้ขับขี่ จึงถูกบริษัทประกันภัยแจ้งความโทษฐานฉ้อฉล โดยศาลตัดสินลงโทษจำคุกหกเดือนและยังถูกปรับอีกด้วย

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Sarfraz v Akhtar & Anor (2020) EWHC 782 (QB) และบทความ Fraudster who made £45K bogus injury claim for crash he caused is jailed following ERS investigation, By louise.naqvi)

ลองเทียบเคียงกับแนวตัวอย่างคำพิพากษาศาลฏีกาของไทยคดีลักรถดูนะครับ

คำพิพากษาที่ 1280/2555
จำเลยที่ 2 ลักรถยนต์ของผู้เสียหาย โดยหลอกจำเลยที่ 1 ให้ขับรถยกมายกรถยนต์ของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการในการลักรถยนต์โดยใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยกมาจอดด้านหน้ารถยนต์ผู้เสียหายและยกรถยนต์ผู้เสียหายด้านหน้าขึ้นเกยบนคานรถยก ใช้โซ่คล้องรถทั้งสองคันไว้ในลักษณะรถยกพร้อมจะขับเคลื่อนพารถยนต์ของผู้เสียหายออกไปได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 เข้ายึดถือและแย่งสิทธิครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายไปได้โดยสมบูรณ์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มิใช่อยู่ในขั้นพยายาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2551
จำเลยขึ้นนั่งคร่อมและเข็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากจุดที่จอดเดิมประมาณ 1 เมตร แต่จำเลยยังไม่ทันติดเครื่องรถขับเอาไปเพราะผู้เสียหายมาพบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงทิ้งรถวิ่งหนีไป ถือได้ว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองและเอาทรัพย์เคลื่อนไปในลักษณะที่พาเอาไปได้ เป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว

คดีศึกษาเรื่องต่อไป: ต้องขนาดใดถึงเป็นความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง (Constructive Total Loss) สำหรับการประกันภัยตัวเรือ (Marine Hull Insurance)?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/