วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 114: ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?


(ตอนที่ห้า)

สี่ทุ่มของคืนวันหนึ่ง ณ ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีลานจอดรถขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า ระบบไฟส่องสว่างที่ถูกตั้งเวลาให้ปิดโดยอัตโนมัติได้ดับลงตามปกติ อันสอดคล้องกับเวลาปิดทำการท้ายสุดของร้านให้เช่าวิดีโอซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนั้น แต่วันนั้น กว่าผู้จัดการร้านจะเคลียร์งานเสร็จก็เป็นเวลาปาไปสี่ทุ่มครึ่งแล้ว ทำให้ตัวเขาเองจำต้องมะงุมมะงาหราฝ่าความมืดมิดตรงไปรถของตัวเองที่จอดอยู่ใกล้หน้าร้าน แล้วเขาก็ถูกคนร้ายสามคนที่ซุ่มอยู่เข้ามาทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส 

ตัวผู้จัดการร้านได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้ทางศูนย์การค้ารับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่า ตามสัญญาเช่าร้านค้ากับศูนย์การค้ามีข้อตกลงที่ทางศูนย์การค้าจะต้องให้บริการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างเพียงพอแก่ผู้เช่า ซึ่งรวมถึงระบบไฟส่องสว่างด้วย ประกอบกับที่ศูนย์การค้านั้นมีตู้เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) ให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ดังนั้น การกำหนดเวลาปิดไฟส่องสว่างโดยอัตโนมัติเพียงแค่เวลาสี่ทุ่มทุกวันนั้น ถือเป็นการละเลยในการทำหน้าที่ที่ดีพอในการดูแลลูกค้ารวมถึงผู้เช่า (ลูกจ้างของผู้เช่าด้วย) ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการเกิดเหตุร้ายขึ้นมาได้ง่ายจากการที่ไม่มีระบบไฟส่องสว่างทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะอาจมีคนเข้ามาใช้บริการตู้เอทีเอ็มได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว และในที่สุดก็ได้เกิดเหตุร้ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของร้านค้าผู้เช่าดังกล่าว อันสืบเนื่องจากการไม่มีระบบไฟส่องสว่างจนทำให้คนร้ายฉวยโอกาสเข้ามาก่อเหตุขึ้นมา

ศูนย์การค้าในฐานะจำเลยได้ต่อสู้ว่า เดิมทีได้มีข้อตกลงกับผู้จัดการร้านคนเก่าให้ตั้งเวลาปิดไฟส่องสว่างถึงเวลาห้าทุ่มช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะปิดไฟเวลาสี่ทุ่มตามปกติ หรือช่วงเวลาสุดสัปดาห์อาจเผื่อเวลาล่าช้าออกไปสิบห้านาทีบ้าง ดังนั้น ทางร้านของโจทก์ควรต้องกำหนดเวลาปิดทำการให้เร็วขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาเคลียร์งานได้ทันก่อนไฟฟ้าจะดับ เรื่องนี้จึงถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างของโจทก์มากกว่าในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างของตน มิใช่เป็นหน้าที่ของจำเลย

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ลานจอดรถของศูนย์การค้าได้เปิดโอกาสให้ใครเข้ามาใช้บริการจอดรถก็ได้ ฉะนั้น ศูนย์การค้าจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ทุกคนที่นำรถเข้ามาจอดตลอดเวลา และไม่จำกัดเพียงลูกค้าของศูนย์การค้าเท่านั้น ลูกจ้างของร้านค้าเช่าถือเป็นผู้เข้ามาใช้บริการที่ควรได้รับการดูแลไม่แตกต่างกัน และหากมีคนเข้ามาใช้บริการตู้เอทีเอ็มช่วงกลางดึก ก็อาจมีความเสี่ยงภัยที่พอคาดการณ์จากคนร้ายได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ศาลชั้นต้นจึงเห็นว่า จำเลยมีความผิดละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวของตนอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถป้องกันได้อย่างง่ายเพียงแค่ปรับเวลาปิดไฟส่องสว่างให้ยืดยาวออกไปเท่านั้น จำเลยจำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่า หน้าที่ของศูนย์การค้าในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้านั้น หมายถึง การจัดการดูแลในสิ่งที่ตนสามารถควบคุมได้ และสามารถคาดคะเนได้ มิใช่ต้องจัดการดูแลอย่างกว้างขวางโดยไม่มีขอบเขตเลย มิฉะนั้น จะสร้างภาระสูงจนเกินไปอย่างมากให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น ความรับผิดที่จะมีขึ้นได้นั้นถือเป็นเรื่องส่วนตน มิใช่เป็นการไปรับผิดแทนคนอื่นทุกเรื่องราว เว้นเสียแต่กรณีที่มีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน เป็นต้นว่า พ่อแม่กับลูก นายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายจะบัญญัติให้รับผิดแทนกันได้ เพราะถือว่า พ่อแม่สามารถควบคุมลูกของตนได้ เช่นเดียวกับนายจ้างกับลูกจ้าง 

ขณะที่กรณีการกระทำของคนร้ายนั้น ไม่สามารถควบคุมได้ และคาดคะเนได้ลำบาก ถึงแม้อาจเคยมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาพอเทียบเคียงได้ก็ตาม แต่จะต้องมีความชัดเจนเพียงที่จะพิสูจน์ให้ศาลรับฟังด้วยเหตุและผลได้ 

ในคดีนี้ การที่โจทก์อ้างว่า เหตุที่ปราศจากไฟส่องสว่างเป็นผลทำให้ตนเองถูกคนร้ายกระทำร้ายนั้น ก็ไม่อาจยืนยันได้อย่างชัดเจนเช่นนั้นจริง เพราะคนร้ายอาจเข้ามากระทำความผิดขณะที่ยังมีไฟส่องสว่างก็ได้เช่นกัน

ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยว่า กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้เพียงพอว่า จำเลยละเลยหน้าที่ของตนดังกล่าวอ้าง ทั้งสาเหตุกับผลที่เกิดขึ้นยังไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจน ฉะนั้น จำเลยไม่มีความรับผิดในคดีนี้

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Modbury Triangle Shopping Centre Pty Ltd v Anzil [2000] HCA 61

ตอนหน้าจะเป็นบทสรุปของเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างคดีศึกษาความรับผิดของบ้านเรามาเทียบเคียง

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
  

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563



เรื่องที่ 114: ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?

(ตอนที่สี่)

ตอนนี้มาถึงคดีศึกษาเหตุเกิด ณ ศูนย์การค้ากันบ้าง

ช่วงคืนก่อนวันคริสต์มาส นายบีได้ขับรถคันหรูของตัวเองเข้าไปจอดยังศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งโชคดีที่จังหวะเหมาะมีที่จอดรถว่างอยู่ช่องหนึ่ง มิฉะนั้น อาจจำต้องไปวนอีกหลายรอบ เพราะวันนั้นมีผู้คนเข้าไปจับจ่ายซื้อของกันมากทีเดียว 

พอจอดรถเสร็จ กำลังจะลง นายบีก็ได้ยินเสียงชายคนหนึ่งพูดผ่านมาด้านกระจกหน้าที่ลดลงเล็กน้อยฝั่งขวามือด้านผู้โดยสารข้างคนขับว่า “พอได้แล้ว ไอ้เสือ รู้หรือเปล่าป่านนี้เวลาอะไร” พอหันไปมองก็เห็นปลายกระบอกปืนเล็งมาที่ตนเอง จากนั้นปืนก็ลั่นออกมาดังปัง นายบีตกใจมากรีบกระโจนเผ่นออกมาจากรถ และวิ่งหนีอย่างรวดเร็วพ้นจากตัวรถไปได้ประมาณสิบห้าก้าว ขณะหันกลับมามองคนร้าย ตนก็ถูกคนร้ายยิงใส่บริเวณหน้าอก แต่ทันได้เห็นคนร้ายสองคนเข้าไปในรถและขับหนีออกไปทันที โชคดีของนายบีที่กระสุนแฉลบไป ไม่ได้รับบาดเจ็บมากมายนัก

ภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปไม่นาน นายบีได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศูนย์การค้าแห่งนั้นพร้อมกับบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความบาดเจ็บของตน อันเป็นผลสืบเนื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ (foreseeable) จากความประมาทเลินเล่อของศูนย์การค้าที่มิได้จัดมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเหมาะสม

ศูนย์การค้ากับบริษัทบริษัทรักษาความปลอดภัยในฐานะจำเลยในคดีนี้ได้ต่อสู้ว่า มิได้กระทำประมาทเลินเล่อใด ๆ อันเป็นสาเหตุสืบเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อความบาดเจ็บของโจทก์ ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ด้วย 

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วตัดสินให้ยกฟ้องโจทก์ โดยมิได้ชี้แจงเหตุผลเอาไว้

นายบี โจทก์ยื่นอุทธณ์สู่ชั้นศาลอุทธณ์ โดยอ้างว่า

1) การที่ตนถูกจี้ชิงรถและถูกยิงเป็นสิ่งที่จำเลยสามารถคาดการณ์ได้อยู่แล้ว โดยพิจารณาจากข้อมูลอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ณ ศูนย์การค้าช่วงระยะเวลา 30 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้มาจากสำนักงานตำรวจ แต่ปราศจากการรับรองหรือการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย 

ประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์มิอาจรับฟังได้ หากแม้นพอรับฟังได้ แต่ยังขาดน้ำหนัก เพราะโจทก์เองกลับมิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยได้รับรู้ข้อมูลนี้แล้ว และเพิกเฉย  

ข้อมูลการก่ออาชญากรรมอื่น ๆ ที่พอรับฟังได้ซึ่งเกิดขึ้น ณ สถานที่จอดรถแห่งนี้ และจำเลยได้รับทราบแล้ว คือ ช่วงปีที่ผ่านมามี เคยมีการลักขโมยรถสามคดีกับลักสิ่งของในรถห้าคดี และคนร้ายทำให้รถเสียหายสองคดี ทั้งหมดได้เกิดขึ้นระหว่างลูกค้ากำลังจับจ่ายซื้อสินค้าอยู่ในศูนย์การค้า

แต่ไม่มีคดีใดที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นเดียวกับคดีนี้เลย ดังนั้น ข้อมูลอาชญากรรมดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาพิจารณาเชื่อมโยงให้เห็นถึงความละเลยของจำเลยในคดีนี้ได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง 

2) โจทก์ในฐานะลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการของศูนย์การค้า อันมีความสัมพันธ์พิเศษซึ่งจะต้องได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างดีอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องแสดงให้เห็นก็ได้ว่าเป็นสิ่งที่พอคาดการณ์ได้หรือไม่?

ประเด็นข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ก็มิได้เห็นโจทก์แสดงให้รับฟังได้เช่นเดียวกันว่า จำเลยได้กระทำการอย่างประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ลูกค้าของตนอย่างไรบ้าง?

เมื่อการก่ออาชญากรรมนี้ต่อโจทก์เป็นสิ่งที่มิอาจคาดการณ์ได้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ในการป้องกันได้ อีกทั้งโดยทั่วไปแล้ว บุคคลหนึ่งมิได้มีหน้าที่ปกป้องหรือป้องกันบุคคลอีกคนหนึ่งจากการกระทำของผู้อื่น นอกจากเสียจากจะสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า บุคคลนั้นมีหน้าที่ถึงขนาดนั้นจริง ซึ่งจำต้องอาศัยพิจารณาจากข้อความจริงแต่ละกรณีเป็นสำคัญ มิฉะนั้นแล้ว อาจทำให้หลักกฎหมายเรื่องละเมิดต้องผิดเพี้ยนไปได้ 

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Baker v. Simon Property Group - 273 Ga. App. 406, 614 S.E.2d 793.)

ตอนหน้าติดตามคดีศึกษาความรับผิดของศูนย์การค้าที่ประเทศออสเตรเลียอีกคดีเปรียบเทียบกันนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 114: ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?


(ตอนที่สาม)

เดี๋ยวนี้ การฝาก-ถอนเงินมิได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป เพียงแค่มีบัตรเอทีเอ็ม หรือเรียกชื่อเป็นทางการว่า “บัตรสำหรับเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ ใบเดียวก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวได้ที่ตู้เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ ณ เวลาใดและสถานที่แห่งใดก็ได้ที่มีตู้นี้ตั้งอยู่ บางธนาคารยิ่งก้าวหน้าถึงขนาดไม่ต้องใช้บัตรดังกล่าวด้วยซ้ำไป ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้เช่นกัน จะสะดวกอะไรปานนั้น

เมื่อสิ่งใดที่ง่ายสะดวกมาก โอกาสความเสี่ยงภัยที่เกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่คอยหาจังหวะเวลาและสถานที่เหมาะ ๆ ในการกระทำความผิดก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 

บางท่านอาจนึกสงสัยว่า หากตกเป็นเหยื่อของคนร้ายระหว่างทำการฝาก-ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ธนาคารเจ้าของตู้นั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อนั้นหรือไม่?

เรามาดูคดีศึกษาเรื่องนี้ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกากันนะครับ

พอคล้อยเวลาเที่ยงคืนไปเล็กน้อย ระหว่างที่สุภาพสตรีเจ้าของบัตรเอทีเอ็มรายหนึ่งกำลังถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มอยู่ในห้องกระจก จู่ ๆ มีคนร้ายถือมีดเข้ามาจี้ชิงเงินพร้อมกับลงมือทำร้ายเธอด้วยก่อนที่จะหลบหนีไป

เธอจึงฟ้องเรียกร้องให้ธนาคารในสถานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ตั้งตู้เอทีเอ็มแห่งนั้นให้รับผิดตามกฎหมาย ภายหลังจากที่เธอได้พยายามเจรจาให้ทางธนาคารรับผิดชอบแล้ว แต่ถูกปฏิเสธกลับมา

คดีนี้ได้ต่อสู้กันถึงชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพยานหลักฐานประกอบคำให้การของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว

โดยที่ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า ธนาคารจำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการป้องกันและดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ของตนตามสมควร โดยเฉพาะหากได้รู้ หรือควรรับรู้ได้ถึงโอกาสความเสี่ยงภัยที่จะมีคนร้ายเข้าทำอันตรายแก่ผู้ใช้บริการสถานที่แห่งนั้น เนื่องจากตู้เอทีเอ็มเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนร้ายเข้ามาก่ออาชญากรรมได้ ทั้งสถานที่ตั้งดังกล่าวเคยมีประวัติการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง แต่ธนาคารก็ประมาทเลินเล่อมิได้ตรวจสอบระบบปิดล็อกห้องกระจกที่เข้าไปสู่ตู้เอทีเอ็มแห่งนั้น

ขณะที่ธนาคารให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนเพื่อแสดงว่า สถานที่แห่งนั้นมีประวัติการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง จึงเป็นการกล่าวอ้างเท่านั้น ทั้งธนาคารก็ไม่เคยได้ยินรายงานดังว่านั้นเลย ธนาคารได้ติดตั้งระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างดีแล้ว ประกอบด้วยระบบปิดล็อกห้องกระจกที่เข้าไปสู่ตู้เอทีเอ็มแห่งนั้นจะต้องใช้บัตรเอทีเอ็มเปิดเข้าไป ทั้งได้ตรวจสอบระบบล็อกแล้วไม่พบปัญหาขัดข้องใด ๆ เช่นเดียวกับระบบกล้องวงจรปิด ทั้งระบบไฟก็ให้แสงสว่างเพียงพอ 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า เหตุการณ์ที่ตนถูกคนร้ายทำร้ายนั้นได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และโดยเจตนาของคนร้ายนั้นเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ (Foreseeable) แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนด้วยเลย ดังนั้น การเพียงกล่าวอ้างว่า ผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มมีโอกาสถูกจี้ชิงทรัพย์ได้นั้นถือเป็นแค่ความรู้สึกนึกคิด ยังไม่ถึงขนาดเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ เพราะการที่จะให้ธนาคารจำเลยรับผิดได้นั้นต้องถึงขนาดยอมรับโดยสิ้นข้อสงสัย

อนึ่ง ถึงแม้อาจรับฟังว่าเคยมีเหตุการณ์จี้ชิงทรัพย์เกิดขึ้นมาหนึ่งครั้งในช่วงระยะเวลาสองปีก่อนหน้านั้น ก็ยังไม่อาจพิจารณาได้ว่า เป็นสิ่งที่คาดหมายได้แล้ว เนื่องจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่มิใช่ถือเป็นผู้รับรองความปลอดภัยแก่ผู้เข้ามาใช้บริการสถานที่แห่งนั้น จึงยังไม่ถือว่ามีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัย เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์โดยชัดแจ้งว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่แห่งนั้นได้รู้ หรือควรรับรู้ตามสมควรจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า น่าจะมีโอกาสที่คนร้ายจะเข้าประกอบอาชญากรรมในสถานที่แห่งนั้นได้อย่างชัดเจน หรือเชื่อมั่นได้เช่นนั้น

ด้วยเหตุที่การจี้ชิงทรัพย์ดังกล่าวมิใช่สิ่งที่พึงคาดหมายได้อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของธนาคารจำเลย ฉะนั้น ความประมาทเลินเล่อดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นสาเหตุใกล้ชิดในความบาดเจ็บทางร่างกายและการสูญเสียทรัพย์ของโจทก์ จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดในคดีนี้

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Williams v. Citibank, N. A., 247 A.D.2d 49, 677 N.Y.S.2d 318 (1998)

คดีศึกษาเรื่องต่อไป: คนร้ายเข้าไปก่อเหตุในศูนย์การค้า ถือเป็นความรับผิดตามกฎหมายของศูนย์การค้าได้หรือไม่?
เขียนไม่ใคร่ออกเลย เนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น 

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 114: ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?


(ตอนที่สอง)

คดีศึกษาที่จะนำเสนอเป็นเรื่องของธนาคารกับศูนย์การค้า เรื่องละสองคดีจากของประเทศออสเตรเลียกับอเมริกา

เรื่องแรกเหตุเกิดขึ้นที่สาขาของธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย

ณ ประมาณบ่ายโมงวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 นายแกรี่ได้นำเช็คไปฝากเข้าบัญชีที่ธนาคาร ระหว่างที่ยื่นใบนำฝากพร้อมเช็คให้แก่พนักงานรับฝากถอนเงินซึ่งเป็นหญิงสาวประจำหน้าเคาน์เตอร์ ทันใดนั้น เขาก็ได้ยินเสียงชายคนหนึ่งที่อยู่ด้านหลังทางด้านขวามือตะโกนว่า ให้รีบนำเงินใส่ลงในกระเป๋าเดี๋ยวนี้ แรกที่ได้ยินนึกว่ามีใครเล่นตลกอะไรหรือเปล่า? แต่ไม่ช้าก็รับรู้ว่า เป็นเรื่องจริง  

พนักงานสาวคนนั้นก้าวถอยหลังไปนิดนึง ขณะที่ตัวนายแกรี่รีบวางมือบนเคาน์เตอร์พร้อมกับหันไปมองด้านขวามือของตนเอง ได้เห็นคนร้ายเป็นชายรูปร่างสูงสวมหมวกไหมพรมคลุมปิดหน้าไว้ยืนถือปืนกวัดแกว่งไปมา โดยหันกระบอกปืนมาทางด้านตนเอง และได้ยินคนร้ายร้องขู่ “อย่าขัดขืน ไม่งั้นไอ้นี่ตายแน่ รีบเอาเงินในลิ้นชักทั้งหมดใส่ลงในกระเป๋าเร็ว ๆ หน่อย ไม่งั้นไอ้นี่ไม่รอด” 

นายแกรี่ตกใจมากหันไปร้องบอกพนักงานธนาคารให้ทำตามคำสั่งของคนร้ายแต่โดยดี และได้หันไปบอกคนร้ายว่า “ผมจะค่อย ๆ นั่งลงบนพื้นนะครับ” คนร้ายยังย้ำคำขู่เดิมอีกว่า “เร็วหน่อย ไม่งั้นยิงไอ้นี่ตายจริง ๆ” นายแกรี่รีบร้องขอชีวิตว่า “ได้โปรดอย่าฆ่าผมเลย ผมมีลูกสองคนยังเล็กอยู่เลย

ทันใดนั้น ฉากกั้นรักษาความปลอดภัยก็เริ่มทำงานทันทีที่พนักงานธนาคารกดปุ่ม

คนร้ายทั้งตกใจและหัวเสียมาก “เตือนแล้วไม่ฟัง” พร้อมกับลั่นไกปืนออกมาหนึ่งนัด นายแกรี่แทบสิ้นสตินึกไปว่า ตนเองถูกฆ่าเสียแล้ว พอรู้สึกตัวจึงรีบลุกขึ้นยืนและวิ่งตามคนร้ายออกไปจนสามารถจดจำหมายเลขทะเบียนรถกับรายละเอียดรถของคนร้ายมาบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ แต่ยังรู้สึกไม่พอใจอย่างมากกับการกระทำของพนักงานธนาคาร “ใครวะที่กดปุ่มสัญญาณ ไม่รู้หรือไง มันกำลังขู่จะฆ่าผมอยู่ นี่ถ้าผมเกิดตายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายแกรี่จำต้องหยุดทำงานเป็นพัก ๆ เนื่องจากประสบปัญหาภาวะอาการซึมเศร้าสืบเนื่องจากเหตุการณ์ใกล้ตายครั้งนั้น และได้นำเรื่องฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากทางธนาคารในที่สุด โดยกล่าวหาว่า ธนาคารซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัย (Duty of Care) แก่ลูกค้า แต่กลับละเลยไม่อบรมฝึกให้พนักงานให้สามารถจัดการกับสถานการณ์จี้ชิงทรัพย์ในธนาคารได้อย่างเพียงพอและดีพอ ดังนี้

(1) ไม่มีมาตราการในการปกป้องและดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โจทก์เลย
(2) ดำเนินการตอบสนองต่อคนร้ายในลักษณะที่ก่อให้เกิดภาวะอันตรายแก่โจทก์เพิ่มสูงขึ้น
(3) ด่วนตัดสินใจกดปุ่มสัญญาณรักษาความปลอดภัยในเวลาที่ไม่เหมาะสม
(4) ทำให้คนร้ายข่มขู่ที่จะก่อให้เกิดภาวะอันตรายต่อลูกค้าของธนาคารรวมทั้งตัวโจทก์ได้โดยง่าย
(5) ไม่ปฏิบัติตามมาตราการจัดการกับการจี้ชิงทรัพย์ของตนที่ได้กำหนดเอาไว้
(6) ขาดมาตราการในการประเมิน หรือบ่งชี้อย่างเหมาะสมถึงความเสี่ยงภัยที่อาจมีต่อสุขภาพอนามัยของโจทก์ระหว่างอยู่ในสถานประกอบการของจำเลย
(7) ไม่มีมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงภัยที่ดีพอเพื่อลดโอกาสความเสี่ยงภัยต่อชีวิต ร่างกายของโจทก์
(8) กดปุ่มให้ฉากกั้นรักษาความปลอดภัยเริ่มทำงานในช่วงสถานการณ์ยังมีความเสี่ยงภัยอยู่
(9) ไม่มีการจัดอบรมและฝึกฝนให้พนักงานของตนพร้อมรับมือกับสถานการณ์จี้ชิงทรัพย์ หรือมีแต่ยังไม่เพียงพอ
(10) การยินยอมกระทำตามคำสั่งของคนร้ายสามารถทำให้ภาวะอันตรายที่มีต่อลูกค้าลดน้อย หรือหมดสิ้นไปได้ แต่จำเลยกลับไม่ใส่ใจ
(11) ทั้งที่ลักษณะการประกอบธุรกิจของธนาคารที่ยุ่งเกี่ยวกับเงินจำนวนมากเป็นสิ่งเย้ายวนใจให้คนร้ายเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น ธนาคารจึงสามารถคาดการณ์ได้ถึงโอกาสที่ก่อให้เกิดภาวะอันตรายแก่ลูกค้าหรือพนักงานของตนได้เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของคนร้าย 

ธนาคารในฐานะจำเลยคดีนี้ต่อสู้ว่า

ตนยอมรับว่า มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในฐานะเจ้าของสถานที่ต่อผู้ที่เข้ามาในสถานที่นั้นตามสมควร แต่ก็มิใช่ถึงขนาดอย่างที่โจทก์กล่าวอ้าง

สำหรับการที่จะให้ธนาคารสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าถึงโอกาสที่ก่อให้เกิดภาวะอันตรายแก่ลูกค้าหรือพนักงานของตนได้เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของคนร้ายนั้น ไม่อาจกระทำได้ เพราะมิอาจคาดเดาได้ว่า คนร้ายจะลงมือเมื่อใด? 

ส่วนตัวพนักงานสาวของธนาคารซึ่งเพิ่งเริ่มทำงาน ณ สาขาแห่งนั้นวันแรก แต่เคยเข้ารับการฝึกอบรมจากธนาคารในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งการฝึกอบรมได้แนะนำให้ส่งมอบเงินแก่คนร้ายตามที่ร้องขอได้ และให้กดปุ่มสัญญาณได้เมื่อรู้สึกปลอดภัยที่จะกระทำเช่นนั้นได้

พนักงานสาวของธนาคารเข้าใจว่า ส่วนใหญ่แล้ว คนร้ายจ้องปืนไปยังเพื่อนพนักงานผู้ยื่นเงินให้แก่คนร้าย ครั้นเพื่อนของเธอก้มย่อตัวลงมาเคียงข้างเธอและพ้นจากสายตาคนร้ายแล้ว เธอจึงได้กดปุ่มสัญญาณดังกล่าว 

ทั้งเธอกับเพื่อนจำไม่ได้ว่า ได้ยินเสียงคนร้ายร้องขู่โจทก์หรือเปล่า? แม้พนักงานธนาคารรายอื่นได้ยินเช่นนั้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ซึ่งได้สิ้นสุด ณ ศาลอุทธรณ์ ไม่มีการยื่นฎีกาต่อ โดยที่ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์เห็นพ้องร่วมกันว่า

ธนาคารไม่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่โจทก์ ด้วยเหตุผล ดังนี้

(1) การกระทำของบุคคลอื่นซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลยในการก่อให้เกิดภาวะอันตรายใดได้ โดยเฉพาะการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจคาดเดาได้เลยเช่นนี้
(2) โดยหลักการทั่วไป หากปราศจากความสัมพันธ์เกี่ยวข้องพิเศษระหว่างกัน ดั่งเช่น นายจ้างกับลูกจ้าง ครูกับนักเรียน เป็นต้น กฎหมายจะไม่อาจกำหนดหน้าที่ในการป้องกันภาวะอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคลอื่น อันเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายของบุคคลอื่น ถึงแม้โอกาสภาวะอันตรายนั้นอาจสามารถคาดการณ์ได้ก็ตาม
(3) ในคดีนี้ โจทก์มิได้แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยมีอำนาจในการควบคุมการกระทำของคนร้ายโดยตรง แต่กลับไปเชื่อถือว่า จำเลยมีอำนาจควบคุมพนักงานของตนเองที่จะไปควบคุมคนร้ายอีกทอดหนึ่ง
(4) จำเลยไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยมิอาจไปควบคุมคนร้ายที่มีอาวุธโดยทางอ้อมผ่านพนักงานของตนได้เลย
(5) ทั้งพนักงานของจำเลยก็อาจดำเนินการแตกต่างกันไป และด้วยแนวทางที่คาดเดาไม่ได้ต่อคนร้ายที่มีอาวุธ ถึงแม้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว เพราะคงไม่มีแนวทางหรือการฝึกอบรมใดที่จะสามารถรับรองความปลอดภัยแก่บุคคลใดที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นได้
(6) ถึงโจทก์ (และลูกค้ารายอื่นของธนาคาร) จะมีความเสี่ยงภัยจากการกระทำของคนร้ายก็ตาม แต่จำเลยเองมิได้มีความรับผิดชอบใดที่จะปกป้องลูกค้าจากภาวะเช่นนั้น และมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยใดของจำเลยก็มิใช่เป็นสิ่งที่แสดงว่า จำเลยจำต้องมีหน้าที่เช่นนั้นต่อโจทก์ด้วย
(7) ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้ามิได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องพิเศษในการดูแลรักษาความปลอดภัยสูงกว่าปกติเช่นนั้น แม้การเข้าไปจี้ชิงทรัพย์อาจคาดการณ์ได้บ้าง แต่ก็มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกวันในธนาคาร
(8) นอกจากนี้ ธนาคารเองก็ไม่มีหน้าที่ในการปกป้องลูกค้าในระดับเช่นเดียวกับที่มีต่อพนักงานของตนเอง   

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Roberts v Westpac Banking Corporation [2016] ACTCA 68)      
 
คดีศึกษาเรื่องต่อไป: เหตุเกิดที่ตู้ ATM ธนาคารจำต้องรับผิดหรือไม่?
 
บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/