เรื่องที่ 113: จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป
เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business
Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?
(ตอนที่สอง)
ตอนที่ผ่านมา ผมได้จำแนกและเรียบเรียงประเด็นข้อพิพาทของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจากตัวอย่างคดีศึกษาดังกล่าว ออกได้เป็นสามประเด็น ดังนี้
(1) วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทน
(2) ความคุ้มครองในส่วนของค่าปรับการผิดสัญญา
(3) วิธีการบังคับใช้ความเสียหายส่วนแรก 7
วัน
ทีนี้เราลองไล่เรียงกันทีละประเด็นกันนะครับ
1) วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทน
วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนั้น
ต้องคำนวณหาจากกรณีใดเป็นเกณฑ์?
1.1) ผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย
หรือ
1.2) รายได้ที่สูญเสียไปในช่วงระยะเวลาที่เกิดความเสียหาย
พูดอีกนัยหนึ่งว่า
กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองถึงอะไร?
1.1) กำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย
หรือที่คนประกันภัยใช้คำเรียกว่า “กำไรขั้นต้น (Gross Profit)” หรือ
1.2) รายได้ที่สูญเสียไปในช่วงระยะเวลาที่เกิดความเสียหาย หรือที่คนประกันภัยใช้คำเรียกว่า “ยอดรายได้ที่หายไป (Shortage in Turnover)”
คุณเห็นว่า
ควรใช้ข้อใดเป็นเกณฑ์?
เชื่อว่า
คนประกันภัยส่วนใหญ่จะเลือกข้อ 1.1) ใช่ไหมครับ?
แต่เริ่มรู้สึกไม่แน่ใจและฉงนใจตรงที่ลองไปค้นข้อมูลการประกันภัยประเภทนี้ในเวปต่าง ๆ ของบ้านเราแล้ว ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลเป็นข้อ
1.2)
อันเป็นกรณีที่ศาลฎีกาท่านพิเคราะห์ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาทซึ่งระบุถึงเงื่อนไขความคุ้มครองว่า
"การสูญเสียรายได้หรือค่าเช่า
ค่าปรับที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมีสาเหตุมาจากการประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด
รวมถึงความสูญเสียหรือความเสียหายต่อระบบหรืออุปกรณ์เครื่องจักร (โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อยกเว้นของกรมธรรม์)"
โดยให้คำจำกัดความว่า "ธุรกิจสะดุดหยุดลง สัญญาการประกัน" ว่า
"บริษัทตกลงว่าถ้ามีอาคารหรือทรัพย์สินอื่นไม่ว่าชนิดใดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของทรัพย์สินนั้นสูญหาย
หรือเสียหาย โดยภยันตรายที่ได้ประกันไว้... และธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยบริษัทได้รับการสะดุดหยุดลงเนื่องจากเหตุดังกล่าว
หรือได้รับการรบกวน ดังนั้น บริษัทจะจ่ายเงินประกันจำนวนที่สูญหายไปจากการสะดุดหยุดลงนั้น..."
ระบุเงื่อนไขของการจ่ายเงินชดเชยว่า
"ถ้าหากจำนวนเงินที่เอาประกันภัยโดยรายการนี้น้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้โดยการใช้อัตรากำไรทั้งหมดต่อเงินทุนหมุนเวียนประจำปี
(หรือผลคูณที่เพิ่มขึ้นตามส่วนนั้นซึ่งระยะเวลาเงินชดเชยสูงสุดเกินสิบสองเดือน)
จำนวนเงินพึงจ่ายจะลดลงตามส่วน"
กรณีเงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ต้องตีความโดยเคร่งครัด หากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่โดยผู้เอาประกันภัยได้รับการสะดุดหยุดลงเนื่องจากเหตุที่รับประกันภัย แล้วทำให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ต้องสูญเสียรายได้
ฝ่ายบริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง
ๆ ขึ้นมาเองฝ่ายเดียวไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย
และไปตามหลักการ ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้มีส่วนร่วมในการร่างถ้อยคำดังกล่าวขึ้นมาด้วย
ครั้นเมื่อพิจารณาคำว่า "รายได้"
ก็มิได้มีระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นรายได้สุทธิหลังจากหักรายจ่ายทั้งหมดก่อน ดังนั้น
กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญเสียรายได้
มิใช่การสูญเสียกำไร จึงไม่สามารถนำรายได้ไปหักค่าใช้จ่ายแล้วมาคำนวณเพื่อหาค่าความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนได้
ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่าจำเป็นต้องคำนวณผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายของโจทก์ก่อนจึงจะคำนวณค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับมาตรฐานภาษาไทย (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน)
ซึ่งให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 สำหรับถ้อยคำที่เกี่ยวข้องได้ระบุตรงหมวดที่ 2 ความคุ้มครองว่า
“ภายใต้ข้อบังคับ
ข้อตกลงคุ้มครอง เงื่อนไขทั่วไป ข้อกำหนด ข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ ข้อยกเว้นและเอกสารแนบท้ายแห่งกรมธรรม์ประกันภัย
............ บริษัทตกลงจะให้ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด
ๆ หรือทรัพย์สินอื่นที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย
และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
และมิได้มีการระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ณ เวลาใดในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
และเป็นผลให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่เอาประกันภัยหยุดชะงักลงหรือได้รับผลกระทบ
บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายการที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย”
และตรงคำจำกัดความภายใต้หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป
“คำว่า “ความเสียหาย” หมายความถึง ความสูญเสียหรือความเสีย
หายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่
เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยสำหรับ
ทรัพย์สิน
คำว่า “ความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ” หมายความ
ถึง ความสูญเสียหรือความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจหรือ
จากการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจที่ดำเนินอยู่ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบ
ธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัย”
ยังไม่พบเห็นคำว่า “การสูญเสียรายได้” ดั่งเช่นในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาทเลย
จำต้องไปตรวจสอบดูต่อข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ
แบบ 1 สำหรับการประกันภัยกำไรขั้นต้น
(แบบหลักเกณฑ์ผลต่าง) ซึ่งระบุเงื่อนไขความคุ้มครองเพิ่มเติมที่เลือกไว้ ดังนี้
“การประกันภัยภายใต้รายการที่
1
(ในที่นี้ คือ กำไรขั้นต้น) จะให้ความคุ้มครองเฉพาะการสูญเสียกำไรขั้นต้น
อันเนื่องมาจาก (ก) การลดลงของยอดรายได้และ
(ข) การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
โดยบริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีของการลดลงของยอดรายได้ :
บริษัทจะชดใช้จำนวนเงินที่คำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้น
คูณกับจำนวนยอดรายได้ที่ขาดหายไป ในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน”
ดูแล้วถ้อยคำมีความชัดเจนขึ้นกว่าฉบับที่เป็นข้อพิพาท
ซึ่งอาจใช้ต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แตกต่างออกไป และสันนิษฐานว่า เกิดจากความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างคู่สัญญาประกันภัยตั้งแต่ตอนที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยฉบับนี้ก็อาจเป็นได้
สรุปแล้ว วัตถุประสงค์ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองอะไร?
กำไรขั้นต้น หรือการสูญเสียรายได้กันแน่
ขอไปคุยต่อตอนหน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น