วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 113: จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?


(ตอนที่หนึ่ง)

ผมค้นพบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055/2561 เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเป็นคดีแรกของประเทศไทย เพราะตัวเองได้พยายามค้นหา และรอมานานหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยค้นเจอ หากผมเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ต้องขออภัยและขอคำชี้แนะด้วยครับ แรกที่เจอเป็นเพียงฉบับย่อสั้น อ่านแล้วยังไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้มาก จนได้ฉบับย่อยาวในที่สุด ซึ่งมีข้อมูลเพียงพอที่จะให้แสดงความเห็นเสริมเพิ่มเติมในมุมมองของคนที่เคยทำประกันภัยมาก่อน และไม่อยากรออ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวฉบับเต็ม ด้วยเกรงจะนานไป 

แต่ขอออกตัวก่อนนะครับ ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาลท่าน ผมเองมิได้เจตนาอวดตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยประเภทนี้แต่ประการใด เพียงสนใจใฝ่รู้ พยายามค้นคว้าศึกษาอยู่ตลอด ขออนุญาตทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบในแง่การเรียนรู้การประกันภัยประเภทนี้ว่า ควรจะพิจารณาเช่นใดต่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างคู่สัญญาประกันภัย และให้ผู้เอาประกันภัยสามารถได้รับประโยชน์ความคุ้มครองนี้อย่างแท้จริงดั่งที่หลายท่านได้เห็นประโยชน์มาบ้างแล้วช่วงเหตุการณ์สึนามิ และมหาอุทกภัย



จากประสบการณ์ของตนเอง ช่วงระยะเวลาที่อยู่บริษัทประกันภัย เคยรับประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอยู่บ้าง แม้ยังไม่อาจทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจนนัก และด้วยความรู้สึกว่า ทำไมการประกันภัยประเภทนี้ถึงเข้าใจยากจัง แต่ตั้งใจด้วยความมุ่งมั่นว่า จะต้องพยายามหาหนทางสร้างความเข้าใจให้ดีกว่านี้ให้ได้ ได้มีโอกาสอ่านผ่านตาตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ห้องสมุดเก่าของสมาคมประกันวินาศภัยไทย สั่งซื้อมาเองก็มี ค้นบทความทางอินเตอร์เน็ตก็เยอะ ทุกวันนี้ยังทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ จำได้คราวหนึ่งไปอบรมที่ประเทศอินเดีย ได้ไปห้องสมุดค้นหาตำราที่ไม่มีในประเทศไทยเพิ่มเติม แต่เขาไม่ให้ยืม ไม่ให้ถ่ายสำเนา เลยคัดลอกบางส่วนด้วยลายมือก็ทำมาแล้ว ถึงกระนั้นอาจมีความเข้าใจดีขึ้นกว่าเดิมอยู่บ้าง แต่ก็ยังรู้สึกเข้าไม่ถึงแก่นแท้มากนัก ด้วยความโชคดีสมัยทำงานอยู่บริษัทประกันภัยร่วมทุนกับต่างชาติแห่งหนึ่งได้ไปอ่านอีเมลของบริษัทประกันภัยในเครือที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาเขียนสอบถามหลักการประกันภัยประเภทนี้ไปที่สำนักงานภูมิภาค ณ ประเทศสิงค์โปร พออ่านแล้วเรียกว่า เกิดดวงตาบรรลุธรรมขึ้นมาทันที สามารถเข้าใจถึงแก่นแท้ได้อย่างชัดเจน และได้ทดลองนำไปอธิบายให้หลายคนรับฟัง ไม่ว่าเป็นคนประกันภัย คนกลางประกันภัย หรือลูกค้าที่สนใจ ก็สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย ต้องกล่าวขอบพระคุณ Mr. Brian Berry มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ประเทศไทยเอง มีกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับมาตรฐานภาษาไทย สำหรับของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ในปี พ.ศ. 2549 และของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 นี้เอง

ฉะนั้น เข้าใจได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับที่เป็นข้อพิพาทกันนี้ ยังเป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษอยู่ เพราะมีการอ้างถึงคำแปลด้วย ไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับว่า มีข้อความเหมือนกับฉบับมาตรฐานภาษาไทยซึ่งผมจะขอนำมาใช้เปรียบเทียบนี้ไหม? แต่เชื่อว่า น่าจะใกล้เคียงกันมาก มาลองวิเคราะห์ประเด็นดูกันนะครับ

ข้อมูลเบื้องต้นของผู้เอาประกันภัย

โจทก์ประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่บริษัท ส. จำกัด ได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยจำเลยรวม 3 สัญญา ได้แก่

1) กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม)
    ทุนประกันภัยรวมทั้งสิ้น                             218,000,000 บาท
2) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร
    ทุนประกันภัยรวมทั้งสิ้น                             162,000,000 บาท
3) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
    ทุนประกันภัยรวมทั้งสิ้น                              30,000,000 บาท

ทั้งสามสัญญามีระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สิ้นสุดวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เหตุแห่งความเสียหาย

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552 โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของโจทก์เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต อุปกรณ์บางส่วนระเบิดใช้การไม่ได้ บริษัทผู้สำรวจภัยอิสระเข้าไปตรวจสอบพบว่า เหตุระเบิดเกิดที่ตู้สวิตซ์เกียร์หมายเลข 52 - 2 ซึ่งเป็นระบบควบคุมป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและผิดปกติ

ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิด ดังนี้
1) ภายใต้กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน   
                                                            157,456.50 บาท
2) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร  
                                                            165,540.00 บาท

พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยโจทก์และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา

ข้อพิพาทของสองกรมธรรม์ประกันภัยเป็นอันสิ้นสุด จึงไม่จำต้องวิเคราะห์อะไรเพิ่มเติมอีกนะครับ ทั้งข้อมูลก็ได้มาน้อยมาก

ประเด็นข้อพิพาทของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

สามารถแบ่งแยกออกได้เป็นสามประเด็น ดังนี้

(1) วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทน

(2) ความคุ้มครองในส่วนของค่าปรับการผิดสัญญา

(3) วิธีการบังคับใช้ความเสียหายส่วนแรก 7 วัน

ผมขอยกไปคุยกันต่อสัปดาห์หน้านะครับ

ขอถือโอกาสวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2563 อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ โปรดอำนวยพรให้ทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญ และสุขภาพแข็งแรงตลอดทั้งปีด้วยนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น