วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or By Laws) ว่าอย่างไร?


(ตอนที่สี่)

เราได้เห็นตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศทั้งสองกรณีไปแล้วนะครับ ซึ่งคดีศึกษาแรกนั้นมิได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายเอาไว้ จึงได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายแท้จริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ถึงแม้จะได้ขยายเงื่อนไขพิเศษนี้ไว้ มุมมองของศาลต่างประเทศในคดีนั้น จำกัดความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นอยู่เพียงเฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายบางส่วนจากภัยที่คุ้มครองเท่านั้น โดยไม่รวมถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งไม่เสียหายแต่อย่างใด เนื่องจากศาลดังกล่าวเห็นว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้แก้ไขปรับปรุงส่วนที่มิได้เสียหายด้วยนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันกับส่วนที่เสียหายนั้นเลย เว้นแต่ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนั้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวเขียนให้ครอบคลุมถึงด้วย เหมือนดั่งเช่นในคดีศึกษาที่สองนั้น และศาลคดีที่สองยังมีมุมมองแตกต่างในลักษณะที่ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้แก้ไขปรับปรุงส่วนที่มิได้เสียหายด้วยนั้นมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากภัยที่คุ้มครองด้วย ถึงแม้ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนั้นมิได้เขียนให้ครอบคลุมถึง และก็มิได้เขียนยกเว้นไม่รวมถึงส่วนที่มิได้เสียหายนั้นอย่างชัดเจน บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นทั้งหมดด้วย

ทีนี้ เราทดลองนำมาพิจารณาปรับใช้เงื่อนไขทั่วไปที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขพิเศษนั้นของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินบ้านเรากันบ้าง ได้แก่

ก) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป
เงื่อนไขทั่วไปในการรับประกันภัย
5.2  การชดใช้โดยการเลือกทำการสร้างให้ใหม่หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน
       บริษัทอาจจะเลือกทำการสร้างให้ใหม่ หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่สูญเสียหรือเสียหายทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งแทนการจ่ายเงินชดใช้การสูญเสียหรือการเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออาจจะร่วมกับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกระทำการดังกล่าวก็ได้
       แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องจัดสร้างให้ใหม่ให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิมหรือให้ครบถ้วนทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามแต่สภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุดและไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย
       ………………………
       ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถที่จะจัดทำการสร้างให้ใหม่หรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนี้ เพราะเหตุว่ามีเทศบัญญัติหรือกฎข้อบังคับใด ๆ บัญญัติไว้ในเรื่องแนวของถนนหรือการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งอื่น ๆ บริษัทจะรับผิดชดใช้เงินเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการสร้างให้ใหม่ หรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ๆ ให้คืนสภาพเดิม หากทำได้ตามกฎหมาย

ข) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
6.   เงื่อนไขทั่วไป
6.7 การชดใช้โดยจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน
บริษัทอาจจะเลือกทำการสร้างให้ใหม่ หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่เสียหายทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งแทนการจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออาจจะร่วมกับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ กระทำดังกล่าวก็ได้
แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องจัดสร้างให้ใหม่ให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิม หรือให้ครบถ้วนทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามแต่สภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย
       ………………………
ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถที่จะจัดทำการสร้างใหม่ หรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนี้ เพราะว่ามีเทศบัญญัติหรือกฎข้อบังคับใด ๆ บัญญัติไว้ในเรื่องแนวของถนนหรือการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งอื่น ๆ บริษัทจะรับผิดชดใช้เงินเพียงพอเท่าที่จำเป็นเพื่อการสร้างใหม่ หรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ๆ ให้คืนสภาพเดิม หากทำได้ตามกฎหมาย โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา

ค) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป

12. การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
      12.1 บริษัทอาจจะเลือกทำการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน หรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายแทนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น
             ถ้าบริษัทเลือกที่จะซ่อมแซมหรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน …………… แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้อง่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิมทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามสภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะจ่ายไม่เกินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นในขณะที่เกิดความเสียหายหรือไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย
             ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถซ่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนเพราะเทศบัญญัติ หรือกฎข้อบังคับใด ๆ บัญญัติไว้ในเรื่องแนวของถนนหรือการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งอื่น ๆ บริษัทจะรับผิดชดใช้ไม่เกินจำนวนเงินเพื่อการซ่อมแซมหรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินนั้น ๆ ให้คืนสภาพเดิม หากทำได้ตามกฎหมาย
      12.2 ………………………

คำถามที่ 1

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินบ้านเราข้างต้นทั้งสามฉบับ ผู้เอาประกันภัยจำต้องขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นเสียก่อนหรือเปล่า? ถึงจะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว

แนวคำตอบข้อที่ 1

เมื่ออ่านข้อความตรงที่ขีดเส้นใต้ทั้งสามฉบับแล้ว ไม่จำต้องขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นไว้เลย ตามเงื่อนไขทั่วไปก็คุ้มครองให้อยู่แล้ว ถ้าภาษาไทยยังไม่ใคร่ชัดเจนนัก ลองนำคำแปลภาษาอังกฤษของทั้งสามฉบับมาเทียบเคียง ซึ่งเขียนเหมือนกันว่า “because of any municipal or other regulations in force, affecting the alignment of streets, or the construction of buildings, or otherwise, the Company shall, in every such case, only be liable to pay such sum as would be requisite to reinstate or repair such property if the same could lawfully be reinstated to its former condition 

คุณเห็นด้วยกับผมไหมครับ?

คำถามที่ 2

ถ้าเป็นเช่นนั้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ในข้อใดถูกต้องที่สุด?
2.1 ความเสียหายที่แท้จริงโดยไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้น หรือ
2.2 ความเสียหายที่แท้จริงโดยรวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นเข้าไปด้วย
แต่ทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้

แนวคำตอบข้อที่ 2

เมื่ออ่านตรงย่อหน้าที่สองของเงื่อนไขทั่วไป ซึ่งยกมาเรียงเป็นลำดับกันว่า “บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย” “ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย” และ “ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะจ่ายไม่เกินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นในขณะที่เกิดความเสียหายหรือไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย

ผมเห็นว่า ข้อ 2.2 เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

คำถามที่ 3

หากจำต้องชดใช้ให้เช่นนั้นจริงแล้ว ในส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นต้องหักค่าเสื่อมราคาด้วยไหม? กรณีที่เลือกกำหนดจำนวนเงินที่เอาประกันภัยตามวิธีมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value) อันจะทำให้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวิธีมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ซึ่งเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ หักด้วยค่าเสื่อมราคา ณ เวลา และสถานที่ที่เกิดความเสียหายด้วย เนื่องจากเห็นมีแต่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา ขณะที่อีกสองกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เขียนเอาไว้เช่นนั้นเลย

แนวคำตอบข้อที่ 3

เมื่อพิจารณาถึงในส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นเป็นมูลค่าที่มิได้มีอยู่ ณ เวลา และสถานที่ที่เกิดความเสียหายเลย แต่เกิดขึ้นมาภายหลังด้วยข้อบังคับแห่งกฎหมาย จึงไม่จำต้องนำมาหักค่าเสื่อมราคาแต่ประการใด ถึงแม้จะมิได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม (อ้างอิงจากบทความ The Public Authorities Clause by John Carey, CILA Property Special Interest Group, 2015)

คำถามที่ 4

งั้นจะคุ้มครองรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายส่วนที่มิได้เสียหายด้วยไหม?

แนวคำตอบข้อที่ 4

ความเห็นส่วนตัว ไม่รวมนะครับ แม้จะได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายเอาไว้ด้วยก็ตาม ลองตรวจสอบข้อความของเงื่อนไขพิเศษนั้นทั้งสองแบบในตอนที่หนึ่งของบทความเรื่องนี้ จะเห็นว่า แบบ อค./ทส. 1.44 ข้อความอาจไม่ใคร่ชัดเจนนัก ขณะที่ แบบ อค./ทส. 1.73 ชัดเจนกว่า

คำถามที่ 5

ถ้าเงื่อนไขทั่วไปสามารถให้ความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายได้อยู่แล้ว จะไปขยายเงื่อนไขพิเศษนั้นอีกทำไมเล่า? หรือเพื่อทำให้มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้?

แนวคำตอบข้อที่ 5

เมื่อเงื่อนไขทั่วไปสามารถให้ความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายได้อยู่แล้ว คงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปขยายเงื่อนไขพิเศษนั้นอีก แต่ถ้าจะคาดหวังเพื่อทำให้มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้ล่ะก้อ อาจเป็นไปได้ต่อเมื่อได้มีการกำหนดวงเงินพิเศษสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นขึ้นมา แล้วนำไปบวกรวมกับจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้ และเสียเบี้ยประกันภัยตามจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยรวมทั้งหมด มิฉะนั้นแล้ว ความคุ้มครองรวมทุกอย่างจะไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้ซึ่งคำนวณมาจากมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น ในต่างประเทศก็ไม่มีใครนำไปบวกเช่นนั้น เพราะไม่รู้จะกำหนดวงเงินเท่าไหร่ดี? และไม่อยากเสียเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนถ้ามีคดีเช่นนี้ขึ้นสู่ศาลไทย ศาลท่านจะพิจารณาอย่างใดนั้น ไม่ทราบเหมือนกันครับ

บทความเรื่องนี้จึงขอจบเพียงเท่านี้ครับ

เรื่องต่อไป : จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น