วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or By Laws) ว่าอย่างไร?


(ตอนที่สาม)

จู่ ๆ ได้เกิดลมพายุพัดโหมกรรโชกกระหน่ำอย่างรุนแรงขึ้นมาใจกลางเมืองในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยความรุนแรงของกระแสลมได้เฉือนเลาะเอาส่วนที่เป็นเปลือกภายนอกอาคารที่ทำจากอิฐ (brick façade) ผนังอาคารที่ก่อด้วยอิฐบล็อก และหน้าต่างที่ติดตั้งอยู่บริเวณชั้นเจ็ดของอาคารสำนักงานสูงแปดชั้น ทางฝั่งทิศเหนือด้านติดกับเส้นทางด่วน ปลิวหลุดลอยหายไปตามลม เศษซากวัสดุบางส่วนหล่นลงไปตกอยู่บริเวณที่จอดรถ บางส่วนก็กระเด็นลอยไปตกบนทางด่วนก็มี สร้างความเสียหายอย่างมากตรงบริเวณชั้นเจ็ดของตัวอาคารดังกล่าว

ภายหลังจากได้รับรายงาน เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกไปตรวจสอบความเสียหายบริเวณชั้นเจ็ดของอาคารดังกล่าว และพบว่า ตัวผนังอาคารเพียงก่อยึดกับพื้นด้วยปูนซีเมนต์เท่านั้น โดยมิได้ใช้เหล็กฉาก (angle iron) มายึดประกอบให้แข็งแรงด้วยเลย ซึ่งเป็นลักษณะเช่นนี้ทั่วทั้งตัวอาคาร หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกกำลังดัน เชื่อได้ว่า คงสามารถทำให้ตัวผนังขยับเขยื้อนเคลื่อนที่จากตำแหน่งได้ไม่ยากนัก
 
เมื่อคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งการพังทลายลงของผนังชั้นเจ็ด รวมทั้งความไม่มั่นคงของผนังที่เหลืออยู่ทั้งหมดของตัวอาคาร เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้นั้นจึงลงความเห็นว่า ตัวอาคารดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยเพียงพอ จำต้องปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมายโดยเร็ว ดังนั้น วันถัดมา ได้มีการออกประกาศห้ามใช้อาคารดังกล่าวจนกว่าจะได้มีการปรับปรุงแก้ไขผนังของชั้นสองถึงชั้นแปดรวมถึงชั้นดาดฟ้าด้วย เพิ่มเติมนอกหนือจากชั้นเจ็ดที่ต้องทำการซ่อมแซมอยู่แล้ว เพื่อให้ได้มาตรฐานความมั่นคงแข็งแรงซึ่งกำหนดให้ใช้เหล็กฉากยึดไว้กับตัวโครงสร้างดังที่ได้บัญญัติไว้ในกฎข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานการก่อสร้างซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่เวลานั้น 

ประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกมาอยู่ประมาณครึ่งล้านเหรียญ หรือประมาณร่วมยี่สิบล้านบาท

เจออย่างนี้เข้า เจ้าของอาคารก็กุมขมับล่ะซิครับ แต่เชื่อว่า ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เรามีกรมธรรม์ประกันภัยแบบสรรพภัยคุ้มครองอาคารหลังกล่าวอยู่แล้ว แถมยังได้ขยายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or By Laws) เผื่อเอาไว้อีก บริษัทประกันภัยคงเข้ามาช่วยรับผิดแทนได้แน่ ๆ

พอผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าวได้แจ้งเรื่องราวถึงบริษัทประกันภัยของตน คำตอบที่ได้กลับมา คือ ใช่แน่ ๆ ที่จะคุ้มครองให้ แต่เพียงเฉพาะค่าซ่อมแซมบริเวณชั้นเจ็ดที่เสียหายจากลมพายุเท่านั้นนะ ส่วนที่เหลือนั้นไม่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ด้วยเลย แต่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเท่านั้น จึงไม่อาจคุ้มครองให้ได้

อ้าว แล้วที่ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมกรณีนี้เอาไว้แล้ว ทำไมถึงยังมาบอกอีกว่า ไม่อาจคุ้มครองให้ได้เช่นนั้นอีก

ครับ ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยตามระเบียบ ในเมื่อคุยกันไม่จบ

ประเด็นพิพาทที่ศาลชั้นต้นต้องพิเคราะห์อยู่ที่ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้น มีความหมายเช่นใด?

ถ้อยคำที่ปรากฏสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ ดังนี้

ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการก่อสร้าง

ก) หากได้เกิดภัยที่คุ้มครองขึ้นที่อาคารที่ได้เอาประกันภัยไว้ บริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในกรณี
     (1) การซ่อมแซมหรือการสร้างใหม่ส่วนที่เสียหายของอาคารที่เอาประกันภัย
          และ/หรือ
     (2) การสร้างใหม่ หรือการปรับปรุงส่วนที่ไม่เสียหายของอาคารที่เอาประกันภัย ไม่ว่าจะได้มีการรื้อทำลายด้วยหรือไม่ก็ตาม

 เมื่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้เทศบัญญัติ หรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ผังเมือง หรือการใช้ที่ดิน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า งานที่จำต้องปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งนั้นเป็นผลโดยตรงจากการพังทลายของผนังชั้นเจ็ดเนื่องจากลมพายุ ฉะนั้น การสั่งให้ซ่อมแซมชั้นอื่น ๆ จะไม่อาจมีขึ้นมาได้เลย หากผนังชั้นเจ็ดไม่ได้รับความเสียหาย ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษดังอ้างถึงชัดเจนดีอยู่แล้วว่า ให้ความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายสำหรับกรณีพิพาทนี้ด้วย

บริษัทประกันภัยรายนี้ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อโต้แย้งของบริษัทประกันภัยจำเลยที่ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้ความคุ้มครองเพียงเฉพาะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซ่อมแซมความเสียหายบางส่วนที่ได้รับความคุ้มครองของตัวอาคารดังกล่าวเท่านั้น ส่วนอื่นของตัวอาคารที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขนั้นก็มิได้เป็นผลโดยตรงมาจากความเสียหายของภัยลมพายุที่คุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เลย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า ความเสียหายเนื่องจากลมพายุตรงชั้นเจ็ดกับคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่ให้ปรับปรุงแก้ไขชั้นอื่น ๆ นั้น เป็นคนละเรื่องกันเลย ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันแต่ประการใด เพราะการมาตรวจพบความไม่มั่นคงปลอดภัยตรงจุดอื่น ๆ เป็นเพียงเหตุบังเอิญเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า เมื่ออาคารเกิดความเสียหายจนต้องทำการซ่อมแซมหรือการสร้างใหม่นั้น เป็นสิ่งปกติที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายจะต้องสั่งให้ดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามเทศบัญญัติหรือกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเวลานั้นด้วย ซึ่งตอนที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อนานมาแล้ว มิได้มีกฎหมายเช่นว่านี้ใช้บังคับอยู่เลย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นร่วมกันอีกว่า กรณีผนังที่เสียหายบางส่วนตรงจุดใด คงมิใช่เพียงซ่อมแซมให้ได้มาตรฐานตรงจุดที่เสียหายเท่านั้น แล้วปล่อยให้ผนังเดียวกันตรงจุดอื่นที่ไม่เสียหายคงไว้เช่นเดิม เจตนารมณ์ของเงื่อนไขพิเศษนี้หมายความถึงให้ความคุ้มครองรวมถึงจุดอื่นของผนังนั้น ตราบใดที่เป็นผนังเดียวกัน

สำหรับกรณีที่เป็นผนังมิใช่แผ่นผืนเดียวกันนั้นยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ดังที่เป็นประเด็นโต้แย้งในคดีนี้

ฝ่ายจำเลยได้อ้างอิงคำพิพากษาคดี Weinstein v. Commerce. Ins. Co., ในตอนที่สองของบทความนี้ว่า ศาลคดีนั้นวินิจฉัยว่า การตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายหลังจากเหตุไฟไหม้นั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองให้ได้ เพราะไม่อาจกล่าวได้เลยว่า ถึงแม้การฝ่าฝืนกฎหมายไม่อาจตรวจพบได้ หากมิได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาเสียก่อน แต่การฝ่าฝืนกฎหมายนั้นก็เป็นคนละกรณีจากเหตุไฟไหม้ เนื่องจากไฟไหม้มิใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว การบังคับใช้กฎหมายนั้นมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วตราบใดที่กฎหมายดังกล่าวคงยังมีผลใช้บังคับอยู่

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยคดีนั้น เพราะถ้าถามความเห็นของผู้เอาประกันภัยทั่วไป เชื่อว่า เขาคงเห็นว่า เจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขปรับปรุงอาคารที่ปราศจากความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตคนขึ้นมาได้ ให้ทำถูกต้องตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดได้อยู่แล้ว ก่อนเกิดเหตุ อาคารดังกล่าวอาจถือว่า ยอมรับได้ เนื่องจากกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง แต่หลังเกิดเหตุ ถือว่าไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานอีกต่อไปแล้ว

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ว่า การพังทลายของผนังชั้นเจ็ดกับคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจนในลักษณะสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)

เมื่อภัยที่คุ้มครองเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดเหตุอื่น ๆ ต่อเนื่องติดตามมาโดยไม่ขาดตอน ให้ถือภัยแรกสุดเป็นเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายทั้งหมด

อาคารที่เอาประกันภัยหลังดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการที่กฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง แต่ครั้นเกิดความเสียหาย อาคารหลังดังกล่าวก็ได้สูญเสียสถานภาพนั้นไป  

ฉะนั้น เมื่อผนังชั้นเจ็ดได้พังทลายลงได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้ผนังตรงชั้นอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายคนขึ้นมาได้ จึงถือได้ว่า ผนังที่พังทลายนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ทำให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายต้องเข้าไปตรวจสอบปัญหาเดียวกันตรงจุดอื่นของอาคารหลังดังกล่าวด้วย จนพบโครงสร้างที่ไม่ปลอดภัย ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่จำต้องปรับปรุงแก้ไขล้วนเป็นผนังเหมือนกัน เทศบัญญัติที่ใช้บังคับก็เหมือนกัน รวมทั้งวิธีการปรับปรุงแก้ไขก็เหมือนกันอีก

ด้วยเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามเงื่อนไขพิเศษนั้นอันประกอบเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี DEB Assoc. v. Greater New York Mutual Ins. Co., 970 A.2d 1074 (N.J. Super. 2009))

คุณเห็นอย่างไรบ้างครับ?

ต้องต่ออีกตอนหนึ่งเป็นบทสรุปพร้อมกับเทียบเคียงกับเงื่อนไขความคุ้มครองของบ้านเรา ในสัปดาห์หน้าครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น