วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของ...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของ...: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต (ตอนที่ สอ ง) คดีศึกษาเรื่องที่สอง เป็นกรณีที่มิสเตอ...
เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต


(ตอนที่สอง)

คดีศึกษาเรื่องที่สองเป็นกรณีที่มิสเตอร์เอ็มนำรถของตนเข้าซ่อมใหญ่ ณ อู่ของผู้เอาประกันภัย และเอ่ยปากร้องขอยืมรถของอู่ไปใช้ทดแทนจนกว่ารถของตนจะซ่อมเสร็จจากผู้จัดการดูแลแทนระหว่างที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของอู่ออกไปทำธุระข้างนอกพอดี ผู้จัดการอู่ไม่ขัดข้องโดยยินยอมให้นำรถของอู่คันหนึ่งไปใช้ได้ ขณะที่มิสเตอร์เอ็มกำลังขับรถคันนั้นออกไปจากอู่ ได้สอบถามอีกครั้งหนึ่งว่า รถคันนี้มีประกันภัยคุ้มครองอยู่หรือไม่? ได้รับคำตอบกลับมาว่ามี จึงได้ขับรถคันนั้นออกไปด้วยความสบายใจ

ถัดมาไม่นาน มิสเตอร์เอ็มได้รับแจ้งจากอู่ว่า รถจะซ่อมเสร็จวันพรุ่งนี้แล้ว มิสเตอร์เอ็มจึงมอบหมายให้ลูกชายของตนเป็นผู้ขับรถของอู่ไปคืน พร้อมขับรถของตนคืนกลับมาด้วย 

วันที่ไปรับรถอันเป็นวันที่เกิดเหตุด้วย ลูกชายของมิสเตอร์เอ็มได้ขับรถของอู่ออกจากบ้านของตน โดยระหว่างทางได้แวะรับเพื่อนซึ่งมีบ้านอยู่เส้นทางเดียวกับที่ตั้งของอู่นั้นด้วย แต่โชคร้ายได้เกิดอุบัติเหตุไปชนกับรถคู่กรณีเสียก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง อันเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของลูกชายของมิสเตอร์เอ็มเอง

ครั้นทางอู่ได้รับแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้รายงานให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนเข้ามารับผิดชอบแทน แต่บริษัทประกันภัยนั้นกลับปฏิเสธภายหลังจากได้รับทราบเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดแล้ว

คู่กรณีได้นำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินให้คู่กรณีในฐานะโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อ

ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จำต้องพิจารณา คือ 

1) ผู้จัดการอู่ซึ่งเป็นผู้ได้รับความยินยอมคนที่หนึ่งจากตัวผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะส่งมอบความยินยอมต่อไปให้แก่ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองได้หรือไม่?  และ  

2) ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองมีสิทธิที่จะส่งมอบความยินยอมต่อไปให้แก่บุคคลอื่น ๆ ได้อีกหรือไม่?
 
จากพยานหลักฐานที่นำเสนอ ไม่ปรากฏผู้เอาประกันภัยได้ตั้งข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใดอย่างชัดแจ้งในเรื่องความยินยอมให้ใช้รถคันที่เกิดเหตุ ทั้งผู้จัดการอู่ซึ่งเป็นผู้ได้รับความยินยอมคนแรกก็มิได้วางข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใดแก่มิสเตอร์เอ็มซึ่งเป็นผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองด้วย ประกอบกับข้อความจริงในส่วนของมิสเตอร์เอ็มที่ได้ให้ความไว้วางใจและความยินยอมให้ลูกชายขับรถของตนได้โดยอิสระ นอกจากนี้ การให้ยืมรถของอู่ไปนั้นเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจของผู้เอาประกันภัยในฐานะเจ้าของอู่นี้ด้วยเช่นกัน รับฟังได้ว่า เป็นการให้ความยินยอมให้ใช้รถคันที่เอาประกันภัยคันนี้ของผู้เอาประกันภัยโดยปริยายแล้ว บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองรถคันนี้จำต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับนี้

บริษัทประกันภัยรายนี้ได้ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ คดีนี้จึงเป็นอันสิ้นสุด

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Boudreaux v. Cagle Motors, 70 So. 2d 741 (La. Ct. App. 1954))

สรุป หากผู้เอาประกันภัยของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยมิได้กำหนดเงื่อนไขให้ความยินยอมนำรถคันนั้นไปใช้ได้อย่างชัดแจ้ง ให้ถือว่า ผู้ได้รับความยินยอมคนที่หนึ่งมีสิทธิใช้รถคันนั้นได้โดยอิสระ และสามารถส่งมอบสิทธินั้นต่อให้แก่บุคคลอื่นได้ โดยที่จะวางข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการใช้รถคันนั้นอย่างใดก็ได้

ประเด็นพิพาทที่น่าสนใจต่อไปของต่างประเทศ ได้แก่ 

ก) หากผู้เอาประกันภัยนั่งไปด้วย และได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของผู้ที่ตนให้ความยินยอมไปนั้น ผู้เอาประกันภัยจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองอยู่หรือไม่?

ข) ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขับขี่ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอยู่อาศัยนั้น (The Family or Household Exclusion) แปลความหมายถึงใครบ้าง?

สำหรับข้อ ก) ช่วงแรก ศาลต่างประเทศบางแห่งตีความว่า ในการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย มุ่งประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลภายนอกอื่น มิใช่ตัวผู้เอาประกันภัยเอง ถึงแม้ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ขับขี่เองและมิใช่เป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ต่อมา ศาลหลายแห่งแปลความหมายให้รวมถึงตัวผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้ร่วมกระทำความผิดเข้าไปอยู่ในความหมายของบุคคลภายนอกอื่นด้วย


ส่วนข้อ ข) ได้มีการแปลความหมายแตกต่างกันตรงที่ว่า ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย คำว่า "เสมือนหนึ่ง" นั้นมิได้หมายความถึงเป็นเช่นเดียวกับตัวผู้เอาประกันภัยเองทุกรณี ฉะนั้น ข้อยกเว้นเรื่องชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอยู่อาศัยนั้น มุ่งเน้นไปที่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น กล่าวคือ ไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะขับขี่เอง หรือให้บุคคลอื่นขับขี่แทน ถ้าไปสร้างความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัย ล้วนให้ผลเช่นเดียวกันทั้งหมด คือ ตกอยู่ในข้อยกเว้นทั้งสิ้น

ขณะที่ศาลบางแห่งกลับแปลความหมายให้ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นตกอยู่ในสถานะของผู้เอาประกันภัยช่วงเวลานั้น ดังนั้น ข้อยกเว้นเรื่องชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอยู่อาศัยนั้นจึงควรจำกัดความหมายถึงเฉพาะบุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอาศัยอยู่กับผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นเอง

ตอนต่อไป เราจะมาพิจารณากันถึงการแปลความหมายของเงื่อนไขดังกล่าวในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเรากันบ้างนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของ...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของ...: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต (ตอนที่หนึ่ง) หากท่านได้มีโอกาสย้อนกลับไปอ่าน เรื่อง...
เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต


(ตอนที่หนึ่ง)

หากท่านได้มีโอกาสย้อนกลับไปอ่านเรื่องที่ 90: คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)และ การขับขี่ (Operation) สำหรับการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ซึ่งได้หยิบยกตัวอย่างคดีต่างประเทศเรื่องความแตกต่างระหว่างคำดังกล่าวทั้งสองคำมาแจกแจงให้เห็นภาพ ขณะที่คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของบ้านเรากลับมิได้อธิบายเอาไว้ ทั้งที่ได้ระบุคำทั้งสองคำนั้นไว้ด้วย

คราวนี้ไปอ่านพบอีกประเด็นเพิ่มเติม เผื่ออาจเป็นข้อมูลเสริม หากผู้ที่เกี่ยวข้องจะเห็นเป็นประโยชน์ใช้ประกอบในการปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับใหม่ พร้อมกับคู่มือตีความ  

ที่ต่างประเทศมีประเด็นความเห็นแตกต่างกันตรงที่ว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยได้ยินยอมให้บุคคลอื่นขับขี่ (ผู้ได้รับความยินยอมคนที่หนึ่ง) รถยนต์คันที่เอาประกันภัยของตน บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะอนุญาตให้บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สอง) นำรถยนต์คันนั้นไปใช้ขับขี่อีกทอดหนึ่งได้หรือไม่? หรือจำกัดเพียงเฉพาะจะต้องได้รับความยินยอมโดยตรงจากผู้เอาประกันภัยเท่านั้นถึงจะมีผลคุ้มครอง?

กรณีนี้เกิดขึ้นช่วงเทศกาลปลายปี ณ เมืองหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้อนุญาตให้ลูกชายของตนขับรถคันนี้ไปรับเพื่อนที่บ้าน เพื่อไปเที่ยวงานฉลองเทศกาลของโรงเรียน พอไปถึงบ้านเพื่อน สองหนุ่มตกลงเปลี่ยนไปใช้รถของเพื่อนขับไปแทน โดยจอดรถคันที่ขับมาจอดทิ้งไว้ที่บ้านเพื่อน พร้อมฝากกุญแจไว้กับน้องชายเพื่อนเผื่ออาจจำต้องขยับรถเวลาที่พ่อแม่ของเพื่อนกลับมาบ้าน แต่เมื่อสองหนุ่มขับรถออกไปไม่นาน น้องชายเพื่อนก็แอบขับรถคันดังกล่าวออกไปจนประสบอุบัติเหตุชนกับรถคันอื่นด้วยความประมาทเลินเล่อประกอบกับความไม่คุ้นเคยกับตัวรถคันนั้นของตน เป็นเหตุให้คู่กรณีได้รับบาดเจ็บ

เมื่อเหตุการณ์นี้ได้ถูกแจ้งต่อบริษัทประกันภัยของรถยนต์คันที่ก่อเหตุ ได้รับการปฏิเสธกลับมาว่า ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองเนื่องจากผู้ขับขี่มิได้รับความยินยอมโดยตรงจากตัวผู้เอาประกันภัย แถมยังเป็นการแอบใช้รถโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

ครั้นเรื่องนี้ได้ถูกฟ้องเป็นคดีสู่ศาล ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์คันนั้นจำต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไข เพราะผู้ขับขี่ถือเป็นผู้ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยโดยปริยายแล้ว ถึงแม้การใช้รถนั้นอาจจะเบี่ยงเบนไปบ้างก็ตาม โดยศาลชั้นอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นพร้อมเสริมว่า การเบี่ยงเบนไปนั้นมิได้ถือเป็นสาระสำคัญ

บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับและได้ยื่นฎีกาต่อ โดยต่อสู้ว่า ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เขียนอย่างชัดเจนแล้วว่า ผู้ขับขี่ที่จะได้รับความคุ้มครองนั้นจะต้องได้รับความยินยอมเฉพาะจากผู้เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้ปรากฏข้อความตรงใดเลยที่อนุญาตให้ผู้ขับขี่นั้นให้ความยินยอมต่อเป็นช่วง ๆ ได้โดยไม่จำกัด หากมีเจตนารมณ์เช่นนั้นจริง บริษัทประกันภัยคงเขียนลงไปให้แล้ว 

นอกจากนี้ คำให้การของตัวผู้เอาประกันภัยเองยังระบุกำชับบุตรชายมิให้เพื่อนใช้รถคันนี้อีกด้วย

ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า ตัวน้องเพื่อนที่เป็นผู้ขับขี่รถคนที่เอาประกันภัยนั้นจนเกิดอุบัติครั้งนี้มีอายุเพียง 15 ปี และยังไม่มีใบขับขี่ การส่งมอบกุญแจรถไว้ให้เผื่อเลื่อนรถนั้น แม้มิได้ระบุถึงผู้ใด แต่ก็มิได้ถือเป็นการอนุญาตให้ใช้รถได้โดยปริยาย ทั้งการขับขี่รถบนท้องถนนสาธารณะนั้นจำต้องมีใบอนุญาตให้ขับขี่ด้วย จึงไม่น่ามีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยจะยินยอมให้ผู้ปราศจากใบขับขี่ใช้รถของตนได้อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย 

ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดชอบ

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Rogillio v. Cazedessus, 127 So. 2d 734 - La: Supreme Court 1961

โชคไม่ดีที่คดีนี้ ผู้ก่อเหตุยังเป็นผู้เยาว์อยู่

ตอนต่อไป ลองเปรียบเทียบกับคดีให้ยืมรถไปใช้ระหว่างซ่อมบ้างนะครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบก...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบก...: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบ กันแน่ ?   (ตอนที่สาม) ในการพิจารณาหาคำตอบสำหรับคำถามที่ทิ้งไว้นั้น จำต้อง...
เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบกันแน่?  


(ตอนที่สาม)

ในการพิจารณาหาคำตอบสำหรับคำถามที่ทิ้งไว้นั้น จำต้องไปพิจารณาบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในมาตรา 3 และมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.. 2522 ดังนี้

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
…………………………..
"บริการ" หมายความว่า การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิใด ๆ หรือการให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน
………………………….
"ผู้บริโภค" หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
"ผู้ประกอบธุรกิจ" หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการและหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย

มาตรา 4   ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้
………………………..
(2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ

ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้ห้างสรรพสินค้า ให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตร เศษของ 20 ตารางเมตร ให้คิดเป็น 20 ตารางเมตร และศูนย์การค้าจัดเป็นอาคารขนาดใหญ่ ให้มีที่จอดรถยนต์ตามจำนวนที่กำหนดของแต่ละประเภทของอาคารที่ใช้เป็นที่ประกอบกิจการในอาคารขนาดใหญ่นั้นรวมกัน หรือให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่อาคาร 120 ตารางเมตร เศษของ 120 ตารางเมตร ให้คิดเป็น 120 ตารางเมตร

ฉะนั้น ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้าในฐานะเป็นผู้ให้บริการมีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้มีที่จอดรถแก่ผู้บริโภค

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553 จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอด ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้องของจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์การค้าโดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์การค้าให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อทำการค้า และจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่อความสะดวกของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่มาใช้บริการ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นว่าย่อมต้องให้ความสำคัญในด้านบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและการใช้สถานที่ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการในเรื่องของที่จอดรถซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าว่าจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจัยข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจกบัตรจอดรถ ไม่เรียกเก็บค่าบริการจอดรถ บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ก็สามารถนำรถเข้าจอดได้ ไม่ต้องฝากกุญแจรถไว้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อที่จอดรถเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการประกอบกิจการศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่เป็นผู้ประกอบกิจการศูนย์การค้าขนาดใหญ่จึงต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเองในระหว่างที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ ภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1

ฉะนั้น คำว่า “ลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ ณ สถานที่แห่งนั้น” สามารถให้คำตอบได้ ดังนี้

ก) หมายความถึงเฉพาะลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้าเท่านั้น

ไม่จำกัดอยู่เพียงลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ โดยรวมถึงเป็นบุคคลทั่วไปด้วย

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561 ข้างต้น

ข) หมายความรวมถึงลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย

ถูกต้อง

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2561 ห้างสรรพสินค้าของจำเลยแบ่งพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าให้ธนาคาร ธ. เช่าประกอบกิจการธนาคารเพื่อเป็นการจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ถือได้ว่าผู้เสียหายที่เข้าไปใช้บริการธนาคาร ธ. เป็นลูกค้าที่มาใช้บริการของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย

ค) หมายความรวมถึงพนักงานของศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย

ไม่รวม

โดยเทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560 ข้างล่าง ประกอบกับสัญญาจ้างเหมารักษาความปลอดภัยโดยทั่วไปกำหนดขอบเขตเพียงให้ผู้รับจ้าง (บริษัทรักษาความปลอดภัย) จะดำเนินการสอดส่องตรวจตราและสังเกตุการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้าง (ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า) ในสถานที่ให้บริการให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการกำหนดและดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและทำการช่วยเหลือในการป้องกันและหรือระงับการโจรกรรมที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ให้บริการเท่านั้น มิได้ครอบคลุมไปถึงของลูกจ้างของตนเองด้วย

ง) หมายความรวมถึงพนักงานของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย

ไม่รวม

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560 การที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 และร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เพราะการมีบริการที่จอดรถนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังว่าจ้างจำเลยที่ 2 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเดินตรวจตราบริเวณที่จอดรถอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกค้า และการกระทำที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 1 ต้องดูแลความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำไปจอดในที่จอดรถ แต่จำเลยที่ 1 หาได้มีหน้าที่ดังกล่าวสำหรับรถยนต์ของบุคคลที่มิใช่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีความสัมพันธ์อันใดกับบุคคลนั้น การจะถือว่าผู้ใดเป็นลูกค้า ต้องพิจำรณาถึงว่าบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 หรือเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของผู้เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 มิฉะนั้น จำเลยที่ 1 ก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลที่นำรถยนต์เข้าไปจอดในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 แล้วรถยนต์สูญหายไปเสียทั้งหมด ทั้งที่บุคคลนั้นมิได้เป็นลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1

จ) หมายความรวมถึงผู้ที่มิใช่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการก็ได้

ถูกต้อง เพราะผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือใช้บริการ

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2561 การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถ ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า

เหล่านี้เป็นตัวอย่างกรณีของรถหายที่เกิดขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า อย่างไรก็ดี โปรดพึงระลึกว่า หากไปเกิดเหตุ ณ สถานที่แห่งอื่น แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาอาจมิได้เป็นเช่นนี้ก็ได้

เนื่องจากรับทราบมาว่า จะมีการปรับปรุงคู่มือการตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของบ้านเราใหม่ และบังเอิญไปพบตัวอย่างคำพิพากษาศาลต่างประเทศที่น่าสนใจ เผื่ออาจเป็นข้อมูลเสริม จึงขอยังคงอยู่ในเรื่องของการประกันภัยรถยนต์ต่อไปนะครับ ในประเด็นเรื่อง การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบก...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบก...: เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบ กันแน่ ?   (ตอนที่สอง) สองช่วงยุคนั้น สถานที่จอดรถ ยอดฮิตเป็นปั๊มน้ำมั...
เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบกันแน่?  


(ตอนที่สอง)

สองช่วงยุคนั้น สถานที่จอดรถยอดฮิตเป็นปั๊มน้ำมัน ครั้นความเจริญถูกพัฒนาเข้ามาแทนที่ กอปรกับที่ดินแพงขึ้น ปั๊มน้ำมันในเมืองหดหายลดน้อยลงไป ถูกทดแทนที่ด้วยตึกสูง ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คดีรถหายจึงถูกโยกย้ายมาอยู่ในฉากสถานที่ดังกล่าวแทน ซึ่งสามารถรองรับสารพัดรถได้จำนวนมากขึ้น พร้อมกรรมวิธีการบริหารจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ถูกปรับเปลี่ยนไป ส่งผลทำให้แนวทางกฎหมายในการต่อสู้คดีก็ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบตามไปด้วยให้สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ดี บทความนี้จะขอเพียงกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าเท่านั้น ส่วนสถานที่แห่งอื่นนั้นจะขอเป็นในโอกาสคราวต่อไป

3. ช่วงปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา

บริษัทประกันภัยผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าของรถมาฟ้องศูนย์การค้าเป็นจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้รับฝากทรัพย์รถคันที่สูญหายไปนั้นมิได้ เพราะไม่มีการส่งมอบรถยนต์คันนั้นให้แก่จำเลย ทั้งจำเลยก็มิได้ตกลงจะรักษารถยนต์คันดังกล่าวไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้ภายหลัง ถึงแม้มีการควบคุมการเข้าออกอาศัยบัตรผ่าน และมีการเรียกเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม โดยที่ผู้ใช้บริการขับรถเข้าไปหาที่จอดได้เองโดยอิสระ ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องรับผิดในการที่รถยนต์คันนั้นซึ่งนำมาจอดในที่ดินบริเวณนั้นได้สูญหายไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1685/2529)

เจ้าของรถเป็นโจทก์ฟ้องศูนย์การค้ากับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นจำเลยให้ร่วมกันรับผิดในความผิดฐานละเมิด ด้วยการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถอย่างเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ จนเป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป แม้จำเลยต่อสู้ว่า ผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถเอง ดูแลปิดประตูรถและเก็บกุญแจรถไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรนั้นมีข้อความว่า หากมีการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นทุกกรณี ผู้ครอบครองรถคันนั้นต้องรับผิดชอบเองทุกประการ และเป็นการให้บริการให้เช่าที่จอดรถก็ตาม เพราะโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5398/2538)

จากนี้ไป กรณีรถหาย ผู้เสียหายมักอาศัยอ้างอิงฐานความผิดเรื่องละเมิดเป็นเกณฑ์ในการฟ้องร้องคดีแทน เพราะค่อนข้างกว้างและครอบคลุมมากกว่าเรื่องการรับฝากทรัพย์ หรือการให้เช่าที่จอดรถ แต่ทั้งนี้จะต้องสามารถพิสูจน์ให้รับฟังได้ว่า ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือการจงใจของผู้กระทำละเมิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2549)

การกระทำละเมิดหมายความรวมถึง การที่คนร้ายลักรถยนต์โดยขับรถฝ่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าออกไปด้วยความเร็วและไม่คืนบัตรจอดรถให้ แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยนั้นกลับไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อแจ้งเหตุหรือสกัดจับ เพียงรอกระทั่งโจทก์ผู้ครอบครองรถคันนั้นกลับมาจึงค่อยแจ้งให้ทราบ การกระทำดังกล่าวของพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าจำเลย จึงเป็นละเมิด และจำต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถยนต์ดังกล่าวด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11605/2553)

ต่อมาได้มีการอ้างอิง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกับฐานความผิดเรื่องละเมิดเข้าไปด้วย ซึ่งบัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ทั้งยังนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ ณ สถานที่แห่งนั้นด้วย แต่จะต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยกับบริษัทรักษาความปลอดภัยจำเลยร่วมเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวรจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างสรรพสินค้า ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556, 2123/2558, 6616/2558, 2123/2559, 6099/2560)

หลังจากนั้น ทางห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้าจำเลยบางแห่งได้แก้เกม โดยนำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมมาอ้างอิงให้น้ำหนักว่า เป็นสัญญาว่าจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบริเวณห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ศาลฎีกาไม่รับฟัง กลับเห็นว่า สัญญาจ้างทำของนั้นมุ่งเน้นที่ผลสำเร็จ ซึ่งคือความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้าตลอดจนถึงของลูกค้าด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2557)

อย่างไรก็ดี บางแห่งประสบความสำเร็จจนทำให้ศาลฎีการับฟังว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุจะต้องหาสถานที่จอดเอง เก็บกุญแจรถไว้เอง และจะต้องดูแลรถกับทรัพย์สินภายในรถเอง โดยไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการในการนำรถเข้าจอด ดังนั้น ความครอบครองในรถยังคงอยู่กับเจ้าของรถหรือผู้ที่นำรถเข้ามาจอด จำเลยจึงไม่ใช่ผู้รับฝากรถและไม่ได้รับประโยชน์อันเนื่องจากการที่มีผู้นำรถเข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับประโยชน์จากผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าและการบริการซึ่งเป็นปกติทางการค้าเท่านั้น อนึ่ง พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมไม่ได้กระทำประมาทปราศจากความระมัดระวังปล่อยให้คนร้ายลักรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปโดยไม่ตรวจสอบบัตรอนุญาตจอดรถให้ถูกต้อง และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ระมัดระวังดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับรถที่มีผู้นำมาจอดในห้างสรรพสินค้าของจำเลยตามสมควรแล้ว ดังนั้น การที่รถสูญหายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นกระทำของจำเลยและจำเลยร่วม ด้วยเหตุนี้ จำเลยและจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2557)

แล้วคำว่า “ลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ ณ สถานที่แห่งนั้น” กินความถึงขนาดไหน?

ก) หมายความถึงเฉพาะลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของศูนย์การค้า/ห้าง สรรพสินค้าเท่านั้น
ข) หมายความรวมถึงลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย
ค) หมายความรวมถึงพนักงานของศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย
ง) หมายความรวมถึงพนักงานของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย
จ) หมายความรวมถึงผู้ที่มิใช่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการก็ได้

คำตอบข้อใดถูกต้องบ้างครับ? สัปดาห์หน้าเจอกันนะครับ

บริการ

-     - รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     - รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/