วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต


(ตอนที่หนึ่ง)

หากท่านได้มีโอกาสย้อนกลับไปอ่านเรื่องที่ 90: คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)และ การขับขี่ (Operation) สำหรับการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ซึ่งได้หยิบยกตัวอย่างคดีต่างประเทศเรื่องความแตกต่างระหว่างคำดังกล่าวทั้งสองคำมาแจกแจงให้เห็นภาพ ขณะที่คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของบ้านเรากลับมิได้อธิบายเอาไว้ ทั้งที่ได้ระบุคำทั้งสองคำนั้นไว้ด้วย

คราวนี้ไปอ่านพบอีกประเด็นเพิ่มเติม เผื่ออาจเป็นข้อมูลเสริม หากผู้ที่เกี่ยวข้องจะเห็นเป็นประโยชน์ใช้ประกอบในการปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับใหม่ พร้อมกับคู่มือตีความ  

ที่ต่างประเทศมีประเด็นความเห็นแตกต่างกันตรงที่ว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยได้ยินยอมให้บุคคลอื่นขับขี่ (ผู้ได้รับความยินยอมคนที่หนึ่ง) รถยนต์คันที่เอาประกันภัยของตน บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะอนุญาตให้บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สอง) นำรถยนต์คันนั้นไปใช้ขับขี่อีกทอดหนึ่งได้หรือไม่? หรือจำกัดเพียงเฉพาะจะต้องได้รับความยินยอมโดยตรงจากผู้เอาประกันภัยเท่านั้นถึงจะมีผลคุ้มครอง?

กรณีนี้เกิดขึ้นช่วงเทศกาลปลายปี ณ เมืองหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้อนุญาตให้ลูกชายของตนขับรถคันนี้ไปรับเพื่อนที่บ้าน เพื่อไปเที่ยวงานฉลองเทศกาลของโรงเรียน พอไปถึงบ้านเพื่อน สองหนุ่มตกลงเปลี่ยนไปใช้รถของเพื่อนขับไปแทน โดยจอดรถคันที่ขับมาจอดทิ้งไว้ที่บ้านเพื่อน พร้อมฝากกุญแจไว้กับน้องชายเพื่อนเผื่ออาจจำต้องขยับรถเวลาที่พ่อแม่ของเพื่อนกลับมาบ้าน แต่เมื่อสองหนุ่มขับรถออกไปไม่นาน น้องชายเพื่อนก็แอบขับรถคันดังกล่าวออกไปจนประสบอุบัติเหตุชนกับรถคันอื่นด้วยความประมาทเลินเล่อประกอบกับความไม่คุ้นเคยกับตัวรถคันนั้นของตน เป็นเหตุให้คู่กรณีได้รับบาดเจ็บ

เมื่อเหตุการณ์นี้ได้ถูกแจ้งต่อบริษัทประกันภัยของรถยนต์คันที่ก่อเหตุ ได้รับการปฏิเสธกลับมาว่า ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองเนื่องจากผู้ขับขี่มิได้รับความยินยอมโดยตรงจากตัวผู้เอาประกันภัย แถมยังเป็นการแอบใช้รถโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

ครั้นเรื่องนี้ได้ถูกฟ้องเป็นคดีสู่ศาล ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์คันนั้นจำต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไข เพราะผู้ขับขี่ถือเป็นผู้ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยโดยปริยายแล้ว ถึงแม้การใช้รถนั้นอาจจะเบี่ยงเบนไปบ้างก็ตาม โดยศาลชั้นอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นพร้อมเสริมว่า การเบี่ยงเบนไปนั้นมิได้ถือเป็นสาระสำคัญ

บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับและได้ยื่นฎีกาต่อ โดยต่อสู้ว่า ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เขียนอย่างชัดเจนแล้วว่า ผู้ขับขี่ที่จะได้รับความคุ้มครองนั้นจะต้องได้รับความยินยอมเฉพาะจากผู้เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้ปรากฏข้อความตรงใดเลยที่อนุญาตให้ผู้ขับขี่นั้นให้ความยินยอมต่อเป็นช่วง ๆ ได้โดยไม่จำกัด หากมีเจตนารมณ์เช่นนั้นจริง บริษัทประกันภัยคงเขียนลงไปให้แล้ว 

นอกจากนี้ คำให้การของตัวผู้เอาประกันภัยเองยังระบุกำชับบุตรชายมิให้เพื่อนใช้รถคันนี้อีกด้วย

ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า ตัวน้องเพื่อนที่เป็นผู้ขับขี่รถคนที่เอาประกันภัยนั้นจนเกิดอุบัติครั้งนี้มีอายุเพียง 15 ปี และยังไม่มีใบขับขี่ การส่งมอบกุญแจรถไว้ให้เผื่อเลื่อนรถนั้น แม้มิได้ระบุถึงผู้ใด แต่ก็มิได้ถือเป็นการอนุญาตให้ใช้รถได้โดยปริยาย ทั้งการขับขี่รถบนท้องถนนสาธารณะนั้นจำต้องมีใบอนุญาตให้ขับขี่ด้วย จึงไม่น่ามีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยจะยินยอมให้ผู้ปราศจากใบขับขี่ใช้รถของตนได้อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย 

ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดชอบ

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Rogillio v. Cazedessus, 127 So. 2d 734 - La: Supreme Court 1961

โชคไม่ดีที่คดีนี้ ผู้ก่อเหตุยังเป็นผู้เยาว์อยู่

ตอนต่อไป ลองเปรียบเทียบกับคดีให้ยืมรถไปใช้ระหว่างซ่อมบ้างนะครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น