เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต
(ตอนที่สอง)
คดีศึกษาเรื่องที่สองเป็นกรณีที่มิสเตอร์เอ็มนำรถของตนเข้าซ่อมใหญ่
ณ อู่ของผู้เอาประกันภัย และเอ่ยปากร้องขอยืมรถของอู่ไปใช้ทดแทนจนกว่ารถของตนจะซ่อมเสร็จจากผู้จัดการดูแลแทนระหว่างที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของอู่ออกไปทำธุระข้างนอกพอดี
ผู้จัดการอู่ไม่ขัดข้องโดยยินยอมให้นำรถของอู่คันหนึ่งไปใช้ได้
ขณะที่มิสเตอร์เอ็มกำลังขับรถคันนั้นออกไปจากอู่ ได้สอบถามอีกครั้งหนึ่งว่า
รถคันนี้มีประกันภัยคุ้มครองอยู่หรือไม่? ได้รับคำตอบกลับมาว่ามี
จึงได้ขับรถคันนั้นออกไปด้วยความสบายใจ
ถัดมาไม่นาน มิสเตอร์เอ็มได้รับแจ้งจากอู่ว่า รถจะซ่อมเสร็จวันพรุ่งนี้แล้ว
มิสเตอร์เอ็มจึงมอบหมายให้ลูกชายของตนเป็นผู้ขับรถของอู่ไปคืน
พร้อมขับรถของตนคืนกลับมาด้วย
วันที่ไปรับรถอันเป็นวันที่เกิดเหตุด้วย
ลูกชายของมิสเตอร์เอ็มได้ขับรถของอู่ออกจากบ้านของตน
โดยระหว่างทางได้แวะรับเพื่อนซึ่งมีบ้านอยู่เส้นทางเดียวกับที่ตั้งของอู่นั้นด้วย
แต่โชคร้ายได้เกิดอุบัติเหตุไปชนกับรถคู่กรณีเสียก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง อันเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของลูกชายของมิสเตอร์เอ็มเอง
ครั้นทางอู่ได้รับแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จึงได้รายงานให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนเข้ามารับผิดชอบแทน แต่บริษัทประกันภัยนั้นกลับปฏิเสธภายหลังจากได้รับทราบเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดแล้ว
คู่กรณีได้นำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินให้คู่กรณีในฐานะโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี
บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อ
ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จำต้องพิจารณา คือ
1) ผู้จัดการอู่ซึ่งเป็นผู้ได้รับความยินยอมคนที่หนึ่งจากตัวผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะส่งมอบความยินยอมต่อไปให้แก่ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองได้หรือไม่? และ
2) ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองมีสิทธิที่จะส่งมอบความยินยอมต่อไปให้แก่บุคคลอื่น
ๆ ได้อีกหรือไม่?
จากพยานหลักฐานที่นำเสนอ ไม่ปรากฏผู้เอาประกันภัยได้ตั้งข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใดอย่างชัดแจ้งในเรื่องความยินยอมให้ใช้รถคันที่เกิดเหตุ
ทั้งผู้จัดการอู่ซึ่งเป็นผู้ได้รับความยินยอมคนแรกก็มิได้วางข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใดแก่มิสเตอร์เอ็มซึ่งเป็นผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองด้วย
ประกอบกับข้อความจริงในส่วนของมิสเตอร์เอ็มที่ได้ให้ความไว้วางใจและความยินยอมให้ลูกชายขับรถของตนได้โดยอิสระ
นอกจากนี้ การให้ยืมรถของอู่ไปนั้นเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจของผู้เอาประกันภัยในฐานะเจ้าของอู่นี้ด้วยเช่นกัน
รับฟังได้ว่า เป็นการให้ความยินยอมให้ใช้รถคันที่เอาประกันภัยคันนี้ของผู้เอาประกันภัยโดยปริยายแล้ว
บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองรถคันนี้จำต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับนี้
บริษัทประกันภัยรายนี้ได้ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ คดีนี้จึงเป็นอันสิ้นสุด
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Boudreaux v. Cagle Motors, 70 So. 2d
741 (La. Ct. App. 1954))
สรุป หากผู้เอาประกันภัยของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยมิได้กำหนดเงื่อนไขให้ความยินยอมนำรถคันนั้นไปใช้ได้อย่างชัดแจ้ง
ให้ถือว่า ผู้ได้รับความยินยอมคนที่หนึ่งมีสิทธิใช้รถคันนั้นได้โดยอิสระ
และสามารถส่งมอบสิทธินั้นต่อให้แก่บุคคลอื่นได้ โดยที่จะวางข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการใช้รถคันนั้นอย่างใดก็ได้
ประเด็นพิพาทที่น่าสนใจต่อไปของต่างประเทศ ได้แก่
ก) หากผู้เอาประกันภัยนั่งไปด้วย
และได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของผู้ที่ตนให้ความยินยอมไปนั้น
ผู้เอาประกันภัยจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองอยู่หรือไม่?
ข) ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขับขี่ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตร่างกาย
หรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอยู่อาศัยนั้น (The Family or Household Exclusion) แปลความหมายถึงใครบ้าง?
สำหรับข้อ ก) ช่วงแรก ศาลต่างประเทศบางแห่งตีความว่า ในการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย มุ่งประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลภายนอกอื่น มิใช่ตัวผู้เอาประกันภัยเอง ถึงแม้ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ขับขี่เองและมิใช่เป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ต่อมา ศาลหลายแห่งแปลความหมายให้รวมถึงตัวผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้ร่วมกระทำความผิดเข้าไปอยู่ในความหมายของบุคคลภายนอกอื่นด้วย
ส่วนข้อ ข) ได้มีการแปลความหมายแตกต่างกันตรงที่ว่า
ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย
คำว่า "เสมือนหนึ่ง" นั้นมิได้หมายความถึงเป็นเช่นเดียวกับตัวผู้เอาประกันภัยเองทุกรณี
ฉะนั้น ข้อยกเว้นเรื่องชีวิตร่างกาย
หรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอยู่อาศัยนั้น
มุ่งเน้นไปที่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น
กล่าวคือ ไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะขับขี่เอง หรือให้บุคคลอื่นขับขี่แทน ถ้าไปสร้างความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัย
ล้วนให้ผลเช่นเดียวกันทั้งหมด คือ ตกอยู่ในข้อยกเว้นทั้งสิ้น
ขณะที่ศาลบางแห่งกลับแปลความหมายให้ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นตกอยู่ในสถานะของผู้เอาประกันภัยช่วงเวลานั้น
ดังนั้น ข้อยกเว้นเรื่องชีวิตร่างกาย
หรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอยู่อาศัยนั้นจึงควรจำกัดความหมายถึงเฉพาะบุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลภายในครอบครัวหรือที่พักอาศัยอยู่กับผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นเอง
ตอนต่อไป เราจะมาพิจารณากันถึงการแปลความหมายของเงื่อนไขดังกล่าวในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเรากันบ้างนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น