วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบกันแน่?  


(ตอนที่สาม)

ในการพิจารณาหาคำตอบสำหรับคำถามที่ทิ้งไว้นั้น จำต้องไปพิจารณาบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในมาตรา 3 และมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.. 2522 ดังนี้

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
…………………………..
"บริการ" หมายความว่า การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิใด ๆ หรือการให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน
………………………….
"ผู้บริโภค" หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
"ผู้ประกอบธุรกิจ" หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการและหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย

มาตรา 4   ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้
………………………..
(2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ

ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้ห้างสรรพสินค้า ให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตร เศษของ 20 ตารางเมตร ให้คิดเป็น 20 ตารางเมตร และศูนย์การค้าจัดเป็นอาคารขนาดใหญ่ ให้มีที่จอดรถยนต์ตามจำนวนที่กำหนดของแต่ละประเภทของอาคารที่ใช้เป็นที่ประกอบกิจการในอาคารขนาดใหญ่นั้นรวมกัน หรือให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่อาคาร 120 ตารางเมตร เศษของ 120 ตารางเมตร ให้คิดเป็น 120 ตารางเมตร

ฉะนั้น ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้าในฐานะเป็นผู้ให้บริการมีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้มีที่จอดรถแก่ผู้บริโภค

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553 จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอด ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้องของจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์การค้าโดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์การค้าให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อทำการค้า และจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่อความสะดวกของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่มาใช้บริการ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นว่าย่อมต้องให้ความสำคัญในด้านบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและการใช้สถานที่ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการในเรื่องของที่จอดรถซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าว่าจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจัยข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจกบัตรจอดรถ ไม่เรียกเก็บค่าบริการจอดรถ บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ก็สามารถนำรถเข้าจอดได้ ไม่ต้องฝากกุญแจรถไว้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อที่จอดรถเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการประกอบกิจการศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่เป็นผู้ประกอบกิจการศูนย์การค้าขนาดใหญ่จึงต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเองในระหว่างที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ ภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1

ฉะนั้น คำว่า “ลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ ณ สถานที่แห่งนั้น” สามารถให้คำตอบได้ ดังนี้

ก) หมายความถึงเฉพาะลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้าเท่านั้น

ไม่จำกัดอยู่เพียงลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ โดยรวมถึงเป็นบุคคลทั่วไปด้วย

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561 ข้างต้น

ข) หมายความรวมถึงลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย

ถูกต้อง

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2561 ห้างสรรพสินค้าของจำเลยแบ่งพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าให้ธนาคาร ธ. เช่าประกอบกิจการธนาคารเพื่อเป็นการจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ถือได้ว่าผู้เสียหายที่เข้าไปใช้บริการธนาคาร ธ. เป็นลูกค้าที่มาใช้บริการของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย

ค) หมายความรวมถึงพนักงานของศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย

ไม่รวม

โดยเทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560 ข้างล่าง ประกอบกับสัญญาจ้างเหมารักษาความปลอดภัยโดยทั่วไปกำหนดขอบเขตเพียงให้ผู้รับจ้าง (บริษัทรักษาความปลอดภัย) จะดำเนินการสอดส่องตรวจตราและสังเกตุการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้าง (ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า) ในสถานที่ให้บริการให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการกำหนดและดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและทำการช่วยเหลือในการป้องกันและหรือระงับการโจรกรรมที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ให้บริการเท่านั้น มิได้ครอบคลุมไปถึงของลูกจ้างของตนเองด้วย

ง) หมายความรวมถึงพนักงานของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย

ไม่รวม

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560 การที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 และร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เพราะการมีบริการที่จอดรถนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังว่าจ้างจำเลยที่ 2 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเดินตรวจตราบริเวณที่จอดรถอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกค้า และการกระทำที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 1 ต้องดูแลความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำไปจอดในที่จอดรถ แต่จำเลยที่ 1 หาได้มีหน้าที่ดังกล่าวสำหรับรถยนต์ของบุคคลที่มิใช่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีความสัมพันธ์อันใดกับบุคคลนั้น การจะถือว่าผู้ใดเป็นลูกค้า ต้องพิจำรณาถึงว่าบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 หรือเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของผู้เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 มิฉะนั้น จำเลยที่ 1 ก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลที่นำรถยนต์เข้าไปจอดในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 แล้วรถยนต์สูญหายไปเสียทั้งหมด ทั้งที่บุคคลนั้นมิได้เป็นลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1

จ) หมายความรวมถึงผู้ที่มิใช่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการก็ได้

ถูกต้อง เพราะผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือใช้บริการ

ดั่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2561 การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถ ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า

เหล่านี้เป็นตัวอย่างกรณีของรถหายที่เกิดขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า อย่างไรก็ดี โปรดพึงระลึกว่า หากไปเกิดเหตุ ณ สถานที่แห่งอื่น แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาอาจมิได้เป็นเช่นนี้ก็ได้

เนื่องจากรับทราบมาว่า จะมีการปรับปรุงคู่มือการตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของบ้านเราใหม่ และบังเอิญไปพบตัวอย่างคำพิพากษาศาลต่างประเทศที่น่าสนใจ เผื่ออาจเป็นข้อมูลเสริม จึงขอยังคงอยู่ในเรื่องของการประกันภัยรถยนต์ต่อไปนะครับ ในประเด็นเรื่อง การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น