วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 109: รถหายในห้างสรรพสินค้า ใครรับผิดชอบกันแน่?  


(ตอนที่สอง)

สองช่วงยุคนั้น สถานที่จอดรถยอดฮิตเป็นปั๊มน้ำมัน ครั้นความเจริญถูกพัฒนาเข้ามาแทนที่ กอปรกับที่ดินแพงขึ้น ปั๊มน้ำมันในเมืองหดหายลดน้อยลงไป ถูกทดแทนที่ด้วยตึกสูง ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คดีรถหายจึงถูกโยกย้ายมาอยู่ในฉากสถานที่ดังกล่าวแทน ซึ่งสามารถรองรับสารพัดรถได้จำนวนมากขึ้น พร้อมกรรมวิธีการบริหารจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ถูกปรับเปลี่ยนไป ส่งผลทำให้แนวทางกฎหมายในการต่อสู้คดีก็ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบตามไปด้วยให้สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ดี บทความนี้จะขอเพียงกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าเท่านั้น ส่วนสถานที่แห่งอื่นนั้นจะขอเป็นในโอกาสคราวต่อไป

3. ช่วงปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา

บริษัทประกันภัยผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าของรถมาฟ้องศูนย์การค้าเป็นจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้รับฝากทรัพย์รถคันที่สูญหายไปนั้นมิได้ เพราะไม่มีการส่งมอบรถยนต์คันนั้นให้แก่จำเลย ทั้งจำเลยก็มิได้ตกลงจะรักษารถยนต์คันดังกล่าวไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้ภายหลัง ถึงแม้มีการควบคุมการเข้าออกอาศัยบัตรผ่าน และมีการเรียกเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม โดยที่ผู้ใช้บริการขับรถเข้าไปหาที่จอดได้เองโดยอิสระ ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องรับผิดในการที่รถยนต์คันนั้นซึ่งนำมาจอดในที่ดินบริเวณนั้นได้สูญหายไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1685/2529)

เจ้าของรถเป็นโจทก์ฟ้องศูนย์การค้ากับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นจำเลยให้ร่วมกันรับผิดในความผิดฐานละเมิด ด้วยการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถอย่างเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ จนเป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป แม้จำเลยต่อสู้ว่า ผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถเอง ดูแลปิดประตูรถและเก็บกุญแจรถไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรนั้นมีข้อความว่า หากมีการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นทุกกรณี ผู้ครอบครองรถคันนั้นต้องรับผิดชอบเองทุกประการ และเป็นการให้บริการให้เช่าที่จอดรถก็ตาม เพราะโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5398/2538)

จากนี้ไป กรณีรถหาย ผู้เสียหายมักอาศัยอ้างอิงฐานความผิดเรื่องละเมิดเป็นเกณฑ์ในการฟ้องร้องคดีแทน เพราะค่อนข้างกว้างและครอบคลุมมากกว่าเรื่องการรับฝากทรัพย์ หรือการให้เช่าที่จอดรถ แต่ทั้งนี้จะต้องสามารถพิสูจน์ให้รับฟังได้ว่า ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือการจงใจของผู้กระทำละเมิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2549)

การกระทำละเมิดหมายความรวมถึง การที่คนร้ายลักรถยนต์โดยขับรถฝ่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าออกไปด้วยความเร็วและไม่คืนบัตรจอดรถให้ แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยนั้นกลับไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อแจ้งเหตุหรือสกัดจับ เพียงรอกระทั่งโจทก์ผู้ครอบครองรถคันนั้นกลับมาจึงค่อยแจ้งให้ทราบ การกระทำดังกล่าวของพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าจำเลย จึงเป็นละเมิด และจำต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถยนต์ดังกล่าวด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11605/2553)

ต่อมาได้มีการอ้างอิง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกับฐานความผิดเรื่องละเมิดเข้าไปด้วย ซึ่งบัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ทั้งยังนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ ณ สถานที่แห่งนั้นด้วย แต่จะต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยกับบริษัทรักษาความปลอดภัยจำเลยร่วมเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวรจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างสรรพสินค้า ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556, 2123/2558, 6616/2558, 2123/2559, 6099/2560)

หลังจากนั้น ทางห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้าจำเลยบางแห่งได้แก้เกม โดยนำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมมาอ้างอิงให้น้ำหนักว่า เป็นสัญญาว่าจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบริเวณห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ศาลฎีกาไม่รับฟัง กลับเห็นว่า สัญญาจ้างทำของนั้นมุ่งเน้นที่ผลสำเร็จ ซึ่งคือความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้าตลอดจนถึงของลูกค้าด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2557)

อย่างไรก็ดี บางแห่งประสบความสำเร็จจนทำให้ศาลฎีการับฟังว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุจะต้องหาสถานที่จอดเอง เก็บกุญแจรถไว้เอง และจะต้องดูแลรถกับทรัพย์สินภายในรถเอง โดยไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการในการนำรถเข้าจอด ดังนั้น ความครอบครองในรถยังคงอยู่กับเจ้าของรถหรือผู้ที่นำรถเข้ามาจอด จำเลยจึงไม่ใช่ผู้รับฝากรถและไม่ได้รับประโยชน์อันเนื่องจากการที่มีผู้นำรถเข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับประโยชน์จากผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าและการบริการซึ่งเป็นปกติทางการค้าเท่านั้น อนึ่ง พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมไม่ได้กระทำประมาทปราศจากความระมัดระวังปล่อยให้คนร้ายลักรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปโดยไม่ตรวจสอบบัตรอนุญาตจอดรถให้ถูกต้อง และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ระมัดระวังดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับรถที่มีผู้นำมาจอดในห้างสรรพสินค้าของจำเลยตามสมควรแล้ว ดังนั้น การที่รถสูญหายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นกระทำของจำเลยและจำเลยร่วม ด้วยเหตุนี้ จำเลยและจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2557)

แล้วคำว่า “ลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ ณ สถานที่แห่งนั้น” กินความถึงขนาดไหน?

ก) หมายความถึงเฉพาะลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของศูนย์การค้า/ห้าง สรรพสินค้าเท่านั้น
ข) หมายความรวมถึงลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย
ค) หมายความรวมถึงพนักงานของศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย
ง) หมายความรวมถึงพนักงานของร้านค้าต่าง ๆ ณ ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้านั้นด้วย
จ) หมายความรวมถึงผู้ที่มิใช่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการก็ได้

คำตอบข้อใดถูกต้องบ้างครับ? สัปดาห์หน้าเจอกันนะครับ

บริการ

-     - รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     - รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น