วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำ...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำ...: เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำเสนอดีไหมหนอ ? (ตอนที่หนึ่ง) ตามที่จั่วหัวไว้ หลายท่านอาจสงสัยทำไมผมลังเลไม่อย...
เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำเสนอดีไหมหนอ?
(ตอนที่หนึ่ง)
ตามที่จั่วหัวไว้ หลายท่านอาจสงสัยทำไมผมลังเลไม่อยากจะนำมาเล่า
จะบอกเหตุผลให้รับฟังตอนท้าย ลองดูเรื่องกันก่อนก็แล้วกันนะครับว่าเป็นเรื่องอะไร?
ผมขอตั้งชื่อเรื่องว่า “เหตุเกิดบนรถแท็กซี่”
ในแง่การพิจารณารับประกันภัยรถยนต์
ไม่ใคร่มีใครสนใจอยากจะรับประกันภัยรถแท็กซี่กันมากนัก เพราะส่วนใหญ่มองว่า
มีความเสี่ยงภัยสูง รถแท็กซี่ถูกวิ่งใช้งานทั้งวันทั้งคืน แทบไม่มีเวลาหยุดพัก เรียกได้เป็นการลงทุนที่ต้องใช้ให้คุ้มค่าจริง
ๆ
เคยสอบถามคนชับรถแท็กซี่ บางคนชอบขับช่วงกะเวลากลางวัน
แม้การจราจรค่อนข้างติดขัดกว่า แต่ทัศนวิสัยการมองเห็นจะดีกว่า
โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุดูจะน้อยกว่า เมื่อเทียบกับขับช่วงกะกลางคืน การจราจรค่อนข้างโล่ง
รถขับกันเร็ว ทัศนวิสัยการมองเห็นไม่ดีเท่า โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุจะสูงกว่า
รุนแรงกว่า เพราะบ่อยครั้งผู้ชับขี่รถร่วมทางอาจไม่อยู่ในสภาพร่างกายปกตินัก
อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นแก่รถแท็กซี่ช่วงกะกลางคืน
นอกเหนือจากการชน การเสียหลักพลิกคว่ำ หรือการถูกจี้ปล้นแล้ว คุณคิดว่า
จะมีอะไรได้อีกบ้าง?
จะเหมือนรถแท็กซี่คันนี้ได้บ้างไหม?
ระหว่างตะเวณหาผู้โดยสารช่วงกลางดึกคืนวันหนึ่ง
เมื่อมองเห็นชายคนหนึ่งแต่งกายค่อนข้างดียืนโบกเรียก คนขับแท็กซี่รีบโฉบเข้าไปหาทันที
ชายคนนั้นแจ้งจุดหมายปลายทางและเข้ามานั่งในรถทันที ดูจากสภาพร่างกายที่ตาเริ่มปรือ
ตัวโอนไปเอียงมาบ้าง และกลิ่นเหล้าหึ่ง แต่ก็พอคุยกันรู้เรื่อง
น่าจะมีสตังค์จ่ายค่ารถได้ ทั้งระยะทางไม่ไกลมากนัก
ระหว่างทาง ชายคนนี้หลับตลอด จู่ ๆ
คนขับรถแท็กซี่ก็ได้ยินแปลก ๆ ดังเบา ๆ และกลิ่นเริ่มโชยตามมาจากเบาะหลัง
“อ้าว
พี่ฉี่ใส่รถผมหรือนี่” คนขับรถอุทานออกมาอย่างหงุดหงิด “ซวยฉิบเป๋งเลยคืนนี้”
เมื่อรถถึงจุดหมาย และปลุกผู้โดยสารให้รู้สึกตัว
ผู้โดยสารได้แต่ร้องขอโทษ ไม่รู้ตัวเองว่า ปล่อยฉี่ออกมาได้ยังไง ตอนไหน? เอายังงี้แล้วกัน
ค่ารถหกสิบ ผมให้แบ้งค์ร้อย ไม่ต้องทอนก็แล้วกันนะ
คนขับรถแท็กซี่คันนี้จำต้องตัดใจกัดฟันจากมา ถือว่า เป็นคราวซวยของตนก็แล้วกัน
คืนนั้น เลยต้องหยุดรับผู้โดยสารกลางคัน
นำรถเข้าอู่ รื้อเบาะ นำพรมปูพื้นออก เพื่อชำระล้างทำความสะอาดอย่างยกใหญ่
พร้อมฉีดน้ำหอมกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ไปอีกหลายกระป๋อง เสียเวลา เสียแรง เสียรายได้
และเสียเงินค่าทำความสะอาดอีกหลายสตังค์ จะไปเรียกร้องจากใครได้บ้างกันนี่?
ครั้นนึกมาได้
รถคันนี้ทำประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่งอยู่นี่นา ค่าเสียเวลา เสียแรง เสียรายได้
ไม่น่าจะเคลมประกันภัยได้อยู่แล้ว แต่ค่าทำความสะอาดซึ่งเป็นเงินมากโข
(สำหรับคนขับรถ) น่าจะเรียกร้องได้หรอกน่ะ
คำถาม คุณคิดว่า
คนขับรถแท็กซี่คันนี้ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะสามารถเรียกร้องค่าทำความสะอาดดังกล่าวได้หรือไม่?
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า
รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัยนี้ได้รับความเสียหายต่อตัวรถตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
ประเภทหนึ่งหรือไม่ครับ?
สัปดาห์หน้าค่อยมาคุยกันต่อ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 103: บทเรียนนายหน้าประกันวินาศภัยคุณรู้จ...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 103: บทเรียนนายหน้าประกันวินาศภัยคุณรู้จ...: เรื่องที่ 103: บทเรียนนายหน้าประกันวินาศภัย คุณรู้จักลูกค้าดีแค่ไหน? มีลูกค้ารายหนึ่งของนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่ง ซึ่งได้มอบหมาย...
เรื่องที่ 103: บทเรียนนายหน้าประกันวินาศภัย
คุณรู้จักลูกค้าดีแค่ไหน?
มีลูกค้ารายหนึ่งของนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่ง
ซึ่งได้มอบหมายความไว้วางใจให้จัดทำประกันภัยคุ้มครองบ้านของตนเองมาด้วยดีโดยตลอดระยะเวลาหลายปี
ครั้นปี ค.ศ. 1998 ลูกค้ารายนี้ได้สร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาอีกหลังหนึ่ง
จึงได้โทรศัพท์แจ้งนายหน้าประกันวินาศภัยของตนเพื่อให้ช่วยแจ้งต่อบริษัทประกันภัยเดิมถึงการเพิ่มเติมรายการบ้านหลังใหม่กับทรัพย์สินที่อยู่ภายใน
พร้อมเพิ่มเติมสถานที่ตั้งแห่งใหม่ของบ้านหลังนี้รวมเข้าไปอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับปัจจุบันที่มีผลบังคับอยู่แล้ว
ตนจะได้ไม่ต้องถือกรมธรรม์ประกันภัยไว้หลายฉบับ
นายหน้าประกันวินาศภัยเจ้านี้ได้รีบดำเนินการส่งข้อมูลดังกล่าวตามความประสงค์ของลูกค้าให้แก่บริษัทประกันภัย
และได้จัดการต่ออายุความคุ้มครองเวลาเมื่อครบอายุระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปีตามปกติเรื่อยมาในช่วงปี
ค.ศ. 1989 และ ค.ศ. 1990 ตามลำดับ
ระหว่างระยะเวลาประกันภัยช่วงปี
ค.ศ. 1990 โชคร้ายได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นที่บ้านหลังใหม่ของลูกค้ารายนี้
โดยสร้างความเสียหายอย่างสิ้นเชิงทั้งแก่ตัวบ้านกับทรัพย์สินที่อยู่ภายในซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น
เมื่อบริษัทประกันภัยส่งพนักงานสินไหมทดแทนเข้าไปสำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น
ก็ได้พบว่า ลักษณะของบ้านหลังใหม่นี้มีหลังคามุงจาก จัดอยู่ในลักษณะลำดับชั้นของสิ่งปลูกสร้างที่สาม
อันมีความเสี่ยงภัยสูงสุดและอัตราเบี้ยประกันภัยแพงที่สุดเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากบ้านหลังเดิมที่เป็นคอนกรีตล้วน จัดอยู่ในลำดับชั้นของสิ่งปลูกสร้างที่หนึ่ง
อันมีความเสี่ยงภัยต่ำที่สุดและอัตราเบี้ยประกันภัยถูกที่สุด ฉะนั้น
บริษัทประกันภัยจึงพิจารณาขอใช้สิทธิตามกฎหมายเรื่องการปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญด้วยการจะบอกล้างสัญญาประกันภัยฉบับนี้ให้ตกเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ดี ผลการเจรจาต่อรองระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเป็นไปด้วยดี
โดยที่บริษัทประกันภัยตกลงจะชดใช้สินไหมกรุณา (ex
gratia payment) ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนเงิน 30,000 แรนด์แอฟริกาใต้ หรือ 47.50% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 63,147 แรนด์แอฟริกาใต้ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 แรนด์แอฟริกาใต้เทียบเท่ากับ 2.21 บาท) ของรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนี้
(พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม)
พ.ศ. 2560 ฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายของ ex
gratia payment การชดใช้สินไหมกรุณา คือ เงินที่ผู้รับประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เรียกร้องค่าเสียหาย
แม้จะมีความเห็นว่า ไม่ต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม)
กระนั้นก็ตาม ลูกค้ารายนี้ยังคงเดินหน้ายื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้นายหน้าประกันวินาศภัยของตนชดใช้จำนวนเงินส่วนที่ขาดอยู่อีก
33,147 แรนด์แอฟริกาใต้ โทษฐานที่มิได้สอบถามรายละเอียดถึงชั้นของสิ่งปลูกสร้างของบ้านหลังใหม่
ศาลชั้นต้นรับฟังคำให้การพร้อมหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว
มีความเห็นเอนเอียงไปทางฝ่ายจำเลย คือ นายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งให้การว่า ตามหลักกฎหมายแล้ว
กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่แถลงข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเก็บเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก เมื่อได้รับทราบ
แต่กรณีนี้ เมื่อผู้ขอเอาประกันภัยมิได้บอกกล่าวรายละเอียดลักษณะของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวต่อนายหน้าประกันวินาศภัยเลย
ครั้นเมื่อได้รับข้อมูลเพียงแค่นั้น หน้าที่ของนายหน้าประกันวินาศภัยก็เพียงนำส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้แก่ผู้รับประกันภัยตามความประสงค์ของผู้ขอเอาประกันภัยเท่านั้น ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้นายหน้าประกันวินาศภัยเจ้านี้ไม่จำต้องรับผิดต่อลูกค้ารายนี้
ลูกค้ารายนี้ในฐานะโจทก์ไม่ละความพยายาม ด้วยการยื่นร้องขออุทธรณ์ต่อ
ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า
ตามหลักกฎหมายแล้ว นายหน้าประกันวินาศภัยเจ้านี้ถือเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ขอเอาประกันภัยให้กระทำการแทนตน
ประกอบกับนายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจำเพาะ โดยมีกฎหมายเฉพาะของการประกันภัยกำหนดให้มีหน้าที่พิเศษเพิ่มเติมในการชี้ช่องหรือการจัดการในการทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยแทนผู้ขอเอาประกันภัยด้วย
ตัวผู้ขอเอาประกันภัยอาจไม่ทราบถึงลักษณะชั้นของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่ในฐานะนายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจำเพาะนี้
คงไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของข้อมูลดังกล่าวได้ เมื่อหน้าที่ของนายหน้าประกันวินาศภัยต้องชี้ช่อง
หรือจัดการให้ผู้ขอเอาประกันภัยได้ทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยจนเกิดผลสำเร็จตามความประสงค์ของผู้ขอเอาประกันภัยนั้น
ด้วยการใช้ความระมัดระวังอันสมควรตามวิชาชีพของตน นายหน้าประกันวินาศภัยจำต้องพยายามกระทำการโดยการสอบถามข้อมูลที่สำคัญจากผู้ขอเอาประกันภัยนั้นให้มากที่สุดเพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จในการทำให้ผู้ขอเอาประกันภัยนั้นได้รับความคุ้มครองอย่างถูกต้องครบถ้วนโดยปราศจากปัญหาภายหลัง
แต่หากไม่สามารถกระทำการได้ตามความประสงค์แล้วจะต้องรีบแจ้งต่อผู้ขอเอาประกันภัยนั้นให้รับทราบทันที
โดยอาจเสนอทางเลือกไปจัดทำกับผู้รับประกันภัยรายอื่น
หรือท้ายที่สุดอาจจำต้องยอมรับตามเงื่อนไขของผู้รับประกันภัยก็ได้
สำหรับคดีนี้
เมื่อนายหน้าประกันวินาศภัยจำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่มีต่อลูกค้า คือ
ฝ่ายโจทก์ ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดแก่โจทก์ดังคำร้องขอ
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
Stander v Raubenheimer 1996 SA 670 O)
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างคดีศึกษาหลาย ๆ คดีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
ซึ่งจะพยายามคัดเลือกมานำเสนอเป็นข้อมูลต่อไป แต่จะทำยังไงให้คนกลางประกันภัยบ้านเรามีความตระหนักและความตื่นตัวมากกว่านี้?
คงขอเรียนฝากท่านที่เกี่ยวข้องทั้งหลายด้วยนะครับ
เรื่องต่อไป ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำเสนอดีไหมหนอ?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง(มาก) ของผู้เอาประกัน...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง(มาก) ของผู้เอาประกัน...: เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง (มาก) ของผู้เอาประกันภัยกับตัวแทนประกันวินาศภัย (ตอนที่สอง) บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับคำตัดสินของศา...
เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง
(มาก) ของผู้เอาประกันภัยกับตัวแทนประกันวินาศภัย
(ตอนที่สอง)
บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้
และได้ยื่นฎีกาต่อ แต่เนื่องด้วยคดีนี้เกิดขึ้นที่บาฮามาส
ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ จำต้องส่งมาให้คณะกรรมการตุลาการของคณะองคมนตรี
(The Judicial
Committee of the Privy Council) ณ ประเทศอังกฤษทำหน้าที่ศาลสูงสุดในการพิจารณาตัดสินแทน
คณะกรรมการตุลาการได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1) ตัวอาคารหลังนั้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
คณะกรรมการตุลาการเห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ว่า
ตัวอาคารหลังดังกล่าวมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของงานตามสัญญาว่าจ้างดังที่ระบุไว้
แต่เป็นทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว (Prinicipal’s
Existing Property) ซึ่งงานตามสัญญาว่าจ้างได้กระทำไปบนตัวอาคารหลังนั้นเอง
ไฟไหม้ที่สร้างความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงต่อตัวอาคารหลังนั้น
มิได้สร้างความเสียหายแก่งานตามสัญญาว่าจ้างซึ่งเพิ่มเริ่มลงมือทำไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้เอาประกันภัยเพียงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของตัวอาคารหลังนั้น
ซึ่งมิใช่เป็นทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว
2) จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้นั้นถือเป็นมูลค่าที่ตกลงเป็นเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ
(Agreed Value) หรือไม่?
คณะกรรมการตุลาการไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาโดยอาศัยพยานแวดล้อมเรื่องตัวเลขของจำนวนเงินเอาประกันภัย
700,000 ดอลล่าร์บาฮามาส (หรือประมาณยี่สิบสองล้านบาท) เป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียวว่า
ค่อนข้างสูงกว่ามูลค่างานตามสัญญาว่าจ้างที่ควรจะเป็นมากนัก
เพราะในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุผู้ว่าจ้างเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียวเท่านั้น
เนื่องจากผู้ว่าจ้างประสงค์ว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อยกับคนงานเข้ามาทำงานภายใต้การควบคุมดูแลของตนเอง
โดยมิได้จัดทำสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแต่ประการใด และตัวเลขดังกล่าวก็มิได้แสดงที่มาของการกำหนดขึ้นมาอีกด้วย
แต่หากเมื่อได้มาพิจารณาถึงถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แล้ว
มูลค่างานนั้นสามารถคำนวณเบื้องต้นจากผลต่างระหว่างมูลค่าของตัวอาคารก่อนกับภายหลังที่ได้ดำเนินงานจนเสร็จสิ้นไปแล้ว
และตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ระบุให้มูลค่าเต็มของงานตามสัญญาว่าจ้างเมื่อได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วเป็นเกณฑ์
อันสอดคล้องกับเงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง ทั้งยังกำหนดให้ได้รับการชดใช้น้อยลงตามส่วน
หากปรากฏจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงด้วย
ดังนั้น
เป็นที่ชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่ประสงค์จะให้กำหนดมูลค่างานตามสัญญาว่าจ้างที่จะเอาประกันภัยเป็นมูลค่าที่ตกลงกันแต่ประการใด
จากการพิจารณาทั้งสองประเด็นแล้ว
คณะกรรมการตุลาการจึงได้ตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
ให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดในคดีนี้
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Sun Alliance Ltd v Scandi Enterprises Ltd [2017] UKPC 10)
บทสรุป
ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมครับว่า
ทางผู้เอาประกันภัยจะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากตัวแทนประกันวินาศภัยรายนี้หรือไม่
อย่างไร? ถ้าถามในแง่กฎหมายแล้ว ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้
สันนิษฐานว่า ตัวแทนฯ รายนี้อาจไม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจในกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ดีพอ
ดังที่ศาลท่านให้ความเห็น
ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนแล้ว
อนึ่ง หากประสงค์จะให้คุ้มครองรวมไปถึงทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว
(Prinicipal’s Existing Property)
ก็สามารถกระทำได้โดยอาศัยข้อตกลงพิเศษเพิ่มเติมเป็นเอกสารแนบท้ายซึ่งเรียกว่า
“เงื่อนไขพิเศษ (Special Clauses)” ซึ่งตัวแทนฯ หรือนายหน้าฯ
ที่ไม่คุ้นเคยอาจไม่ทราบว่า สามารถขยายได้ และไม่ทราบว่า เงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ
มีอะไรบ้าง? เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ที่บริษัทประกันภัย
บางท่านอาจมีคำถามในใจว่า
แล้วทำไม บริษัทประกันภัยถึงไม่แนะนำให้? ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน เอาเป็นว่า
พยายามพูดคุยกันให้ชัดเจนมากกว่านี้ก็แล้วกันนะครับ
เวลาบรรยายให้ความรู้แก่คนกลางประกันภัย
หรือบางครั้งที่มีโอกาส ผมพยายามย้ำเสมอว่า ถ้าคนกลางประกันภัยรายใดเข้าใจว่า
ตนไม่จำต้องมีความรับผิดใด ๆ เกิดขึ้น เพราะเพียงทำหน้าที่เป็นคนกลางรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ขอเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเท่านั้น
กรุณาเปลี่ยนความคิดได้แล้วนะครับ แม้บ้านเราอาจยังไม่เกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา แต่ในอนาคต
ใครจะรับประกันได้?
ลองดูเรื่องต่อไปเป็นอุทธาหรณ์นะครับ
บทเรียนนายหน้าประกันวินาศภัย
คุณรู้จักลูกค้าดีแค่ไหน?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง(มาก) ของผู้เอาประกัน...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง(มาก) ของผู้เอาประกัน...: เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง (มาก) ของผู้เอาประกันภัยกับตัวแทนประกันวินาศภัย (ตอนที่หนึ่ง) นักลงทุนรายหนึ่งได้ไปซื้ออาคารอะพาร...
เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง
(มาก) ของผู้เอาประกันภัยกับตัวแทนประกันวินาศภัย
(ตอนที่หนึ่ง)
นักลงทุนรายหนึ่งได้ไปซื้ออาคารอะพาร์ตเมนต์เก่าปล่อยทิ้งร้างทรุดโทรมหลังหนึ่งมา
โดยวางแผนที่จะทำการปรับปรุงใหม่ให้เป็นอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าจำนวน 12 ห้อง และได้ไปปรึกษาหารือกับตัวแทนประกันวินาศภัยเรื่องการจัดทำประกันภัยคุ้มครองอาคารหลังนั้น
ซึ่งบริษัทประกันภัยต้นสังกัดของตัวแทนรายนั้นปฏิเสธไม่รับประกันภัยอาคารที่ถูกทิ้งร้างโดยปราศจากผู้อยู่อาศัย
หรือผู้ดูแล
ฉะนั้น ตัวแทนประกันวินาศภัยดังกล่าวจึงเสนอแนะทางเลือกที่สองให้จัดทำเป็นประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง
(Contractor’s All Risks Insurance) หรือชื่อทางการเรียกว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract
Works Insurance Policy)” แทนก็แล้วกัน
ในจำนวนเงินเอาประกันภัย 700,000 ดอลล่าร์บาฮามาส
นักลงทุนรายนี้เห็นดีด้วยเนื่องจากเข้าใจว่า การประกันภัยนี้จะให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งงานก่อสร้างปรับปรุงกับตัวอาคารหลังนั้นโดยอัตโนมัติ
โดยเฉพาะกรณีนี้ที่เรียกได้ว่า ถือเป็นการก่อสร้างปรับปรุงอาคารทั้งหลังแทบทุกจุดเลยก็ว่าได้
ครั้นงานก่อสร้างปรับปรุงนั้นเริ่มต้นไปได้เพียงบางส่วน
ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นมาสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ตัวอาคารหลังนั้น
ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายของตัวอาคารหลังนั้นจากบริษัทประกันภัยดังกล่าว
เชื่อว่า
หลายท่านคงพอเดาได้ว่า บริษัทประกันภัยไม่อาจคุ้มครองให้ได้ อันนำไปสู่คดีฟ้องร้องต่อศาลในท้ายที่สุด
โดยมีประเด็นข้อพิพาทสองประเด็นที่ศาลชั้นต้นจำต้องพิจารณา ได้แก่
1) ตัวอาคารหลังนั้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
2) จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้นั้นถือเป็นมูลค่าที่ตกลงเป็นเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ
(Agreed Value) หรือไม่?
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำเสนอแล้ว
มีความเห็นดังนี้
1) ตัวอาคารหลังนั้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
ปกติ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างมีรูปแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน
คือ กำหนดทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เป็นงานตามสัญญาว่าจ้างที่ตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง
(ผู้รับเหมา) อันประกอบด้วยงานถาวรกับงานชั่วคราวเพื่อทำการก่อสร้างให้ได้งานตามสัญญานั้นบังเกิดขึ้นมา
และสามารถส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างได้เมื่อเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยระบุให้ทั้งผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกันในกรมธรรม์ประกันภัย
ภายใต้สัญญาว่าจ้างฉบับนี้
กำหนดให้ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างใหม่บางส่วน ปรับปรุงและตกแต่งให้ตัวอาคารทั้งหลังนั้นให้ดูมั่นคงสวยงามเสมือนใหม่
เช่นนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตัวอาคารหลังนั้นเป็นทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว
เพียงแต่จะได้รับการปรับปรุงตกแต่งและสร้างใหม่เพิ่มเติมบางส่วนให้แลดูสวยงามแข็งแรงเท่านั้น
ตัวอาคารหลังนั้นจึงมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้ตามสัญญาว่าจ้างนี้แต่ประการใด
และโดยมีผู้ว่าจ้างถูกระบุเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงคนเดียวเท่านั้น
ขณะเกิดไฟไหม้
ผู้รับเหมาเพิ่งลงมือทำการปรับปรุงไปเพียงบางส่วนในสองห้องจากจำนวนทั้งหมด 12 ห้อง
พร้อมทำงานเกี่ยวกับสายไฟกับท่อน้ำไปได้เล็กน้อยเท่านั้น สามารถคำนวณมูลค่างานทำไปได้ไม่ถึงครึ่งหมื่น
ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าความเสียหายจากไฟไหม้ที่เกิดขึ้นแก่ตัวอาคารหลังนั้น
ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองรวมถึงตัวอาคารดังกล่าวด้วย
บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างในกรณีนี้
ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างยื่นอุทธรณ์ต่อ
ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดด้วยเหตุผลเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์แรกเริ่มของผู้ว่าจ้างที่ประสงค์จะให้คุ้มครองแก่ตัวอาคารดังกล่าว
ประกอบกับจำนวนเงินเอาประกันภัย 700,000 ดอลล่าร์บาฮามาสที่ดูค่อนข้างสูงสำหรับมูลค่างาน น่าเชื่อว่า
ตัวเลขนี้แสดงถึงมูลค่าตัวอาคารดังกล่าวมากกว่า
ถึงตรงนี้ คุณคิดว่ายังไงบ้างครับ?
คดีนี้ควรจะจบลงเพียงเท่านี้ไหม?
สัปดาห์หน้า ค่อยคุยกันต่อครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)