เรื่องที่ 103: บทเรียนนายหน้าประกันวินาศภัย
คุณรู้จักลูกค้าดีแค่ไหน?
มีลูกค้ารายหนึ่งของนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่ง
ซึ่งได้มอบหมายความไว้วางใจให้จัดทำประกันภัยคุ้มครองบ้านของตนเองมาด้วยดีโดยตลอดระยะเวลาหลายปี
ครั้นปี ค.ศ. 1998 ลูกค้ารายนี้ได้สร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาอีกหลังหนึ่ง
จึงได้โทรศัพท์แจ้งนายหน้าประกันวินาศภัยของตนเพื่อให้ช่วยแจ้งต่อบริษัทประกันภัยเดิมถึงการเพิ่มเติมรายการบ้านหลังใหม่กับทรัพย์สินที่อยู่ภายใน
พร้อมเพิ่มเติมสถานที่ตั้งแห่งใหม่ของบ้านหลังนี้รวมเข้าไปอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับปัจจุบันที่มีผลบังคับอยู่แล้ว
ตนจะได้ไม่ต้องถือกรมธรรม์ประกันภัยไว้หลายฉบับ
นายหน้าประกันวินาศภัยเจ้านี้ได้รีบดำเนินการส่งข้อมูลดังกล่าวตามความประสงค์ของลูกค้าให้แก่บริษัทประกันภัย
และได้จัดการต่ออายุความคุ้มครองเวลาเมื่อครบอายุระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปีตามปกติเรื่อยมาในช่วงปี
ค.ศ. 1989 และ ค.ศ. 1990 ตามลำดับ
ระหว่างระยะเวลาประกันภัยช่วงปี
ค.ศ. 1990 โชคร้ายได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นที่บ้านหลังใหม่ของลูกค้ารายนี้
โดยสร้างความเสียหายอย่างสิ้นเชิงทั้งแก่ตัวบ้านกับทรัพย์สินที่อยู่ภายในซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น
เมื่อบริษัทประกันภัยส่งพนักงานสินไหมทดแทนเข้าไปสำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น
ก็ได้พบว่า ลักษณะของบ้านหลังใหม่นี้มีหลังคามุงจาก จัดอยู่ในลักษณะลำดับชั้นของสิ่งปลูกสร้างที่สาม
อันมีความเสี่ยงภัยสูงสุดและอัตราเบี้ยประกันภัยแพงที่สุดเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากบ้านหลังเดิมที่เป็นคอนกรีตล้วน จัดอยู่ในลำดับชั้นของสิ่งปลูกสร้างที่หนึ่ง
อันมีความเสี่ยงภัยต่ำที่สุดและอัตราเบี้ยประกันภัยถูกที่สุด ฉะนั้น
บริษัทประกันภัยจึงพิจารณาขอใช้สิทธิตามกฎหมายเรื่องการปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญด้วยการจะบอกล้างสัญญาประกันภัยฉบับนี้ให้ตกเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ดี ผลการเจรจาต่อรองระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเป็นไปด้วยดี
โดยที่บริษัทประกันภัยตกลงจะชดใช้สินไหมกรุณา (ex
gratia payment) ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนเงิน 30,000 แรนด์แอฟริกาใต้ หรือ 47.50% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 63,147 แรนด์แอฟริกาใต้ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 แรนด์แอฟริกาใต้เทียบเท่ากับ 2.21 บาท) ของรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนี้
(พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม)
พ.ศ. 2560 ฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายของ ex
gratia payment การชดใช้สินไหมกรุณา คือ เงินที่ผู้รับประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เรียกร้องค่าเสียหาย
แม้จะมีความเห็นว่า ไม่ต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม)
กระนั้นก็ตาม ลูกค้ารายนี้ยังคงเดินหน้ายื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้นายหน้าประกันวินาศภัยของตนชดใช้จำนวนเงินส่วนที่ขาดอยู่อีก
33,147 แรนด์แอฟริกาใต้ โทษฐานที่มิได้สอบถามรายละเอียดถึงชั้นของสิ่งปลูกสร้างของบ้านหลังใหม่
ศาลชั้นต้นรับฟังคำให้การพร้อมหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว
มีความเห็นเอนเอียงไปทางฝ่ายจำเลย คือ นายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งให้การว่า ตามหลักกฎหมายแล้ว
กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่แถลงข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเก็บเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก เมื่อได้รับทราบ
แต่กรณีนี้ เมื่อผู้ขอเอาประกันภัยมิได้บอกกล่าวรายละเอียดลักษณะของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวต่อนายหน้าประกันวินาศภัยเลย
ครั้นเมื่อได้รับข้อมูลเพียงแค่นั้น หน้าที่ของนายหน้าประกันวินาศภัยก็เพียงนำส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้แก่ผู้รับประกันภัยตามความประสงค์ของผู้ขอเอาประกันภัยเท่านั้น ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้นายหน้าประกันวินาศภัยเจ้านี้ไม่จำต้องรับผิดต่อลูกค้ารายนี้
ลูกค้ารายนี้ในฐานะโจทก์ไม่ละความพยายาม ด้วยการยื่นร้องขออุทธรณ์ต่อ
ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า
ตามหลักกฎหมายแล้ว นายหน้าประกันวินาศภัยเจ้านี้ถือเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ขอเอาประกันภัยให้กระทำการแทนตน
ประกอบกับนายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจำเพาะ โดยมีกฎหมายเฉพาะของการประกันภัยกำหนดให้มีหน้าที่พิเศษเพิ่มเติมในการชี้ช่องหรือการจัดการในการทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยแทนผู้ขอเอาประกันภัยด้วย
ตัวผู้ขอเอาประกันภัยอาจไม่ทราบถึงลักษณะชั้นของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่ในฐานะนายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจำเพาะนี้
คงไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของข้อมูลดังกล่าวได้ เมื่อหน้าที่ของนายหน้าประกันวินาศภัยต้องชี้ช่อง
หรือจัดการให้ผู้ขอเอาประกันภัยได้ทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยจนเกิดผลสำเร็จตามความประสงค์ของผู้ขอเอาประกันภัยนั้น
ด้วยการใช้ความระมัดระวังอันสมควรตามวิชาชีพของตน นายหน้าประกันวินาศภัยจำต้องพยายามกระทำการโดยการสอบถามข้อมูลที่สำคัญจากผู้ขอเอาประกันภัยนั้นให้มากที่สุดเพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จในการทำให้ผู้ขอเอาประกันภัยนั้นได้รับความคุ้มครองอย่างถูกต้องครบถ้วนโดยปราศจากปัญหาภายหลัง
แต่หากไม่สามารถกระทำการได้ตามความประสงค์แล้วจะต้องรีบแจ้งต่อผู้ขอเอาประกันภัยนั้นให้รับทราบทันที
โดยอาจเสนอทางเลือกไปจัดทำกับผู้รับประกันภัยรายอื่น
หรือท้ายที่สุดอาจจำต้องยอมรับตามเงื่อนไขของผู้รับประกันภัยก็ได้
สำหรับคดีนี้
เมื่อนายหน้าประกันวินาศภัยจำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่มีต่อลูกค้า คือ
ฝ่ายโจทก์ ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดแก่โจทก์ดังคำร้องขอ
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
Stander v Raubenheimer 1996 SA 670 O)
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างคดีศึกษาหลาย ๆ คดีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
ซึ่งจะพยายามคัดเลือกมานำเสนอเป็นข้อมูลต่อไป แต่จะทำยังไงให้คนกลางประกันภัยบ้านเรามีความตระหนักและความตื่นตัวมากกว่านี้?
คงขอเรียนฝากท่านที่เกี่ยวข้องทั้งหลายด้วยนะครับ
เรื่องต่อไป ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำเสนอดีไหมหนอ?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น