เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง
(มาก) ของผู้เอาประกันภัยกับตัวแทนประกันวินาศภัย
(ตอนที่หนึ่ง)
นักลงทุนรายหนึ่งได้ไปซื้ออาคารอะพาร์ตเมนต์เก่าปล่อยทิ้งร้างทรุดโทรมหลังหนึ่งมา
โดยวางแผนที่จะทำการปรับปรุงใหม่ให้เป็นอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าจำนวน 12 ห้อง และได้ไปปรึกษาหารือกับตัวแทนประกันวินาศภัยเรื่องการจัดทำประกันภัยคุ้มครองอาคารหลังนั้น
ซึ่งบริษัทประกันภัยต้นสังกัดของตัวแทนรายนั้นปฏิเสธไม่รับประกันภัยอาคารที่ถูกทิ้งร้างโดยปราศจากผู้อยู่อาศัย
หรือผู้ดูแล
ฉะนั้น ตัวแทนประกันวินาศภัยดังกล่าวจึงเสนอแนะทางเลือกที่สองให้จัดทำเป็นประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง
(Contractor’s All Risks Insurance) หรือชื่อทางการเรียกว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract
Works Insurance Policy)” แทนก็แล้วกัน
ในจำนวนเงินเอาประกันภัย 700,000 ดอลล่าร์บาฮามาส
นักลงทุนรายนี้เห็นดีด้วยเนื่องจากเข้าใจว่า การประกันภัยนี้จะให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งงานก่อสร้างปรับปรุงกับตัวอาคารหลังนั้นโดยอัตโนมัติ
โดยเฉพาะกรณีนี้ที่เรียกได้ว่า ถือเป็นการก่อสร้างปรับปรุงอาคารทั้งหลังแทบทุกจุดเลยก็ว่าได้
ครั้นงานก่อสร้างปรับปรุงนั้นเริ่มต้นไปได้เพียงบางส่วน
ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นมาสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ตัวอาคารหลังนั้น
ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายของตัวอาคารหลังนั้นจากบริษัทประกันภัยดังกล่าว
เชื่อว่า
หลายท่านคงพอเดาได้ว่า บริษัทประกันภัยไม่อาจคุ้มครองให้ได้ อันนำไปสู่คดีฟ้องร้องต่อศาลในท้ายที่สุด
โดยมีประเด็นข้อพิพาทสองประเด็นที่ศาลชั้นต้นจำต้องพิจารณา ได้แก่
1) ตัวอาคารหลังนั้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
2) จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้นั้นถือเป็นมูลค่าที่ตกลงเป็นเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ
(Agreed Value) หรือไม่?
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำเสนอแล้ว
มีความเห็นดังนี้
1) ตัวอาคารหลังนั้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
ปกติ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างมีรูปแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน
คือ กำหนดทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เป็นงานตามสัญญาว่าจ้างที่ตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง
(ผู้รับเหมา) อันประกอบด้วยงานถาวรกับงานชั่วคราวเพื่อทำการก่อสร้างให้ได้งานตามสัญญานั้นบังเกิดขึ้นมา
และสามารถส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างได้เมื่อเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยระบุให้ทั้งผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกันในกรมธรรม์ประกันภัย
ภายใต้สัญญาว่าจ้างฉบับนี้
กำหนดให้ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างใหม่บางส่วน ปรับปรุงและตกแต่งให้ตัวอาคารทั้งหลังนั้นให้ดูมั่นคงสวยงามเสมือนใหม่
เช่นนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตัวอาคารหลังนั้นเป็นทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว
เพียงแต่จะได้รับการปรับปรุงตกแต่งและสร้างใหม่เพิ่มเติมบางส่วนให้แลดูสวยงามแข็งแรงเท่านั้น
ตัวอาคารหลังนั้นจึงมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้ตามสัญญาว่าจ้างนี้แต่ประการใด
และโดยมีผู้ว่าจ้างถูกระบุเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงคนเดียวเท่านั้น
ขณะเกิดไฟไหม้
ผู้รับเหมาเพิ่งลงมือทำการปรับปรุงไปเพียงบางส่วนในสองห้องจากจำนวนทั้งหมด 12 ห้อง
พร้อมทำงานเกี่ยวกับสายไฟกับท่อน้ำไปได้เล็กน้อยเท่านั้น สามารถคำนวณมูลค่างานทำไปได้ไม่ถึงครึ่งหมื่น
ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าความเสียหายจากไฟไหม้ที่เกิดขึ้นแก่ตัวอาคารหลังนั้น
ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองรวมถึงตัวอาคารดังกล่าวด้วย
บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างในกรณีนี้
ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างยื่นอุทธรณ์ต่อ
ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดด้วยเหตุผลเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์แรกเริ่มของผู้ว่าจ้างที่ประสงค์จะให้คุ้มครองแก่ตัวอาคารดังกล่าว
ประกอบกับจำนวนเงินเอาประกันภัย 700,000 ดอลล่าร์บาฮามาสที่ดูค่อนข้างสูงสำหรับมูลค่างาน น่าเชื่อว่า
ตัวเลขนี้แสดงถึงมูลค่าตัวอาคารดังกล่าวมากกว่า
ถึงตรงนี้ คุณคิดว่ายังไงบ้างครับ?
คดีนี้ควรจะจบลงเพียงเท่านี้ไหม?
สัปดาห์หน้า ค่อยคุยกันต่อครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น