วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 102: บทเรียนราคาแพง (มาก) ของผู้เอาประกันภัยกับตัวแทนประกันวินาศภัย


(ตอนที่สอง)

บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ และได้ยื่นฎีกาต่อ แต่เนื่องด้วยคดีนี้เกิดขึ้นที่บาฮามาส ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ จำต้องส่งมาให้คณะกรรมการตุลาการของคณะองคมนตรี (The Judicial Committee of the Privy Council) ณ ประเทศอังกฤษทำหน้าที่ศาลสูงสุดในการพิจารณาตัดสินแทน

คณะกรรมการตุลาการได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1) ตัวอาคารหลังนั้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

คณะกรรมการตุลาการเห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ว่า ตัวอาคารหลังดังกล่าวมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของงานตามสัญญาว่าจ้างดังที่ระบุไว้ แต่เป็นทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว (Prinicipal’s Existing Property) ซึ่งงานตามสัญญาว่าจ้างได้กระทำไปบนตัวอาคารหลังนั้นเอง 

ไฟไหม้ที่สร้างความเสียหายเสมือนสิ้นเชิงต่อตัวอาคารหลังนั้น มิได้สร้างความเสียหายแก่งานตามสัญญาว่าจ้างซึ่งเพิ่มเริ่มลงมือทำไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้เอาประกันภัยเพียงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของตัวอาคารหลังนั้น ซึ่งมิใช่เป็นทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว 

2) จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้นั้นถือเป็นมูลค่าที่ตกลงเป็นเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ (Agreed Value) หรือไม่?


คณะกรรมการตุลาการไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาโดยอาศัยพยานแวดล้อมเรื่องตัวเลขของจำนวนเงินเอาประกันภัย 700,000 ดอลล่าร์บาฮามาส (หรือประมาณยี่สิบสองล้านบาท) เป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียวว่า ค่อนข้างสูงกว่ามูลค่างานตามสัญญาว่าจ้างที่ควรจะเป็นมากนัก เพราะในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุผู้ว่าจ้างเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียวเท่านั้น เนื่องจากผู้ว่าจ้างประสงค์ว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อยกับคนงานเข้ามาทำงานภายใต้การควบคุมดูแลของตนเอง โดยมิได้จัดทำสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแต่ประการใด และตัวเลขดังกล่าวก็มิได้แสดงที่มาของการกำหนดขึ้นมาอีกด้วย


แต่หากเมื่อได้มาพิจารณาถึงถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แล้ว มูลค่างานนั้นสามารถคำนวณเบื้องต้นจากผลต่างระหว่างมูลค่าของตัวอาคารก่อนกับภายหลังที่ได้ดำเนินงานจนเสร็จสิ้นไปแล้ว และตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ระบุให้มูลค่าเต็มของงานตามสัญญาว่าจ้างเมื่อได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วเป็นเกณฑ์ อันสอดคล้องกับเงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง ทั้งยังกำหนดให้ได้รับการชดใช้น้อยลงตามส่วน หากปรากฏจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงด้วย

ดังนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่ประสงค์จะให้กำหนดมูลค่างานตามสัญญาว่าจ้างที่จะเอาประกันภัยเป็นมูลค่าที่ตกลงกันแต่ประการใด

จากการพิจารณาทั้งสองประเด็นแล้ว คณะกรรมการตุลาการจึงได้ตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดในคดีนี้ 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Sun Alliance Ltd v Scandi Enterprises Ltd [2017] UKPC 10)

 

บทสรุป

ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมครับว่า ทางผู้เอาประกันภัยจะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากตัวแทนประกันวินาศภัยรายนี้หรือไม่ อย่างไร? ถ้าถามในแง่กฎหมายแล้ว ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้

สันนิษฐานว่า ตัวแทนฯ รายนี้อาจไม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจในกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ดีพอ ดังที่ศาลท่านให้ความเห็น ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนแล้ว 

อนึ่ง หากประสงค์จะให้คุ้มครองรวมไปถึงทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว (Prinicipal’s Existing Property) ก็สามารถกระทำได้โดยอาศัยข้อตกลงพิเศษเพิ่มเติมเป็นเอกสารแนบท้ายซึ่งเรียกว่า “เงื่อนไขพิเศษ (Special Clauses) ซึ่งตัวแทนฯ หรือนายหน้าฯ ที่ไม่คุ้นเคยอาจไม่ทราบว่า สามารถขยายได้ และไม่ทราบว่า เงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ มีอะไรบ้าง? เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ที่บริษัทประกันภัย 

บางท่านอาจมีคำถามในใจว่า แล้วทำไม บริษัทประกันภัยถึงไม่แนะนำให้? ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน เอาเป็นว่า พยายามพูดคุยกันให้ชัดเจนมากกว่านี้ก็แล้วกันนะครับ

เวลาบรรยายให้ความรู้แก่คนกลางประกันภัย หรือบางครั้งที่มีโอกาส ผมพยายามย้ำเสมอว่า ถ้าคนกลางประกันภัยรายใดเข้าใจว่า ตนไม่จำต้องมีความรับผิดใด ๆ เกิดขึ้น เพราะเพียงทำหน้าที่เป็นคนกลางรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ขอเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเท่านั้น กรุณาเปลี่ยนความคิดได้แล้วนะครับ แม้บ้านเราอาจยังไม่เกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา แต่ในอนาคต ใครจะรับประกันได้?

ลองดูเรื่องต่อไปเป็นอุทธาหรณ์นะครับ บทเรียนนายหน้าประกันวินาศภัย คุณรู้จักลูกค้าดีแค่ไหน?

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น