วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จร...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จร...: เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ ? (ตอนที่หนึ่ง) นักประกันภั...
เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?


(ตอนที่หนึ่ง)

นักประกันภัยทั่วโลกได้รับคำบอกกล่าวต่อ ๆ กันมาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือได้เรียนรู้จากตำราประกันภัยมาเหมือนกันว่า ในการกำหนดทุนประกันภัยให้เหมาะสมของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินนั้น โดยทั่วไปสามารถเลือกกำหนดทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งในสองทางเลือก  ดังนี้

1) ตามมูลค่าที่แท้จริง (Actual Cash Value)
    คือ มูลค่าตามสภาพที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเวลาที่ทำประกันภัยนั่นเอง กรณีที่เป็นสิ่งปลูกสร้างจะคำนวณจากมูลค่าสร้างใหม่ ณ วันที่ทำประกันภัย หักด้วยค่าเสื่อมราคา (Depreciation) ตามจำนวนปีที่ใช้งาน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ มูลค่าที่แท้จริงของสิ่งปลูกสร้างนั้นที่ควรทำประกันภัยไว้ไม่ต่ำกว่านั้น เพื่อเวลาเกิดความเสียหายก็จะสามารถได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนใกล้เคียงกับมูลค่าที่แท้จริงมากที่สุด เนื่องจากการคำนวณค่าสินไหมทดแทนจะใช้สูตรเดียวกัน ด้วยการคำนวณมูลค่าสร้างใหม่ของสิ่งปลูกสร้างนั้น ณ วันที่เกิดความเสียหาย หักด้วยค่าเสื่อมราคาตามจำนวนปีที่ใช้งาน

2) ตามมูลค่าทดแทน (Replacement Cost Value)
    คือ กำหนดทุนประกันภัยจากมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา ณ วันที่ทำประกันภัย เพื่อเวลาเกิดความเสียหาย ก็จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคำนวณจากมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา ณ วันที่เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เสมือนหนึ่งมิได้เกิดความเสียหายขึ้นมาเลย 

นี่คือ หนึ่งในหลักการของการประกันภัยที่ได้วางเอาไว้ตั้งแต่อดีตจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

แต่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่? เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

ปัญหาชวนปวดหัวที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับการกำหนดทุนประกันภัยภายใต้มูลค่าที่แท้จริง

เรามาลองตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้ดูนะครับ

ลมพายุพัดมาทำให้ต้นไม้หักโค่นไปโดนหลังคาบ้านของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายบางส่วน

เมื่อตัวบ้านของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และได้รับความเสียหายจากภัยลมพายุที่คุ้มครองเอาไว้ด้วย บริษัทประกันภัยรายนี้จึงตกลงที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าซ่อมแซมหลังคาที่เสียหายให้ เนื่องจากตัวบ้านที่เอาประกันภัยนี้ได้กำหนดทุนประกันภัยตามมูลค่าที่แท้จริง (Actual Cash Value) เอาไว้ ฉะนั้น การคำนวณค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าเสียหายบางส่วนจะคำนวณจากค่าซ่อมแซมเพื่อทำให้สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมด้วยการเปลี่ยนทดแทนวัสดุชิ้นใหม่ที่มีชนิดและคุณภาพเช่นเดิม หรือใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด (บางครั้งเรียกว่า ใช้ของใหม่ทดแทนของเก่า (New for Old)) พร้อมหักค่าเสื่อมราคาด้วย 

ผู้เอาประกันภัยไม่ยอมรับวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นนี้ จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล และได้มีการต่อสู้คดีจนถึงระดับศาลสูง

ประเด็นข้อพิพาทอยู่ตรงที่ว่า บริษัทประกันภัยมีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาได้หรือไม่?

บริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุว่า

บริษัทจะชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ วันที่เกิดความเสียหาย แต่จะไม่เกินกว่าค่าซ่อมแซม หรือค่าเปลี่ยนทดแทนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายนั้นด้วยวัสดุที่มีชนิดและคุณภาพเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

โดยหลักการตามมูลค่าที่แท้จริงเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะคำนวณจากมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) ของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ วันที่เกิดความเสียหาย แล้วหักค่าเสื่อมราคา เพราะมิฉะนั้นแล้ว การใช้ของใหม่ทดแทนของเก่าไปเลย จะเสมือนทำให้มูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเพิ่มสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ อันขัดกับหลักการของการชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง ทั้งตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ยังมิใช่ตกอยู่ในสภาพของใหม่อีกด้วย

ศาลสูงได้พิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า 

ก) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวมิได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “มูลค่าความเสียหายที่แท้จริง” เอาไว้เลย ทั้งในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มิได้บัญญัติเอาไว้เช่นกัน เมื่อกลับมาดูที่ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่ปรากฏข้อความตรงใดเลยที่กำหนดให้มีการหักค่าเสื่อมราคาเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย 

ข) จุดประสงค์ของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถกลับคืนสู่สภาพดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้เกิดความเสียหายขึ้นมาเลยนั้น จะไม่อาจบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ หากว่า ยังกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยจำต้องควักกระเป๋าตัวเองเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคาอีก

ค) ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มีความชัดเจน ซึ่งบุคคลทั่วไปอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้เองว่า มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงเมื่อนำไปใช้กับกรณีค่าเสียหายบางส่วนไม่จำต้องมีการหักค่าเสื่อมราคาเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ประการใด 

จึงตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายชนะในคดีนี้

(อ้างอิงจากคดี Thomas v. American Family Mutual Ins. Co., 233 Kan. 775 (1983))

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับคำพิพากษาคดีนี้?

แล้วเราจะมาคุยกันต่อในคราวหน้า

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 95: ผู้รับจำนอง (Mortgagee)มีสิทธิเป็นผู...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 95: ผู้รับจำนอง (Mortgagee)มีสิทธิเป็นผู...: เรื่องที่ 95: ผู้รับจำนอง (Mortgagee) มีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ไหม ? เวลาไปกู้เงินจากธนาคาร ...
เรื่องที่ 95: ผู้รับจำนอง (Mortgagee) มีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ไหม?


เวลาไปกู้เงินจากธนาคาร แม้ลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับอาคารสิ่งปลูกสร้างได้นำทรัพย์สินนั้นของตนไปจดจำนองกับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระมูลหนี้เงินกู้แล้ว เรามักจะเห็นธนาคารเจ้าหนี้หรือผู้รับจำนองขอให้ลูกหนี้ผู้จำนองจัดทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันนั้น พร้อมให้ระบุธนาคารผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเผื่อไว้อีกทอดหนึ่ง 

ในทางปฏิบัติทั่วไป บริษัทประกันภัยอาจเพียงระบุให้ธนาคารผู้รับจำนองนั้นเป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระผูกพันไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยอย่างเดียวก็ได้ หรืออาจแนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) แบบ อค./ทส. 1.88 กำกับไว้ด้วยก็ได้ (วิธีการแรกกับวิธีการที่สอง อันไหนจะดีกว่ากัน ถ้ามีโอกาส จะเขียนแนะนำให้รับทราบอีกครั้งนะครับ)

แต่เราจะไม่พบเห็นการร้องขอให้ระบุชื่อธนาคารผู้รับจำนองนั้นเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

คำถาม คือ ผู้รับจำนองมีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้หรือไม่?

ประเด็นเรื่องนี้ได้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ
 
เจ้าของธุรกิจสถานโบว์ลิ่งแห่งหนึ่งได้นำที่ดินกับอาคารสถานโบว์ลิ่งไปจดจำนองไว้กับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ โดยได้จัดทำเป็นชุดกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นมาหนึ่งฉบับ ประกอบด้วยความคุ้มครองสองส่วน คือ 

1) ส่วนที่หนึ่งคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ได้แก่ อาคารที่จำนองไว้ และระบุชื่อธนาคารผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย พร้อมแนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) ไว้ด้วย และ

2) ส่วนที่สองคุ้มครองความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันสืบเนื่องมาจากความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเอง

ต่อมาได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้สร้างความเสียหายให้แก่ตัวอาคารที่เอาประกันภัย และส่งผลทำให้จำต้องหยุดประกอบการสถานโบว์ลิ่งชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง เมื่อบริษัทประกันภัยได้พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองแล้ว ก็ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

1) ในส่วนของความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยชดใช้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย 

2) ในส่วนความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยอ้างว่า ผู้รับประโยชน์ไม่มีส่วนได้เสียในความคุ้มครองส่วนนี้

ธนาคารเจ้าหนี้ในฐานะผู้รับประโยชน์จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยโต้แย้งว่า ตนเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับ มีสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจซึ่งเป็นความคุ้มครองส่วนหนึ่งภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ด้วย จึงขอให้ศาลสั่งให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้มาให้แก่ตน

เรื่องนี้ได้มีการต่อสู้คดีกันมาจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์

ประเด็นที่จำต้องวินิจฉัย คือ ผู้รับประโยชน์มีส่วนได้เสียในส่วนความคุ้มครองการหยุดชะงักของธุรกิจหรือไม่?

จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ภายใต้เอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่...(ชื่อผู้รับจำนอง)...ในฐานะผู้รับจำนอง ตามส่วนได้เสีย (interest) อันพึงมี และการประกันภัยนี้ยังมีผลบังคับอยู่ในส่วนของผู้รับจำนองตามส่วนได้เสีย (the interest) เท่านั้น......    
                                 
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในการพิจารณาสิทธิของผู้รับประโยชน์ในกรณีนี้ จำต้องพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของเอกสารแนบท้ายข้างต้นเป็นสำคัญ ฉะนั้น ส่วนได้เสียของผู้รับจำนองในอันที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จึงจำกัดอยู่เฉพาะเพียงความเสียหายโดยตรงที่เกิดแก่ทรัพย์จำนองที่จดทะเบียนไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้เท่านั้น ในที่นี้ คือ อาคารสถานโบว์ลิ่งของผู้เอาประกันภัยที่เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และได้รับความเสียหายจากไฟไหม้นั่นเอง โดยมิได้ครอบคลุมไปถึงความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัยในฐานะเจ้าของธุรกิจดังกล่าวแต่ประการใด การที่บริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรงจึงเป็นการถูกต้องตามภาระหน้าที่ในสัญญาประกันภัยนี้แล้ว

(อ้างอิงจากคดี Citizens Savings & Loan Association v. Proprietors Insurance Co., 78 A.D.2d 377 (N.Y. App. Div. 1981))

กรณีนี้ หากเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นในบ้านเรา ส่วนตัวเชื่อผลการตัดสินคงไม่แตกต่างกัน เพราะเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) แบบ อค./ทส. 1.88 ได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้เช่นเดียวกัน ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 704 บัญญัติว่า “สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนอง” เมื่อทรัพย์สินจำนองซึ่งถูกระบุให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองจนทำให้มูลค่าทรัพย์สินจำนองนั้นลดน้อยลงไป ผู้รับจำนองก็มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเพื่อชดเชยในส่วนที่เสียหายนั้นได้ ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า “การช่วงทรัพย์” ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 และมาตรา 231 

หากมีคำถามเพิ่มเติมว่า ถ้าระบุเพียงให้ผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ลอย ๆ โดยมิได้แนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) แบบ อค./ทส. 1.88 ด้วย จะให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2545 วินิจฉัยว่า ผู้รับประโยชน์ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ก็ได้  ส่วนตัวยังคงเห็นว่า ไม่น่าจะส่งผลเปลี่ยนแปลง หากสามารถนำสืบให้ศาลรับฟังได้ถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยในการกำหนดผู้รับประโยชน์ว่ามีมูลเหตุมาจากหนี้จำนอง 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ควรระบุลงไปให้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ต้นเลยว่า “...(ชื่อผู้รับประโยชน์)...ตามภาระผูกพัน” น่าจะปลอดภัยกว่า

เรื่องต่อไป การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Ma...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Ma...: เรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป? ...
เรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?


(ตอนที่สาม)

คดีเรื่องสนามกอล์ฟดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เรามาลองดูตัวอย่างคดีเรื่องลานเล่นสกีหิมะที่ประเทศนิวซีแลนด์เทียบเคียงกันบ้างนะครับ

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ประกอบธุรกิจลานเล่นสกีหิมะตรงเชิงภูเขาไฟรัวเปฮู (Mount Ruapehu) ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างอาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจดังกล่าวของตน พร้อมทั้งทำประกันภัยคุ้มครองธุรกิจหยุดชะงักเอาไว้ด้วยกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง

เดือนกันยายน ค.ศ. 1995 ภูเขาไฟรัวเปฮูได้เกิดปะทุขึ้นมาเป็นระยะเวลาประมาณสองเดือน และกลับมาประทุอีกครั้งช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1996 กินเวลานานประมาณสามเดือน ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยจำต้องหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราว เนื่องจากละอองเถ้าถ่านของภูเขาไฟกระเด็นลอยมาปนเปื้อนลานเล่นสกีหิมะเต็มไปหมด และแรงสั่นสะเทือนของภูเขาไฟยังสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินต่าง ๆ อีกด้วย

เมื่อบริษัทประกันภัยได้รับแจ้งเหตุแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ได้พิจารณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดได้คุ้มครองรวมถึงภัยภูเขาไฟระเบิด จึงตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในส่วนของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหาย แต่ปฏิเสธไม่คุ้มครองความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจ อันสืบเนื่องมาจากการปนเปื้อนของลานเล่นสกีหิมะ

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเงื่อนไขบังคับก่อนของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้ที่มีใจความว่า

“...สิ่งปลูกสร้างใด (any building) หรือทรัพย์สินอื่น ๆ (other property) หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ ได้รับความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุซึ่งได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย (ซึ่งความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุดังกล่าวนั้น ต่อไปนี้จะเรียกว่า ความเสียหาย”) และส่งผลทำให้ธุรกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย ได้รับผลสืบเนื่องมาจนต้องหยุดชะงัก หรือได้ผลกระทบจากกรณีเหล่านั้น...”

โดยเฉพาะความหมายของ “ทรัพย์สินอื่น ๆ (other property)” ดังระบุข้างต้น หมายความรวมถึง “หิมะ (snow)” ด้วยหรือไม่? ซึ่งบริษัทประกันภัยตีความว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงไม่อยู่ในความหมายของทรัพย์สินดังกล่าว

คดีนี้ได้ต่อสู้กันจนถึงศาลสูงแห่งประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้วินิจฉัยออกมาดังนี้

ความหมายของทรัพย์สินดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินนั้นมิอาจนำมาบังคับใช้ในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ เพราะมีจุดประสงค์แตกต่างกัน โดยคำว่า “ทรัพย์สินอื่น ๆ (other property)” นั้นมุ่งหมายถึงสิ่งที่ถูกนำมาใช้ และได้รับความเสียหายจนใช้งานมิได้อีกต่อไป และส่งผลทำให้กระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจมากกว่าที่จะมุ่งหมายไปที่มูลค่าสิ่งนั้นเอง

แม้หิมะจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่สามารถจับต้องได้ นำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้ ทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายได้ มีรูปร่าง และถือเอาได้ จึงจัดให้อยู่ในความหมายของทรัพย์สินที่เข้าใจกันทั่วไปได้   

หากบริษัทประกันภัยไม่ประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติตั้งแต่ต้น ก็ควรกำหนดลงไปอย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยได้เลย แต่เมือได้ตระหนักรับรู้ในเวลาทำประกันภัยแล้วว่า การประกอบธุรกิจของผู้เอาประกันภัยรายนี้ คือ ลานหิมะ ต่อมาได้รับความเสียหายจากการปนเปื้อนของเถ้าถ่านภูเขาไฟที่เกิดระเบิดประทุขึ้นมา อันเป็นภัยที่คุ้มครองอยู่แล้วภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ศาลสูงจึงเห็นว่า ข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ซึ่งเป็นมาตรฐานใช้กันอยู่ทั่วไปในธุรกิจประกันภัยมีความชัดเจน ไม่กำกวม แต่ถ้าเกิดกำกวม ศาลก็จะตีความยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้เป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้อยู่ดี จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนี้

(อ้างอิงจากคดี Ruapehu Alpine Lifts Limited v State Insurance Limited (1998))

ข้อสังเกต แนวโน้มการตีความข้อความร่างใหม่ของเงื่อนไขบังคับก่อนนี้เสมือนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการมองกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้แยกขาดจากกัน โดยคงตัวเชื่อมเพียงความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเองกับภัยที่คุ้มครองต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ผู้เอาประกันภัยใช้งานอยู่เท่านั้น เพราะในการกำหนดทุนประกันภัยก็ได้แยกจากกันคนละลักษณะอยู่แล้ว อีกทั้งเบี้ยประกันภัยก็ได้คิดแยกจากกันด้วย
 
หากนำมาเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) ฉบับมาตรฐานบ้านเรา จะเห็นว่ามีข้อความใกล้เคียงกันมาก ดูเผิน ๆ เสมือนให้ความยืดหยุ่นเช่นเดียวกับของต่างประเทศ แต่ครั้นไปพิจารณาคำนิยามที่สำคัญที่กำหนดไว้เป็นตัวหนาในหมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป โดยเลือกเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ได้แก่

คำว่า “ความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ” หมายความถึง ความสูญเสียหรือความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจหรือจากการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจที่ดำเนินอยู่อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัย

คำว่า “ความเสียหาย” หมายความถึง ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยสำหรับทรัพย์สิน

คำว่า “สถานที่เอาประกันภัย” หมายความถึง สถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

กลับกลายเป็นคำนิยามเหล่านี้ส่งผลทำให้เงื่อนไขบังคับก่อนนี้ยังคงจำกัดอยู่เพียงจะต้องเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองต่อเฉพาะทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยเท่านั้นเช่นเดิม ถึงจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนี้ได้ 

ดังนั้น ผู้ที่จะเอาประกันภัย หรือนายหน้าประกันวินาศภัยพึงตระหนักและทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันอย่างชัดเจนไว้ด้วยนะครับ เวลาตกลงทำประกันภัยนี้

เรื่องต่อไป ผู้รับจำนองมีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ไหม?

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Mat...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Mat...: เรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป? ...
เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?


(ตอนที่สอง)

คราวนี้เราจะมาไล่เรียงกันทีละประเด็นให้เห็นภาพ

1) สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ข้อความส่วนนี้ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้ ไม่ปรากฏตรงใดเลยที่ระบุว่า สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วย ทั้งประโยคที่ว่า ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ก็ให้ความหมายอย่างกว้าง ๆ ว่า สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่นเหล่านั้นอาจเป็นของผู้เอาประกันภัยเอง หรือของบุคคลอื่นที่ผู้เอาประกันภัยใช้งานอยู่ก็ได้ เนื่องจากเหตุผล ดังนี้

1.1) กรณีที่เป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นนั้น โดยหลักการแล้ว ผู้เอา 
       ประกันภัยจะนำไปทำประกันภัยไม่ได้ เจ้าของทรัพย์สินนั้นต้อง
       ทำประกันภัยของเขาเอง ถึงแม้บางกรณี ผู้เอาประกันภัยอาจมี
       สิทธิทำได้ก็ตาม แต่อาจควบคุมบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไข
       บังคับก่อนนั้นอย่างเคร่งครัดได้ลำบาก เช่น กรณีผู้เอา
       ประกันภัยเช่าอาคาร หรือเช่าเครื่องจักรของผู้อื่นมาประกอบ
       ธุรกิจ เป็นต้น

1.2) แม้ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของผู้เอาประกันภัยเอง ปัญหาอาจเกิด
       ขึ้นได้ทั้งจากฝ่ายผู้เอาประกันภัยที่จะเลือกทำประกันภัย
       ทรัพย์สินบางรายการ หรือทุกรายการแต่ไม่เต็มมูลค่าก็มี ส่วน
       ฝ่ายบริษัทประกันภัยก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจยอมรับประกันภัย
       ทรัพย์สินได้ทั้งหมด ดังเช่น คดีสนามกอล์ฟที่บริษัท
       ประกันภัยไม่คุ้มครองทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน สนามหญ้า เป็นต้น 
       หรือกระทั่งบางภัยที่คุ้มครอง เช่น ภัยน้ำท่วม บริษัทประกันภัยก็
       ไม่อาจให้ความคุ้มครองเต็มมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น
       ได้เลย     

2) ได้เกิด ความเสียหายโดยอุบัติเหตุนอกเหนือไปจากสาเหตุที่ยกเว้นแก่สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้น

กำหนดเพียงให้ “ความเสียหาย” ซึ่งเป็นคำเรียกรวมของความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ เหล่านั้นว่า ต้องเกิดจากภัยที่คุ้มครองเท่านั้นก็พอ โดยไม่จำต้องไปกำหนดคำนิยามเฉพาะของ “ความเสียหาย” ขึ้นมาอีก

(3) เวลาที่ก่อให้เกิด ความเสียหาย” หากมีการประกันภัยซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ ได้ให้ความคุ้มครองถึงส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัยนั้น และปรากฏว่าได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว เว้นเสียแต่ในกรณีความเสียหายส่วนแรก

คำว่า “ส่วนได้เสีย (interest)” ในที่นี้ จะสังเกตเห็นว่า มิได้ใช้คำว่า ส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยได้ (insurable interest) เลย คำว่า “ส่วนได้เสีย (interest) นี้จึงมีความหมายกว้างกว่ามาก โดยหมายความถึง การที่อาจจะได้รับผลกระทบต่อผลประโยชน์ที่จะพึงมีของตนจากสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความในส่วนนี้แปลความได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยได้ หากทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายนั้นได้ส่งผลกระทบสืบเนื่องทางการเงินที่ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียอยู่

นี่คือ ตัวอย่างเงื่อนไขบังคับก่อนว่าด้วยความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ที่ถูกปรับปรุงใหม่ และนิยมใช้กันอยู่ปัจจุบันในต่างประเทศ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าของเดิม และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่สนใจจะทำประกันภัยนี้ได้เพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้น การที่ไปกำหนดให้ทรัพย์สินดังกล่าวจำต้องเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยทั้งหมดนั้น ในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้จริง กลับสร้างปัญหามากกว่า ดังคดีสนามกอล์ฟเชื่อว่า ถ้าถามความประสงค์ของผู้เอาประกันภัยเจ้าของสนามกอล์ฟ เขาคงต้องการให้คุ้มครองตัวสนามกอล์ฟอยู่แล้ว แต่อาจละเลยมิได้ตรวจสอบข้อยกเว้นเรื่องนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาดังกล่าว

เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ดูจะไม่เป็นธรรมต่อผู้เอาประกันภัยรายนี้เลย เพราะโดยหลักการในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก จะอ้างอิงจากงบบัญชีในการประกอบธุรกิจของผู้เอาประกันภัยเป็นเกณฑ์ อย่างในกรณีของสนามกอล์ฟ ซึ่งมีรายได้หลักมาจากค่าบริการสนามกอล์ฟ (Green Fee) เชื่อว่า เวลาทำประกันภัย ผู้เอาประกันภัยได้เสียเบี้ยประกันภัยเพื่อคุ้มครองรายได้ส่วนนี้อยู่แล้ว แต่เวลาเกิดความเสียหายขึ้นมา กลับถูกปฏิเสธไปเสียเช่นนั้น ทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียเบี้ยประกันภัยไปโดยเปล่าประโยชน์ อนึ่ง ถ้าผู้เอาประกันภัยได้รับทราบตั้งแต่ต้นว่า ไม่สามารถได้รับความคุ้มครองเลยในส่วนนี้เลย น่าเชื่อว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้คงไม่สนใจทำประกันภัยนี้ตั้งแต่แรก

เนื่องจากในคดีนี้ไม่มีรายละเอียดของเงื่อนไขบังคับก่อน จึงเข้าใจว่า น่าจะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนข้อความเดิมที่กำหนดให้ต้องเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยไว้เท่านั้น เพราะถ้าใช้ข้อความใหม่ในปัจจุบันของเงื่อนไขบังคับก่อนดังตัวอย่างข้างต้น ผู้เอาประกันภัยรายนี้คงได้รับความคุ้มครองโดยไม่มีปัญหา
   
ตอนต่อไป เราลองไปดูคดีต่างประเทศอีกคดีหนึ่งที่เทียบเคียงกันได้ พร้อมบทสรุปบทความเรื่องนี้: ลานเล่นสกีหิมะเสียหาย กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/