วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?


(ตอนที่สอง)

คราวนี้เราจะมาไล่เรียงกันทีละประเด็นให้เห็นภาพ

1) สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ข้อความส่วนนี้ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้ ไม่ปรากฏตรงใดเลยที่ระบุว่า สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วย ทั้งประโยคที่ว่า ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ก็ให้ความหมายอย่างกว้าง ๆ ว่า สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่นเหล่านั้นอาจเป็นของผู้เอาประกันภัยเอง หรือของบุคคลอื่นที่ผู้เอาประกันภัยใช้งานอยู่ก็ได้ เนื่องจากเหตุผล ดังนี้

1.1) กรณีที่เป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นนั้น โดยหลักการแล้ว ผู้เอา 
       ประกันภัยจะนำไปทำประกันภัยไม่ได้ เจ้าของทรัพย์สินนั้นต้อง
       ทำประกันภัยของเขาเอง ถึงแม้บางกรณี ผู้เอาประกันภัยอาจมี
       สิทธิทำได้ก็ตาม แต่อาจควบคุมบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไข
       บังคับก่อนนั้นอย่างเคร่งครัดได้ลำบาก เช่น กรณีผู้เอา
       ประกันภัยเช่าอาคาร หรือเช่าเครื่องจักรของผู้อื่นมาประกอบ
       ธุรกิจ เป็นต้น

1.2) แม้ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของผู้เอาประกันภัยเอง ปัญหาอาจเกิด
       ขึ้นได้ทั้งจากฝ่ายผู้เอาประกันภัยที่จะเลือกทำประกันภัย
       ทรัพย์สินบางรายการ หรือทุกรายการแต่ไม่เต็มมูลค่าก็มี ส่วน
       ฝ่ายบริษัทประกันภัยก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจยอมรับประกันภัย
       ทรัพย์สินได้ทั้งหมด ดังเช่น คดีสนามกอล์ฟที่บริษัท
       ประกันภัยไม่คุ้มครองทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน สนามหญ้า เป็นต้น 
       หรือกระทั่งบางภัยที่คุ้มครอง เช่น ภัยน้ำท่วม บริษัทประกันภัยก็
       ไม่อาจให้ความคุ้มครองเต็มมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น
       ได้เลย     

2) ได้เกิด ความเสียหายโดยอุบัติเหตุนอกเหนือไปจากสาเหตุที่ยกเว้นแก่สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้น

กำหนดเพียงให้ “ความเสียหาย” ซึ่งเป็นคำเรียกรวมของความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ เหล่านั้นว่า ต้องเกิดจากภัยที่คุ้มครองเท่านั้นก็พอ โดยไม่จำต้องไปกำหนดคำนิยามเฉพาะของ “ความเสียหาย” ขึ้นมาอีก

(3) เวลาที่ก่อให้เกิด ความเสียหาย” หากมีการประกันภัยซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ ได้ให้ความคุ้มครองถึงส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัยนั้น และปรากฏว่าได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว เว้นเสียแต่ในกรณีความเสียหายส่วนแรก

คำว่า “ส่วนได้เสีย (interest)” ในที่นี้ จะสังเกตเห็นว่า มิได้ใช้คำว่า ส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยได้ (insurable interest) เลย คำว่า “ส่วนได้เสีย (interest) นี้จึงมีความหมายกว้างกว่ามาก โดยหมายความถึง การที่อาจจะได้รับผลกระทบต่อผลประโยชน์ที่จะพึงมีของตนจากสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความในส่วนนี้แปลความได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยได้ หากทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายนั้นได้ส่งผลกระทบสืบเนื่องทางการเงินที่ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียอยู่

นี่คือ ตัวอย่างเงื่อนไขบังคับก่อนว่าด้วยความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ที่ถูกปรับปรุงใหม่ และนิยมใช้กันอยู่ปัจจุบันในต่างประเทศ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าของเดิม และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่สนใจจะทำประกันภัยนี้ได้เพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้น การที่ไปกำหนดให้ทรัพย์สินดังกล่าวจำต้องเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยทั้งหมดนั้น ในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้จริง กลับสร้างปัญหามากกว่า ดังคดีสนามกอล์ฟเชื่อว่า ถ้าถามความประสงค์ของผู้เอาประกันภัยเจ้าของสนามกอล์ฟ เขาคงต้องการให้คุ้มครองตัวสนามกอล์ฟอยู่แล้ว แต่อาจละเลยมิได้ตรวจสอบข้อยกเว้นเรื่องนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาดังกล่าว

เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ดูจะไม่เป็นธรรมต่อผู้เอาประกันภัยรายนี้เลย เพราะโดยหลักการในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก จะอ้างอิงจากงบบัญชีในการประกอบธุรกิจของผู้เอาประกันภัยเป็นเกณฑ์ อย่างในกรณีของสนามกอล์ฟ ซึ่งมีรายได้หลักมาจากค่าบริการสนามกอล์ฟ (Green Fee) เชื่อว่า เวลาทำประกันภัย ผู้เอาประกันภัยได้เสียเบี้ยประกันภัยเพื่อคุ้มครองรายได้ส่วนนี้อยู่แล้ว แต่เวลาเกิดความเสียหายขึ้นมา กลับถูกปฏิเสธไปเสียเช่นนั้น ทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียเบี้ยประกันภัยไปโดยเปล่าประโยชน์ อนึ่ง ถ้าผู้เอาประกันภัยได้รับทราบตั้งแต่ต้นว่า ไม่สามารถได้รับความคุ้มครองเลยในส่วนนี้เลย น่าเชื่อว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้คงไม่สนใจทำประกันภัยนี้ตั้งแต่แรก

เนื่องจากในคดีนี้ไม่มีรายละเอียดของเงื่อนไขบังคับก่อน จึงเข้าใจว่า น่าจะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนข้อความเดิมที่กำหนดให้ต้องเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยไว้เท่านั้น เพราะถ้าใช้ข้อความใหม่ในปัจจุบันของเงื่อนไขบังคับก่อนดังตัวอย่างข้างต้น ผู้เอาประกันภัยรายนี้คงได้รับความคุ้มครองโดยไม่มีปัญหา
   
ตอนต่อไป เราลองไปดูคดีต่างประเทศอีกคดีหนึ่งที่เทียบเคียงกันได้ พร้อมบทสรุปบทความเรื่องนี้: ลานเล่นสกีหิมะเสียหาย กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น