เรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?
(ตอนที่สาม)
คดีเรื่องสนามกอล์ฟดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
เรามาลองดูตัวอย่างคดีเรื่องลานเล่นสกีหิมะที่ประเทศนิวซีแลนด์เทียบเคียงกันบ้างนะครับ
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ประกอบธุรกิจลานเล่นสกีหิมะตรงเชิงภูเขาไฟรัวเปฮู
(Mount
Ruapehu) ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างอาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร
และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจดังกล่าวของตน
พร้อมทั้งทำประกันภัยคุ้มครองธุรกิจหยุดชะงักเอาไว้ด้วยกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
เดือนกันยายน ค.ศ. 1995 ภูเขาไฟรัวเปฮูได้เกิดปะทุขึ้นมาเป็นระยะเวลาประมาณสองเดือน และกลับมาประทุอีกครั้งช่วงเดือนมิถุนายน
ค.ศ. 1996
กินเวลานานประมาณสามเดือน ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยจำต้องหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราว
เนื่องจากละอองเถ้าถ่านของภูเขาไฟกระเด็นลอยมาปนเปื้อนลานเล่นสกีหิมะเต็มไปหมด และแรงสั่นสะเทือนของภูเขาไฟยังสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินต่าง
ๆ อีกด้วย
เมื่อบริษัทประกันภัยได้รับแจ้งเหตุแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว
ได้พิจารณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดได้คุ้มครองรวมถึงภัยภูเขาไฟระเบิด จึงตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในส่วนของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหาย
แต่ปฏิเสธไม่คุ้มครองความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจ
อันสืบเนื่องมาจากการปนเปื้อนของลานเล่นสกีหิมะ
ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเงื่อนไขบังคับก่อนของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้ที่มีใจความว่า
“...สิ่งปลูกสร้างใด
(any building) หรือทรัพย์สินอื่น ๆ (other property)
หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่
ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ ได้รับความสูญเสีย
ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุซึ่งได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย
(ซึ่งความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุดังกล่าวนั้น ต่อไปนี้จะเรียกว่า
“ความเสียหาย”) และส่งผลทำให้ธุรกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัย
ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย ได้รับผลสืบเนื่องมาจนต้องหยุดชะงัก
หรือได้ผลกระทบจากกรณีเหล่านั้น...”
โดยเฉพาะความหมายของ “ทรัพย์สินอื่น ๆ (other
property)”
ดังระบุข้างต้น หมายความรวมถึง “หิมะ (snow)”
ด้วยหรือไม่? ซึ่งบริษัทประกันภัยตีความว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงไม่อยู่ในความหมายของทรัพย์สินดังกล่าว
คดีนี้ได้ต่อสู้กันจนถึงศาลสูงแห่งประเทศนิวซีแลนด์
ซึ่งได้วินิจฉัยออกมาดังนี้
ความหมายของทรัพย์สินดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินนั้นมิอาจนำมาบังคับใช้ในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้
เพราะมีจุดประสงค์แตกต่างกัน โดยคำว่า “ทรัพย์สินอื่น
ๆ (other property)” นั้นมุ่งหมายถึงสิ่งที่ถูกนำมาใช้
และได้รับความเสียหายจนใช้งานมิได้อีกต่อไป และส่งผลทำให้กระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจมากกว่าที่จะมุ่งหมายไปที่มูลค่าสิ่งนั้นเอง
แม้หิมะจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่สามารถจับต้องได้
นำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้ ทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายได้ มีรูปร่าง และถือเอาได้
จึงจัดให้อยู่ในความหมายของทรัพย์สินที่เข้าใจกันทั่วไปได้
หากบริษัทประกันภัยไม่ประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติตั้งแต่ต้น
ก็ควรกำหนดลงไปอย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยได้เลย แต่เมือได้ตระหนักรับรู้ในเวลาทำประกันภัยแล้วว่า
การประกอบธุรกิจของผู้เอาประกันภัยรายนี้ คือ ลานหิมะ
ต่อมาได้รับความเสียหายจากการปนเปื้อนของเถ้าถ่านภูเขาไฟที่เกิดระเบิดประทุขึ้นมา
อันเป็นภัยที่คุ้มครองอยู่แล้วภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ศาลสูงจึงเห็นว่า
ข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ซึ่งเป็นมาตรฐานใช้กันอยู่ทั่วไปในธุรกิจประกันภัยมีความชัดเจน
ไม่กำกวม แต่ถ้าเกิดกำกวม
ศาลก็จะตีความยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้เป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้อยู่ดี
จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนี้
(อ้างอิงจากคดี Ruapehu Alpine Lifts
Limited v State Insurance Limited (1998))
ข้อสังเกต แนวโน้มการตีความข้อความร่างใหม่ของเงื่อนไขบังคับก่อนนี้เสมือนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการมองกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้แยกขาดจากกัน
โดยคงตัวเชื่อมเพียงความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเองกับภัยที่คุ้มครองต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ผู้เอาประกันภัยใช้งานอยู่เท่านั้น
เพราะในการกำหนดทุนประกันภัยก็ได้แยกจากกันคนละลักษณะอยู่แล้ว อีกทั้งเบี้ยประกันภัยก็ได้คิดแยกจากกันด้วย
หากนำมาเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
(เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน)
ฉบับมาตรฐานบ้านเรา จะเห็นว่ามีข้อความใกล้เคียงกันมาก ดูเผิน ๆ
เสมือนให้ความยืดหยุ่นเช่นเดียวกับของต่างประเทศ แต่ครั้นไปพิจารณาคำนิยามที่สำคัญที่กำหนดไว้เป็นตัวหนาในหมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป โดยเลือกเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ได้แก่
คำว่า “ความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ” หมายความถึง
ความสูญเสียหรือความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจหรือจากการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจที่ดำเนินอยู่อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ
ณ สถานที่เอาประกันภัย
คำว่า “ความเสียหาย” หมายความถึง
ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยสำหรับทรัพย์สิน
คำว่า “สถานที่เอาประกันภัย” หมายความถึง สถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ซึ่งได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
กลับกลายเป็นคำนิยามเหล่านี้ส่งผลทำให้เงื่อนไขบังคับก่อนนี้ยังคงจำกัดอยู่เพียงจะต้องเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองต่อเฉพาะทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยเท่านั้นเช่นเดิม
ถึงจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนี้ได้
ดังนั้น ผู้ที่จะเอาประกันภัย
หรือนายหน้าประกันวินาศภัยพึงตระหนักและทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันอย่างชัดเจนไว้ด้วยนะครับ
เวลาตกลงทำประกันภัยนี้
เรื่องต่อไป
ผู้รับจำนองมีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ไหม?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook
Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น