วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?


(ตอนที่หนึ่ง)

นักประกันภัยทั่วโลกได้รับคำบอกกล่าวต่อ ๆ กันมาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือได้เรียนรู้จากตำราประกันภัยมาเหมือนกันว่า ในการกำหนดทุนประกันภัยให้เหมาะสมของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินนั้น โดยทั่วไปสามารถเลือกกำหนดทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งในสองทางเลือก  ดังนี้

1) ตามมูลค่าที่แท้จริง (Actual Cash Value)
    คือ มูลค่าตามสภาพที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเวลาที่ทำประกันภัยนั่นเอง กรณีที่เป็นสิ่งปลูกสร้างจะคำนวณจากมูลค่าสร้างใหม่ ณ วันที่ทำประกันภัย หักด้วยค่าเสื่อมราคา (Depreciation) ตามจำนวนปีที่ใช้งาน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ มูลค่าที่แท้จริงของสิ่งปลูกสร้างนั้นที่ควรทำประกันภัยไว้ไม่ต่ำกว่านั้น เพื่อเวลาเกิดความเสียหายก็จะสามารถได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนใกล้เคียงกับมูลค่าที่แท้จริงมากที่สุด เนื่องจากการคำนวณค่าสินไหมทดแทนจะใช้สูตรเดียวกัน ด้วยการคำนวณมูลค่าสร้างใหม่ของสิ่งปลูกสร้างนั้น ณ วันที่เกิดความเสียหาย หักด้วยค่าเสื่อมราคาตามจำนวนปีที่ใช้งาน

2) ตามมูลค่าทดแทน (Replacement Cost Value)
    คือ กำหนดทุนประกันภัยจากมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา ณ วันที่ทำประกันภัย เพื่อเวลาเกิดความเสียหาย ก็จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคำนวณจากมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา ณ วันที่เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เสมือนหนึ่งมิได้เกิดความเสียหายขึ้นมาเลย 

นี่คือ หนึ่งในหลักการของการประกันภัยที่ได้วางเอาไว้ตั้งแต่อดีตจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

แต่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่? เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

ปัญหาชวนปวดหัวที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับการกำหนดทุนประกันภัยภายใต้มูลค่าที่แท้จริง

เรามาลองตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้ดูนะครับ

ลมพายุพัดมาทำให้ต้นไม้หักโค่นไปโดนหลังคาบ้านของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายบางส่วน

เมื่อตัวบ้านของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และได้รับความเสียหายจากภัยลมพายุที่คุ้มครองเอาไว้ด้วย บริษัทประกันภัยรายนี้จึงตกลงที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าซ่อมแซมหลังคาที่เสียหายให้ เนื่องจากตัวบ้านที่เอาประกันภัยนี้ได้กำหนดทุนประกันภัยตามมูลค่าที่แท้จริง (Actual Cash Value) เอาไว้ ฉะนั้น การคำนวณค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าเสียหายบางส่วนจะคำนวณจากค่าซ่อมแซมเพื่อทำให้สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมด้วยการเปลี่ยนทดแทนวัสดุชิ้นใหม่ที่มีชนิดและคุณภาพเช่นเดิม หรือใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด (บางครั้งเรียกว่า ใช้ของใหม่ทดแทนของเก่า (New for Old)) พร้อมหักค่าเสื่อมราคาด้วย 

ผู้เอาประกันภัยไม่ยอมรับวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นนี้ จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล และได้มีการต่อสู้คดีจนถึงระดับศาลสูง

ประเด็นข้อพิพาทอยู่ตรงที่ว่า บริษัทประกันภัยมีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาได้หรือไม่?

บริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุว่า

บริษัทจะชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ วันที่เกิดความเสียหาย แต่จะไม่เกินกว่าค่าซ่อมแซม หรือค่าเปลี่ยนทดแทนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายนั้นด้วยวัสดุที่มีชนิดและคุณภาพเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

โดยหลักการตามมูลค่าที่แท้จริงเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะคำนวณจากมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) ของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ วันที่เกิดความเสียหาย แล้วหักค่าเสื่อมราคา เพราะมิฉะนั้นแล้ว การใช้ของใหม่ทดแทนของเก่าไปเลย จะเสมือนทำให้มูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเพิ่มสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ อันขัดกับหลักการของการชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง ทั้งตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ยังมิใช่ตกอยู่ในสภาพของใหม่อีกด้วย

ศาลสูงได้พิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า 

ก) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวมิได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “มูลค่าความเสียหายที่แท้จริง” เอาไว้เลย ทั้งในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มิได้บัญญัติเอาไว้เช่นกัน เมื่อกลับมาดูที่ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่ปรากฏข้อความตรงใดเลยที่กำหนดให้มีการหักค่าเสื่อมราคาเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย 

ข) จุดประสงค์ของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถกลับคืนสู่สภาพดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้เกิดความเสียหายขึ้นมาเลยนั้น จะไม่อาจบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ หากว่า ยังกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยจำต้องควักกระเป๋าตัวเองเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคาอีก

ค) ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มีความชัดเจน ซึ่งบุคคลทั่วไปอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้เองว่า มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงเมื่อนำไปใช้กับกรณีค่าเสียหายบางส่วนไม่จำต้องมีการหักค่าเสื่อมราคาเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ประการใด 

จึงตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายชนะในคดีนี้

(อ้างอิงจากคดี Thomas v. American Family Mutual Ins. Co., 233 Kan. 775 (1983))

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับคำพิพากษาคดีนี้?

แล้วเราจะมาคุยกันต่อในคราวหน้า

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น