วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 95: ผู้รับจำนอง (Mortgagee) มีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ไหม?


เวลาไปกู้เงินจากธนาคาร แม้ลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับอาคารสิ่งปลูกสร้างได้นำทรัพย์สินนั้นของตนไปจดจำนองกับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระมูลหนี้เงินกู้แล้ว เรามักจะเห็นธนาคารเจ้าหนี้หรือผู้รับจำนองขอให้ลูกหนี้ผู้จำนองจัดทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันนั้น พร้อมให้ระบุธนาคารผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเผื่อไว้อีกทอดหนึ่ง 

ในทางปฏิบัติทั่วไป บริษัทประกันภัยอาจเพียงระบุให้ธนาคารผู้รับจำนองนั้นเป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระผูกพันไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยอย่างเดียวก็ได้ หรืออาจแนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) แบบ อค./ทส. 1.88 กำกับไว้ด้วยก็ได้ (วิธีการแรกกับวิธีการที่สอง อันไหนจะดีกว่ากัน ถ้ามีโอกาส จะเขียนแนะนำให้รับทราบอีกครั้งนะครับ)

แต่เราจะไม่พบเห็นการร้องขอให้ระบุชื่อธนาคารผู้รับจำนองนั้นเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

คำถาม คือ ผู้รับจำนองมีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้หรือไม่?

ประเด็นเรื่องนี้ได้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ
 
เจ้าของธุรกิจสถานโบว์ลิ่งแห่งหนึ่งได้นำที่ดินกับอาคารสถานโบว์ลิ่งไปจดจำนองไว้กับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ โดยได้จัดทำเป็นชุดกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นมาหนึ่งฉบับ ประกอบด้วยความคุ้มครองสองส่วน คือ 

1) ส่วนที่หนึ่งคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ได้แก่ อาคารที่จำนองไว้ และระบุชื่อธนาคารผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย พร้อมแนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) ไว้ด้วย และ

2) ส่วนที่สองคุ้มครองความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันสืบเนื่องมาจากความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเอง

ต่อมาได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้สร้างความเสียหายให้แก่ตัวอาคารที่เอาประกันภัย และส่งผลทำให้จำต้องหยุดประกอบการสถานโบว์ลิ่งชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง เมื่อบริษัทประกันภัยได้พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองแล้ว ก็ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

1) ในส่วนของความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยชดใช้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย 

2) ในส่วนความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยอ้างว่า ผู้รับประโยชน์ไม่มีส่วนได้เสียในความคุ้มครองส่วนนี้

ธนาคารเจ้าหนี้ในฐานะผู้รับประโยชน์จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยโต้แย้งว่า ตนเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับ มีสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจซึ่งเป็นความคุ้มครองส่วนหนึ่งภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ด้วย จึงขอให้ศาลสั่งให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้มาให้แก่ตน

เรื่องนี้ได้มีการต่อสู้คดีกันมาจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์

ประเด็นที่จำต้องวินิจฉัย คือ ผู้รับประโยชน์มีส่วนได้เสียในส่วนความคุ้มครองการหยุดชะงักของธุรกิจหรือไม่?

จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ภายใต้เอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่...(ชื่อผู้รับจำนอง)...ในฐานะผู้รับจำนอง ตามส่วนได้เสีย (interest) อันพึงมี และการประกันภัยนี้ยังมีผลบังคับอยู่ในส่วนของผู้รับจำนองตามส่วนได้เสีย (the interest) เท่านั้น......    
                                 
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในการพิจารณาสิทธิของผู้รับประโยชน์ในกรณีนี้ จำต้องพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของเอกสารแนบท้ายข้างต้นเป็นสำคัญ ฉะนั้น ส่วนได้เสียของผู้รับจำนองในอันที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จึงจำกัดอยู่เฉพาะเพียงความเสียหายโดยตรงที่เกิดแก่ทรัพย์จำนองที่จดทะเบียนไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้เท่านั้น ในที่นี้ คือ อาคารสถานโบว์ลิ่งของผู้เอาประกันภัยที่เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และได้รับความเสียหายจากไฟไหม้นั่นเอง โดยมิได้ครอบคลุมไปถึงความสูญเสียทางการเงินจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัยในฐานะเจ้าของธุรกิจดังกล่าวแต่ประการใด การที่บริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรงจึงเป็นการถูกต้องตามภาระหน้าที่ในสัญญาประกันภัยนี้แล้ว

(อ้างอิงจากคดี Citizens Savings & Loan Association v. Proprietors Insurance Co., 78 A.D.2d 377 (N.Y. App. Div. 1981))

กรณีนี้ หากเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นในบ้านเรา ส่วนตัวเชื่อผลการตัดสินคงไม่แตกต่างกัน เพราะเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) แบบ อค./ทส. 1.88 ได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้เช่นเดียวกัน ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 704 บัญญัติว่า “สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนอง” เมื่อทรัพย์สินจำนองซึ่งถูกระบุให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองจนทำให้มูลค่าทรัพย์สินจำนองนั้นลดน้อยลงไป ผู้รับจำนองก็มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเพื่อชดเชยในส่วนที่เสียหายนั้นได้ ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า “การช่วงทรัพย์” ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 และมาตรา 231 

หากมีคำถามเพิ่มเติมว่า ถ้าระบุเพียงให้ผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ลอย ๆ โดยมิได้แนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause) แบบ อค./ทส. 1.88 ด้วย จะให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2545 วินิจฉัยว่า ผู้รับประโยชน์ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ก็ได้  ส่วนตัวยังคงเห็นว่า ไม่น่าจะส่งผลเปลี่ยนแปลง หากสามารถนำสืบให้ศาลรับฟังได้ถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยในการกำหนดผู้รับประโยชน์ว่ามีมูลเหตุมาจากหนี้จำนอง 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ควรระบุลงไปให้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ต้นเลยว่า “...(ชื่อผู้รับประโยชน์)...ตามภาระผูกพัน” น่าจะปลอดภัยกว่า

เรื่องต่อไป การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น