วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 90:คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” และ “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์


(ตอนที่หนึ่ง)

หากพิจารณาถ้อยคำที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับมาตรฐานบ้านเราแล้ว จะพบสิ่งที่น่าสนใจสองจุดในข้อ 1. กับข้อ 4. ภายใต้หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งเขียนว่า

ข้อ 1. ข้อตกลงคุ้มครอง
          บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย  หรือ
ความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัย
จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์
ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น (the 
Motor vehicle that being in used or is in run-way or from 
articles carried in or attached to the Motor Vehicle) ใน
ระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย และ

ข้อ 4. การคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่
          บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย (any person driving the Motor Vehicle with the Insured's permission) เสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง แต่มีเงื่อนไขว่า
 4.1   บุคคลนั้นต้องปฏิบัติตนเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย
เอง และอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้
         4.2   บุคคลนั้นไม่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
จากกรมธรรม์ประกันภัยอื่น หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ บริษัทจึงจะรับ
ผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนที่เกินเท่านั้น

เจตนารมณ์ของข้อ 4 ตามคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้ระบุว่า ในการประกันภัยรถยนต์ในส่วนของความรับผิดต่อบุคคลภายนอกนั้น จำเป็นต้องขยายให้คุ้มครองรวมถึงผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยที่มิใช่ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยด้วย เพราะในทางปฏิบัติรถยนต์ที่เอาประกันภัยมิใช่มีผู้ใช้รถยนต์เพียงคนเดียว หรือในกรณีที่รถยนต์เป็นของนิติบุคคลก็จะมีพนักงานขับรถยนต์ ถ้าไม่มีการขยายความคุ้มครองรวมไปถึงก็จะเกิดปัญหาคนใช้รถไม่ได้รับความคุ้มครอง คนที่ได้รับความคุ้มครองกลับเป็นคนที่ไม่ได้ใช้รถขึ้น ดังนั้น กรมธรรม์ประกันภัยจึงขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลใดก็ตามซึ่งขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัย โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย เช่น ขาวให้แดงยืมรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้ไปใช้ แดงชวนดำนั่งรถไปเป็นเพื่อนด้วย ขณะเดินทางไปประสบอุบัติเหตุชนคนตาย ซึ่งหากไม่มีข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว บริษัทประกันภัยก็ไม่ต้องชดใช้ความรับผิดต่อความตายที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งนี้ เนื่องจากการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก จะคุ้มครองเฉพาะความรับผิดของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น เมื่อแดงมิใช่ผู้เอาประกันภัย บริษัทประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิด แต่เนื่องจากในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นรถยนต์คันหนึ่ง ๆ มิใช่จะมีผู้ใช้รถเพียงคนเดียว ดังนั้น เพื่อให้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองครอบคลุมไปถึงผู้ขับขี่คนอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้เอาประกันภัยด้วย จึงกำหนดเงื่อนไขข้อดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ดี ทำไมถึงใช้ถ้อยคำแตกต่างกันระหว่างข้อ 1 กับข้อ 4 ข้าง
ต้น? คู่มือตีความฉบับนั้นกลับมิได้ชี้แจงเอาไว้

คุณคิดว่า คำที่เขียนว่า “ใช้ (used)ในข้อ 1 กับ “ขับขี่ (driving)” 
ในข้อ 4 ข้างต้นจะให้ความหมายเหมือนกันไหมครับ?

ถ้าดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะให้ความหมายไว้ ดังนี้

1. ใช้  หมายถึง “(1) ก. บังคับให้ทำ เช่น ใช้งาน (2) ก. จับจ่าย เช่น ใช้เงิน (3) ก. เอามาทำให้เกิดผลหรือประโยชน์ เช่น ใช้เวลา ใช้เรือ ใช้รถ (4) ก. ชำระ ในคำว่า ใช้หนี้ (5) ก. ตอบแทน, ให้ทดแทน, เช่น เราไปทำแก้วเขาแตก ต้องซื้อใช้เขา

2. ขับขี่ หมายถึง (1) ก. สามารถบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้ (2)  (ปาก) ว. เรียกใบอนุญาตให้ขับรถได้ ว่า ใบขับขี่

แล้วจะส่งผลถึงความคุ้มครองได้อย่างไรบ้าง?

งั้นเรามาลองเทียบเคียงกับคดีศึกษาของต่างประเทศกันดูนะครับ เนื่องจากได้เกิดเป็นประเด็นข้อถกเถียงกันจนเกิดเรื่องราวขึ้นมาแล้วหลายคดีถึงความหมายของทั้งสองคำนี้ ซึ่งคำว่า “ขับขี่ (driving)” นั้น ที่ต่างประเทศเขาใช้คำว่า “ขับขี่ (operation)” แทน

แต่ขออนุญาตยกยอดไปพูดต่อในตอนต่อไปปีหน้านะครับ

ผมขอถือโอกาสในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ อำนวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านจงประสบแต่ความสุข ความเจริญ และสุขภาพสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยครับ และขอบพระคุณทุกท่านที่สนใจ และเป็นกำลังใจในการค้นคว้านำเสนอบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง

โปรดอ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/


วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 89:ท่านใดชอบทานไวน์ สะสมไวน์ จะซื้อไวน์ไปฝากใคร ขอให้ลองอ่านเรื่องนี้ไว้บ้างก็ดีครับ?


ไวน์ หรือภาษาไทยเรียกว่า “เหล้าองุ่น” นั้น นอกจากถือเป็นเครื่องดื่มมีระดับที่นิยมดื่มกันแล้ว ยังเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนในการลงทุนเก็บสะสมไวน์ชั้นดี เพื่อสร้างผลตอบแทนทางการเงินอย่างดีเยี่ยมตลอดระยะเวลาที่ถือครอง เพราะไวน์ชั้นสูงที่มีคุณภาพนั้น ยิ่งเก่าเก็บนานเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งถีบตัวเพิ่มสูงตามไปด้วยหลายเท่าตัว 

นักลงทุนสะสมไวน์จึงจำต้องมีความรู้เรื่องไวน์เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการมีเงินทุนที่พอเพียงแล้ว ยิ่งปัจจุบัน มีข้อมูลข่าวสารเรื่องไวน์ให้ศึกษาเรียนรู้อย่างมากมายจากทางอินเตอร์เน็ต หรือจากผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ 

อย่างไรก็ตาม สุภาษิตไทยที่ว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้งสามารถนำมาใช้เป็นอุทธาหรณ์ได้สำหรับคดีศึกษาเรื่องนี้

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับนักสะสมไวน์ชั้นสูงที่มีคุณภาพรายหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาได้ลงทุนเก็บสะสมไวน์หายากระดับโลกไว้มากมายในห้องเก็บไวน์ชั้นเยี่ยม เพื่อลดความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ เขาได้ทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองไวน์หายากเหล่านั้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิเศษสำหรับสิ่งของสะสมที่มีมูลค่าสูง (Valuable Possessions Insurance Policy) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยกำหนดวงเงินความคุ้มครองสูงสุดเผื่อไว้ถึง 19 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 แลได้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นเรื่อยมาทุกปีเป็นเวลานับแปดปีแล้ว

ตลอดเวลาแปดปีดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ลงทุนซื้อไวน์ชั้นสูงที่มีคุณภาพมาสะสมรวมมูลค่าเกือบ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตัวแทนจำหน่ายผู้เชี่ยวชาญไวน์ระดับนี้เจ้าหนึ่งด้วยความไว้วางใจเรื่อยมา

ต่อมา ผู้เชี่ยวชาญไวน์นั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมด้วยข้อหาฉ้อโกง โดยทำการปลอมแปลงไวน์ที่ตนจำหน่าย ด้วยการนำไวน์หลายชนิดมาผสมกัน และปลอมฉลากป้ายยี่ห้อไวน์ด้วย เขาถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกตามข้อกล่าวหาเป็นเวลาสิบปีในปี ค.ศ. 2013  

เมื่อเป็นเช่นนั้น ในปี ค.ศ. 2014 ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงยื่นเรื่องเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตน เนื่องจากการฉ้อโกงมิได้ถูกระบุยกเว้นเอาไว้

บริษัทประกันภัยรายนั้นพิจารณาแล้ว ได้ตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า มิได้เกิดความเสียหาย (Loss) ขึ้นมาแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวนั้นเลย

ปี ค.ศ. 2015 ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยรายนั้นต่อศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาให้บริษัทประกันภัยจำเลยพ้นผิด

ผู้เอาประกันภัยที่เป็นโจทก์จึงยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อไป

ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ได้วินิจฉัยออกมา ดังนี้

1) เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุว่า “บริษัทตกลงคุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรง และโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ได้เอาประกันภัย (Occurrence) ไว้

เหตุการณ์ที่ได้เอาประกันภัย (Occurrence) ไว้” ได้กำหนดคำนิยามว่า หมายความถึง “ความเสียหาย (Loss) ที่มีต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย และมีสาเหตุมาจากภัยที่คุ้มครองภัยหนึ่ง หรือหลายภัย” แต่สำหรับคำว่า “ความเสียหาย (Loss)” นั้นกลับมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ด้วย

ส่วนข้อยกเว้นทั่วไปที่เกี่ยวข้องได้ระบุว่า ไม่คุ้มครองถึงการสึกหรอ การเสื่อมสภาพทีละน้อย ความชำรุดบกพร่องแฝง การเสื่อมสภาพในตัวเอง และยังมีข้อยกเว้นเฉพาะสำหรับไวน์ที่เอาประกันภัยอีกว่า การขาดการดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จัดเก็บให้คงอยู่ในสภาพที่ถูกต้องเหมาะสมตลอดเวลา การจัดการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง การใช้บริโภค หรือการขาดหาย การรั่วไหล การกระฉอก การระเหย การเสียสภาพ หรือการเสื่อมสภาพที่เป็นไปตามสภาวะปกติของไวน์นั้นเอง

แม้ผู้เอาประกันภัยโจทก์จะอ้างว่า เมื่อคำว่า “ความเสียหาย (Loss)” นั้นมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ จึงตีความให้หมายความรวมถึงความเสียหายใดก็ได้ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย คำว่า “ความเสียหาย (Loss)” นั้นมีความหมายถึงการขยายคำว่า “ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

อนึ่ง การที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีมูลค่าลดลงไปนั้น การลดลงของมูลค่าที่โจทก์อ้างว่า เป็นภัยคุ้มครองที่มิได้ถูกระบุยกเว้นไว้อย่างชัดแจ้งนั้น ศาลกลับเห็นว่า มิใช่หมายถึงภัย แต่เป็นมาตรการคำนวณมูลค่าความเสียหายต่างหาก แม้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะมิได้เขียนไว้อย่างชัดแจ้งว่า คุ้มครองถึงความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่เนื่องจากการประกันภัยทรัพย์สินมีประวัติศาสตร์มายาวนาน และเป็นที่รับรู้เข้าใจทั่วไปอยู่แล้ว หมายถึง คุ้มครองความเสียหายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเอง เป็นต้นว่า จากไฟไหม้ ลมพายุ น้ำท่วม การทำให้เสียทรัพย์ซึ่งสามารถมองเห็นได้ หรือพิสูจน์ได้ อันมิใช่คุ้มครองถึงเฉพาะความเสียหายทางการเงินอย่างเดียวที่จับต้องมิได้ โดยที่โจทก์เองน่าจะตระหนักรับรู้ดีอยู่แล้วเวลาที่เอาประกันภัย แม้จะมิได้เขียนคำว่า “กายภาพ (Physical)” กำกับไว้ก็ตาม 

2) ส่วนข้ออ้างที่โจทก์กล่าวว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้ระบุยกเว้นการฉ้อโกง (Fraud) เอาไว้เลย โจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนตามข้อกล่าวอ้าง เพื่อให้จำเลยสามารถโต้แย้งได้ กระนั้นก็ตาม เนื่องจากตัวไวน์ที่เอาประกันภัยนั้นเป็นของปลอม และปราศจากมูลค่าที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นจวบจนปัจจุบัน โดยยังคงสภาพเช่นนั้นตลอดมา มิได้ปรากฏความเสียหายทางกายภาพแต่ประการใด ข้ออ้างดังกล่าวก็มิได้ส่งผลแก่เงื่อนไขความคุ้มครองที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนนั้นเลย

แม้ศาลจะตระหนักในความโชคร้ายของโจทก์ แต่ก็เห็นว่า จำเลยผู้รับประกันภัยไม่มีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ จึงตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

(อ้างอิงจากคดี Doyle v. Fireman's Fund Ins. Co., 229 Cal. Rptr. 3d 840 (Ct. App. 2018)

คดีนี้ได้ต่อสู้กันมาหลายปีจนกระทั่งมีคำพิพากษาที่น่าจะถึงที่สุดแล้วออกมาในปีนี้ หวังอย่างยิ่งว่า ขบวนการปลอมแปลงไวน์น่าจะถูกขจัดไปแล้ว อย่าให้มีหลงเหลือหลุดลอดออกมาได้อีกเลย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองเวลานี้

เรื่องต่อไป คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” และ “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 88: ข้อยกเว้นว่าด้วยการเคลื่อนตัวของพื้นดินภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไรได้บ้าง?


(ตอนที่สอง)

ที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกามักจะมีข้อพิพาทเรื่องความหมายของข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้จะได้มีการกำหนดคำนิยามไว้แล้วก็ตาม เนื่องจากการตีความถ้อยคำอาจทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันขึ้นมาได้ ประกอบกับข้อความจริงของแต่ละเหตุการณ์ที่ผันแปรไป ยิ่งส่งผลทำให้ไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่า จะต้องตีความออกมาในแนวทางหนึ่งแนวทางใดเสมอไป

ดังในคดีที่สามของบทความชุดนี้

เรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องเดิม ๆ เช่นเดียวกับสองคดีแรก

ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของอาคารอะพาร์ตเมนต์ (คำทับศัพท์ที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถาน) หลังหนึ่งได้รับความเสียหายอย่างมากจากการที่ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการข้างเคียงทำการขุดดินเพื่อก่อสร้างที่จอดรถใต้ดิน แรกเริ่มที่ปรากฏความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยรายนี้พยายามแจ้งต่อทั้งเจ้าของโครงการข้างเคียงกับผู้รับเหมาให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น แต่มิได้รับความใส่ใจ จนความเสียหายเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จำต้องไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีคำสั่งให้หยุดทำการก่อสร้างออกมาหลายฉบับ ก็ยังไม่ยอมหยุดดำเนินการแต่ประการใด สุดท้ายผู้เอาประกันภัยรายนี้ต้องไปพึ่งศาลให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้หยุดการกระทำดังกล่าวโดยเร็ว เนื่องจากสภาพความเสียหายทวีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขนาดไม่น่ามีความปลอดภัยเพียงพอแก่การพักอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์หลังนั้นได้อีกต่อไป น่าแปลกใจที่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา และทั้งที่เกิดขึ้น ณ กรุงนิวยอร์ก จะมีเหตุไม่ใส่ใจกฎหมายได้ขนาดนี้ คือ ทั้งเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างต่างยังคงเพิกเฉยกับคำสั่งศาลที่ออกมา และดำเนินการก่อสร้างต่อไปโดยไม่ใส่ใจอะไรทั้งสิ้น

มองในแง่ดีอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่า เจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวอาจทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “การประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมา (Constractor’s All Risks Insurance)” ซึ่งได้ขยายเงื่อนไขพิเศษความคุ้มครองถึงการสั่นสะเทือน การเคลื่อนตัว หรือการอ่อนตัวของสิ่งค้ำยัน (Vibration or Removal or Weakening of Support Clause) เอาไว้ แต่อาจเห็นว่า เงื่อนไขดังกล่าวมิได้คุ้มครองถึงการแตกร้าว เลยทำงานต่อไปให้ถึงขนาดเกิดการพังทลายทั้งหมดและบางส่วนของอาคารข้างเคียงจะได้เข้าเงื่อนไขดังกล่าวหรือเปล่า? ไม่แน่ใจเหมือนกัน

ถ้าคุณเป็นเจ้าของอะพาร์ตเมนต์หลังนี้ คุณหวังจะไปพึ่งใครต่อดีครับ?

เมื่อตนเองมีประกันภัยแบบระบุภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตน คือ ตัวอาคารหลังนี้อยู่ ก็เรียกให้บริษัทประกันภัยของตนมารับผิดชอบแทนไปก่อน และค่อยให้สวมสิทธิของตนเองไปไล่เบี้ยเอากับคู่กรณีภายหลังน่าจะดีกว่า คิดได้ดังนั้น จึงดำเนินการไป แต่ผลออกมาเป็นเช่นเดียวกับสองคดีแรกครับ บริษัทประกันภัยรายนี้ได้หยิบยกข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดิน (Earth Movement) มาอ้างปฏิเสธความรับผิด ซึ่งกำหนดคำนิยามไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่คุ้มครองทั้งกรณีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติกับด้วยน้ำมือมนุษย์

เอาไงดีล่ะทีนี้ ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านประกันภัยกับกฎหมายดีกว่า และได้รับคำแนะนำให้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยตั้งประเด็นข้อต่อสู้ใหม่ว่า ขอให้บริษัทประกันภัยรับผิดภายใต้ภัยการกระทำโดยป่าเถื่อน (Vandalism) ซึ่งให้ความคุ้มครองอยู่แทน

บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยก็โต้แย้งทันทีว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เข้าข่ายภัยการกระทำโดยป่าเถื่อน (Vandalism) ซึ่งกำหนดคำนิยามไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นการกระทำอย่างจงใจ หรืออย่างมุ่งร้ายโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏเลยว่า คู่กรณีได้กระทำเช่นนั้นต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เอาประกันภัย ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของฝ่ายจำเลย

ครั้นเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ ได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาไว้สองประเด็น คือ

(1) การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวถือเป็นการกระทำโดยป่าเถื่อน (Vandalism) หรือไม่?

(2) การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างจงใจ หรืออย่างมุ่งร้ายหรือไม่?

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว มีความเห็นดังนี้

(1) การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวถือเป็นการกระทำโดยป่าเถื่อน (Vandalism) หรือไม่?
      โดยทั่วไป การกระทำโดยป่าเถื่อนหมายความถึง การกระทำด้วยความคึกคะนอง นึกสนุก มิได้มีเจตนามุ่งร้าย หรือทำให้เกิดอันตรายโดยตรง เพียงแต่ไม่ใส่ใจว่า การกระทำของตนเองจะส่งผลอย่างใดต่อผู้ใดเท่านั้น ดังนั้น ศาลอุทธรณ์มองว่า การกระทำโดยป่าเถื่อนไม่ควรตีความอย่างแคบว่า จำกัดเพียงแค่เป็นการกระทำโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น แม้จะมิได้กระทำโดยตรง แต่อาจส่งผลสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ก็ควรพิจารณาเป็นการกระทำโดยป่าเถื่อนได้เหมือนกัน

(2) การกระทำของเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างจงใจ หรืออย่างมุ่งร้ายหรือไม่?
      การกระทำโดยตั้งใจ และไม่ใส่ใจต่อผลแห่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลอื่นนั้น ศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่า แทบจะไม่แตกต่างจากการกระทำอย่างจงใจ หรืออย่างมุ่งร้ายเลย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายชนะคดีนี้

(อ้างอิงจากคดี Georgitsi Realty, LLC v. Penn-Star Ins. Co., 2013-06731 (N.Y. 10/17/2013))

คุณเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลในคดีนี้ไหมครับ?

ตอนแรกที่ได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้อย่างผิวเผิน ไม่ใคร่เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะยิ่งมาเทียบเคียงกับบทความที่ตนเองเขียนไว้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว เรื่องที่ 2 ซึ่งพูดเปรียบเทียบระหว่างความหมายของภัยการกระทำอย่างป่าเถื่อน (Vandalism) กับภัยการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) โดยในบ้านเรา ภัยการกระทำอย่างป่าเถื่อน (Vandalism) ได้ถูกยุบลงไป คงเหลือเพียงภัยการกระทำอันมีเจตนาร้ายเท่านั้น ซึ่งภายใต้ภัยเพิ่มเติม อค. 1.51 ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า

ความเสียหายโดยตรงจากการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) หมายถึง การกระทำอย่างจงใจเพื่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการก่อกวนความสงบสุขแห่งสาธารณชนหรือไม่ก็ตาม แต่ทั้งนี้ไม่รวมความเสียหายใด ๆ ต่อกระจก (เว้นแต่เป็นกระจกบล็อกที่ใช้ในการก่อสร้าง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร

ฉะนั้น การตีความภัยการกระทำอันมีเจตนาร้ายข้างต้นจะต้องตีความในแนวทางนั้นด้วยหรือเปล่า? จะขัดแย้งกับถ้อยคำที่เขียนไว้ชัดเจนนั้นหรือไม่?

แต่เมื่ออ่านทบทวนคำพิพากษาคดีดังกล่าวหลายครั้ง กอปรกับบทความที่เขียนไว้เมื่อกลางปี พ.ศ. 2559 เรื่องที่ 25 : ความเสียหายจากสาเหตุโดยตรง (Directly Caused) หมายถึงอะไร? เรื่องที่ 27 : อะไร คือ ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรง (Direct Loss or Damage)? ก็ช่วยทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น และเห็นด้วยกับคำพิพากษาคดีนี้ ดังเช่นคำถามที่ผมเคยตั้งกับผู้รับฟังการบรรยายว่า กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งคุ้มครองไฟไหม้ จำเป็นไหม? จะต้องเกิดไฟไหม้บ้านผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ถึงจะได้รับความคุ้มครอง ลองไปค้นหาอ่านทำความเข้าใจกันนะครับ

เคยรับฟังว่า มีข้อพิพาทเกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเราเกี่ยวกับการตีความข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของพื้นดินภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ แต่โชคดีที่ยังไม่มีใครตีความให้ยกเว้นถึงภัยแผ่นดินไหวเข้าไปด้วย แต่เมื่อมาพิจารณาถึงถ้อยคำภาษาอังกฤษที่เป็นต้นฉบับ กลับเขียนไว้ ดังนี้

1.13  subsidence, ground heave or landslip   
1.13 การยุบตัว  การโก่งตัว  หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน

เทียบเคียงกันแล้ว เห็นว่า ต้นฉบับภาษาอังกฤษมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ยกเว้นกว้างถึงขนาดนั้นเลย

หากท่านใดมีปัญหาการตีความข้อยกเว้นนี้ จะลองอาศัยแนวทางการต่อสู้คดีที่หนึ่ง หรือที่สามดูบ้างก็ได้ ได้ผลยังไง? ส่งข่าวมาให้รับทราบกันบ้างก็ดีนะครับ

เรื่องต่อไป ท่านใดชอบทานไวน์ สะสมไวน์ จะซื้อไวน์ไปฝากใคร ขอให้ลองอ่านเรื่องนี้ไว้บ้างก็ดีครับ?  

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
 

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 88: ข้อยกเว้นว่าด้วยการเคลื่อนตัวของพื้นดินภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไรได้บ้าง?


(ตอนที่หนึ่ง)

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน หมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ว่า

.  สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
      1. ความเสียหาย อันเกิดจาก
      …………………..
     1.13 การยุบตัว  การโก่งตัว  หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน

คำว่า “การเคลื่อนตัวของพื้นดิน” กับ “การเคลื่อนตัวของดิน” มีความหมายเช่นไร? และทั้งสองคำให้ความหมายแตกต่างกันหรือไม่?

เนื่องจากมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างชัดแจ้ง ทำให้จำต้องนึกจินตนาการเอาเองว่า หมายความถึงกรณีดังนี้หรือเปล่า?

การทรุดตัวของดิน
การโก่งตัวของดิน
ดินถล่ม
แผ่นดินไหว
ฯลฯ

หากเทียบเคียงกับข้อยกเว้นทำนองนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยของประเทศอเมริกา คือ ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดิน (Earth Movement) ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจน และถอดความออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า  

หมายความถึง การยุบตัวลง การยกตัวขึ้น การเบี่ยงเบน การขยายตัว หรือการหดตัวของดิน ไม่ว่าจะมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม การเคลื่อนตัวของดินรวมถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียงแผ่นดินไหว ดินถล่ม การกัดกร่อน และการทรุดตัวลง (subsidence) แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการพังทะลายของหลุมยุบ

อนึ่ง หากว่า เกิดความเสียหายทางกายภาพโดยอุบัติเหตุเนื่องจากไฟไหม้ ระเบิดที่มิใช่การระเบิดของภูเขาไฟ ผลจากการลักทรัพย์ หรือการแตกของกระจก บริษัทประกันภัยก็จะชดใช้ให้สำหรับความเสียหายที่เป็นผลจากกรณีดังกล่าว

แม้ข้อยกเว้นดังกล่าวของเขาจะมีคำนิยามชัดเจนเช่นนั้น ก็ยังเกิดเป็นคดีพิพาทขึ้นมาว่า ได้หมายความรวมถึงการที่มีผู้รับเหมาก่อสร้างมาขุดดินเพื่อทำการก่อสร้างโครงการข้างเคียงด้วยหรือไม่?

เรามาพิจารณาเรื่องนี้กันครับ

ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นเจ้าของอาคารคอนโดมิเนียมที่พักอาศัยแห่งหนึ่งได้ทำประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับตัวอาคารและทรัพย์สินของตนเอาไว้ ต่อมา สังเกตเห็นร่องรอยแตกร้าวที่ตัวอาคารหลายแห่ง เมื่อเรียกวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ ก็พบและลงความเห็นว่า เป็นผลมาจากการที่ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างข้างเคียงได้ขุดดินจนส่งผลกระทบต่อฐานรากกับโครงสร้างของอาคารคอนโดมิเนียมดังกล่าว

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตน แต่กลับถูกอ้างว่า ไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เพราะเหตุการณ์นี้ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดิน (Earth Movement) ดังมีใจความข้างต้น ทั้งยังตกอยู่ในข้อยกเว้นอีกข้อที่ระบุไม่คุ้มครอง

การเลื่อนข้าง (settling) การแตกร้าว การหดตัว การโป่งนูน หรือการขยายตัว เว้นแต่มีสาเหตุโดยตรงจากภัยที่คุ้มครองจนทำให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมา หรือเป็นผลทำให้เกิดการแตกของกระจก 

โดยที่การเคลื่อนตัวของดินนั้นเองทำให้เกิดการเลื่อนข้าง การแตกร้าวโดยตรงต่อตัวอาคารดังกล่าวด้วย วิศกรผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันเช่นนั้น

เมื่อเป็นคดีขึ้นสู่ศาล ประเด็นที่ศาลจำต้องพิจารณา คือ ข้อยกเว้นดังกล่าวอ้างมีความกำกวม หรือไม่ชัดเจนใช่หรือไม่? หากไม่ชัดเจน โดยหลักกฎหมาย การตีความข้อยกเว้นเช่นนั้น ให้ตีความเป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย

ผู้เอาประกันภัยฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินมีความกำกวม ไม่ชัดเจน คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจเสมือนหนึ่งเน้นยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินที่มีสาเหตุจากภัยธรรมชาติเท่านั้น เนื่องจากตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาทั้งในกรณีแผ่นดินไหว ดินถล่ม การกัดกร่อน และการทรุดตัวลงล้วนสื่อออกไปในกรณีจากภัยเช่นนั้น ส่วนการขุดดินเป็นการกระทำของมนุษย์ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว หากบริษัทประกันภัยประสงค์จะให้รวมถึงการกระทำของมนุษย์ด้วย ก็จะต้องระบุลงไปให้ชัดเจน เพื่อที่จะเข้าใจได้ตรงกัน

เช่นเดียวกับกับข้อยกเว้นอีกข้อ คนทั่วไปอ่านแล้วคงนึกไม่ได้เองว่า จะมิได้รวมถึงอุบัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากการขุดดินโดยจงใจของผู้รับเหมาก่อสร้างด้วย

ศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวมีความกำกวม ไม่ชัดเจนจริง จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

บริษัทประกันภัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีความเห็นยืนตามศาลชั้นต้น

(อ้างอิงจากคดี Pioneer Tower Owners Ass’n v. State Farm Fire & Cas. Co., 12 N.Y.3d 302 (2009))

ถัดมา ได้เกิดกรณีลักษณะคล้ายกันเช่นนี้ขึ้นอีก คือ การขุดดินของโครงการก่อสร้างข้างเคียงทำให้อาคารที่เอาประกันภัยแตกร้าว เมื่อผู้เอาประกันภัยเจ้าของอาคารที่เสียหายไปเรียกร้องค่าสินไหนทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนซึ่งให้ความคุ้มครองตัวอาคารนี้อยู่ ก็ได้ถูกปฏิเสธโดยอ้างถึงข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินนี้เช่นกัน

ผู้เอาประกันภัยรายที่สองนี้ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้บริษัทประกันภัยของตนรับผิดชอบ

คุณคิดว่า ฝ่ายใดจะชนะคดีครับ?

ท่านใดที่ทายฝ่ายผู้เอาประกันภัย ก็จำต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ เพราะในคดีที่สองนี้ ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ล้วนตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดีครับ

เพราะอะไร? ทำไมไม่เหมือนกับคดีแรก? มีอะไรแตกต่างกันบ้าง?

คำเฉลย คือ ข้อยกเว้นการเคลื่อนตัวของดินในคดีที่สองเขียนไม่เหมือนกับคดีแรกครับ เนื่องจากมีข้อความต่อท้ายเพิ่มเติมอีกว่า “ไม่ว่า (การเคลื่อนตัวของดิน) จะเกิดขึ้นจากสาเหตุทางธรรมชาติ หรือเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ หรือกระทั่งสาเหตุอื่นใดก็ตาม

เมื่อปรากฏถ้อยคำที่แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งของบริษัทประกันภัยที่ประสงค์จะไม่คุ้มครองถึงการเคลื่อนตัวของดินทุกสาเหตุโดยเด็ดขาด ศาลจำต้องตีความไปตามเจตนารมณ์เช่นนั้น โดยศาลคดีที่สองก็เน้นย้ำว่า มิได้ตัดสินขัดแย้งกับแนวทางคำพิพากษาคดีแรกแต่ประการใด

(อ้างอิงจากคดี Bentoria Holdings, Inc. v. Travelers Indem. Co., 2012 WL 5256119 (N.Y. Oct. 25, 2012))

เรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดคดีที่สามในลักษณะเดียวกันขึ้นมาอีก จะลองทายต่อไหมครับว่า ฝ่ายใดจะชนะคดีกันแน่คราวนี้? 

รับรองว่า คุณจะต้องอึ้ง ทึ่งแน่ ๆ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/