วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 66:โรงงานได้รับความเสียหาย เนื่องจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร แล้วทำให้เกิดการวาบไฟ (Flashover) จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยของตนหรือไม่?

(ตอนที่หนึ่ง)
กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครอง “ไฟไหม้ หรืออัคคีภัย (Fire)” นั้น คุณเข้าใจ หรือเคยสงสัยบ้างไหมครับว่า คำนั้นมีความหมายอย่างไร?
กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยนี้ ไม่ว่าทั้งของไทย หรือต่างประเทศมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ซะด้วย เว้นแต่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ฉบับมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งได้ระบุว่า “อัคคีภัย หมายความถึง ไฟไหม้ หรือฟ้าผ่า หรือการระเบิดของแก๊สเฉพาะที่ได้กำหนดไว้ว่าได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้” (รวมให้สามภัยเลย)
งั้นคำว่า “ไฟไหม้ ” ที่บริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครองนั้น มันหมายความถึงอะไรกันแน่? เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่นึกคิดเอาไว้ในใจหรือเปล่า?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามไว้ ดังนี้
ไฟ (Fire) หมายถึง น. ชื่อธาตุอย่างหนึ่งในธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม; ผลจากปฏิกิริยาเคมีซึ่งก่อให้เกิดความร้อน แสงสว่าง และเปลว คือ กลุ่มแก๊สที่กำลังลุกไหม้ ทำให้ไหม้สิ่งต่าง ๆ ได้

ไหม้ (Burn) หมายถึง ก. ติดเชื้อไฟ, ลุก, เผา, (ใช้แก่ไฟหรือความร้อน); ว. ถูกความร้อนจนเกรียมหรือจนเป็นถ่าน เช่น ข้าวไหม้; เกรียม, ดำคลํ้า, (ใช้แก่ผิว)

แล้วถ้าเกิดแต่ “ไฟ” อย่างเดียว หรือ “ไหม้ ” อย่างเดียว จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่? หรือต้องเป็นทั้งสองคำผสมกันเท่านั้น?
นี่มันต้องตีความกันถึงขนาดนี้ด้วยเหรอ?

อยากรู้ ก็มาลองรับฟังเรื่องราวนี้กันดูนะครับ
เรื่องนี้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นในประเทศอินเดีย
มีโรงงานแห่งหนึ่งได้ทำประกันอัคคีภัยกับประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
กลางดึกคืนหนึ่ง ได้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นที่ตู้สวิทช์บอร์ดที่ควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งติดตั้งอยู่ในสถานีย่อยของโรงงาน และรับกระแสไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าของรัฐ จนส่งผลทำให้เกิดการวาบไฟ (Flashover) และกระแสไฟฟ้าไหลเกิน ความร้อนเพิ่มขึ้นสูงมาก ถึงขนาดที่สีของตู้สวิทช์บอร์ดไหม้เกรียม เกิดควันกับเขม่ากระจายไปทั่ว และส่วนตู้ฟีดเดอร์ (Feeder) ที่อยู่ติดกันเกิดเป็นรูโบ๋ ทั้งควันกับเขม่า รวมทั้งอากาศที่มีประจุ (Ionized Air) แพร่กระจายไปยังส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) จนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และทำให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าต้องหยุดชะงักลงไป ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงการป้อนน้ำกับไอน้ำเข้าสู่หม้อกำเนิดไอน้ำ (Boiler) และทำให้เกิดความเสียหายแก่หม้อกำเนิดไอน้ำในท้ายที่สุด
ผู้เอาประกันภัยได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หม้อกำเนิดไอน้ำกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้เอาประกันภัยไว้ส่วนหนึ่ง และการที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักลงไประหว่างนั้นอีกส่วนหนึ่ง
เมื่อบริษัทประกันภัยได้มอบหมายให้ผู้ประเมินวินาศภัยเข้าทำรายงานการสำรวจ และประเมินมูลค่าความเสียหายดังกล่าวแล้ว ก็ตอบปฏิเสธว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หม้อกำเนิดไอน้ำกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น มิได้มีสาเหตุมาจากไฟไหม้ แต่มีสาเหตุมาจากการหยุดชะงักของกระแสไฟฟ้าเนื่องจากการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่ตู้สวิทช์บอร์ดต่างหาก จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองภายใต้ไฟไหม้ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นแต่ประการใด
แล้วไฟไหม้ในความหมายของบริษัทประกันภัยในกรณีนี้ หมายถึงอะไรเอ่ย?
คราวหน้าจะได้รับคำตอบครับ

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 65: ผู้โดยสารติดเชื้อโรคจากในรถ ถือเป็นอุบัติเหตุ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์หรือไม่?

(ตอนที่สอง)
คดีนี้ บริษัทประกันภัยรายนี้ยอมรับว่า รถบัสคันที่เกิดเหตุเป็นรถยนต์ที่ได้เอาประกันภัยไว้ และการติดเชื้อวัณโรค (Tuberculosis Infection) ก็เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามคำนิยาม ความบาดเจ็บทางร่างกายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งรวมถึงความเจ็บป่วย หรือโรคภัยด้วย ทั้งยังเห็นว่า การติดเชื้อวัณโรคนั้นถือเป็น “อุบัติเหตุ” ตามคำนิยามด้วย คือ เหตุแห่งความเสี่ยงภัยจากสภาวะเดียวกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือซ้ำ ๆ กันจนเป็นเหตุให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย 

อย่างไรก็ดี ได้โต้แย้งว่า “ความบาดเจ็บทางร่างกาย” นั้น อันมีสาเหตุมาจาก อุบัติเหตุ ดังกล่าวมิได้เป็นผลจากการ “ใช้ (Use)” รถบัสคันนั้นตามที่ได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แต่ประการใด เพียงเป็นผลจากการที่มีคนขับ ซึ่งเจ็บป่วยไม่สบายเท่านั้น หรืออาจมาจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้ จึงมิใช่ “อุบัติเหตุ” ตามเจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับนี้ ซึ่งมิได้มีจุดมุ่งหมายให้ครอบคลุมรวมไปถึงการติดเชื้อโรคที่ติดต่อถึงกันได้ด้วย 

ฝ่ายผู้เสียหายกับเจ้าของรถบัสในฐานะผู้เอาประกันภัยที่จะต้องรับผิดร่วมกันต่อสู้ว่า ผู้โดยสารที่เจ็บป่วยคราวนี้ได้เกิดขึ้นขณะอยู่ในรถคันนั้น และรถคันนั้นก็ได้ถูกใช้ในการขนส่งผู้โดยสารจากต้นทางไปถึงจุดหมายตั้งแต่ต้นจนจบการเดินทาง คำว่า “การใช้” นั้นมิได้มีความหมายจำกัดเพียงแค่การที่รถชนกัน หรือรถพลิกคว่ำเท่านั้น แต่มีความหมายกว้างกว่านั้น โดยรวมถึงอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รถด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีลืมเด็กไว้ในรถที่ปิดประตูหน้าต่างนานหลายชั่วโมง ทำให้เด็กรายนั้นขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต ศาลเคยวินิจฉัยว่า เป็นอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถมาแล้ว

ในกรณีนี้ เกิดจากตัวผู้ขับขี่ที่ป่วยเป็นโรคร้าย ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคได้ทางลมหายใจ รถคันนี้มีโครงสร้างปิด มีระบบแอร์ทำความเย็นและระบบระบายอากาศ แม้จะมีหน้าต่าง แต่มิได้เปิดออกเพื่อรับลมจากภายนอกเลย การถ่ายเทอากาศจะหมุนเวียนอยู่แต่ภายในเท่านั้น โดยที่ผู้ขับขี่จะเป็นผู้สามารถควบคุมระบบแอร์ทำความเย็นกับระบบระบายอากาศเพียงผู้เดียว ดังนั้น อากาศที่อยู่ภายในรถจึงเป็นมวลอากาศเดียวกันที่ใช้สำหรับหายใจของทั้งผู้ขับขี่กับผู้โดยสาร การติดเชื้อวัณโรคจึงเกิดขึ้นภายในรถ จากการ “ใช้” ระบบหมุนเวียนอากาศภายในรถ ส่วนที่ผู้โดยสารบางรายไม่ติดเชื้อวัณโรคก็เพราะมีภูมิคุ้มกันนั่นเอง

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าของรถบัสในฐานะนายจ้างของผู้ขับขี่รถคันนั้น มีความผิดฐานละเมิด จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำต้องเข้ามาร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแทน

บริษัทประกันภัยรายนี้จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินของศาลชั้นต้น โดยโต้แย้งว่า  การแพร่กระจายเชื้อโรคเป็นเรื่องระหว่างคนต่อคน สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะอยู่ภายในรถ หรือนอกรถ ตัวรถมิได้ทำให้เกิดการแพร่กระจาย นอกจากนี้ ผู้โดยสารบางรายยังให้การต่อศาลว่า ระหว่างที่รถจอด หรือในบริเวณโรงแรมที่พัก ผู้ขับขี่ยังไอใส่ตอนอยู่นอกรถอีกด้วย และระหว่างการเปิดประตูรถขึ้นลงนั้น อากาศจากภายนอกอาจเข้ามาภายในรถก็ได้ ทั้งฝ่ายผู้เสียหายมิได้มีพยานหลักฐานยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาเดินทาง ผู้ขับขี่มิได้เผลอกดปุ่มเปิดให้อากาศจากภายนอกเข้ามาได้ ฉะนั้น จึงไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ขับขี่กับรถคันนี้เป็นผู้เผยแพร่กระจายเชื้อโรคโดยตรง ซึ่งต่างจากคดีเด็กที่เสียชีวิตอยู่ในรถ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ เพราะเด็กอาจจะไม่เสียชีวิต ถ้าอยู่นอกรถ แต่คดีนี้ การติดเชื้อวัณโรคอาจเกิดขึ้นภายในรถ หรือภายนอกรถก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น

ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้ศาลชั้นต้นย้อนคดีกลับไปค้นหาพยานหลักฐานให้ชัดแจ้งอีกครั้ง

เมื่อบริษัทประกันภัยรายนี้ฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาจึงทำการวินิจฉัยว่า ตราบใดยังไม่มีพยานหลักฐานแสดงอย่างสิ้นสงสัยว่า ผู้เสียหายได้ติดเชื้อโรคนี้ภายในรถจริง ศาลฎีกาจำต้องกลับคำตัดสินให้บริษัทประกันภัย ตลอดจนเจ้าของรถบัสพ้นผิดตามข้อกล่าวหา

(อ้างอิงคดี Lancer Insurance Company v Garcia Holiday Tours Case No. 10-0096 (TX S.Ct., Jul. 1, 2011))

เรื่องต่อไป: โรงงานได้รับความเสียหาย เนื่องจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร แล้วทำให้เกิดการวาบไฟ (Flashover) จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยของตนหรือไม่?

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 65: ผู้โดยสารติดเชื้อโรคจากในรถ ถือเป็นอุบัติเหตุ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์หรือไม่?

(ตอนที่หนึ่ง)
ในเรื่องที่ 64 ที่ผ่านมา ลืมบอกไปว่า อ้างอิงมาจากคดี Scott v State Farm Mut Auto Ins Co, 278 Mich App 578, 586-587; 751. NW2d 51 (2008) นะครับ

สำหรับเรื่องนี้ ถือเป็นคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งเห็นว่า น่าสนใจ เผื่ออาจเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาในบ้านเราก็ได้

เรื่องราวมีดังนี้ครับ

คณะดนตรีของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งได้ว่าจ้างรถบัสพร้อมคนขับ เพื่อเดินทางไปท่องเทียวยังต่างเมือง ระหว่างเดินทาง ผู้โดยสารสังเกตุเห็นคนขับจะส่งเสียงไอไปเกือบตลอดทาง เมื่อกลับมาแล้ว ปรากฏว่า คนขับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้ตรวจพบอาการติดเชื้อวัณโรค (Active Tuberculosis) โดยที่ตัวคนขับนั้นมิได้รู้มาก่อนว่า ตนเองมีเชื้อวัณโรคแอบแฝงอยู่ในร่างกาย (Latent Tuberculosis) ะยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมาแสดงอาการ

เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อถึงกันได้ทางลมหายใจ จึงได้มีการเรียกตัวผู้โดยสารทุกคนเข้ามาทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อโรคนี้ ซึ่งผู้โดยสารหลายคนปรากฏผลเป็นบวก คือ ติดเชื้อวัณโรคแอบแฝงอยู่ยังไม่แสดงอาการ ผู้โดยสารกลุ่มนี้จึงได้ทำการฟ้องร้องให้ทั้งคนขับกับบริษัทรถบัสนั้นต้องรับผิด โทษฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่อจนทำให้ผู้โดยสารเหล่านั้นได้รับเชื้อวัณโรคดังกล่าว จากการที่ต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปิดดังเช่นในรถบัสคันนั้น

รถบัสคันนี้ได้ทำประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ บริษัทรถบัสในฐานะผู้เอาประกันภัยจึงได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามารับผิดชอบแทน ตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่ระบุตอนหนึ่งถอดความได้ว่า 

จะทำการชดใช้ความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอก อันเนื่องมาจากความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอกที่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ และเป็นผลมาจากการเป็นเจ้าของ การดูแลรักษา หรือการใช้รถยนต์คันที่คุ้มครองนั้น

โดยมีคำจำกัดความเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้
อุบัติเหตุ” หมายความถึง เหตุแห่งความเสี่ยงภัยจากสภาวะเดียวกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือซ้ำ ๆ กันจนเป็นเหตุให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน 

รถยนต์” หมายความถึง ยานยนต์ทางบกที่ใช้เพื่อการเดินทางบนถนนสาธารณะ

ความบาดเจ็บทางร่างกาย” หมายความถึง ความบาดเจ็บทางร่างกาย ความเจ็บป่วย หรือโรคภัยที่เกิดขึ้นแก่บุคคล รวมถึงการเสียชีวิตอันเป็นผลมาจากการนั้นด้วย

คุณคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับนี้ไหมครับ?

ลองวิเคราะห์กันดูไปพลาง ๆ ก่อนนะครับ แล้วค่อยมารับฟังคำวินิจฉัยของศาลในคดีนี้กันสัปดาห์หน้า ซึ่งได้ต่อสู้จนกันจนถึงชั้นศาลฎีกาเลยทีเดียว

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 64: ผู้บาดเจ็บเกิดภาวะโรคอ้วน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้หรือไม่?

(ตอนที่สอง)
ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาเรื่องนี้ โดยลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1) ปี ค.ศ. 1981 เพียงสามวันก่อนที่จะฉลองอายุครบสิบแปดปี ผู้โดยสารสตรีรายนี้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงทางสมอง เมื่อรถยนต์คันที่เธอนั่งชนกับรถคู่กรณีที่ไม่มีประกันภัย
2) บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองรถยนต์คันที่เธอนั่ง ตกลงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เธอตามเงื่อนไขความคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ลักษณะคล้ายกับความคุ้มครองภาคบังคับของผู้ประสบภัยจากรถของบ้านเรา) โดยชดใช้ตามค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงเรื่อยมา
3) ปี ค.ศ. 1991 แพทย์ตรวจพบระดับคอเรสทอเรลสูงผิดปกติในร่างกายของเธอ จึงพยายามแก้ไขด้วยการจัดโปรแกรมออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และใช้ยาเข้าช่วยในท้ายที่สุด
4) ปี ค.ศ. 1997 แพทย์ผู้รักษารายแรกทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัยโดยลงความเห็นว่า อาการภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ภาวะโรคอ้วน” ของคนไข้รายนี้ เป็นผลเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาการบาดเจ็บทางสมองทำให้เธอประสบปัญหาในการควบคุมตนเอง ทั้งในการออกกำลังกาย และการควบคุมจำกัดอาหาร แม้จะใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแลแล้วก็ตาม
5) ปี ค.ศ. 2003 แพทย์ผู้รักษารายที่สองก็ให้ความเห็นคล้ายคลึงกันว่า สภาพร่างกายของเธอทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้ เพราะมีอาการเจ็บปวดที่เท้ากับหัวเข่าเพิ่มมากขึ้น จนจำต้องใช้รถเข็นเข้าช่วยในการเคลื่อนไหวแทนการใช้เพียงไม้เท้าพยุงตัว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ รวมทั้งสาเหตุจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น อาการภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) นี้ จึงน่าเป็นผลเชื่อมโยงมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งนั้นนั่นเอง
6) ปี ค.ศ. 2004 บริษัทประกันภัยแจ้งปฏิเสธการชดใช้ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลกรณีภาวะโรคอ้วน โดยอ้างว่า มิใช่กรณีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1981 แต่ประการใด ทั้งมิใช่เป็นกรณีของสาเหตุใกล้ชิดด้วย เพราะกรณีภาวะโรคอ้วนนี้ทิ้งช่วงห่างไกลกันมาตั้งร่วมสิบปีแล้ว
7) ครอบครัวของเธอจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น ซึ่งวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิด
8) บริษัทประกันภัยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า “บริษัทประกันภัยจะรับผิดด้วยการชดใช้ผลประโยชน์ใด ๆ สำหรับความบาดเจ็บทางร่างกายโดยอุบัติเหตุ อันเกิดขึ้นเนื่องจาก (arise out of) การเป็นเจ้าของ การขับขี่ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถยนต์คันนั้นเป็นยานพาหนะ  
คำว่า “เกิดขึ้นเนื่องจาก หรือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยบางฉบับแปลว่า “เป็นผลมาจาก (arise out of)” นั้นมีความหมายเช่นใด? 
ศาลนี้ตีความโดยอ้างอิงแนวทางคำพิพากษาคดีอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ที่ว่า คำนี้มิได้ให้ความหมายเช่นเดียวกับสาเหตุใกล้ชิด (proximate cause) แต่จะให้ความหมายกว้างกว่า โดยเพียงขอให้มีความเชื่อมโยงกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็ได้แล้ว แต่ก็มิใช่ถึงขนาดที่ห่างไกลจนเกินไป เพียงให้คำตอบได้ว่า ความบาดเจ็บนั้นเป็นผลมาจาก มีต้นเหตุมาจาก เกิดขึ้นเนื่องมาจาก หรือเกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์คันนั้นก็ใช้การได้แล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ให้บริษัทประกันภัยรับผิดสำหรับค่ารักษาพยาบาลภาวะโรคอ้วนนี้ด้วย 
บริษัทประกันภัยยื่นฎีกาคัดค้านว่า ถ้าศาลใช้ทฤษฏีการตีความกว้างแบบนี้ เปรียบเสมือนหนึ่งทำให้เกิดฟ้าถล่มธุรกิจประกันภัยเลยนะนี่
เรื่องนี้จึงเป็นมหากาพย์ที่ต้องต่อสู้ยืดเยื้อกันออกไปอีกนาน เมื่อพิจารณานับจากวันที่เกิดอุบัติเหตุในปี ค.ศ. 1981 จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลชั้นฎีกาออกมา ซึ่งขณะที่เขียนบทความนี้ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2018 ยังไม่เห็นมีคำวินิจฉัยคดีนี้ออกมาเลย
ที่หยิบยกเรื่องนี้มาเขียน แม้จะไกลตัวกับของบ้านเราไปมาก เพราะเงื่อนไขความคุ้มครองบ้านเรามิได้กำหนดไว้เช่นนั้น วงเงินค่ารักษาพยาบาลก็ไม่สูงนัก ทั้งเวลาเจรจาตกลงชดใช้กัน มักตัดตอนเหมาจ่ายกันให้จบโดยเร็วมากกว่า แต่เห็นว่า มีประเด็นที่น่าสนใจเรื่องการเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมของกรมธรรม์ประกันภัย
ถึงแม้ถ้อยคำ “เกิดขึ้นเนื่องจาก (arise out of)” นี้ ศาลต่างประเทศในหลายประเทศยังมีแนวทางการตีความที่แตกต่างกัน หาข้อยุติไม่ได้ บางศาลเห็นว่า ไม่ควรตีความให้กว้างเกินไปเช่นนั้น
ส่วนตัวจึงคิดว่า เรื่องของถ้อยคำต่าง ๆ ที่เขียนให้แตกต่างกันนั้น น่าใส่ใจเรียนรู้ไว้บ้าง ก็ดีนะครับ
เรื่องต่อไป: ผู้โดยสารติดเชื้อโรคจากในรถ ถือเป็นอุบัติเหตุ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์หรือเปล่า?