วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 58: ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ (Air Turbulence) สายการบินต้องรับผิดหรือไม่?



วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1990 ผู้โดยสารสายการบินแห่งหนึ่งเป็นสุภาพสตรีชาวคานาดา อายุ 72 ปี ซึ่งเคยมีประวัติการรักษาโรคกระดูกพรุน (osteoposis) มาก่อน ได้รับบาดเจ็บจากการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ (air turbulence) ระหว่างเส้นทางการบินจากเมืองโตรอนโต ประเทศคานาดา ไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา จนถึงขนาดทำให้ข้อกระดูกสันหลังสามข้อยุบตัว (compression fracture of three vertebrae) อันเป็นผลมาจากการแรงกระแทกอย่างรุนแรง

เธอจึงฟ้องเรียกร้องให้สายการบินรับผิด แต่สายการบินโต้แย้งว่า เหตุการณ์การตกหลุมอากาศครั้งนี้มิได้อยู่ในความหมายของ “อุบัติเหตุ” ซึ่งสายการบินจะต้องรับผิดตามอนุสัญญาวอร์ซอ ค.ศ. 1929 (Warsaw Convention) ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่โดยอนุสัญญามอนทรีออล ค.ศ. 1996 (Montreal Convention 1966) ว่าด้วยการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้ยึดถือเป็นมาตรฐานเดียวกันแก่ทุกประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก หรือมิฉะนั้น อาการบาดเจ็บของโจทก์ผู้เสียหายได้เกิดขึ้นภายหลังลงจากเครื่องบินลำนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ศาลได้ทำการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็นโดยสรุปได้ดังนี้

จากประวัติส่วนตัวของโจทก์ผู้เสียหาย ซึ่งได้เกษียณอายุแล้ว และตกพุ่มม่าย แม้ในวัยเด็กของเธอเคยมีประวัติเป็นโรคหืดหอบ (asthma) ทำให้จำต้องทานยาต้านทานภูมิแพ้จำพวกคอร์ติโซน (cortisone) เรื่อยมา ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงโรคกระดูกพรุน แต่เธอก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทำงานบ้าน ขับรถเอง เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศประจำทุกปี แบกกระเป๋าเดินทางเอง โดยเฉพาะก่อนขึ้นเครื่องบินลำนี้ เธอก็สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองตามปกติ

พยานโจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนของเธอที่ร่วมเดินทางไปด้วยให้การว่า ระหว่างการบิน รู้สึกค่อนข้างโคลงบ้างเป็นระยะ ในช่วงเวลาบินสามชั่วโมง จนกระทั่งกัปตันประกาศให้นั่งรัดเข็มขัดอยู่กับที่ที่พยานรู้สึกว่า เป็นประสพการณ์ที่รุนแรงในชีวิตที่เพิ่งเจอการตกหลุมอากาศขนาดนี้ ทำให้เสมือนหนึ่งเครื่องบินดิ่งลงมา เสียการทรงตัว เสมือนจะลงกระแทกกับพื้นดิน และผู้โดยสารต่างหวีดร้องตะโกนกันดังไปหมด รถเข็นอาหารพลิกคว่ำตะแคงลงมา หลายคนตัวสั่นเสียขวัญกัน และรู้สึกโล่งอกทันที่เหตุการณ์สงบลง

ครั้นเมื่อเครื่องบินถึงจุดหมายปลายทาง พยานต้องประคองโจทก์ ซึ่งตัวยังคงสั่นเทาไปหมดลงจากเครื่องบิน โดยโจทก์ไม่อยู่ในสภาพที่จะไปเอากระเป๋าเดินทางด้วยตนเองได้ เมื่อขึ้นรถโดยสารรับส่ง (shuttle bus) โจทก์ไม่สามารถนั่งลงได้ เนื่องด้วยรู้สึกตัวแข็งเกร็งเจ็บปวดมาก แต่พยายามฝืนไปพักรักษาอาการที่บ้านเพื่อนก่อน ก็ยังไม่ดีขึ้น จำต้องไปโรงพยาบาลในที่สุด ซึ่งหมอกลับมิได้ตรวจดูรายละเอียดมากนัก เพียงให้ทานยาแก้ปวด และให้กลับบ้าน

ต่อมา โจทก์ได้บินกลับประเทศของตนตามกำหนด และได้ไปแพทย์ประจำตัว จึงตรวจพบข้อกระดูกสันหลังสามข้อยุบตัว (compression fracture of three vertebrae) อันเป็นผลมาจากการแรงกระแทกอย่างรุนแรงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่า คำให้การของพยานนี้ยังไม่ใคร่ชัดเจนนัก เพราะเมื่อพยานนี้ถูกซักค้าน เรื่องสายรัดเข็มขัดตึงหรือไม่ระหว่างที่ตกหลุมอากาศ กลับตอบว่า ไม่รู้สึกเช่นนั้น ประกอบกับพยานผู้โดยสารรายอื่น ให้การขัดกันว่า การตกหลุมอากาศมิได้รู้สึกรุนแรงถึงขนาดเสมือนหนึ่งจะทำให้เครื่องบินตกดังอ้างถึงเลย

ครั้นพิจารณาจากพยานที่เป็นฝ่ายสายการบิน กัปตันให้การว่า ปกติเส้นทางการบินนี้ มักจะเกิดตกหลุมอากาศอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้ว การตกหลุมอากาศสามารถจัดแบ่งความรุนแรงออกได้เป็นสี่ระดับ ดังนี้  (สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมมาจาก http://www.aeromet.tmd.go.th/met/story/show_61.htm สำนักอุตุนิยมวิทยาการบิน)

ความรุนแรง
ลักษณะที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน
เล็กน้อย (light)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด สิ่งของต่าง ๆ ในเครื่องบินยังคงอยู่นิ่งกับที่
ปานกลาง (moderate)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด และผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราว แม้ขณะที่รัดเข็มขัดอยู่ สิ่งของต่าง ๆ ในเครื่องบินเคลื่อนที่ได้
รุนแรง (severe)
สภาพความปั่นป่วนที่ทำให้นักบินไม่สามารถความคุมเครื่องบินได้ชั่วขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้น-ลง อย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัดและสิ่งของต่าง ๆ ในเครื่องบินถูกโยน ลอยขึ้นในอากาศได้
รุนแรงมากที่สุด (extreme)
สภาพความปั่นป่วนในลักษณะนี้พบน้อยมาก เครื่องบินถูกโยนขึ้น-ลงอย่างรุนแรงมาก และนักบินไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งอาจก่อความเสียหายให้แก่เครื่องบินได้

ซึ่งระดับความรุนแรงปานกลางนั้น ผู้โดยสารควรรู้สึกความตึงของสายรัดเข็มขัดได้บ้าง และการเสริฟ์อาหารของว่างต่าง ๆ ยังคงทำได้ แต่ด้วยความยากลำบาก

ทั้งกัปตัน และลูกเรือมิได้จำต้องจัดทำรายการเหตุการณ์การบินคราวนั้นแต่ประการใด เนื่องจากมิได้มีเหตุการณ์รุนแรงดังที่กล่าวอ้างเกิดขึ้น และตามหลักเกณฑ์คู่มือปฏิบัติแล้ว จะต้องทำรายงานต่อเมื่อเกิดความรุนแรงตั้งแต่ระดับรุนแรงขึ้นไปเท่านั้น

นอกจากนี้ เครื่องบินลำนี้ยังมีกำหนดบินกลับจุดเริ่มต้นภายในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หากเกิดเหตุการณ์ตกหลุมอากาศระดับรุนแรงดังที่โจทก์กล่าวอ้างจริง คงไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นบินได้ตามกำหนด เพราะคงต้องถูกตรวจสอบสมรรถภาพ ความปลอดภัยของเครื่องบินกันอย่างยกใหญ่แล้ว

การเกิดการตกหลุมอากาศระหว่างการบินนั้น ถือเป็นสิ่งปกติ และสิ่งที่คาดหวังได้ ซึ่งผู้เดินทางทางเครื่องบินอาจประสบพบเจอได้ทั่วไป เว้นแต่ถ้าระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงขึ้นไป ถึงจะถือเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และไม่อาจคาดหวังได้ อันจะทำให้อยู่ในความหมายของคำว่า “อุบัติเหตุ” ในอนุสัญญาวอร์ซอที่สายการบินจำต้องรับผิด ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงยังไม่เชื่อว่า ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังที่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นมาจริง สายการบินจึงพ้นผิดในคดีนี้ (อ้างอิงมาจากคดี Quinn v. Canadian Airlines International, 1994 CanLII 7262 (1994-05-30))

กรณีนี้คงเปรียบเทียบได้อีกอย่างหนึ่งเสมือนเรานั่งรถไปตามถนนที่มีสภาพขรุขระ คนนั่งอาจรู้สึกกระเด็น กระดอน กระเทือนบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ แต่ถ้าตกหลุมขนาดใหญ่ คงต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

เมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามอนทรีออล ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แล้ว แม้วงเงินความคุ้มครองตามที่อนุสัญญานี้จะได้ถูกกำหนดชัดเจนแน่นอนไว้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกชาติสมาชิกแล้วก็ตาม แต่ถ้าใครยังไม่เห็นความจำเป็นของการประกันภัยเดินทางไปต่างประเทศ อาจต้องทบทวนความคิดใหม่บ้างนะครับ

สัปดาห์หน้า เราจะมาพิจารณาความเห็นจากผู้เข้าร่วมสนุกของเรื่องที่ 57 กันนะครับ พร้อมประกาศผู้ได้รับรางวัล ดังนั้น ขอเชิญชวนเข้ามาร่วมสนุกกันครับ อาจส่งมาทางอีเมลนี้ก็ได้ครับ vivatchai.amornkul@gmail.com ขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ครับ และขอให้มีความสุขกันทุกท่านนะครับ

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 57: ผู้โดยสารเครื่องบินลื่นหกล้มระหว่างเดินไปยังที่นั่งของตน ถือเป็นอุบัติเหตุที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบหรือไม่?



(ตอนที่สอง)

ในการพิจารณาคดี ณ ประเทศอังกฤษนั้น ศาลได้พิจารณาโดยยึดถือตามอนุสัญญามอนทรีออล ค.ศ. 1999 (Montreal Convention 1999) เป็นสำคัญ ซึ่งได้ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้สายการบินนานาชาติที่เป็นภาคีอนุสัญญานี้ ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในเรื่องความรับผิดว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสาร หรือการขนส่งสิ่งของระหว่างประเทศ โดยประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นจุดเริ่มต้นการขนส่ง และประเทศอังกฤษที่เป็นจุดหมายปลายทางล้วนอยู่ในภาคีอนุสัญญานี้

มาตรา 17.1 ของอนุสัญญานี้บัญญัติโดยสามารถถอดข้อความเป็นภาษาไทยว่า “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต หรือความบาดเจ็บทางร่างกายของผู้โดยสาร โดยมีเงื่อนไขเพียงเฉพาะว่า อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต หรือความบาดเจ็บทางร่างกายนั้น ได้เกิดขึ้นบนเครื่องบิน หรือในระหว่างการดำเนินการใด ๆ ในการขึ้น หรือการลงจากเครื่องบิน

ฉะนั้น ประเด็นในการพิจารณาคดีนี้ประกอบด้วย
1) ความบาดเจ็บทางร่างกาย
2) อันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ
3) บนเครื่องบิน

ประเด็นที่สำคัญ และโต้แย้งกันอยู่ คือ ข้อ 2) คำว่า “อุบัติเหตุ” ซึ่งโจทก์ผู้เสียหายอ้างว่า ตนได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แต่จำเลยสายการบินแย้งว่า อุบัติเหตุที่สายการบินจำต้องรับผิดนั้นจะต้องเกิดจากปัจจัยภายนอกบางอย่างซึ่งผิดปกติ หรือมิได้คาดหวังมาก่อนจนส่งผลทำให้ผู้เสียหายต้องลื่นล้ม แต่ขณะที่การจัดผังที่นั่ง ช่องว่างระหว่างที่นั่ง ตัววัสดุที่นั่งเอง ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ และพื้นล้วนเป็นไปตามมาตรฐานของสายการบิน มิได้มีสิ่งใดบกพร่อง หรือผิดปกติแม้แต่น้อย ดังนั้น การเพียงลื่นล้มขึ้นมาเอง (mere fall) ทำไมสายการบินจะต้องรับผิดด้วยเล่า?

ศาลได้วิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกับแนวทางคำพิพากษาอื่น ๆ เรื่องอุบัติเหตุที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากอนุสัญญานี้มิได้มีคำนิยาม “อุบัติเหตุ” ไว้เป็นการเฉพาะ โดยศาลเห็นว่า อุบัติเหตุน่าจะมีความหมายถึงเหตุการณ์ อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก เป็นต้นว่า ลื่นราวโลหะ (metal strip) ที่วางยึดติดกับพื้น ลื่นราวพักแขนระหว่างหย่อนตัวลงนั่ง หรือกระทั่งสะดุดพรม ซึ่งไม่มีสิ่งใดที่ผู้เสียหายสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้เลย นอกจากคำให้การว่า ได้ลื่นไถลล้มลงจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว แม้จะตั้งสมมุติฐานว่า มีการลื่นราวโลหะที่ยึดกับพื้น หรือการลื่นไถลราวพักแขนดังกล่าวอันอาจถือเป็นเหตุการณ์ภายนอกก็ตาม แต่ก็จำต้องประกอบด้วยสาเหตุที่ผิดปกติ หรือที่มิได้คาดคิดด้วย เช่น มีน้ำหกลงไปจนทำให้ราวโลหะ หรือราวพักแขนลื่นกว่าที่ควรจะคาดคิดได้ เป็นต้น มิใช่เพียงแค่การเดิน แล้วเสียหลักลื่นขึ้นมาเฉย ๆ หรือการหย่อนตัวลงไปเพื่อจะนั่งโดยมิได้มอง แล้วทำให้ลื่นไถลราวพักแขนเท่านั้นเอง

ส่วนประเด็นข้อโต้แย้งว่า มิได้เกิดจากความรับผิดของสายการบินเป็นผู้กระทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมานั้น แม้แนวทางคำพิพากษาคดีอื่น ๆ ศาลอาจมีมุมมองเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายแรกเห็นว่าจะต้องเกิดจากการกระทำผิดของสายการบินด้วย เช่น เกิดจากความผิดพลาดของพนักงานสายการบินเอง หรือวัสดุที่สายการบินใช้มีความบกพร่อง เป็นต้น ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของมาตรา 17.1 ของอนุสัญญาดังกล่าว ไม่ปรากฏถ้อยคำใดเลยที่ระบุอย่างชัดแจ้งว่า จะต้องเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของสายการบินด้วย เพียงระบุกว้าง ๆ ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินเท่านั้น ซึ่งศาลในคดีนี้มีความเห็นคล้อยตามฝ่ายหลัง

ศาลจึงวินิจฉัยว่า สายการบินไม่จำต้องรับผิดในคดีนี้ ด้วยมิใช่อุบัติเหตุในความหมายตามมาตรา 17.1 ดังกล่าว และเมื่อผู้เสียหายอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ คดีนี้จึงสิ้นสุด (อ้างอิงจากคดี Barclay v British Airways Plc [2008] EWCA Civ 1419)

ปัจจุบัน ประเทศไทยเพิ่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้ ตามข่าวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง หากเกิดเหตุการณ์ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลไทย ศาลไทยคงต้องพิจารณาตามอนุสัญญานี้เป็นเกณฑ์เช่นกัน โดยจะมีการกำหนดวงเงินชดเชยอย่างชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกชาติที่เป็นภาคีสมาชิก ส่วนศาลไทยท่านจะมีความเห็นเหมือน หรือแตกต่างจากแนวคำพิพากษาต่างประเทศหรือไม่? คงต้องรอดูกันต่อไปครับ

แล้วคุณคิดว่า สมมุติเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกับผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง ฉบับมาตรฐานของไทย ซึ่งให้คำนิยามไว้ว่า “อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง” เหตุการณ์ดังคดีนั้นจะเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือไม่? และผู้เอาประกันภัยรายนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ครับ?

หากท่านใดให้ความเห็นด้วยเหตุและผลเป็นที่ถูกใจ จะมีรางวัลเล็กน้อยตอบแทนให้หนึ่งรางวัลครับ โดยจะปิดรับคำตอบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 นี้ สนใจเชิญร่วมสนุกกันนะครับ

เรื่องต่อไป ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ (Air Turbulence) สายการบินต้องรับผิดหรือไม่?

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 57: ผู้โดยสารเครื่องบินลื่นหกล้มระหว่างเดินไปยังที่นั่งของตน ถือเป็นอุบัติเหตุที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบหรือไม่?



(ตอนที่หนึ่ง)

ช่วงเทศกาลแห่งความสุขปลายปี ซึ่งมีวันหยุดค่อนข้างเยอะเช่นนี้ ผู้คนมักจะออกเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน หลังจากการคร่ำเคร่งทำงานกันมาเกือบตลอดปี บางท่านเลือกจะเดินทางภายในประเทศ แต่บางท่านก็เลือกเดินทางไปต่างประเทศกัน ด้วยเหตุที่ปัจจุบัน การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศทางเครื่องบิน มักมีราคาไม่แพงถึงขนาดต้องกัดฟันเช่นดังในอดีตอีกแล้ว ทั้งยังได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์อีกด้วย

นักท่องเที่ยวหลายคนยังไม่ใคร่เห็นความจำเป็นในการซื้อประกันภัยเดินทางนัก อาจจะด้วยมองโลกในแง่ดี เข้าใจว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก หรือขณะอยู่บนเครื่องบิน หากมีอะไรเกิดขึ้น สายการบินน่าจะดูแลรับผิดชอบเราได้อยู่แล้ว สู้ประหยัดเบี้ยประกันภัยเอาไปเพิ่มในงบท่องเที่ยวดีกว่า

ไม่เป็นไรครับ คงแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่านก็แล้วกันครับ แต่ผมขอฝากเรื่องราวไว้พิจารณาดังนี้นะครับ

เรื่องมีอยู่ว่า ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2004 มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งขึ้นเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างกำลังเดินไปยังที่นั่งของตน ซึ่งอยู่ที่นั่งตัวที่สองของแถวกลางที่มีอยู่สี่ที่นั่งด้วยกัน

โดยขณะกำลังพยายามแทรกตัวผ่านเข้าไปช่องระหว่างแถวที่นั่งนั้น เพื่อจะนั่งลงไป เธอเกิดเสียหลักลื่นไถล จนได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า แม้จะได้รับการปฐมพยาบาลจากพนักงานบนเครื่องอย่างดี ก็เพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการได้ระดับหนึ่งเท่านั้น


ครั้นเมื่อเครื่องบินถึงจุดหมายปลายทาง เธอถูกส่งตัวเข้าตรวจสอบอาการบาดเจ็บ ณ สถานพยาบาล โดยพบว่า เอ็นหัวเข่าฉีก เธอจึงเรียกร้องให้สายการบินรายนั้นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลอาการบาดเจ็บดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ เธอเลยจำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล

จากข้อมูลเบื้องต้นข้างต้น คุณคิดว่าอย่างไรบ้างครับ? สายการบินจำต้องรับผิดในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้หรือเปล่าครับ?

แล้วสัปดาห์หน้า เรามารับฟังผลทางคดีเรื่องนี้กันนะครับ