วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 53: ภัยระเบิด (Explosion) ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หมายถึงอะไรกันแน่?



(ตอนที่สอง)


เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้นำคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น โดยอ้างว่า ในกรมธรรม์ประกันภัยของตนมิได้กำหนดคำนิยามภัยระเบิดเอาไว้ ฉะนั้น การระเบิดจึงควรหมายความถึงการระเบิดทุกชนิด ซึ่งมีลักษณะเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง มีเสียงดัง และมีสาเหตุมาจากการก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีอย่างรวดเร็ว หรือการระเบิดของแก๊ส หรือไอจากแรงดัน โดยที่การระเบิดของศพก็มีลักษณะเช่นว่านั้นด้วย เนื่องจากคำให้การของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะเข้าสู่กระบวนการเน่าสลายตัว (Decomposition) ซึ่งแบคทีเรียในร่างกายจะทำปฏิกิริยาเคมีกับเนื้อเยื่อ แล้วก่อให้เกิดก๊าซขึ้นมาทั่วร่าง และจะสร้างแรงดันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนประทุออกมาดังเช่นกรณีนี้ในท้ายที่สุด 


ถ้าบริษัทประกันภัยไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองภัยระเบิดทุกกรณี ทำไมไม่เขียนระบุลงไปให้ชัดเจน เพื่อที่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ แต่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นก็ยังไม่เห็นพ้องกับผู้เอาประกันภัยรายนี้แต่อย่างใด


ผู้เอาประกันภัยยังไม่ละความพยายาม ได้นำคดีสู่ศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จริงอยู่ที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ แต่โดยหลักการแล้ว การตีความถ้อยคำจำต้องอาศัยความเข้าใจของวิญญูชน คนทั่วไปส่วนใหญ่ด้วย อนึ่ง เมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้กล่าวอ้าง ก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นคล้อยตามว่า คนทั่วไปเห็นว่า ภัยระเบิดที่บริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครองได้รวมถึงการระเบิดของศพด้วยเช่นนั้นหรือเปล่า แต่ในคดีนี้ ศาลยังไม่เชื่อ คนทั่วไปจะเห็นเช่นนั้นได้ จึงตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น


ผู้เอาประกันภัยยื่นขอฎีกา แต่ศาลฎีกาไม่รับพิจารณา (อ้างอิงจากคดี Rodrigo v. State Farm Florida (No. 4D12-3410, April 23, 2014))


คดีเรื่องนี้จึงจบลงที่ผู้เอาประกันภัยไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ 

น่าสนใจนะครับว่า การระเบิดนั้นมีจากหลายสาเหตุ กระทั่งฝุ่นยังระเบิดได้ (Dust Explosion) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรม และบริษัทประกันภัยคงไม่เกี่ยงงอนที่จะให้ความคุ้มครอง แต่ฝุ่นระเบิดนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในที่ใดก็ได้ ดังอุทาหรณ์จากเหตุการณ์ไฟลุกไหม้และระเบิดในงานปาร์ตี้ผงสี หรือ Color Play Asia ณ สวนน้ำ Formosa Fun Coast ในเมือง New Taipei ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ซึ่งมีรายงานข่าวว่า สาเหตุของการระเบิดน่าจะมาจากการระเบิดของฝุ่น โดยผงสีที่ใช้ในงานปาร์ตี้นั้นมีส่วนผสมเป็นผงแป้งข้าวโพดผสมกับสีผสมอาหารที่โดนพ่นออกมาจากเครื่องพ่น จนเกิดลุกติดไฟและระเบิดขึ้น จนทําให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 500 คน และผู้เสียชีวิต 1 คน (อ้างอิงจากบทความ ““การระเบิดของฝุ่น” ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด” ในวารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ) 


(หมายเหตุ: ผู้เขียนเองพยายามศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงการระเบิดของศพ จึงขออ้างอิงบทความ “ระยะเวลาการตายและการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย” ของพลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ มาเขียนประกอบเพิ่มเติมในย่อหน้าแรก ให้พอเห็นภาพโดยสังเขปได้บ้างนะครับ)  


ส่วนทำไมผู้เอาประกันภัยรายนี้เลือกที่จะอาศัยภัยระเบิดในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ก็เพราะหากจะอ้างภัยเนื่องจากน้ำ (Water Damage) กรณีคงจะจบเร็วกว่านี้ เนื่องจากแม้คำว่า “น้ำ (Water)” จะเป็น “ของเหลว (Liquid) ชนิดหนึ่งก็ตาม แต่ก็มีคุณสมบัติต่างกันจากของเหลวชนิดอื่น ๆ ของเหลวที่ปะทุออกมาจากร่างกายคนคงมิใช่น้ำตามความหมายนี้อย่างแน่นอนครับ ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยเองก็มิได้เขียนระบุให้ความคุ้มครองถึงภัยเนื่องจากของเหลวแต่ประการใด


ฉะนั้น เรื่องสิ่งที่เราคิด หรือมองเห็นได้นั้น อาจมิใช่เป็นอย่างที่เราคิด หรือเห็นเช่นนั้นได้เสมอไป ดังเช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปคราวหน้า

ก็เห็นอยู่ว่าเป็นรถ ทำไมถึงยังบอกว่า มิใช่รถอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น