วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 54: ก็เห็นอยู่ว่าเป็นรถ ทำไมถึงยังบอกว่า มิใช่รถอีก?



(ตอนที่หนึ่ง)

คนเรามักเชื่อในสิ่งที่เรามองเห็น แต่บางครั้ง สายตาเราก็อาจจะหลอกเราได้ 

เรามักเชื่อในสิ่งที่เรานึก เราคิด แต่บางที สิ่งที่เรานึก เราคิดก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเข้าใจเช่นนั้นก็ได้

สมมุติ ถ้าเรานึกถึงรถยนต์ แล้วเราคิด รถยนต์จะต้องเป็นอย่างไรบ้างครับ?
รถยนต์จะต้องมีเครื่องยนต์ รถยนต์จะต้องมีสี่ล้อ
รถยนต์จะต้องมีตัวถังรถ รถยนต์จะต้องขับเคลื่อนได้ หรือจะต้องแล่นได้ด้วยตัวเอง
รถยนต์ก็คือรถยนต์ ทำไมจะต้องนึกคิดให้มันมากมาย

หากเราลองคิดในมุมกลับกันบ้าง
รถยนต์ที่ไม่มีเครื่องยนต์ จะยังคงใช่รถยนต์ได้อยู่หรือเปล่า?
รถยนต์ที่มีล้อไม่ครบทั้งสี่ล้อ หรือไม่มีล้ออยู่เลย ยังพอมีสภาพเป็นรถยนต์ได้หรือไม่?
รถยนต์ที่ไม่มีตัวถังรถ แต่ยังมีเครื่องยนต์ มีล้อ ก็น่าจะยังเรียกรถยนต์ได้อยู่ไหม?
รถยนต์ที่ขับเคลื่อนไม่ได้ หรือแล่นไปเองไม่ได้ ทั้งที่มีเครื่องยนต์กับล้ออยู่ครบถ้วน แต่ลอยอยู่บนแท่นยก หรือไม้หนุน จะคงเรียกรถยนต์ได้ไหม?

ข้อพิพาทเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อรถยนต์กลายสภาพเป็นมิใช่รถยนต์นั่นเอง

มีชายคนหนึ่งรักชอบรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจ ได้ไปซื้อรถยนต์เก่า ยี่ห้อ Pontiac Fiero 1984 มาหนึ่งคัน เพื่อใช้เป็นโครงประกอบ (Kit Car) ในการดัดแปลงจำลองสภาพให้เป็นรถ Lamborghini Countach อันเป็นรถยนต์ในฝันของตน ครั้นเมื่อดัดประกอบเสร็จแล้ว วางแผนอาจเอาไว้ใช้เอง หรืออาจจะขายต่อออกไป หากได้ราคาดี  

หลายเดือนถัดมา ก็ได้ซื้อรถยนต์เก่ายี่ห้อและรุ่นเดียวกันอีกคันมา เพื่อใช้เป็นอะหลั่ยเสริม (Parts Car) เพราะหลายชิ้นส่วนมีสภาพที่ดีกว่าคันแรก สถานที่ทำงาน คือ อู่ซ่อมรถของตนนั่นเอง  

ต่อมา ชายคนนี้ก็ได้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัย สำหรับทรัพย์สินทุกชนิดที่เป็นของผู้เอาประกันภัย และอยู่ภายในอู่ซ่อมรถนั้นเอง

อีกประมาณสี่ถึงห้าเดือนหลังจากนั้น ระหว่างที่ผู้เอาประกันภัยกำลังทำการดัดแปลง โดยหลังจากที่ได้ยกรถทั้งสองคันขึ้น และถอดสับเปลี่ยนถังน้ำมันจากรถคันที่สองไปแทนถังน้ำมันของรถคันแรกแล้ว ขณะจะถอดสลับสับเปลี่ยนหม้อน้ำรถยนต์ทั้งสองคันเป็นลำดับต่อไป ด้วยการใช้ชุดตัดแก๊ส (Cutting Torch) สันนิษฐานว่า อาจเป็นสะเก็ดไฟ หรือโลหะที่หลอมละลายได้หยดลงไปถูกคราบน้ำมันที่อยู่บนพื้น อันเนื่องมาจากการถอดสับเปลี่ยนถังน้ำมันนั่นเอง จนเกิดไฟลุกไหม้ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ตัวอาคารอู่ซ่อม ตลอดจนรถยนต์ทั้งสองคันนั้น และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ภายใน

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

บริษัทประกันภัยตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ประกอบกับเงื่อนไขข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แล้ว ก็แจ้งว่า ยินดีรับผิดต่อความเสียหายของตัวอาคารกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น ๆ ยกเว้นรถยนต์ทั้งสองคันนั้น เพราะอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยทรัพย์สินที่ไม่คุ้มครอง ซึ่งได้แก่ “ยานพาหนะทางบกที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (any motorized land vehicle)” 

ผู้เอาประกันภัยพยายามชี้แจงว่า ขณะที่เกิดเหตุ รถยนต์ทั้งสองคันนั้น มิใช่รถยนต์ดังที่กำหนดในข้อยกเว้นนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

เมื่อทั้งสองฝ่ายมิอาจตกลงกันได้ในประเด็นนี้ ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ทำการชี้ขาดต่อไป

คุณเชียร์ฝ่ายไหนครับ? เอาไว้สัปดาห์หน้า เรามาฟังผลสรุปเรื่องนี้กันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น