วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 54: ก็เห็นอยู่ว่าเป็นรถ ทำไมถึงยังบอกว่า มิใช่รถอีก?



(ตอนที่สอง)

ศาลได้วิเคราะห์คดีนี้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่นำเสนอของคู่ความทั้งสองฝ่าย ดังนี้

รถยนต์เก่า ยี่ห้อ Pontiac Fiero 1984 ทั้งสองคันเคยถูกใช้งานเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนวิ่งบนท้องถนนมาก่อน และผู้เอาประกันภัยรายนี้ก็วางแผนที่จะนำรถคันที่เป็นโครงประกอบ (Kit Car) ไปใช้เป็นรถยนต์ เมื่อดัดแปลงสำเร็จแล้ว

ขณะที่เกิดเหตุไฟไหม้ รถคันที่เป็นอะไหล่เสริม ("อะหลั่ย" คำนี้เขียนผิดครับ ต้องกราบขออภัยอย่างมากครับ) (Parts Car) อยู่ในสภาพ ดังนี้


(1) ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง
(2) มิได้ต่อทะเบียนรถ
(3) ไม่มีประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่
(4) ปราศจากระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และระบบไฟอยู่เลย
(5) อยู่ระหว่างการนำเอาถังน้ำมันกับแผงหม้อน้ำออกไป
(6) หากดัดแปลงเสร็จ รถคันนี้จะถูกนำไปขายเป็นเศษเหล็กต่อไป

ได้มีการใช้ชุดตัดแก๊ส (Cutting Torch) กับรถคันนี้ เวลาที่เกิดเหตุ

ส่วนรถคันที่เป็นโครงประกอบ (Kit Car) อยู่ในสภาพ ดังนี้
(1) เครื่องยนต์เดิมถูกนำออกไปแล้ว แต่ยังมิได้นำเครื่องยนต์ใหม่มาติดตั้งแทน
(2) อยู่ในระหว่างการสับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนอยู่
(3) มิได้ต่อทะเบียนรถ
(4) ไม่มีประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่

ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับนี้ระบุว่า ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ซึ่งได้แก่ “ยานพาหนะทางบกที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (any motorized land vehicle)” อันเป็นข้ออ้างที่มาปฏิเสธของฝ่ายบริษัทประกันภัย

โดยฝ่ายบริษัทประกันภัยยังกล่าวเสริมอีกว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยเองมีเจตนาว่า ถ้าดัดแปลงเสร็จ ก็จะนำไปใช้เป็นรถยนต์ต่อไป เช่นนี้ สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ผู้เอาประกันภัยควรจะไปทำประกันภัยรถยนต์มากกว่า เพราะภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจสามารถให้ความคุ้มครองต่อตัวรถยนต์ระหว่างการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมด้วย สาเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ล้วนอยู่ในกระบวนการเหล่านี้ อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้รถ (use of operation of an automobile) ตลอดเวลาดังกล่าว คุณลักษณะของรถยนต์มิได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปแต่ประการใด  

แต่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยต่อสู้ว่า สิ่งที่ผู้เอาประกันภัยกำลังทำอยู่นั้น มิใช่เป็นกระบวนปกติทั่วไปในการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมดังกล่าวเลย เพราะเป็นการดัดแปลงสภาพรถขนานใหญ่ อันมีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จึงไม่น่าจะสามารถให้ความคุ้มครองครอบคลุมไปถึงได้

ขณะเกิดเหตุ ผู้เอาประกันภัยกำลังทำงานอยู่กับตัวรถคันที่เป็นอะไหล่เสริม (Parts Car) ซึ่งมิได้เจตนาที่จะนำไปใช้เป็นรถยนต์อีกเลย เพียงรื้อออกมาเป็นเศษซากเท่านั้น ส่วนรถคันที่เป็นโครงประกอบ (Kit Car) นั้น แม้จะตั้งใจนำไปใช้เป็นรถยนต์อีกในท้ายที่สุด แต่ช่วงระยะเวลานั้น ก็ยังอยู่อีกห่างไกล สภาพขณะที่เกิดของรถคันนี้ จึงเพียงเป็นแค่ชิ้นส่วนของสะสม (collection of parts) ของรถยนต์เท่านั้น 

ศาลเห็นพ้องกับฝ่ายผู้เอาประกันภัย และตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินดังกล่าว

(เทียบเคียงจากคดี Meadowview Heights Ltd. v. Revivo [2004] O.J. No. 4742 Ontario Superior Court of Justice)  


กรณีนี้ ถ้าเกิดขึ้นที่เมืองไทย ผมคิดว่า ผลทางคดีไม่น่าจะแตกต่างกัน ยิ่งกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับมาตรฐานของบ้านเรา ระบุข้อยกเว้นเรื่องนี้เอาไว้ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้
8. ยานพาหนะทางบกที่จดทะเบียนสำหรับใช้บนถนน (รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องตกแต่งทุกชนิด) (vehicles licensed for road use (including accessories thereon))

ถ้อยคำน่าจะชัดเจน เพราะรถยนต์ลักษณะนี้ไม่น่าจะนำไปจดทะเบียนได้ และความเสี่ยงภัยดังที่เกิดขึ้น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจของเรา ก็ไม่น่าจะครอบคลุมไปถึงเช่นกัน

เรื่องสิ่งที่เรามองเห็น สิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น ยังมีอีกหลายกรณีนะครับ อย่างข้อถกเถียงระหว่างหน่วยงานรัฐซึ่งเห็นว่า เป็นเรือ (vessel) แต่เจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้นโต้แย้งว่า นั่นคือ บ้าน (home) ของเขา เพียงแต่มิได้ตั้งอยู่บนบก แต่ไปลอยอยู่ในน้ำเท่านั้น จนเกิดเป็นคดีข้อพิพาทใหญ่โตที่ต่างประเทศ ถ้าสนใจ ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังภายหลังครับ

เรื่องต่อไปเป็นการประกันภัยความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability Insurance)



คุณเคยใช้ Google Map หรือเครื่อง GPS (Global Positioning System) นำทางคุณไปยังสถานที่ต่าง ๆ บ้างไหมครับ? ถ้านำทางถูก ก็แล้วไป แต่ถ้านำไปผิดทาง จนทำให้คุณเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน คุณฟ้องผู้ผลิตเครื่องนำทาง หรือผู้จัดทำแผนที่เหล่านี้ได้ไหมครับ?

เราจะคุยกันต่อสัปดาห์หน้านะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น