วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 53: ภัยระเบิด (Explosion) ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หมายถึงอะไรกันแน่?



(ตอนที่หนึ่ง)

ไม่ว่าในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป ซึ่งจะต้องขยายภัยระเบิดเพิ่มเติมเสียก่อน และกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยระเบิดโดยอัตโนมัติ ตลอดจนกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัยโดยรวมภัยระเบิดด้วย ฉบับมาตรฐานของประเทศไทย ล้วนมิได้ให้คำนิยามคำว่า “ภัยระเบิด (Explosion)” เอาไว้เลย เช่นเดียวกับของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินในต่างประเทศ

งั้นคุณคิดว่า “ภัยระเบิด (Explosion)” ควรมีความหมายอย่างไร? กว้าง หรือแคบขนาดไหน?

หรือคุณอาจคิดแบบผู้เอาประกันภัยรายนี้ในต่างประเทศหรือเปล่า? 

ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งพักอาศัยอยู่ในห้องชุดของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง และได้ทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยคุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตนที่อยู่ในห้องชุดนั้นเอาไว้ด้วย ต่อมาวันหนึ่ง ผู้เอาประกันภัยรายนี้สังเกตุเห็นของเหลวชนิดหนึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลแทรกซึมจากห้องชุดชั้นบนทะลุผ่านเพดานเข้ามา จนทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบางรายการของตน จึงได้ไปร้องเรียนต่อนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อให้มาตรวจสอบ 

เมื่อมิได้มีปฎิกิริยาตอบรับจากผู้อยู่ในห้องชุดนั้น ทางนิติบุคคลอาคารชุดตัดสินใจไขกุญแจเปิดประตูเข้าไป พบร่างของผู้อยู่ในห้องชุดนั้นนอนเสียชีวิตอยู่บนพื้น สันนิษฐานว่า น่าจะเสียชีวิตมาหลายวันแล้ว จนร่างกายอยู่ในสภาพขึ้นอืด แก๊สภายร่างกายในเกิดประทุ และระเบิดปลดปล่อยของเหลวภายในออกมาจนสร้างความเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้

ครั้นผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยโดยอ้างว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เสียหายเนื่องจากภัยระเบิด ซึ่งการระเบิดของศพ (Exploding Corpse) นั้น ควรอยู่ในความหมายของภัยระเบิดนั้นด้วย เพราะมิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างชัดแจ้ง บริษัทประกันภัยแห่งนี้จึงปฏิเสธความรับผิดทันที โดยต่อสู้ว่า แม้ภัยระเบิดจะมิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แต่ตามเจตนารมณ์แล้ว คงมิได้หมายความรวมไปถึงการระเบิดของศพดังที่ผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้างแน่นอน

เช่นเคยครับ ผู้เอาประกันภัยได้นำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย และอีกเช่นกัน ขอฝากเป็นการบ้านให้คิดว่า ผลทางคดีน่าจะออกมาอย่างไร? 

จนกว่าจะพบกันคราวหน้าครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 52: เสียชีวิตจากโรคลมแดด (Sunstroke) เป็นอุบัติเหตุ หรือสุขภาพ?



(ตอนที่สอง)

ศาลฏีกาวินิจฉัยคดีนี้ว่า ประเด็นข้อถกเถียงเรื่อง
1) ปัจจัยของอุบัติเหตุ (accidental means) ซึ่งมองจากต้นเหตุเป็นหลักที่จะต้องมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอก อย่างฉับพลัน รุนแรง และเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง จนส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิต กับ
2) ผลของอุบัติเหตุ (accidental result) ซึ่งมองจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลักที่จะต้องเป็นผลจากภายนอก อย่างฉับพลัน รุนแรง และเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง แม้จะมีต้นเหตุมาจากความสมัครใจก็ตาม

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาไม่รู้จบ แต่ครั้นอาศัยความเข้าใจของคนทั่วไปถึงความหมายของอุบัติเหตุแล้ว การเสียชีวิตของผู้ตายในกรณีนี้น่าจะเป็นอุบัติเหตุแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ตายคงไม่ได้เจตนา หรือมุ่งหวังมาก่อน ทั้งผลการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ก็มิได้พบความผิดปกติทางสภาวะร่างกายของผู้ตายแต่ประการใด อันจะส่งผลทำให้ร่างกายไม่อยู่ในสมรรถภาพต้านทานต่อความร้อนแรงของแสงแดดได้ หรือมีสาเหตุอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นสภาวะอากาศที่ผิดปกติ หรือสภาพแวดล้อมใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาสอดแทรกจนส่งผลกระทบต่อสภาวะร่างกายของผู้ตาย ดังนั้น ปัจจัยภายนอกในกรณีนี้ คงมีกรณีเดียวที่ชัดเจน คือ แสงแดดเท่านั้น แม้ในทางการแพทย์จะถือโรคลมแดด (sunstroke) เป็นโรค แต่คนทั่วไปก็มองสาเหตุการตายเป็นอุบัติเหตุอยู่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน รุนแรง โดยผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง ถ้าต้นเหตุมิใช่มาจากอุบัติเหตุ ผลลัพธ์ที่ได้รับ ก็คงมิใช่จากอุบัติเหตุเช่นกัน ฉะนั้น ทั้งสองคำเรื่องเหตุกับผลนั้นไม่อาจแยกขาดจากกันได้โดยเด็ดขาด เพราะถ้าไม่มีเหตุ ก็คงไม่มีผล

เมื่อฝ่ายบริษัทประกันภัยมิอาจพิสูจน์สาเหตุการตายให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ และเมื่อคำว่า “อุบัติเหตุ” ดูเสมือนตีความได้หลายนัย จึงจำต้องยกประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั่นเอง  

(อ้างอิงจากคดี Landress v. Phoenix Mut. Life Ins. Co., 291 U.S. 491 (1934)

เช่นกันครับ แม้คดีนี้ค่อนข้างเก่า แต่อยากให้พิจารณาถึงเหตุและผลของคำวินิจฉัยของคดีมากกว่า เพราะประเด็นในการใช้ดุลพินิจของศาลต่างประเทศตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มักจะวนเวียนอยู่โดยอาศัยสามทฤษฏีเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ ทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) เช่น คดีมีเพศสัมพันธ์จนติดโรคร้าย หรือทฤษฏีของผล (Effect Theory) เช่น คดีถูกยุงกัดจนได้รับเชื้อโรคร้าย หรือทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory) เช่น คดีกระบะรถดัมพ์เกี่ยวสะพานตกลงมาทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อเนื่องดังที่เคยกล่าวมาแล้วในบทความที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลท่านเป็นสำคัญในการพิจารณาประกอบกับข้อความจริงของแต่ละคดีที่เกิดขึ้น

ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณด้วยนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 52: เสียชีวิตจากโรคลมแดด (Sunstroke) เป็นอุบัติเหตุ หรือสุขภาพ?



(ตอนที่หนึ่ง)

ชายคนหนึ่งชอบเล่นกอล์ฟมาก มักไปออกรอบกับเพื่อนร่วมก๊วนอย่างสนุกสนานทุกสุดสัปดาห์แทบมิได้ว่างเว้น แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดแรงจ้าขนาดไหน เขากับเพื่อนก็ไม่ยั่น 

สุดสัปดาห์นี้ก็เช่นกัน เขาได้ไปออกรอบกับเพื่อนอย่างเคย เพียงแต่ครั้งนี้ ความสนุกสนานกลับกลายเป็นความเศร้าโศกเสียใจแทน เพราะขณะกำลังเล่นกอล์ฟอยู่ จู่ ๆ เขาก็ล้มฟุบสิ้นสติลงไป หลังจากถูกนำส่งไปโรงพยาบาลอยู่ได้ไม่นาน เขาก็เสียชีวิต ผลจากการตรวจพิสูจน์ สันนิษฐานว่า เสียชีวิตเนื่องจากโรคลมแดด (Sunstroke)

ภรรยาของผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ตาย จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัย แต่ได้รับการปฏิเสธว่า ผู้ตายมิได้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีคำนิยามว่า หมายความถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก อย่างฉับพลัน รุนแรง (external, violent and accidental means) แต่การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยรายนี้ เกิดจากการออกไปสัมผัสแสงแดดด้วยความสมัครใจ จึงไม่อยู่ในความหมายของอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งคนอื่นที่ไปร่วมเล่นกอล์ฟอยู่ด้วย ก็มิได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเช่นกัน ดังนั้น เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยภายในร่างกายของผู้เอาประกันภัยมากกว่า และชื่อโรคเอง บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องสุขภาพจากปัจจัยภายในของสภาวะร่างกาย

ภรรยาของผู้ตายได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาล โดยอ้างว่า ผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ทั้งช่วงก่อนหน้านั้น และขณะเกิดเหตุดังกล่าว ผลการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ก็สามารถยืนยันไม่พบความผิดปกติในเรื่องสุขภาพของผู้ตาย เช่นนี้ การเสียชีวิตของผู้ตายจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยของอุบัติเหตุ (accidental means) จากภายนอก อย่างฉับพลัน และรุนแรง ซึ่งก่อให้เกิดผลการเสียชีวิต อันเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวังดังความหมายแล้ว (accidental result)

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยว่า มิใช่เกิดจากอุบัติเหตุ คดีมีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น แต่ภรรยาของผู้ตายยังไม่สิ้นหวัง และได้ยื่นฏีกาต่อ

คุณคิดว่า ผลวินิจฉัยของศาลฏีกาจะออกมาอย่างไรครับ? ให้ลองวิเคราะห์กันไปก่อน แล้วมาฟังคำวินิจฉัยสัปดาห์หน้าครับ  

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 51: เธอโดด ฉันโดด เราโดด



(ตอนที่สอง)

คดีนี้ ศาลสรุปข้อพิพาท คือ โจทก์ฟ้องว่า ผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากการกระโดดลงมาจากลานสู่พื้นดิน จนส่งผลทำให้เสียชีวิต ในขณะที่มีสภาพร่างกายปกติ และสุขภาพแข็งแรง ฉะนั้น ความบาดเจ็บดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุใกล้ชิด และเป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นมา

ส่วนฝ่ายจำเลยก็โต้แย้งว่า แม้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากปัจจัยของอุบัติเหตุ (accidental means) แต่ความบาดเจ็บนั้นก็มิได้เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก และมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายตา ตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัย การเสียชีวิตดังกล่าวจึงมิได้เป็นผลเนื่องมาจากความบาดเจ็บนั้น แต่เป็นผลมาจากสาเหตุความผิดปกติทางร่างกายต่างหาก

ศาลจึงได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาเป็นสามประเด็น ดังนี้
1) ผู้ตายได้รับบาดเจ็บภายในจากการกระโดดหรือไม่?
2) หากผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากการกระโดดจริง แล้วเป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยของอุบัติเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างรุนแรง และมองเห็นได้อย่างชัดเจนตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่?
3) ความบาดเจ็บนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือไม่?

ผลการวินิจฉัย ประกอบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ได้ข้อสรุป ดังนี้
1) หากการกระโดดของผู้ตายตามเพื่อนทั้งสองคน เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ด้วยใจสมัคร และมีสติแล้ว ผู้ตายก็น่าจะมิได้รับบาดเจ็บเหมือนดังเช่นเพื่อนทั้งสองคน แต่นี่กลับเสมือนหนึ่งกระโดดทุ่มลงมาทั้งตัว ในลักษณะที่ผิดปกติ จนก่อให้เกิดผลที่มิได้ตั้งใจ คือ ความบาดเจ็บขึ้นมา โดยพิจารณาประกอบคำให้การของเพื่อนผู้ตายเป็นเกณฑ์ และประวัติสุขภาพของผู้ตายก่อนหน้านั้นที่ว่า ผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเป็นปกติ
2) สำหรับการตีความถ้อยคำว่า อุบัติเหตุจะต้องเกิดจากปัจจัยภายนอก และมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายตาเท่านั้น ศาลเห็นว่า เป็นการตีความที่แคบ และไม่น่ามีผลใช้บังคับได้จริง เพราะจำกัดสิทธิมากเกินไป การมองเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ควรหมายความรวมถึงการสามารถตรวจพิสูจน์ได้ อาจด้วยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัด มิใช่จำกัดเพียงร่องรอยบาดแผลตามร่างกายภายนอกเท่านั้น ความรู้สึกปวดอาจไม่ถือเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ แต่อาการเจ็บปวดภายในร่างกายที่ส่งผลออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายตา ด้วยการแสดงอาการหน้าซีด เหงื่อแตก คลื่นไส้ อาเจียน การมีเลือดไหลออกมา หรือการขับถ่ายสิ่งผิดปกติออกมานั้น ถือเป็นการมองเห็นได้อย่างชัดเจนได้แล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นผลโดยตรงมาจากความบาดเจ็บนั้นเองด้วย   
3) สาเหตุใกล้ชิดนั้น ต้องเป็นสาเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดผลถึงขั้นเสียชีวิตของผู้ตาย โดยมิได้มีสาเหตุอื่นใดมาสอดแทรก เมื่อปรากฏว่า การกระโดดทำให้เกิดความบาดเจ็บภายในร่างกายของผู้ตาย จนเกิดการอักเสบ และส่งผลทำให้สภาวะอวัยวะภายในส่วนอื่นได้รับผลกระทบ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป และนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ตายในท้ายที่สุด ดังนั้น การเสียชีวิตครั้งนี้ จึงเป็นผลสืบเนื่องโดยตรง และต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนมาจากความบาดเจ็บของร่างกายของผู้ตายโดยอุบัติเหตุ อันมีสาเหตุมาจากการกระโดดนั่นเอง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นต่อร่างกาย จนทำให้เสียชีวิตในคราวนี้แต่ประการใด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงวินิจฉัยให้จำเลย (บริษัทประกันภัย) รับผิด และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ (ผู้รับประโยชน์) ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลด้วย


(อ้างอิงคดีUnited States Mutual Accident Association v. Barry, 131 U.S. 100 (1889)) แม้เป็นคดีค่อนข้างเก่าไปหน่อย แต่ปัจจุบัน ยังมีการอ้างอิงถึงกันอยู่ในต่างประเทศ



แล้วการเสียชีวิตจากโรคลมแดด (Sunstroke) นี่ เป็นอุบัติเหตุด้วยได้มั้ยหนอ?

คราวหน้า เราจะมาวิเคราะห์กัน โปรดติดตาม