วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 50: สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) ของการประกันภัยความรับผิดทางกฎหมาย



(ตอนที่หนึ่ง)

เคยมีคนถามผมเรื่องหลักสาเหตุใกล้ชิดของการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งโดยหลักการทั่วไปแล้ว หลักสาเหตุใกล้ชิดประกอบด้วยสามลักษณะ กล่าวคือ
1) ลักษณะหลายภัยต่อเนื่องกัน โดยไม่ขาดตอน แบบโดมิโน ให้ยึดภัยแรกสุดเป็นเกณฑ์
2) ลักษณะหลายภัยต่อเนื่องกัน แล้วมีภัยอื่นเข้ามาสอดแทรก ถ้าทำให้ขาดตอน ให้ยึดภัยสอดแทรกเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าไม่ขาดตอน ให้ยึดภัยแรกสุดเป็นเกณฑ์
3) ลักษณะมีหลายภัยเกิดขึ้นพ้องกัน (พร้อมกัน) ถ้ามีภัยที่ยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยมาเกี่ยวข้อง จะไม่คุ้มครองเลย แต่ถ้ามีเพียงภัยที่คุ้มครองกับภัยที่มิได้เขียนคุ้มครอง หรือยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยไว้เท่านั้น จะถือว่า ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด

ซึ่งลักษณะที่สามนี่แหละ นึกภาพไม่ออกว่า จะเกิดขึ้นเช่นไรภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย จึงเป็นที่มาของเรื่องที่เราจะคุยกันครั้งนี้ครับ

ผมได้ทิ้งท้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในบทความคราวที่แล้วเอาไว้ว่า



ผู้รับเหมารื้อเศษวัสดุก่อสร้างขนขึ้นรถบรรทุกของตนออกไปจากสถานที่ก่อสร้าง ระหว่างทาง เศษวัสดุนั้นเกิดหลุดปลิวออกไปทะลุกระจกรถนักเรียนที่วิ่งผ่านมาพอดี ทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตหนึ่งราย และบาดเจ็บอีกหลายคน  

คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับใดฉบับหนึ่งของผู้รับเหมารายนี้ ต้องรับผิดครับ หรือจำต้องรับผิดร่วมกันทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย หรือไม่มีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดเลยที่จะต้องรับผิด?

เชื่อว่า คุณคงพอได้คำตอบไว้ในใจแล้วนะครับ บางท่านอาจคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจต้องรับผิดชัวร์ บางท่านอาจเห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะไปเกิดเหตุนอกสถานที่ก่อสร้าง ทำไมจะต้องไปรับผิดด้วยเล่า?

แต่ปรากฏว่า ในคดีนี้ พ่อแม่ของเด็กนักเรียนที่เสียชีวิต และบาดเจ็บตัดสินใจฟ้องบริษัทประกันภัยทั้งสองเจ้าที่ให้ความคุ้มครองทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยเผื่อไว้ดีกว่า เพราะถ้าพิจารณากันลึก ๆ ถ้าคนงานของผู้รับเหมาขนเศษวัสดุก่อสร้างขึ้นรถบรรทุก แล้วจัดวางให้มั่นคงแน่นหนา คงไม่น่าจะเกิดอุบัติเหตุนี้ขึ้นมา  

เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทประกันภัยทั้งสองเจ้าได้ร่วมกันต่อสู้ ดังนี้
(1) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา ในหมวดที่สาม ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ระบุข้อยกเว้นไม่คุ้มครองความรับผิดที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุใดๆที่มีสาเหตุมาจากยานพาหนะที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนถนนทั่วไป หรือยวดยานทางน้ำ หรืออากาศยาน
(2) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ แม้จะมิได้มีข้อยกเว้นกำหนดไว้ และควรต้องรับผิด แต่เนื่องจากโดยหลักสาเหตุใกล้ชิดที่มีลักษณะหลายภัยเกิดขึ้นพ้องกัน ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ก็เข้าข่ายดังกล่าว คือ เกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนงานของผู้รับเหมาที่มิได้จัดวางวัสดุก่อสร้างให้อยู่บนรถบรรทุกในสภาพแน่นหนามั่นคง เพื่อมิให้สามารถหลุดเลื่อน หรือกระเด็นลอยออกไปสร้างความเสียหายขึ้นมาได้ ส่วนคนขับรถบรรทุกก็มีส่วนประมาทเลินเล่อที่มิได้ตรวจสอบสิ่งของที่บรรทุกไปให้อยู่ในสภาพแน่นหนามั่งคงด้วยเช่นกัน 

อุบัติเหตุครั้งนี้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของทั้งในส่วนของผู้รับเหมากับคนขับรถควบคู่กันไป เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญากำหนดข้อยกเว้นในกรณีนี้ไว้อย่างชัดเจน ถึงแม้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจจะคุ้มครองก็ตาม โดยหลักสาเหตุใกล้ชิดที่มีลักษณะหลายภัยพ้องกัน ถ้ามีภัยที่ยกเว้นเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ก็ให้ถือว่า เหตุการณ์ทั้งหมดจะไม่ได้รับความคุ้มครองเลย

สรุป บริษัทประกันภัยทั้งสองเจ้าร่วมกันปฏิเสธความรับผิด สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ครับ ปล่อยให้ผู้รับเหมากับคนขับรถต้องรับผิดชอบกันเอง

ถ้าคุณเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนที่ประสบเหตุ หรือ

ถ้าคุณเป็นผู้เอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือ

ถ้าคุณเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันวินาศภัยของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว หรือ

ถ้าคุณเป็นผู้ที่บังเอิญได้มาอ่านบทความเรื่องนี้

คุณคิดว่า ยังไงครับ? เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยยังไงบ้างครับ? แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับ แล้วค่อยมาดูว่า ศาลท่านจะพิจารณาอย่างไร? สัปดาห์หน้า  

vivatchai.amornkul@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น