วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 49: ถ้าเจ้าของโครงการไปซื้อตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมา โดยที่ผู้รับเหมายังมิได้เข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นเลย กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) จะสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?



(ตอนที่สอง)

 

นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้พยายามไปเจรจาต่อรองกับบริษัทประกันภัย ดังนี้
1) ตึกเก่าหลังนี้ได้ขยายความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขพิเศษทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมของผู้ว่าจ้าง (Principal’s Existing Property) ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด ดังเช่นไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ทั้งยังได้เกิดไฟไหม้ขึ้นในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะต้องจัดทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินปกติขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเพียงเพื่อให้ความคุ้มครองช่วงสั้น ๆ ระหว่างรอให้เริ่มต้นการก่อสร้างกระนั้นหรือ ดูแล้วค่อนข้างยุ่งยาก และไม่น่าสมเหตุผล

2) ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ตึกเก่าหลังนี้อาจถือเป็นวัสดุที่ผู้ว่าจ้างจัดหามาให้ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในความหมายของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างด้วย และในวันที่เกิดไฟไหม้ ตึกหลังนี้ก็ได้ถือว่า “ขนลง” หรือตั้งอยู่ในสถานที่ก่อสร้างอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้เริ่มต้นการก่อสร้างตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยนี้แล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ ในหมวดที่ 3 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึงความรับผิดที่เกิดขึ้นจากความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เป็นของ หรืออยู่ในความดูแล ครอบครอง หรือควบคุมของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้าง หรือธุรกิจอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับงานตามสัญญา หรือของลูกจ้าง หรือคนงานของบุคคลคนหนึ่งคนใดที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็เป็นกรณีความรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่กรณีนี้ เป็นเหตุแห่งความเสียหายที่คุ้มครองอยู่ภายใต้หมวดที่ 1 งานโครงสร้าง และงานวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นกรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยต่างหาก 

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้อยู่ดี ไม่ว่าจะมองในมุมของข้อ 1) หรือข้อ 2) ข้างต้น

ฝั่งบริษัทประกันภัยก็โต้แย้ง ดังนี้
1) ถึงแม้ตึกเก่าหลังนี้ได้ขยายความคุ้มครองเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ถ้อยคำในเงื่อนไขพิเศษนี้ ได้ระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า “อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง หรือการติดตั้งดังระบุเอาประกันภัยไว้ในหมวดความคุ้มครองที่ 1 ความเสียหายต่อตัวงานก่อสร้าง” แต่นี่ผู้รับเหมายังมิได้เข้าไปเริ่มดำเนินการใด ๆ เลย เมื่อความคุ้มครองหลัก คือ งานก่อสร้างของผู้รับเหมายังไม่เริ่มต้น ความคุ้มครองส่วนขยายจึงยังมิอาจมีผลใช้บังคับก่อนได้ 

ด้วยเหตุนี้ การทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้วกับทรัพย์สินที่จะก่อสร้างจึงแยกจากกันอย่างชัดเจน โดยข้อกำหนดคุ้มครองทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้ว จะยกเว้นระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม จึงจำต้องไปขยายความคุ้มครองไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาดังกล่าว เพื่อเสริมปิดข้อยกเว้นของการประกันภัยทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้วนั้นเอง ฉะนั้น ดังในกรณีนี้ เจ้าของอาคารหลังนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้วดังกล่าว แม้จะเพียงด้วยระยะเวลาเอาประกันภัยไม่กี่วันก็ตาม เมื่อมิได้ทำไว้ จึงไม่มีความคุ้มครองที่จะได้รับแต่ประการใด 

2) ส่วนถ้ามองตึกเก่านี้ถือเป็นวัสดุที่ผู้ว่าจ้างจัดหามาใช้ในการก่อสร้างนั้น แล้วทำไมจะต้องมีการขยายความคุ้มครองเงื่อนไขพิเศษในข้อ 1) อีก เจตนารมณ์ที่แท้จริงของทั้งสองข้อนี้ จึงมีความแตกต่างกัน ไม่อาจนำมาใช้ทดแทนกันได้ 

บริษัทประกันภัยนี้จึงยืนยันการปฏิเสธของตนด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้น

เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้นำคดีขึ้นสู่ศาล ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียใจที่ศาลเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยนี้ที่ว่า งานก่อสร้างยังมิได้เริ่มต้นขึ้นมาเลย แต่ถ้าข้อความจริงปรากฏต่อศาลว่า ระหว่างรอผู้รับเหมาเข้าไปเริ่มทำงาน เจ้าของโครงการได้เข้าไปรื้อถอนเศษวัสดุบางส่วนที่ไม่ต้องการใช้แล้วของตึกเก่าหลังนั้นออกไป ศาลก็อาจมอง เป็นการจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการก่อสร้าง และถือเป็นการเริ่มต้นทำการก่อสร้างตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญานี้แล้ว เช่นนี้ บริษัทประกันภัยจะมิอาจปฏิเสธความรับผิดได้ เทียบเคียงกับคดีในต่างประเทศ Bosecker v. Westfield Ins. Co., 724 N.E.2d 241 (Ind. 2000)

อย่างไรก็ดี จำต้องขอเรียนย้ำในที่นี้ว่า หากเกิดกรณีลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศไทย ศาลไทยอาจมีดุลพินิจที่แตกต่างออกไปก็ได้ ขอให้พิจารณาเพียงเป็นแนวทางเสริมความรู้ไว้เท่านั้นนะครับ โปรดอย่ายึดถือว่า ต้องเป็นเช่นเดียวกับคดีในต่างประเทศ

ฉะนั้น นายหน้าประกันวินาศภัยจึงพึงใช้ความระมัดระวังให้มาก การชี้ช่องถึงข้อดี ข้อเสียของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภทในการจัดทำ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความเสี่ยงภัยของลูกค้าของตนได้นั้น เป็นหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และให้พยายามจัดทำบันทึกคำสั่งของลูกค้า กับข้อตกลงกับบริษัทประกันภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งด้วย จะสามารถช่วยได้เยอะ เวลาเมื่อเกิดข้อพิพาทกันขึ้นมา

เรื่องต่อไปจะคาบเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญากับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ โดยมีเรื่องราว ดังนี้

ผู้รับเหมารื้อเศษวัสดุก่อสร้างขนขึ้นรถบรรทุกของตนออกไปจากสถานที่ก่อสร้าง ระหว่างทาง เศษวัสดุนั้นเกิดหลุดปลิวออกไปทะลุกระจกรถนักเรียนที่วิ่งผ่านมาพอดี ทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตหนึ่งราย และบาดเจ็บอีกหลายคน  

คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับใดฉบับหนึ่งของผู้รับเหมารายนี้ ต้องรับผิดครับ หรือจำต้องรับผิดร่วมกันทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย หรือไม่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดเลยที่จะต้องรับผิด?


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น