วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 48: กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) จะสิ้นสุดความคุ้มครองเมื่อได้ถูกครอบครอง (taken over) หรือได้ถูกใช้งาน (put into service) โดยผู้ว่าจ้างแล้ว หมายถึงอย่างไร?



ตอนที่สอง)

ข้อพิพาทเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านเรานี่เอง เรื่องราวเป็นดังนี้ครับ 

 

ผู้รับเหมารายหนึ่งประมูลได้งานปรับปรุงและขยายถนนเชื่อมเมืองสายหนึ่ง เป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตรจากรัฐบาลมาเลเซีย โดยมีเงื่อนไขว่า ให้จัดการก่อสร้างเป็นช่วงงานลำดับ เพื่อมิให้เกิดการรบกวนการใช้ถนนของผู้ที่สัญจรไปมาบนเส้นทางสายนั้นด้วย และให้จัดทำประกันภัยการประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยระบุรัฐบาลในฐานะเจ้าของโครงการร่วมเป็นผู้เอาประกันภัยกับผู้รับเหมาดังกล่าวด้วย และมีระยะเวลาเอาประกันภัยตรงกับสัญญาว่าจ้างด้วย คือ ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2002 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2005

ผู้รับเหมารายนี้จึงได้ไปทำประกันภัยดังกล่าวกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยมาให้เป็นหลักฐาน โดยระบุระยะเวลาเอาประกันภัยตามช่วงเวลาข้างต้น บวกด้วยระยะเวลาบำรุงรักษาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2005 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2007

ต่อมา ได้มีการร้องขอขยายระยะเวลาของโครงการออกไป บริษัทประกันภัยจึงได้ออกใบสลักหลังแก้ไขระบุระยะเวลาเอาประกันภัยเป็นระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2002 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2007 และระยะเวลาบำรุงรักษาเป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2007 ถึงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2009

ครั้นวันที่ 22 ธันาคม ค.ศ. 2006 ผู้รับเหมารายนี้ได้ยื่นหนังสือแจ้งเหตุน้ำท่วมช่วงถนนตอนหนึ่งจนได้รับความเสียหาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2006

ภายหลังจากการไปตรวจสอบของผู้ประเมินวินาศภัยแล้ว บริษัทประกันภัยได้มีหนังสือปฎิเสธความรับผิดถึงผู้รับเหมารายนี้ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ด้วยเหตุผล ดังนี้
1)    ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า “ความรับผิดของผู้รับประกันภัยจะสิ้นสุดลงเช่นกัน เมื่อส่วนใดๆ ของงานว่าจ้างที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้ถูกครอบครอง (taken over) หรือถูกใช้งาน (taken into use) (แล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อนกัน) โดยผู้ว่าจ้าง ก่อนวันที่สิ้นสุดดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
ช่วงงานถนนที่เสียหายได้ถูกใช้งานไปแล้วก่อนวันที่เกิดเหตุ ความคุ้มครองจึงได้สิ้นสุดลงแล้ว เช่นเดียวกับช่วงงานอื่น ๆ ของถนนที่สร้างเสร็จ และปล่อยให้รถวิ่งสัญจรไปมาได้ตามปกติ
2)    ตามเงื่อนไขพิเศษ Endorsement 116 – Cover for insured contract works taken over or put into serviceที่ขยายไว้ได้ระบุว่า ขยายความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อส่วนของงานก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น ซึ่งได้ถูกครอบครอง หรือถูกใช้งานไปแล้ว หากว่า ความสูญเสีย หรือความเสียหายดังกล่าวจะได้เกิดขึ้นมาจากการก่อสร้างดังที่ได้เอาประกันภัยไว้ในหมวดที่ 1 และได้เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยด้วย 
เหตุน้ำท่วมจากภัยธรรมชาติ มิได้เกิดจากการก่อสร้างดังที่กำหนดไว้

ผู้รับเหมารายนี้จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยให้การว่า ตามสัญญาว่าจ้างได้กำหนดเงื่อนไขให้ทำการก่อสร้างเป็นช่วง ๆ โดยมิให้ปิดการจราจรโดยสิ้นเชิง ต้องปล่อยให้รถวิ่งผ่านไปมาได้ตามปกติ เนื่องจากเป็นถนนหลักเชื่อมเมือง แต่ให้เพิ่มมาตรการป้องกันความปลอดภัยแก่ผู้ที่สัญจรไปมาด้วย ซึ่งเวลาทำประกันภัย บริษัทประกันภัยก็รับทราบเงื่อนไขข้อนี้แล้ว และได้ตกลงรับประกันภัย ทั้งระหว่างก่อสร้าง ผู้แทนของบริษัทประกันภัยยังเข้ามาตรวจความคืบหน้าของโครงการเป็นระยะ โดยปราศจากข้อโต้แย้งแต่ประการใด

อนึ่ง เมื่อมีการส่งมอบถนนเป็นช่วงงานใด ผู้ว่าจ้างก็จะออกหนังสือรับมอบงาน สำหรับช่วงงานนั้นให้ ระยะเวลาบำรุงรักษาเฉพาะช่วงงานนั้น ก็จะเริ่มนับต่อไป ภายหลังจากทั้งโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ว่าจ้างจะออกหนังสือรับมอบงานรวมอีกครั้ง ซึ่งโครงการนี้สร้างเสร็จสิ้นทั้งหมดในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 2007* (วันที่อาจไม่สอดคล้องกับระยะเวลาเอาประกันภัย แต่เขียนไว้เช่นนี้ครับ) และผู้ว่าจ้างได้เข้าไปครอบครองในวันถัดไป ระยะเวลาบำรุงรักษาสองปี ก็เริ่มนับต่อจากนั้น

ผู้ประเมินวินาศภัย ซึ่งเป็นพยานของบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า ระหว่างการก่อสร้างในแต่ละช่วง ฝั่งตอนใดของถนนที่ก่อสร้างอยู่ ในความเป็นจริง ไม่อาจปล่อยให้รถวิ่งได้ตามปกติอยู่แล้ว มิฉะนั้นจะทำการก่อสร้างไม่ได้ เพียงแต่แบ่งฝั่งตอนที่ยังมิได้ก่อสร้างให้รถวิ่งผ่านไปมาได้เท่านั้น เมื่อฝั่งตอนใดเสร็จแล้ว ก็ย้ายการจราจรมาแทน แล้วทำการก่อสร้างฝั่งตอนที่เหลือต่อไป ฉะนั้น ฝั่งตอนที่สร้างเสร็จ และปล่อยให้รถแล่นไปมาได้ จึงถือว่า ได้มีการถูกใช้ง่านแล้ว ซึ่งได้แจ้งให้ผู้รับเหมารายนี้รับทราบแล้วด้วย เวลาที่ไปตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า ช่วงงานของถนนที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในช่วงระยะเวลาเอาประกันภัยที่ขยาย และยังมิได้มีการออกหนังสือรับมอบงาน สำหรับช่วงงานนั้น หรือทั้งโครงการจากผู้ว่าจ้างเลย
 
   ประเด็นพิจารณาของศาลในคดีนี้ จึงอยู่ที่ว่า 
   1) ได้มีการเข้าครอบครอง หรือใช้งานในช่วงงานก่อสร้างที่เกิดเหตุแล้วหรือยัง?
   2) ความสูญเสีย หรือความเสียหายดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการก่อสร้างหรือไม่? และมิได้มีสาเหตุเนื่องจากความบกพร่องของวัสดุ ฝีมือแรงงาน หรือการออกแบบผิดพลาด อันจะอยู่ในข้อยกเว้นด้วย

คงต้องขอไปต่อบทสรุปตอนหน้านะครับ อดใจรออีกนิดครับ     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น