วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 49: ถ้าเจ้าของโครงการไปซื้อตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมา โดยที่ผู้รับเหมายังมิได้เข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นเลย กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) จะสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?



นักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งได้ลงทุนไปซื้อตึกเก่า เพื่อมาปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย จึงได้ไปหารือนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่งว่า ควรจะทำประกันภัยอะไรคุ้มครองดี นายหน้าประกันวินาศภัยแนะนำให้ทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง(Construction All Risks Insurance Policy (CAR))พร้อมแนะนำให้ขยายเงื่อนไขพิเศษคุ้มครองทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมของผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็คือ ตัวตึกเก่าที่ซื้อมานั่นเอง ภายใต้ Endorsement 119 Existing property or property belonging to or held in care, custody or control by the insured ซึ่งถอดความโดยสรุปออกมาได้ว่า “ระบุขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่มีอยู่เดิม หรือทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครอง ความดูแล หรือความควบคุมของผู้เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง หรือการติดตั้งดังระบุเอาประกันภัยไว้ในหมวดความคุ้มครองที่ 1 ความเสียหายต่อตัวงานก่อสร้าง” ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้ฉบับเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ ก็จะเริ่มทำการปรับปรุงตึกนี้แล้ว


ทั้งเจ้าของโครงการนี้กับผู้รับเหมาที่ถูกว่าจ้างให้มาดำเนินการจึงได้ร่วมกันเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญานั้นกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งโดยผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยดังกล่าว และได้ระบุระยะเวลาเอาประกันภัยให้เริ่มตั้งแต่วันเซ็นสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา จนจบโครงการหนึ่งปี คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ. 2560 จนถึงวันที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ. 2561 บวกด้วยระยะเวลาบำรุงรักษาอีกหนึ่งปี

ครั้นในวันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2560 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ตึกแห่งนั้นเสียหายบางส่วน โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ และผู้รับเหมายังไม่ทันได้เข้าไปครอบครองตึกนั้นเลย เจ้าของโครงการในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมจึงได้ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแห่งนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธจากบริษัทประกันภัย โดยอ้างว่า ตามเงื่อนไขระยะเวลาการก่อสร้าง (Construction Period) ของกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดว่า  
ความรับผิดของผู้รับประกันภัยจะเริ่มต้นหลังจากการขนทรัพย์สินดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยลง ณ สถานที่ตามสัญญาว่าจ้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้มีการระบุเอาไว้เป็นวันอื่นใดในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และจะสิ้นสุด ณ วันที่ได้กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
 
เนื่องจากวันที่เกิดเหตุไฟไหม้ ผู้รับเหมายังมิได้ขนทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในที่นี้คือ วัสดุต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในก่อสร้าง เช่น อิฐ ไม้ เหล็ก ปูน เป็นต้น เข้ามาในตึกดังกล่าวเลย เพราะระยะเวลาความคุ้มครองกำหนดให้เริ่มนับแต่วันแรกที่ขนทรัพย์สินนั้นลงเป็นต้นไป โดยไม่คำนึงว่า ในกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้เป็นวันอื่นใดก่อนหน้านั้น และการขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมของผู้ว่าจ้างก็จะต้องเริ่มคุ้มครองไปพร้อมกันไปด้วยเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าของโครงการรายนี้จึงคุยกับนายหน้าประกันวินาศภัยของตนว่า ถ้าเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยไม่ได้ ตัวนายหน้าประกันวินาศภัยก็จำต้องรับผิดชอบแทน เพราะมิได้ชี้แจงรายละเอียดข้อกำหนด และเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยให้รับทราบตั้งแต่ต้น

สมมุติท่านเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ ท่านจะแนะนำ และหาทางออกให้ลูกค้าของท่านอย่างไรครับ? 

ส่วนท่านที่เป็นบริษัทประกันภัยเห็นพ้องกับคำปฏิเสธดังกล่าวของบริษัทประกันภัยแห่งนั้นหรือไม่ อย่างไร?

ฝากช่วยกันคิดด้วยนะครับ หากจะรีบเฉลยไปเลย ก็อาจไม่ชวนให้น่าติดตามสักเท่าไหร่?
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น