วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 46: ผู้โดยสารในรถ (Auto Passenger) หมายถึงใคร?



(ตอนที่หนึ่ง)

เคยสังเกตไหมครับว่า ผู้โดยสารในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายถึงใครกันบ้าง?

ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจมิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้ แต่เมื่อเทียบเคียงกับเอกสารแนบท้ายความคุ้มครองเพิ่มเติมของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจว่าด้วยการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ร.ย. 01) ภายใต้คำนิยามของผู้ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งระบุว่า “ผู้ได้รับความคุ้มครอง หมายถึง ผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสารตามจำนวนที่ระบุในตาราง ซึ่งอยู่ใน หรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้นหรือกำลังลงจากรถยนต์” 

ประกอบกับคู่มือตีความการประกันภัยรถยนต์ที่อธิบายว่า บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้น หมายความถึงทั้งบุคคลภายนอกที่อยู่นอกรถยนต์คันที่เอาประกันภัย และบุคคลภายนอกที่โดยสารอยู่ใน หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้นด้วย

ส่วนผู้ประสบภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับก็ให้หมายความถึงบุคคลที่อยู่นอกรถ หรือผู้โดยสารด้วยเช่นกัน

อนึ่ง คำว่า “ผู้โดยสาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายความถึง “ผู้อาศัยไปด้วย, ผู้ใช้บริการยานพาหนะเช่นรถ เรือ โดยเสียค่าบริการ

โดยสรุป ผู้โดยสารจึงตีความได้ว่า คือ ผู้ที่อาศัยไปกับรถยนต์ โดยจะอยู่ภายในรถยนต์คันนั้นแล้ว หรือขณะกำลังขึ้น หรือขณะกำลังลงจากรถยนต์คันนั้นก็ได้ 

ถ้าบุคคลนั้นมิได้อยู่ในรถ เพียงแตะส่วนใดส่วนหนึ่งของรถคันนั้น เพื่อที่จะขยับตัวขึ้นรถ หรือสองขาลงจากรถไปแล้ว แต่มือยังจับตัวรถคันนั้นอยู่ จะถือเป็นผู้โดยสารขณะกำลังขึ้น หรือกำลังลงได้หรือไม่?
 
หรือบุคคลนั้นมิได้อยู่ “ใน” รถ แต่อยู่ “บน” รถ ดังที่เคยเป็นข่าว สาวนั่งอยู่บนหลังคารถ หรือตำรวจโดดเกาะรถคนร้าย เราจะเรียกว่าเป็นผู้โดยสารได้หรือไม่?

หรือคนเดินถนนที่โดนรถชน แล้วร่างพุ่งเข้าไปอยู่ “ภายใน” รถคันนั้น จะถือเป็นผู้โดยสารอยู่ในรถได้หรือเปล่า?

งั้นคุณคิดว่า “ผู้โดยสาร” ควรกินความถึงขนาดไหนดีครับ?

แล้วเรามาคุยกันต่อสัปดาห์หน้า

วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 45 : การประกันภัยออนไลน์ เรื่องส่วนได้เสียอันอาจเอาประกันภัยได้ และการปกปิดข้อความจริงกับการแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จ



(ตอนที่สอง)

ประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้ คือ

1) ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียหรือไม่?
2) ผู้เอาประกันภัยแถลงข้อความเท็จหรือไม่?

ในประเด็นแรก บริษัทประกันภัยให้การว่า ผู้เอาประกันภัยแม้เป็นภรรยาตามกฎหมาย แต่มิได้มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิของบ้านหลังที่เอาประกันภัย จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในอันที่จะเอาประกันภัยบ้านหลังนี้ได้

ส่วนประเด็นที่สอง ในใบคำขอเอาประกันภัยทางออนไลน์ ซึ่งคำถามข้อหนึ่งถามว่า “คุณเป็นเจ้าของบ้าน และพักอาศัยอยู่ในบ้านกับครอบครัวของคุณหรือเปล่า?” ถ้าภรรยาซึ่งขอเอาประกันภัยได้เลือกคำตอบเป็น “ไม่” ในหน้าเวปก็จะขึ้นคำถามใหม่ให้เลือกว่า คุณมีส่วนได้เสียอะไรบ้างในทรัพย์สินที่ขอเอาประกันภัย แต่เนื่องด้วยภรรยานั้นได้เลือกตอบคำถามข้างต้นว่า “ใช่” บริษัทประกันภัยจึงเข้าใจว่า ภรรยานั้นมีส่วนได้เสียเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นจริง แท้ที่จริงแล้วกลับไม่ใช่ เพราะในเอกสารสิทธิระบุชื่อสามีเพียงผู้เดียวเท่านั้น 

การแถลงข้อความอันเป็นเท็จเช่นนี้ ส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยระหว่างภรรยาผู้เอาประกันภัยกับริษัทประกันภัยตกเป็นโมฆียะ เมื่อบริษัทประกันภัยใช้สิทธิบอกล้าง สัญญาประกันภัยก็ตกเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มต้น เหตุแห่งความเสียหายของบ้านหลังที่เอาประกันภัยนี้จึงไม่อยู่ในความรับผิดของบริษัทประกันภัยที่จะต้องชดใช้ให้ตามสัญญาประกันภัย

ฝ่ายภรรยาซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยแย้งว่า ในคำถามที่เป็นประเด็นนั้น จะประกอบด้วยคำถามย่อยสองข้อ คือ คำถามแรก คุณเป็นเจ้าของบ้านหรือไม่? และคำถามที่สอง คุณพักอาศัยอยู่ในบ้านกับครอบครัวของคุณหรือเปล่า? แต่ในคำตอบกลับมีให้เลือกเพียง “ใช่” หรือ “ไม่” เท่านั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยเลือกตอบว่า “ไม่” ดังที่บริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง จะกลายเป็นว่า ผู้เอาประกันภัยแถลงข้อความเท็จอยู่ดี เพราะแม้ผู้เอาประกันภัยจะมิใช่เจ้าของบ้านตามเอกสารสิทธิ แต่ก็พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นจริง ๆ 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกคำตอบใด ล้วนใช้ไม่ได้ คำถามของบริษัทประกันภัยไม่มีความชัดเจน การมาอาศัยเหตุดังกล่าวมาบอกล้างสัญญาประกันภัยจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนประเด็นเรื่องส่วนได้เสียนั้น แม้ภรรยาจะไม่มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิ แต่การมาทำประกันภัยก็เป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของสามีซึ่งมีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิดังกล่าว เนื่องจากคู่สามีภรรยาเห็นชอบร่วมกันล่วงหน้าแล้วว่า บ้านหลังนี้ควรจัดทำประกันภัยคุ้มครองไว้   

เมื่อศาลได้รับฟังจากคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็นพ้องกับฝ่ายผู้เอาประกันภัย และตัดสินให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย

คดีนี้เป็นอุทาหรณ์แก่บริษัทประกันภัยว่า การทำประกันภัยทางออนไลน์นั้นควรร่างคำถามคำตอบให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ เนื่องจากมิได้มีโอกาสมาพูดคุยซักถามในรายละเอียดกันได้อย่างเช่นการเจอหน้า หรือพูดคุยโต้ตอบกันทางโทรศัพท์

อ้างอิงจากคดี Gonzales & Barrett v The Hollard Insurance Company Pty Ltd [2016] NSWLC 9

คุณได้รับคำตอบเรื่องนี้ตรงตามที่คิดไว้บ้างหรือเปล่าครับ?

วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 45: การประกันภัยออนไลน์ เรื่องส่วนได้เสียอันอาจเอาประกันภัยได้ และการปกปิดข้อความจริงกับการแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จ



(ตอนที่หนึ่ง)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผลทางกฎหมายของการไม่มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย ถึงขนาดทำให้สัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพัน และการปกปิดข้อความจริงกับการแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จก็ถึงขนาดทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ และกลายเป็นโมฆะในท้ายที่สุด เมื่อบริษัทประกันภัยบอกล้าง

 

ปัจจุบัน การทำประกันภัยออนไลน์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางสะดวก และรวดเร็วมาก แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้เหมือนกันเช่นเดียวกับช่องทางอื่น ๆ ดังเช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานี้

 

สามีเป็นเจ้าของบ้านตามเอกสารสิทธิแต่ผู้เดียว ภรรยาตามกฎหมายพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย ทั้งคู่เห็นพ้องว่า บ้านหลังนี้และทรัพย์สินภายในบ้านควรจัดทำประกันภัยคุ้มครองเอาไว้ ภรรยาจึงเข้าเวปไซต์เพื่อขอทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยได้กรอกข้อมูลครบถ้วนตามใบคำขอเอาประกันภัยทางหน้าเวปนั้น ซึ่งคำถามข้อหนึ่งถามว่า “คุณเป็นเจ้าของบ้าน และพักอาศัยอยู่ในบ้านกับครอบครัวของคุณหรือเปล่า?” ภรรยาได้คลิ้กคำตอบว่า “ใช่” 

 

เมื่อบริษัทประกันภัยรายนั้นพิจารณาข้อมูลในใบคำขอเอาประกันภัยทางหน้าเวปแล้ว เป็นที่พอใจ จึงตกลงตอบรับประกันภัย และได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินให้แก่ภรรยา โดยระบุชื่อภรรยานั้นเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงผู้เดียว

 

อีกประมาณเก้าเดือนต่อมา ได้เกิดลมพายุสร้างความเสียหายให้แก่บ้านหลังนั้น และทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ภายในด้วย ภรรยารายนี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยได้แจ้งเหตุแห่งความเสียหายนั้น พร้อมเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งให้ความคุ้มครองถึงภัยลมพายุด้วยต่อบริษัทประกันภัยแห่งนั้น

 

เมื่อบริษัทประกันภัยนั้นได้อ่านรายงานของผู้ประเมินวินาศภัยที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทประกันภัยนั้นให้เข้ามาตรวจสอบและประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว พบว่า ภรรยาซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น ความจริงแล้ว มิใช่เป็นเจ้าของบ้านตามเอกสารสิทธิ จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียอันอาจเอาประกันภัยได้ ทั้งยังแถลงข้อความอันเป็นเท็จที่ได้ตอบคำถามเรื่องเป็นเจ้าของบ้านหรือเปล่าด้วย บริษัทประกันภัยได้ตอบปฎิเสธไม่ยอมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยอ้างเหตุทั้งสองข้อดังกล่าว 

 

สามีภรรยาคู่นี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล   


คุณคิดเห็นอย่างไรครับ? สำหรับคำปฎิเสธของบริษัทประกันภัยทั้งสองเหตุดังกล่าว

คู่สามีภรรยานี้มีโอกาสจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่?

ฝากให้คิดเป็นการบ้าน แล้วเราค่อยมาดูผลสรุปของคดีนี้ในตอนต่อไปว่า จะตรงตามความคิดเห็นของเราหรือเปล่านะครับ?

วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 44: สินค้าผิดกฎหมายทำประกันภัยได้หรือไม่? และบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ได้หรือเปล่า?



ต้องขออภัยที่ห่างหายไปพอสมควรครับ เพราะมีงานที่ต้องเร่งทำให้เสร็จภายในกำหนด

ส่วนตัวเคยได้ยินมานานแล้วว่า มีการนำทรัพย์สินที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาทำประกันอัคคีภัย ครั้นเกิดไฟไหม้ขึ้นมา เมื่อไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย กลับถูกปฎิเสธว่า สัญญาประกันภัยเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้เกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และเคยได้รับฟังว่า ศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย แต่ผมไม่ได้ติดตามต่อว่า คดีนั้นได้มีการอุทธรณ์ ฎีกาจนถึงที่สุดแล้วหรือเปล่า?

เมื่อมีโอกาส เวลาถ่ายทอดความรู้ด้านการประกันวินาศภัย ได้หยิบยกเรื่องนี้มากล่าวเป็นอุทาหรณ์ และกรณีศึกษาอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งเคยนำเสนอให้ใส่ไว้ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินเหมือนอย่างของต่างประเทศไปเลยว่า ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้ คือ “สิ่งผิดกฏหมาย หรือทรัพย์สินที่ขนส่ง หรือค้าขายอย่างผิดกฏหมาย (Contraband or property in the course of illegal transportation or trade)” น่าเสียดายเท่าที่รับทราบ ยังมิได้มีการนำเรื่องนี้มาหารือกันอย่างจริงจัง แต่อยากเชื่อว่า ประเด็นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาอีก

จนล่าสุด ได้อ่านพบคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นอีกกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน และก็ถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธเช่นเคย จึงขอหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมากล่าวถึงไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อที่จะมิให้เกิดปัญหาเช่นว่านี้ขึ้นมาอีกในอนาคต ยิ่งปัจจุบัน เราจะเห็นทรัพย์สินจำพวกนี้ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8265/2559
การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมรู้ หรือมีความมุ่งหมายในการนั้น การทำสัญญาประกันอัคคีภัย ผู้ร้องไม่ทราบว่าสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือละเมิดเครื่องหมายการค้า ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนของผู้ร้องเพียงแต่ถ่ายภาพสินค้าในตู้โชว์สินค้าไว้เพียงภาพเดียว ผู้คัดค้านไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบว่า เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และผู้ร้องไม่เคยทราบ หรือล่วงรู้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย เช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรู้รายละเอียดยี่ห้อนาฬิกาข้อมือ ระดับราคาหรือแหล่งที่มาของนาฬิกาที่ผู้คัดค้านนำมาขาย ย่อมเห็นได้ว่า ผู้ร้องคงมีเจตนารับประกันภัยสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านมีไว้เพื่อขายโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาข้อมือดังกล่าวอาจจะมีลักษณะเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วย สัญญาประกันอัคคีภัยในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ จึงทำขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้าน กรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยเพิ่มเติมที่ตกลงทำประกันภัย ซึ่งเมื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขาย หากนาฬิกาข้อมือได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยที่ระบุไว้ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านสูญเสียตัวทรัพย์ หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน หาได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมีความผูกพันกันตามเงื่อนไขข้อตกลงและความรับผิดในการรับประกันอัคคีภัยที่มีผลบังคับโดยสมบูรณ์
 
ผู้ร้องอ้างว่า นาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านเอาประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าไว้กับผู้ร้อง เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีอาญา ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น ซึ่งหากศาลในคดีอาญาลงโทษผู้คัดค้านโดยให้ริบสินค้านาฬิกาข้อมือปลอม ผู้คัดค้านก็จะไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินส่วนนั้นอีกต่อไป แต่ตราบใดที่ผู้คัดค้านยังคงยึดถือ และครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขายในฐานะเจ้าของสินค้าเหล่านั้น โดยผู้คัดค้านไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินค้านาฬิกาข้อมือดังกล่าว ต้องถือว่าไม่มีบุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นดีกว่าผู้คัดค้าน หากถือตามที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประกันอัคคีภัยกรณีนี้ไม่ให้ความคุ้มครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น และผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นการระงับสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ทั้งที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านในความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จึงเสมือนกับผู้ร้องสามารถอ้างเอาว่า การกระทำใด ๆ ของผู้คัดค้านเป็นความผิดในทางอาญาก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือให้แก่ผู้คัดค้าน ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันอัคคีภัย ซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ คำชี้ขาดในส่วนนี้เป็นการบังคับตามสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่อย่างใด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ 2,012,446.75 บาท จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545