วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?



(ตอนที่หนึ่ง)

ไม่ว่าการประกันภัยชีวิตร่างกาย การประกันภัยทรัพย์สิน หรือการประกันภัยความรับผิด ล้วนหลีกหนีไม่พ้นกับคำว่า “อุบัติเหตุ (Accident)” หรือ “เหตุการณ์ (Occurrence)” แทบทั้งสิ้น เพราะมันจะไปเกี่ยวโยงกับวงเงินที่จะได้รับการชดใช้ หรือค่าเสียหายส่วนแรกที่จะต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งมักจะระบุในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ๆ ว่า วงเงินความคุ้มครองจำกัดต่อหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์ เช่นเดียวกับค่าเสียหายส่วนแรกต่อหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์

ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง หนึ่งความเสียหายอาจเป็นผลมาจากหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์ บางครั้ง หลายความเสียหายอาจเป็นผลมาจากหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์ก็ได้ กระทั่งหลายความเสียหายก็อาจเป็นผลมาจากหลายอุบัติเหตุ หรือหลายเหตุการณ์ก็ได้เช่นกัน นั่นหมายถึง วงเงินความคุ้มครองกับค่าเสียหายส่วนแรกก็จะผันแปรทวีคูณไปตามจำนวนอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นไปด้วย แล้วเราจะพิจารณาหาแนวทางแยกแยะได้อย่างไร?

จากกรณีรถยนต์ชนกันหลายคัน แล้วสร้างความเสียหายอย่างมากมาย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งใน และนอกประเทศนั้น ในแง่การประกันภัย มักจะมีความเห็นแตกต่างกันหลายมุมมอง มุมมองหนึ่งวิเคราะห์ว่า ถ้ารถยนต์ชนกันต่อเนื่องติดต่อกันหลายคัน ถือเป็นหนึ่งอุบัติเหตุ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ กำหนดคำนิยาม อุบัติเหตุแต่ละครั้ง หมายความถึง “เหตุการณ์หนึ่ง หรือหลายเหตุการณ์สืบเนื่องกัน ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกัน

อีกมุมมองหนึ่งเห็นว่า หากมีช่วงห่างของระยะเวลากับพื้นที่ น่าจะสามารถแยกออกได้เป็นหลายอุบัติเหตุ หรือหลายเหตุการณ์ก็ได้  

ลำดับแรก เรามาลองดูความหมายของคำว่า “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” กันก่อน 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า 

อุบัติเหตุ (Accident)” หมายความถึง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่คาดคิด และทำให้ร่างกายบาดเจ็บ หรือถึงแก่กรรม โดยผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือถูกบุคคลใดเจตนากระทำ ลักษณะอุบัติเหตุที่ได้รับความคุ้มครองจะต้องเป็นผลจากเหตุการณ์ภายนอกซึ่งไม่ใช่จากโรคภัยไข้เจ็บ” 

ส่วน “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)” หมายความถึง “ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันภัยจะจำกัดจำนวนความรับผิดสูงสุดไว้สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เช่น ในกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนทำให้ผู้โดยสารในรถยนต์ 2 คน ได้รับบาดเจ็บ ก็ถือว่าอุบัติเหตุที่ผู้โดยสาร 2 คน ได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเหตุการณ์เดียวกัน

สำหรับต่างประเทศ “อุบัติเหตุ” มักหมายความถึง “สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหวัง หรือมุ่งหวัง และโดยมิได้เจตนา อันเป็นผลมาจากสาเหตุบางอย่างที่รับรู้ หรือไม่อาจรับรู้ได้

ส่วนคำว่า “เหตุการณ์” เพิ่งกำหนดคำนิยามมาตรฐานขึ้นมาในประเทศสหรัฐอเมริกา นับแต่ปี ค.ศ. 1973 เป็นต้นมา อันหมายความถึง “อุบัติเหตุ รวมทั้งกรณีที่ก่อให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตรายตามปกติทั่วไปเช่นนั้นอย่างต่อเนื่อง และซ้ำซ้อน (an accident, including continuous or repeated exposure to substantially the same general harmful conditions)

ฉะนั้น จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในต่างประเทศได้มีการแยกคำว่า “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” ออกจากกัน โดยอุบัติเหตุจะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ กล่าวคือ หนึ่งเหตุการณ์อาจประกอบด้วยหลายอุบัติเหตุก็ได้

ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาเองได้พัฒนาทฤษฏีการตีความในการจำแนก “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” ออกเป็นสองทฤษฏีหลัก คือ “ทฤษฏีเหตุ (Cause Theory)” กับ “ทฤษฏีผล (Effect Theory)” ประกอบการพิจารณาข้อมูลสำคัญในเรื่อง ดังนี้

(1) ข้อกำหนด และเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น ๆ
(2) ข้อความจริงที่เกิดขึ้น
(3) หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตอนต่อไป เราจะมาดูถึงทฤษฏีการตีความดังกล่าว และลองวิเคราะห์กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกันนะครับ

วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 41 : ความหมายของการใช้รถ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ควรมองให้แคบ หรือกว้าง



(ตอนที่สี่)

แม่บ้านรายหนึ่งโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนเองทะเลาะมีปากเสียงกับลูกสาวชื่อกรีน แล้วลูกสาวก็ผลุนผลันพาหลานสาวตัวเล็ก (ลูกของลูกสาว) ขึ้นรถยนต์ขับหนีออกไปจากบ้าน เนื่องจากลูกสาวมีอาการป่วยทางจิต ต้องทานยาตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ตนเองเกรงจะเกิดอันตรายกับหลาน จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตามนำตัวทั้งสองคนกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยด้วย

จากนั้นไม่นาน รถสายตรวจคันหนึ่งก็เจอรถคันนั้น และเข้าหยุดรถเอาไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจรายนั้นได้เรียกกำลังเสริม เพื่อทำการควบคุมตัวคนขับ และช่วยเหลือเด็กผู้หญิงต่อไป เมื่อกำลังเสริมมาสมทบแล้ว เจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งสองนายก็ตรงเข้าไปใกล้รถคันนั้น พบเห็นเด็กหญิงนั่งอยู่เบาะหลังรถ คนขับรถดูมีปฎิกิริยากระสับกระส่าย จึงสอบถามชื่อคนขับรถ ซึ่งได้คำตอบกลับมาว่า ชื่อ “บียอนเซ่” เจ้าหน้าที่สายตรวจแจ้งว่า แม่เป็นห่วงมาก อยากให้คุณกลับไปทานยา โดยขอให้คนขับดับเครื่องยนต์ และนำใบขับขี่มาแสดง คนขับเริ่มโวยวาย ไม่ยินยอม เมื่อเจ้าหน้าที่ขอให้คนขับนำกุญแจรถวางไว้บนหลังคา คนขับยิ่งมีปฎิกิริยามากขึ้น ทันใดนั้น ก็ได้เปิดประตูรถออกมา ตรงเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งสองราย โดยรายหนึ่งถูกกัดเข้าที่แขนจนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

ภายหลังถูกควบคุมตัว คนขับให้การว่า จำได้เพียงว่า ขับรถอยู่ แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจให้หยุดรถ จึงเกิดความกลัว พร้อมกังวลกับความปลอดภัยของลูกสาวตัวเอง ไม่เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจให้หยุดรถ และส่งมอบกุญแจด้วยเหตุผลอะไร? เหตุต่อสู้เจ้าพนักงาน ก็จำไม่ได้ชัดว่า กัดแขนหรือเปล่า? เพียงแต่ต่อสู้ป้องปัดไปบ้างเท่านั้น  

ประเด็นของคดีนี้อยู่ที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของคนขับ ซึ่งเป็นผู้ต้องหารายนี้ให้ความคุ้มครองต่อความบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งสองรายหรือไม่? 

บริษัทประกันภัยปฎิเสธ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มิได้เกิดเนื่องมาจากการใช้รถตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า รถมิได้ถูกใช้ในการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย รถถูกหยุดวิ่ง และดับเครื่องยนต์แล้ว ทั้งผู้ต้องหาก็ออกมาจากรถ แล้วตรงเข้าทำร้ายผู้เสียหายขณะอยู่นอกรถ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่มีความเกี่ยวเนื่องจากการใช้รถ 

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย โดยให้ความเห็นเสริมว่า แม้เหตุการณ์จะมีรถเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่รถมิได้มีความเกี่ยวเนื่องอย่างชัดแจ้งในการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย แม้ถ้าผู้ต้องหาทำร้ายขณะที่ยังนั่งอยู่ในรถ ก็มิได้ส่งผลทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะจากคำให้การของผู้ต้องหาเอง จำไม่ได้ว่า ตนถูกหยุดรถด้วยเหตุผลอะไร? แต่กังวลความปลอดภัยของลูกสาวของตัวเอง ดังนั้น จึงน่าเชื่อว่า ความต้องการปกป้องตนเอง และลูกสาวเพิ่งเกิดขึ้นมาภายหลังจากการใช้รถ มิใช่เกิดขึ้น เพราะมีต้นเหตุมาจากการใช้รถ จึงไม่ถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดเนื่องจากการใช้รถ อันจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แต่ประการใด (อ้างอิงจากคดี Colon v. Liberty Mutual Ins. Co., New Jersey Superior Court, App. Div., Jan. 20, 2012)

กรณีเหตุการณ์รถชนกันหลายสิบคัน ในแง่ประกันภัย ถือเป็นกี่อุบัติเหตุ? (Accident) หรือกี่เหตุการณ์? (Occurrence)

โปรดติดตามได้ในเรื่องต่อไป คราวหน้านะครับ

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 41 : ความหมายของการใช้รถ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ควรมองให้แคบ หรือกว้าง



(ตอนที่สาม)

จำนวนรถบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้น คนใช้รถเพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนการปฎิบัติตามกฎกติกา มารยาท การมีวินัย และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันกลับพุ่งสวนทางลดน้อยลงไปด้วยอัตราที่มิได้เป็นสัดส่วนกันเลย ด้วยเหตุนี้ สถิติการใช้ความรุนแรงบนท้องถนนจึงพุ่งปรี๊ด ไม่เฉพาะบ้านเรา แต่ทั่วทั้งโลก   

โดยเฉพาะบ้านเรา เรามีสถิติรถติดมากติดอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะเดียวกัน ก็มีสถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์สูงอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน เมื่อรถติดมาก แล้วจะมีอุบัติเหตุมากได้อย่างไร? คิดดูแล้วน่าแปลกใจเหมือนกัน

ไม่รู้เหมือนกันว่า สถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์ติดอันดับโลกของเราจะหมายความรวมถึงการใช้ความรุนแรงบนท้องถนน (Road Rage) ด้วยหรือเปล่า? ช่างเถอะ เรามาพิจารณาในแง่การประกันภัยรถยนต์กันดีกว่า จะอยู่ในความหมายของ “การใช้รถ” อันทำให้ได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

งั้นเราลองมาเรียนรู้จากกรณีคดีศึกษาของต่างประเทศด้วยกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า รถสองคันวิ่งคู่กันไปบนท้องถนน แล้วจู่ ๆ เกิดเขม่นมีปากเสียงกันขึ้นมา เมื่อคนขับรถคันแรกขับไปจอดที่จุดหมายปลายทาง คนขับรถคันที่สองซึ่งยังค้างคาใจอยู่ได้ขับรถตามมาจอดปิดท้ายรถคันแรก จากนั้นสามคนในรถคันที่สองต่างกรูกันลงมาจากรถ โดยเฉพาะคนขับได้คว้าไม้กอล์ฟจากท้ายรถติดมือมาด้วย และไม่พูดพล่ามอะไรอีก ตรงเข้าฟาดทำร้ายคนขับรถคันแรกจนบาดเจ็บ

คดีทางอาญาก็ว่ากันไป ส่วนประเด็นทางด้านประกันภัยรถยนต์ของรถคันที่สองมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่า การกระทำของคนขับรถคันที่สองเข้าข่าย “การใช้รถ” ซึ่งมิได้มีคำนิยามเฉพาะกำหนดไว้หรือไม่? ถ้าใช่ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ก็ต้องทำการชดใช้ความบาดเจ็บของคู่กรณีในฐานะผู้ประสบภัยจากการใช้รถไป ขณะที่บริษัทประกันภัยไม่เห็นพ้องด้วย 

เรื่องนี้จึงเป็นคดีขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัย และคดีก็ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในที่สุด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้รถคันที่สองได้นำผู้ก่อเหตุมาถึงจุดที่เกิดเหตุ อันถือเป็นการใช้รถก็ตาม แต่การลงไปทำร้ายคู่กรณีนั้น นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นอิสระต่างหากออกไป โดยมิได้มีความเชื่อมโยงจากการใช้รถช่วงแรกเลย ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนว่า บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นี้ (อ้างอิงคดี Roque v. Allstate Ins. Co., 2012 COA 10, 2012 WL 150079 (Colo. App. 2012))

จากแนวคำพิพากษาคดีนี้จุดประเด็นเรื่องผู้ก่อเหตุลงจากรถไปก่อเหตุ จะหมายความเป็นอีกเหตุการณ์ที่แยกต่างหากออกไปจากการใช้รถ

แล้วถ้าผู้ขับขี่รถก่อเหตุไปกัดแขนตำรวจ ขณะตนยังนั่งอยู่ในรถล่ะ จะกลายเป็นได้รับความคุ้มครองใช่หรือไม่? อยากรู้ผล ก็โปรดอดใจรอตอนต่อไปครับ

วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 41 : ความหมายของการใช้รถ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ควรมองให้แคบ หรือกว้าง



(ตอนที่สอง)

สำหรับคดีในประเทศแคนาดา เรื่องราวมีอยู่ว่า สุภาพสตรีรายหนึ่งพาลูกสาวติดรถยนต์ไปแวะที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยเจ้าตัวจอดรถลงไปซื้อ ให้ลูกสาวนั่งรออยู่ในรถ จู่ ๆ ก็มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งขับรถยนต์ผ่านมาจอดตรงด้านหน้าของร้านอาหารแห่งนั้น แล้วระดมยิงปืนเข้าไปในร้านอาหารแห่งนั้น ปรากฏว่า สุภาพสตรีโชคร้ายรายนี้ถูกกระสุนปืนบริเวณกระดูกสันหลัง ส่งผลทำให้เกิดภาวะอัมพาตของร่างกายส่วนล่าง

ประเด็นปัญหาก็เช่นเดียวกัน คือ การยิงปืนจากรถยนต์ของคนร้าย ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก “การใช้รถ” หรือไม่?

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า การตีความหมายของการใช้รถ ควรหมายความถึงการนำรถไปใช้ตามปกติทั่วไป มากกว่าที่จะรวมไปถึงการนำรถยนต์ไปใช้ขนอาวุธปืนนำไปยิงทำร้ายคน และใช้เป็นพาหนะหลบหนี ดังนั้น การยิงปืนจึงถือเป็นเหตุการณ์ที่แยกต่างหากออกมาจากการใช้รถ

ศาลอุทธรณ์แม้จะเห็นว่า การใช้รถไม่น่าจำกัดอยู่เพียงการนำรถไปใช้ตามปกติทั่วไปเท่านั้น เพราะรถอาจถูกใช้ในทางที่ผิดกฎหมายก็ได้ตราบเท่าที่มิได้ถูกระบุยกเว้นไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย แต่ศาลอุทธรณ์ก็เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า การใช้รถกับการยิงปืนควรถือเป็นสองเหตุการณ์แยกต่างหากจากกัน เมื่อผู้ประสบภัยรายนี้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากกระสุนปืน จึงมิใช่เกิดขึ้นมาจากการใช้รถ
(อ้างอิงคดี Russo v. John Doe (2009), 95 O.R. (3d) 138, [2009] O.J. No. 1481)

จากคำพิพากษาของทั้งสองคดี จะเห็นได้ว่า ศาลอาศัยทฤษฎีในการวินิจฉัยที่แตกต่างกัน ศาลในประเทศสหรัฐพิจารณาจากสาเหตุ ขณะที่ศาลประเทศแคนาดาพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้น

แล้วการใช้ความรุนแรงบนท้องถนน (Road Rage) อันเนื่องมาจากการใช้รถ ใช้ทาง จนนำไปสู่การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันขึ้นมาล่ะ ผลทางคดีจะเป็นเช่นไร? อดใจรอในตอนที่สามครับ