วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 31 : คนกลางประกันภัยไม่แนะนำ หรือจัดประกันภัยไม่เหมาะสม หรือไม่เพียงพอ ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่?



(ตอนที่สาม)

นายหน้าประกันวินาศภัยไม่ทำหน้าที่ในการอธิบายเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย

นายหน้าประกันวินาศภัยรายหนึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ขอเอาประกันภัยให้จัดทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance) อันเป็นผลสืบเนื่องจากความเสียหายของทรัพย์สินของผู้ขอเอาประกันภัย โดยผู้ขอเอาประกันภัยแจ้งว่า หากเกิดความเสียหายขึ้นมา น่าจะใช้เวลาในการทำให้ธุรกิจกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิมภายในระยะเวลาหกเดือน (Indemnity Period) และตั้งประมาณการผลกำไรขั้นต้นรายปี (Estimated Annual Gross Profit) ไว้ที่ 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ

ในเวลาไปจัดทำประกันภัยในนามของผู้ขอเอาประกันภัย นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้กลับไปกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยของผลกำไรขั้นต้นไว้เพียง 51,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของตัวเลขที่ผู้ขอเอาประกันภัยต้องการ ทั้งยังแจ้งต่ออายุความคุ้มครองทุกปีด้วยตัวเลขเท่าเดิม

ต่อมา ได้เกิดไฟไหม้สร้างความเสียหายแก่สถานประกอบการของผู้เอาประกันภัยรายนี้จนทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลงไป เป็นตัวเลขความเสียหายทางการเงินที่ควรจะได้รับการชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ รวมทั้งสิ้น 36,605 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่เนื่องจากจำนวนเงินเอาประกันภัยนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงในเวลาเมื่อเกิดความเสียหายนี้ขึ้นมา ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบเองตามส่วน ภายใต้เงื่อนไขการเฉลี่ยความเสียหาย (average provision) ของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งคำนวณแล้วเป็นเงิน 16,228 ดอลล่าร์สหรัฐ โดยบริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เพียง 20,377 ดอลล่าร์สหรัฐ

ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องให้นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ชดใช้จำนวนเงินส่วนที่ผู้เอาประกันภัยมิได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย โดยกล่าวหาว่า นายหน้าประกันวินาศภัยของตนมิได้ชี้แจงให้รับทราบถึงเงื่อนไขการเฉลี่ยความเสียหาย (average provision) ในกรณีการทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Under Insurance)

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้มิได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนที่ดีของผู้เอาประกันภัย ในการชี้ช่อง หรืออธิบายเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้เข้าใจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเงื่อนไขการเฉลี่ยความเสียหาย (average provision) จนส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างเต็มที่ดังกล่าว นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้จึงต้องรับผิดชดใช้จำนวนเงินส่วนที่ขาดให้แก่ผู้เอาประกันภัย

อ้างถึงคดี J O'Conner and Sons Pty Ltd v Spunfine Pty Ltd, Macaray Pty Ltd and MMI General Insurance Limited [1998] ATCSC 69 at 5

หมายเหตุ : โดยหลักการ ถึงแม้จะได้กำหนดระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Indemnity Period) อยู่ที่หกเดือน แต่ก็ต้องกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยของผลกำไรขั้นต้นไว้เป็นตัวเลขสิบสองเดือนเสมอ ทั้งเวลาต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละคราว จะต้องทบทวนจำนวนเงินเอาประกันภัยทุกครั้งไปด้วย มิฉะนั้น จะส่งผลทำให้จำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้

แล้วในเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยก็อยู่ในมือของผู้เอาประกันภัย นายหน้าประกันวินาศภัยจะอ้างกลับบ้างได้ไหมว่า ทำไมผู้เอาประกันภัยถึงไม่อ่านกรมธรรม์ประกันภัยเอง ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน ก็บอกมา มิเช่นนั้น กลายเป็นว่า นายหน้าประกันวินาศภัยจะต้องมานั่งอธิบายรายละเอียดกันทุกเงื่อนไขหรืออย่างไร?

คุณคิดว่า ศาลจะรับฟัง หรือเห็นใจนายหน้าประกันวินาศภัยบ้างไหมครับ? อดใจรออ่านตอนต่อไปนะครับ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 31 : คนกลางประกันภัยไม่แนะนำ หรือจัดประกันภัยไม่เหมาะสม หรือไม่เพียงพอ ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่?



(ตอนที่สอง)  



นายหน้าประกันวินาศภัยไม่ทำหน้าที่ในการจัดประกันภัยให้เหมาะสม



เจ้าของโรงแรมตั้งอยู่ร่องน้ำริมฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง โดยมีท่าจอดเรืออยู่ในน้ำ ซึ่งได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่จัดงานบันเทิง และเต้นรำด้วย ประสงค์จะจัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอง จึงได้ไปติดต่อนายหน้าประกันวินาศภัยรายหนึ่ง พร้อมกล่าวย้ำเป็นพิเศษว่า ตนเองกังวลเรื่องโอกาสความเสี่ยงภัยน้ำท่วมอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำที่จะเอ่อล้นเข้ามาทางร่องน้ำ รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดภัยลมพายุ และยินดีรับพิจารณาราคาค่าเบี้ยประกันภัยที่อาจจะแพงขึ้น



นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้จึงได้ไปจัดความคุ้มครองกับบริษัทประกันภัยตามความประสงค์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมแห่งนี้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย โดยได้มีการขยายความคุ้มครองเพิ่ม ให้รวมถึงภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ และภัยเนื่องจากน้ำเอาไว้ด้วย



ครั้นต่อมา ได้เกิดพายุไซโคลนใกล้ชายฝั่ง แต่ไม่มีฝนตกอย่างใด ด้วยกำลังแรงของลมได้ก่อให้เกิดคลื่นปั่นป่วนในท้องทะเล จนน้ำทะเลทะลักผ่านเข้ามาทางร่องน้ำที่โรงแรมตั้งอยู่ ทำให้น้ำยกตัวสูงขึ้นเอ่อล้นเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยรายนี้ ทั้งส่งผลทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักไปด้วย



เมื่อผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะความเสียหายจากแรงลมพายุ แต่ปฎิเสธชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของภัยน้ำท่วมครั้งนี้ เนื่องจากในเงื่อนไขข้อหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า ไม่คุ้มครองความเสียหาย ซึ่งมีสาเหตุทั้งโดยตรง และโดยอ้อมจากน้ำทะเล ผู้เอาประกันภัยได้โต้แย้งว่า ไม่ทราบว่า มีเงื่อนไขนี้ระบุไว้เช่นนั้น เข้าใจว่า ภัยน้ำท่วมที่มีอยู่จะให้ความคุ้มครองทุกกรณี ทั้งนายหน้าประกันวินาศภัยของตนก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรเป็นพิเศษให้รับรู้ด้วย อนึ่ง ความเสียหายเองก็มีต้นเหตุมาจากภัยลมพายุที่คุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ดี ศาลเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัย



ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจต้องนำคดีมาฟ้องร้องนายหน้าประกันวินาศภัยของตน กรณีที่มิได้จัดความคุ้มครองให้ตรงตามความประสงค์ ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ประมาทเลินเล่อที่มิได้ตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองภัยน้ำท่วมให้ชัดเจนเสียก่อน จึงวินิจฉัยให้นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย สำหรับความเสียหายในส่วนที่มิได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย



อ้างถึงคดี Mitor Investments Pty Ltd v General Accident Fire &. Life Assurance Corporation Ltd [1984] WAR 365



บทบาทหน้าที่ของนายหน้าประกันวินาศภัย ยังมีอีกหลายประเด็น จะทยอยนำตัวอย่างคดีข้อพิพาทมาเล่าสู่กันฟังให้ครบทุกประเด็นนะครับ โปรดติดตาม

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 31 : คนกลางประกันภัยไม่แนะนำ หรือจัดประกันภัยให้ไม่เหมาะสม หรือไม่เพียงพอ ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่?



(ตอนที่หนึ่ง)

คนกลางประกันภัยในที่นี้ ได้แก่ ตัวแทนประกันวินาศภัย และนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกันภัยวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2558 ให้ความหมายไว้ในมาตรา 4 ดังนี้

“ตัวแทนประกันวินาศภัย” หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท

“นายหน้าประกันวินาศภัย” หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น

โดยตัวแทนประกันวินาศภัยถือเป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยในการชักชวนคนให้มาทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ขณะที่นายหน้าประกันวินาศภัยถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยในการให้คำแนะนำเรื่องการประกันภัยต่าง ๆ หรือในการเข้าไปตกลงทำสัญญาประกันภัยในนามของผู้เอาประกันภัย ตามแต่กรณีที่จะได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ คนกลางประกันภัยทั้งคู่จะต้องมีใบอนุญาตในการกระทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นด้วย

เมื่อคนกลางประกันภัยละเลยไม่ทำหน้าที่ที่ตนควรจะต้องกระทำ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง

นายหน้าประกันวินาศภัยไม่ทำหน้าที่ชี้แจงเงื่อนไขความคุ้มครอง

สัปดาห์ที่แล้ว เราพูดถึงคดี Elilade Pty Ltd v Nonpareil Pty Ltd (2002) 124 FCR 1 ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นสองระลอก โดยระลอกแรกไม่อยู่ภายใต้คำนิยามภัยน้ำท่วม ศาลตัดสินให้ได้รับความคุ้มครอง ส่วนน้ำท่วมระลอกสองที่ตามมา เข้าข่ายคำนิยามดังกล่าว ศาลตัดสินให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง

เรื่องนี้น่าจะจบลงได้ แต่ผู้เอาประกันภัยในคดีนี้ไม่ยอมจบด้วย ได้นำคดีไปฟ้องร้องต่อนายหน้าประกันวินาศภัยของตนเองเป็นอีกคดีหนึ่ง Elilade Pty Ltd v Nonpareil Pty Ltd & CIC Insurance Limited [2002] FCA 909 โทษฐานที่ไม่แจ้งว่า สามารถซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ และมิได้ชี้แจงอย่างชัดแจ้งว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่นั้น ไม่คุ้มครองภัยน้ำท่วม

ศาลในประเทศออสเตรเลียเห็นว่า นายหน้าประกันวินาศภัยมีหน้าที่ต้องดูแลผู้เอาประกันภัย ด้วยการบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งเคยมีประวัติเหตุการณ์น้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำอยู่ด้วย ทั้งนายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ยังรับรู้ว่า ผู้บริหารของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ใคร่มีความรู้ด้านการประกันภัย หากนายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้หยิบยกเรื่องที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมเอาไว้ แต่สามารถเลือกซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมได้มาชี้แจงให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบ และพิจารณาตัดสินใจที่จะเลือกซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมหรือไม่ตั้งแต่ต้น ก็คงจะไม่เกิดประเด็นปัญหานี้ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ศาลได้ค้นพบว่า แม้นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้มิได้ทำหน้าที่ของตนตามสมควรก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นสาเหตุที่จะส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยมิได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผู้บริหารของผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้พิจารณาตัดสินใจทำประกันภัยโดยอ้างอิงความคุ้มครองเช่นเดิมที่เคยทำกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว (เป็นการต่ออายุความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม มิใช่ทำประกันภัยใหม่) สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ งบประมาณที่ตั้งไว้ในการซื้อประกันภัยก็เป็นจำนวนเงินเท่าเดิม ดังนั้น ถึงแม้นายหน้าประกันวินาศภัยจะได้ทำหน้าที่แนะนำให้เลือกซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติม ก็น่าเชื่อว่า ผู้เอาประกันภัยคงจะไม่ทำ เพราะเกินกว่างบประมาณค่าเบี้ยประกันภัยที่ตั้งไว้ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงวินิจฉัยว่า นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ไม่จำต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยในคดีนี้

กรุณาติดตามข้อพิพาทประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อไปนะครับ

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 30 : น้ำท่วม (Flood) ความหมายในแง่การประกันภัย



(ตอนที่ห้า)

พจนานุกรม Oxford University Press ให้คำนิยาม “น้ำท่วม (Flood)” หมายความถึง “การเอ่อล้นของน้ำจำนวนมากจากระดับปกติ ไปบนพื้นดินที่โดยทั่วไปแห้งอยู่

ส่วนโครงการประกันภัยน้ำท่วมแห่งชาติ (The National Flood Insurance Program (NFIP)) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้คำนิยามนี้เอาไว้ว่า หมายความถึง
1. สภาวะการณ์โดยทั่วไป และโดยชั่วคราวของการท่วมเจิ่งนองบางส่วน หรือทั้งหมดของพื้นที่ปกติซึ่งแห้งอยู่ ตั้งแต่ขนาด 2 เอเคอร์ (ประมาณห้าไร่) ขึ้นไป หรือมีทรัพย์สินเสียหายตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไป (โดยต้องมีหนึ่งชิ้นเป็นทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย) อันมีสาเหตุมาจาก
    ก) การไหลล้นของน้ำในแผ่นดิน หรือกระแสน้ำขึ้นน้ำลง หรือ
    ข) การสะสมอย่างรวดเร็ว และผิดปกติ หรือการไหลของน้ำบนพื้น
        ดิน (Surface Waters) จากแหล่งใด ๆ หรือ
ค) การไหลของน้ำโคลน หรือ
2. การยุบตัว หรือการเลื่อนทรุดของพื้นดินตามชายตลิ่งของทะเลสาป หรือแหล่งน้ำใด ๆ ที่คล้ายคลึงกัน อันเป็นผลเนื่องมาจากการกัดกร่อน หรือการเซาะทลายจากคลื่น หรือกระแสน้ำเกินกว่าระดับวงจรที่คาดการณ์ไว้ จนส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมดังที่กำหนดไว้ข้างต้น

เนื่องจากคำนิยามของภัยนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยของต่างประเทศค่อนข้างหลากหลาย มิได้มีการกำหนดไว้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ทำให้ก่อให้เกิดความสับสน และข้อพิพาทต่าง ๆ อย่างมากมาย ประเทศออสเตรเลียจึงได้พิจารณาเห็นสมควรให้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันเอาไว้ ถอดความได้ดังนี้
น้ำท่วม หมายความถึง การปกคลุมของน้ำบนพื้นที่แห้งโดยทั่วไป ซึ่งน้ำนั้นไหลเล็ดลอด หรือถูกปล่อยมาจากพื้นที่กักเก็บโดยทั่วไปของ ทะเลสาป หรือแม่น้ำ ลำธาร หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติอื่นใด ไม่ว่าจะได้มีการแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนใด ๆ เอาไว้หรือไม่ก็ตาม หรือจากแหล่งกักเก็บน้ำ ลำคลอง หรือเขื่อนกักน้ำใด ๆ

เราลองมาดูตัวอย่างคดีข้อพิพาทในประเด็นนี้ที่ต่างประเทศกัน

คดีที่ไม่ได้กำหนดคำนิยามในกรมธรรม์ประกันภัย

ในคดี Young v Sun Alliance and London Insurance Limited (1976) 3 AII ER 561 ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า “น้ำท่วม” ในความหมายของการประกันภัยบ่งชี้ถึง “การเคลื่อนตัว หรือการระเบิดตัวของน้ำจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่ผิดปกติ และรุนแรง การไหลซึมของน้ำจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำนั้น มิได้เกิดความรุนแรง หรือความผิดปกติดังกล่าว” จึงไม่ถือเป็นภัยน้ำท่วมที่จะได้รับความคุ้มครอง ถึงแม้ผู้เอาประกันภัยมองว่า เกิดน้ำท่วมพื้นแล้ว

ต่อมาในคดี Rohan v Cunningham Insurance [1998] NPC 14 ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่า การบุกเข้ามาของน้ำที่สะสมบนพื้นดาดฟ้าจากฝนที่ตกหนัก มิใช่เป็นเพียงการไหลซึม แต่ถือเป็นน้ำท่วมตามความหมายของการประกันภัย เนื่องจากทำให้เกิดน้ำท่วมในอาคารที่ระดับความสูง 3 – 4 นิ้ว โดยศาลเห็นว่า การสะสมของน้ำจำนวนมากอย่างรวดเร็วจากภายนอกเข้ามา ถือเป็นความรุนแรงแล้ว และไม่จำต้องเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างเดียว ทั้งน้ำท่วมไม่จำต้องเกิดขึ้นในระดับพื้นดินก่อนด้วย

คดีที่ได้กำหนดคำนิยามไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

คดี Elilade Pty Ltd v Nonpareil Pty Ltd (2002) 124 FCR 1 ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1998 ได้เกิดลมมรสุมหลายลูกพัดถล่มในพื้นที่ แม้ผู้เอาประกันภัยได้นำถุงทรายมากั้นไว้ แต่น้ำก็ไหลเข้าไปในสถานประกอบการของผู้เอาประกันภัยในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 26 จนสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ เรียกว่า น้ำท่วมระลอกแรก

ครั้นวันที่ 27 น้ำในแม่น้ำก็เอ่อล้น ไหลเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยอีก เป็นระลอกที่สอง

กรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยรายนี้ระบุคุ้มครองถึงลม และ/หรือน้ำด้วย (Wind and/or Water) แต่กลับระบุไม่รวมถึงภัยน้ำท่วม ไม่ว่ามีสาเหตุใดก็ตาม โดยคำว่า “น้ำท่วม” หมายความถึง “การท่วมนองของน้ำบนพื้นที่แห้งโดยทั่วไป จากน้ำที่ไหลล้นมาจากพื้นที่กักเก็บโดยทั่วไปของแหล่งน้ำ หรือทะเลสาปใด ไม่ว่าจะได้มีการแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนใด ๆ เอาไว้หรือไม่ก็ตาม หรือจากแหล่งกักเก็บน้ำ ลำคลอง หรือเขื่อนกักน้ำใด ๆ

บริษัทประกันภัยยอมรับผิดชอบในความเสียหายจากน้ำท่วมระลอกแรก

บริษัทประกันภัยปฎิเสธสำหรับน้ำท่วมระลอกที่สอง เพราะทั้งสถานที่เอาประกันภัย และบริเวณโดยรอบมิใช่ “พื้นที่แห้งโดยทั่วไป” ทั้งยังเกิดจากน้ำที่ไหลล้นจาก “พื้นที่กักเก็บโดยทั่วไปของแหล่งน้ำตามธรรมชาติ” อีกด้วยตามคำนิยาม

แต่ศาลในคดีนี้ เห็นแย้ง เนื่องจากคำว่า “พื้นที่แห้งโดยทั่วไป” ควรตีความตามสภาพที่เป็นอยู่โดยทั่วไปมากกว่าที่จะมองเพียงสภาพที่ผิดปกติชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

หากมองว่า น้ำท่วมทั้งสองระลอกเป็นสาเหตุใกล้ชิดในลักษณะพ้องกัน (เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน) ตามหลักสาเหตุใกล้ชิดลักษณะนี้ ถ้ามีภัยที่คุ้มครองกับภัยที่ยกเว้นเกิดขึ้นพร้อมกัน ถือว่า ไม่ได้รับความคุ้มครองเลยทั้งหมด

แต่จากข้อมูล น้ำท่วมระลอกแรกเกิดขึ้นก่อนหลายชั่วโมงแล้ว น้ำท่วมระลอกที่สองเข้ามาทีหลังมีระดับน้ำที่สูงกว่าระลอกแรก ถือว่า ความเสียหายจากน้ำระลอกแรกสิ้นสุดลงในเวลาที่น้ำท่วมระลอกสองเข้ามา ศาลจึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบเพียงในกรณีน้ำท่วมระลอกแรกเท่านั้น  

คดี Kish v. Insurance Co. of North America, 125 Wn.2d 164, 883 P.2d 308 (1994) บ้านของผู้เอาประกัน ภัยตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้แอ่งน้ำ เมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันส่งผลทำให้ระดับน้ำในแอ่งน้ำเพิ่มสูงขึ้น จนในที่สุดเอ่อล้นพนังกั้นน้ำ และไปทำความเสียหายแก่บ้านของผู้เอาประกันภัย ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัยของผู้เอาประกันภัยจะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เป็นผลทั้งโดยทางตรงกับโดยทางอ้อมจากน้ำท่วม และน้ำบนพื้นผิว ซึ่งผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า ต้นเหตุเกิดจากน้ำฝน อันเป็นภัยที่คุ้มครอง

ศาลเห็นว่า หากตีความถ้อยคำว่า “น้ำฝน” กับ “น้ำท่วม” ด้วยความหมายปกติที่คนทั่วไปเข้าใจแล้ว คนทั่วไปจะเข้าใจคำว่า “น้ำท่วม” หมายความรวมถึงน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำฝนด้วย ซึ่งถือเป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ก่อให้เกิดความเสียหาย คือ น้ำฝนทำให้เกิดน้ำท่วม ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงไม่อยู่ในความคุ้มครอง อนึ่ง ตัวผู้เอาประกันภัยเองก็รับทราบดีว่า ตนเองอาศัยอยู่แนวเส้นทางน้ำท่วม การที่ยังไม่เคยถูกน้ำท่วมมาเลย มิได้ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งผู้เอาประกันภัยรับทราบอยู่แล้วในเวลาที่ทำประกันภัยว่า มิได้ให้ความคุ้มครองถึงน้ำท่วมด้วย การที่พยายามโต้แย้งต้นเหตุเกิดจากน้ำฝนนั้น จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ และความคาดหวังของคู่สัญญาประกันภัย  

คดีพิพาทเรื่องน้ำท่วม แม้จะอาศัยพจนานุกรม หรือกำหนดคำนิยามไว้อย่างไรก็ตาม คงไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างหมดจด เพราะข้อความจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป บางครั้ง ในกรมธรรม์ประกันภัยอาจใช้เพียงคำว่า “ความเสียหายจากน้ำ (Water Damage)” ให้ความหมายกว้างไปเลย ครอบคลุมทั้งภัยน้ำท่วมกับภัยเนื่องจากน้ำในคราวเดียวกัน เนื่องจากโดยปกติแล้ว บริษัทประกันภัยมักจะแยกความหมายภัยน้ำท่วมให้เป็นน้ำจากภายนอกเข้ามาสถานที่เอาประกันภัย ส่วนภัยเนื่องจากน้ำให้เป็นน้ำที่เกิดขึ้นภายในสถานที่เอาประกันภัย ก็อาจช่วยลดข้อโต้แย้งได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 เคยได้ยินข่าวว่า ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ตนเองไม่ทราบว่า สามารถเลือกซื้อความคุ้มครองได้ เนื่องจากได้ทำประกันภัยผ่านคนกลางประกันภัย เมื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยไม่ได้ จะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากคนกลางประกันภัยได้หรือไม่? โทษฐานไม่แนะนำให้ซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติม คุณคิดว่า ยังไงบ้างครับ? คนกลางประกันภัยจำต้องรับผิดหรือไม่ อย่างไร? นี่คือ เรื่องราวที่เราจะคุยกันต่อในครั้งต่อไป