วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 23 : ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ชัดเจน หรือยังสับสนกันอยู่

(ตอนที่สอง)



ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ดังที่ยกตัวอย่างทั้งสองกรณีนั้น ประเด็นปัญหาข้อพิพาทส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักจะเกิดในกรณีแรกมากกว่าในกรณีหลัง 

งั้นเรามาคุยกันถึงกรณีหลังกันก่อน การที่ภัยที่คุ้มครองเกิดก่อน แล้วส่งผลทำให้เกิดภัยที่ยกเว้นตามมานั้น ดังตัวอย่าง อาจถูกทักท้วงได้ คำว่า “อุบัติเหตุ” ที่กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองต้องเกิดโดยฉับพลันเท่านั้น แต่การเกิดราที่ติดตามมา ไม่เห็นจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน เพราะกว่าเชื้อราจะพัฒนาตัวมันเองได้ จำต้องใช้เวลาพอสมควร มันน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้วหรือเปล่า ถ้ามองว่า ถ้าไม่มีน้ำที่ก่อให้เกิดความชื้น เชื้อราก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น การเกิดราจึงเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายเนื่องจากน้ำนั่นเอง เพียงแต่อาจใช้เวลาในการพัฒนาตนเองบ้างกว่าจะมองเห็นได้ด้วยสายตา ซึ่งเป็นเหตุที่ต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน เหมือนอย่างที่ผมเคยโดนคำถามว่า ความเสียหายเนื่องจากน้ำถือเป็นอุบัติเหตุนั้น พิจารณาจากน้ำหยดแรก หรือน้ำหยดสุดท้ายที่รวมตัวสะสมกันมากแล้ว หรือกรณีน้ำท่วมจากเหตุฝนตกหนัก จะนับตั้งแต่น้ำฝนเม็ดแรก หรือน้ำฝนที่สะสมกันอยู่บนพื้นจนเป็นมวลน้ำแล้ว หรือกระทั่งเหตุไฟไหม้ กว่าจะลุกไหม้ขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยการสะสมความร้อนจนถึงจุดวาปไฟก่อน ทั้งหมดนี้ เราคงพอสังเกตุได้ว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันจนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมาได้ แน่นอนว่า น้ำหยดแรก หรือความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น อาจจะยังไม่สามารถสร้างความเสียหายขึ้นมาได้อย่างทันทีทันควัน 

ดังนั้น จึงเกิดทฤษฏีการตีความว่า เราจะยึดวันที่เกิดเหตุ หรือวันที่เสียหายเป็นเกณฑ์ เพราะทั้งสองวันอาจไม่ใช่เป็นวันเวลาเดียวกันก็ได้ ถ้าแตกต่างกัน
ก) หากวันที่เกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาเอาประกันภัย แต่วันที่เสียหาย 
    เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกันภัยไปแล้ว หรือ
ข) ถ้าวันที่เกิดเหตุเกิดขึ้นมาก่อนระยะเวลาเอาประกันภัย แต่วันที่เสีย
    หายอยู่ในระยะเวลาเอาประกันภัยพอดี    

เราจะยึดถือวันใดเป็นเกณฑ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องชวนคิด และเป็นปัญหามากพอสมควร โดยเฉพาะกับการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองถึงชีวิตร่างกาย กับความรับผิดตามกฎหมาย แล้วจะนำมาให้คุยให้ฟังภายหลังครับ

สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินแล้ว ผมขออ้างอิงถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 869 ที่ให้ความหมายว่า “วินาศภัย” หมายความรวมถึงความเสียหายซึ่งประเมินเป็นเงินได้ ประกอบกับมาตรา 882 ที่กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้สองปีนับแต่วันวินาศภัย ซึ่งก็คือ วันที่เสียหายนั่นเองครับ

คราวหน้า เราจะเข้าสู่ประเด็นปัญหาในกรณีแรกของความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) กันครับ

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 23 : ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ชัดเจน หรือยังสับสนกันอยู่

(ตอนที่หนึ่ง)



เราได้ทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) กับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) กันไปบ้างแล้ว

ครั้งนี้ เราจะมาคุยกันเพิ่มเติมในเรื่องความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ว่า มีแนวทางในการพิจารณาใช้กันอย่างไรบ้าง? เพราะในทางปฎิบัติ โดยเฉพาะในต่างประเทศค่อนข้างสับสนในการตีความ และการใช้บังคับกันอยู่เยอะมาก เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ในบ้านเรา ผมเองต้องค้นคว้า รวบรวมบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่านทำความเข้าใจ ซึ่งก็ยอมรับว่า กว่าจะจับประเด็นได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ โดยจะทยอยนำมาลงเป็นตอน ๆ 

ก่อนอื่นคงต้องมาพูดถึงวิวัฒนาการของการเกิดข้อบังคับเรื่องความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองซานฟรานซิสโก ปี ค.ศ. 1906 เหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้น ส่งผลทำให้เกิดไฟลุกไหม้หลายแห่ง เป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากระบบน้ำประปาได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอในการดับไฟ ไฟไหม้คราวนั้นกินเวลานานสามวันกว่าจะสงบลงไปได้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินอย่างมหาศาล 

ในแง่ของการประกันภัย ผู้คนส่วนใหญ่สมัยนั้นเพียงทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอาไว้ ซึ่งในเงื่อนไขความคุ้มครองก็คล้ายคลึงกับของเราในปัจจุบันที่ระบุคุ้มครองไฟไหม้ แต่ไม่คุ้มครองความเสียหายของไฟไหม้ที่เป็นผลมาจากการเกิดภัยแผ่นดินไหว ผลของเงื่อนไขนี้ทำให้ผู้เอาประกันภัยนับไม่ถ้วนไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเป็นการตีความโดยอาศัยหลักสาเหตุใกล้ชิด เนื่องจากภัยไฟไหม้ที่เป็นผลมาจากภัยแผ่นดินไหวได้ถูกระบุยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย จึงถือว่า ภัยที่ยกเว้นเกิดขึ้นมาก่อน (ภัยแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดไฟไหม้) แล้วตามมาด้วยภัยที่คุ้มครอง (ภัยไฟไหม้) ซึ่งเป็นเหตุที่ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอน อันส่งผลทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้นพลอยไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยรายที่ได้ซื้อขยายภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมไว้แล้วเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลสูงแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียจำต้องตีความให้ข้อยกเว้นนี้ไม่มีผลใช้บังคับ โดยตัดสินให้บริษัทประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยเฉพาะรายที่มิได้ซื้อภัยแผ่นดินไหวเอาไว้ ต่อมา เมื่อภาครัฐได้ตรากฎหมายห้ามการบังคับใช้ข้ออ้างดังกล่าว บริษัทประกันภัยจึงได้ร่างข้อบังคับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ขึ้นมานับแต่บัดนั้น

ในทางปฎิบัติแล้ว ข้อบังคับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) นี้นิยมใช้บังคับกับกรมธรรม์ประกันภัย แบบสรรพภัยมากกว่าแบบระบุภัย แม้จะถูกนำมาใช้บังคับนานแล้ว แต่ก็ยังมีความสับสน ไม่ชัดเจนอยู่บ่อยครั้ง ศาลต่างประเทศเองก็มีแนวทางในการนำมาใช้บังคับหลากหลายทฤษฎี หลากหลายมุมมอง 

เราลองมาทบทวนข้อความของความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) กันอีกครั้ง ซึ่งมักระบุดังนี้

1) หากภัยที่ยกเว้นคุ้มครองเกิดก่อน แล้วส่งผลทำให้เกิดภัยที่คุ้ม
    ครองติดตามมา ภัยที่คุ้มครองนั้นจะได้รับความคุ้มครอง

    ยกตัวอย่าง หากหลังคาที่ติดตั้งไม่ดีระหว่างก่อสร้าง อันเกิดจาก
    ฝีมือแรงงานที่บกพร่อง ทำให้น้ำฝนสามารถไหลเข้ามาสร้าง
    ความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ในอาคารนั้นได้ 
    แม้ภัยฝีมือแรงงานที่บกพร่องจะอยู่ในภัยที่ยกเว้น แต่ภัยเนื่องจาก
    น้ำเป็นภัยที่คุ้มครอง ฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปียก
    น้ำฝนซึ่งติดตามมา ก็จะได้รับความคุ้มครอง

2) หากภัยที่คุ้มครองเกิดก่อน แล้วส่งทำให้เกิดภัยที่ยกเว้น ภัยที่ยก
    เว้นนั้นจะพลอยได้รับความคุ้มครองไปด้วย

    ยกตัวอย่าง ท่อน้ำแตก ทำให้เกิดน้ำรั่วไหลออกมาทำให้ทรัพย์สิน
    ที่เอาประกันภัยเสียหาย และต่อมาเกิดขึ้นรา แม้การขึ้นราเป็นภัยที่
    ยกเว้น แต่ถือเป็นผลโดยตรงซึ่งติดตามมาจากภัยเนื่องจากน้ำซึ่ง
    เป็นภัยที่คุ้มครอง ก็ทำให้ภัยที่ยกนั้นพลอยได้รับความคุ้มครองไป
    ด้วย 

อ่านดูแล้ว เสมือนเข้าใจได้ง่าย ไม่น่าจะซับซ้อนอะไร คุณเห็นว่าอย่างนั้นหรือเปล่าครับ? 

แล้วเราจะมาคุยกันต่อในคราวหน้าครับ
 

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 22 :สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) กับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) สองคำนี้เหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร?



พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามคำว่า “สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) หมายความถึง “ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง หรือเป็นเหตุต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนที่ทำให้เกิดความเสียหาย” 

อย่างที่เราคุยกันไปแล้ว ในการพิจารณาสาเหตุใกล้ชิดจะอาศัยสองปัจจัยประกอบ คือ

1)  ภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย (ก) ภัยที่ระบุคุ้มครอง (ข) ภัยที่ระบุยกเว้น และ (ค) ภัยที่ไม่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเลย

2)  ลักษณะของเหตุการณ์ อันประกอบด้วย (1) เหตุการณ์ที่มีหลายภัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน (2) เหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง แต่มีภัยอื่นเข้ามาสอดแทรก และ (3) เหตุการณ์ที่มีหลายภัยเกิดขึ้นพร้อมกัน

โดยหลักการ เมื่อสังเกตุในกรมธรรม์ประกันภัย แบบระบุภัย ถึงแม้จะมีภัยที่ระบุคุ้มครองน้อย แต่ก็มีภัยที่ระบุยกเว้นน้อยด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดภัยที่ไม่ได้ระบุไว้มากขึ้น เพราะหากภัยที่ระบุคุ้มครองจับคู่กับภัยที่ไม่ได้ระบุไว้ ต่างมีโอกาสช่วยสนับสนุนกันมากกว่า ไม่เหมือนกับไปจับคู่กับภัยที่ระบุยกเว้น มีแต่จะไปลดทอนความคุ้มครองลง

แตกต่างกับกรมธรรม์ประกันภัยแบบแบบสรรพภัย ซึ่งประหนึ่งจะให้ความคุ้มครองมากกว่า แต่ภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะเหลือเพียงภัยที่ระบุคุ้มครอง (พูดว่า “คุ้มครองอุบัติภัยทุกอย่างที่ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น” เพียงแต่มิได้ระบุเจาะจงภัยลงไปอย่างชัดเจน) กับภัยที่ระบุยกเว้น เท่านั้น จึงดูเสมือนหนึ่งในการพิจารณาสาเหตุใกล้ชิดของกรมธรรม์ประกันภัยแบบสรรพภัยแล้ว จะให้ความคุ้มครองที่น้อยกว่าแบบระบุภัย เนื่องจากมีข้อยกเว้นเยอะมาก 

ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัยยังคงให้ความคุ้มครองกว้างกว่าแบบระบุภัย ผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องร่างข้อยกเว้นซ้อนอยู่ในข้อยกเว้นอีกที เพื่อทำให้ข้อยกเว้นบางส่วนกลับมามีความคุ้มครองในบางกรณี ด้วยการใช้คำว่า “ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss)” ให้ทำหน้าที่เช่นว่านั้น จึงเกิดคำถามในใจว่า คำนี้สื่อความหมายเหมือน หรือแตกต่างกับสาเหตุใกล้ชิดที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างไร?

ขณะที่เขียนยังไม่เห็นความหมายภาษาไทยเป็นทางการ แต่ Merriam Webster Online Dictionary ให้ความหมายของคำว่า “Ensuing” หมายความถึง “to take place afterwards or as a result (เกิดขึ้นตามมา หรือเป็นผลมาจาก) ซึ่งให้ความหมายสองลักษณะ คือ ลักษณะแรกที่บอกว่า “เกิดขึ้นตามมา” นั้น เพื่อสื่อว่า ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ในอันที่จะคุ้มครองนั้น จะติดตามมาจากภัยที่ระบุยกเว้น ดังตัวอย่างในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานภาษาไทย ซึ่งระบุในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังนี้

1.  ความเสียหาย อันเกิดจาก 
  1.1 ความผิดพลาดหรือความบกพร่องจากการออกแบบ การใช้
       วัสดุ หรือฝีมือแรงงาน
  …………………………………..
   อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.1 ถึง 1.3 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

ส่วนความหมายที่สอง สื่อความหมายว่า ภัยที่ระบุยกเว้นเป็นผลมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง คือ ภัยอื่นที่คุ้มครองต้องเกิดก่อนนั่นเอง บางครั้งเรียกว่า “resulting loss” ดังตัวอย่าง

      1.4  การพังทลายหรือการแตกร้าวของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง 
              กำแพง รั้ว
       ………………………………….
       อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายตามข้อ 1.4 และ 1.5 หากเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าว อันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

หรือประกอบด้วยทั้งสองความหมายไปเลย ดังตัวอย่าง

      ..............................................
       1.9  การร้าว การแตก การยุบแฟบ หรือการได้รับความร้อนเกิน
              ขนาดของหม้อกำเนิดไอน้ำ อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อ
              เพลิง (Economisers) หรือถังเก็บความดัน หลอดหรือท่อ 
              หรือการรั่วไหลของชิ้นส่วนปล่อยความดันหรือระบายไอน้ำ
              หรือความบกพร่องของรอยเชื่อมของหม้อกำเนิดไอน้ำ
              ........................................................
       อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.6 ถึง 1.11 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้  หรือความเสียหายตามข้อ 1.6 ถึง 1.11 นั้นเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าวอันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

ศาลสูงในประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำอธิบายประเด็นเรื่องความเหมือน หรือความแตกต่างระหว่างสองคำนี้ไว้ในคดี Vision One, LLC v. Philadelphia Indemnity Insurance Company (Washington, May 17, 2012)
 
โดยเริ่มต้นที่สื่อความหมายทั้งสองของความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินแบบสรรพภัย ลักษณะที่สื่อความหมายเป็นผลที่มาจากนั้น เป็นการจำกัดผลกระทบของข้อยกเว้นลงไป เมื่อภัยที่ระบุยกเว้นเป็นผลโดยตรงมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง ขณะที่อีกสื่อความหมายเป็นกรณีเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยระบุไม่คุ้มครองความเสียหายที่มีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากภัยที่ระบุยกเว้นไว้ แต่ความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง จะยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ อันเป็นการจำกัดข้อยกเว้นให้แคบลง ดูแล้วยังสับสนอยู่ ศาลจึงยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้

สมมุติผู้รับเหมาวางระบบไฟฟ้าในบ้านผิดพลาด จนทำให้เกิดไฟลุกไหม้เสียหายแก่ตัวบ้านที่เอาประกันภัย โดยในกรมธรรม์ประกันภัยบ้านแบบสรรพภัย มีข้อยกเว้นสาเหตุจากความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) แต่ก็มีเงื่อนไขความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครองด้วย ดังนั้น ภัยไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจึงได้รับคุ้มครอง เว้นเสียแต่ส่วนของงานวางระบบไฟฟ้าที่ผิดพลาดนั้น และค่าใช้จ่ายในการปรับแก้ไขงานผิดพลาดนั้นด้วยที่คงยกเว้นอยู่  

ในการพิจารณา อะไรคือ “สาเหตุโดยอ้อม” กับ “ผลโดยตรง” นั้น ศาลแนะนำให้อ่านถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยอย่างถี่ถ้วน และตรงตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่าย พร้อมเสริมอีกว่า กรมธรรม์ประกันภัยแบบสรรพภัยนั้น จะคุ้มครองอุบัติภัยทุกอย่างที่มิได้อยู่ในข้อยกเว้น ซึ่งให้ภาพภัยที่คุ้มครองกว้างขวางมาก  

สมมุติงานก่อสร้างที่ผิดพลาดทำให้ความชื้นจากสภาวะอากาศแทรกซึมเข้าไปในตัวอาคาร แล้วไปก่อสนิมแก่อุปกรณ์ที่เป็นเหล็ก ถ้าปราศจากความชื้นในอากาศ ก็จะไม่ส่งผลทำให้อุปกรณ์เหล็กขึ้นสนิมได้ พูดได้ไหมว่า ในข้อยกเว้นมิได้ระบุถึง “อากาศ” (ระบุยกเว้นเพียงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ) หรือการก่อสร้างคานไม่ดี ทำให้คานหลุดลงมาโดนพื้นได้รับความเสียหาย พูดได้ไหมว่า เป็นเพราะสาเหตุของ “แรงโน้มถ่วง” ซึ่งมิได้ถูกยกเว้นเอาไว้ต่างหาก เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมา

ตัวอย่างกรณีหลังที่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ โดยกรมธรรม์ประกันภัยของ Vision One ผู้เอาประกันภัย ได้ระบุยกเว้น “ความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) ซึ่งโครงการก่อสร้างที่เอาประกันภัยเสียหายจากการพังลงมาของแผ่นกำแพงคอนกรีต และพื้นคอนกรีต โดยเป็นผลเกี่ยวข้องจากฝีมือแรงงานที่ผิดพลาดของผู้รับเหมาในส่วนงานนี้ เช่นนี้ การพังทะลาย (collapse) ถือเป็นความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครองหรือไม่? หรือมีสาเหตุมาจากฝีมือแรงงานที่ผิดพลาดซึ่งตกอยู่ในข้อยกเว้นกันแน่?

ศาลสูงวินิจฉัยว่า การพังทะลาย (collapse) ถือเป็นความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง เนื่องด้วยในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดยกเว้นเอาไว้ ทั้งเชื่อว่า น่าเป็นเจตนารมณ์ที่จะให้ความคุ้มครองระหว่างคู่สัญญาประกันภัยด้วย

แต่ Philadelphia Indemnity Insurance Company บริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า หากพิจารณาโดยอาศัยสาเหตุใกล้ชิด จำต้องค้นหาความจริงให้แน่ชัดก่อนว่า สาเหตุมาจากความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) หรือความบกพร่องจากการออกแบบ (defective design) กันแน่ เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่พิพาทกันนี้ ในข้อยกเว้นเรื่องความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) มีเงื่อนไขความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง ขณะที่เรื่องความบกพร่องจากการออกแบบ (defective design) กลับไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อจะได้สามารถวิเคราะห์ถึงผลที่แตกต่างกันได้

แต่ศาลปฎิเสธ พร้อมให้ความเห็นว่า สาเหตุใกล้ชิดไม่มีผลใช้บังคับในกรณีนี้ จะใช้บังคับเพียงเมื่อมีภัยตั้งแต่สองภัยขึ้นไปเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน หรือพร้อมกันจนทำให้เกิดความเสียหาย โดยมีภัยที่ระบุคุ้มครองเป็นเหตุที่ส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายนั้นด้วย แม้จะมีภัยที่ระบุยกเว้นเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำพิพากษาคดีหนึ่งเท่านั้น ปัญหาของสาเหตุใกล้ชิดกับความเสียหายที่ติดตามมายังก่อความสับสนไม่จบ เราต้องคุยกันในคราวต่อไปแล้วล่ะครับ




วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 21 : พายุฝนฤดูร้อน - ทั้งลมพายุ ฝนตก ฟ้าผ่า และลูกเห็บเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ประกันภัยคุ้มครองอย่างไร?

(ตอนที่สาม)

ตอนนี้ เราลองนำความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไปมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะให้ความคุ้มครองพื้นฐานสามภัย ดังนี้
"หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เนื่องจาก
        1) ไฟไหม้ แต่ไม่รวมถึงความเสียหาย
            1.1 จากแรงระเบิด อันเป็นผลมาจากไฟไหม้ เว้นแต่แรง
                  ระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์
                  เพื่อการอยู่อาศัย
             1.2 โดยตรง หรือโดยอ้อมจากแผ่นดินไหว
             1.3 ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดจาก
                   1.3.1 การบูดเน่า หรือการระอุตามธรรมชาติ หรือการ
                           ลุกไหม้ขึ้นเอง เฉพาะที่เกิดจากตัวทรัพย์สินนั้น
                           เองเท่านั้น หรือ
                   1.3.2 การที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในระหว่างกรรมวิธีใด ๆ 
                           ซึ่งใช้ความร้อน หรือการทำให้แห้ง
       2) ฟ้าผ่า
       3) แรงระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์
เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงความเสียหายจากการระเบิดของแก๊สจากแผ่นดินไหว
       4) ความเสียหายเนื่องจากภัยเพิ่มพิเศษ ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย"

ภัยคุ้มครองพื้นฐานทั้งสามภัยในข้อที่ 1), 2) และ 3) แทนค่าด้วย A

ภัยที่ยกเว้นในข้อที่ 1.1, 1.2, 1.3.1 และ 1.3.2 แทนค่าด้วย B

ภัยที่ไม่ได้ระบุไว้ รวมถึงในข้อ 4) ด้วย ได้แก่ ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลูกเห็บ ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยยวดยาน ภัยอากาศยาน ฯลฯ แทนค่าด้วย C

1) ลักษณะเหตุการณ์ต่อเนื่องไม่ขาดตอนแบบโดมิโน
     ก) ภัยที่คุ้มครองเกิดก่อน
            เกิดไฟไหม้ (A) ขนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหนี แล้วถูก
         ขโมย (C)
            คุ้มครองทั้งหมด
         เกิดไฟไหม้ (A) ส่งผลทำให้สารเคมีระเบิด (B)
            คุ้มครองเฉพาะไฟไหม้
          เกิดไฟไหม้ (A) ส่งผลทำให้สารเคมีระเบิด (B)
          ขนของหนี แล้วถูกขโมย (C)
            คุ้มครองเฉพาะไฟไหม้ กับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งถูก
            ขโมย 
      ข) ภัยที่ยกเว้นเกิดขึ้นก่อน
          ไม่ว่าจะตามด้วยภัยอะไรก็ตาม ล้วนไม่คุ้มครองทั้งหมด

          แผ่นดินไหว ทำให้เกิดไฟไหม้ (B) + (A) ดังระบุในข้อ 1.2
          เว้นแต่จะเขียนไว้เป็นอย่างอื่น ในข้อ 1.3.1 การระอุทำให้เกิด
          ไฟไหม้ ถ้าลามไปถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น จะไม่คุ้ม
          ครองเฉพาะตัวที่เป็นต้นเหตุ ส่วนที่ลุกลามมาจะได้รับความ
          คุ้มครอง 
      ค) ภัยที่ไม่ได้ระบุเกิดขึ้นก่อน
          รถบรรทุกพุ่งชนร้านค้า (C) เกิดระเบิด (C) ทำให้เกิดไฟไหม้ 
          (A)
            ร้านค้าที่เอาประกันภัย คุ้มครองเฉพาะส่วนที่ถูกไฟไหม้ 
            ส่วนที่ถูกระเบิดไม่คุ้มครอง แต่ถ้าแยกส่วนที่ถูกระเบิดไม่
            ได้ เพราะถูกไฟไหม้ทั้งหมด ก็คุ้มครองทั้งหมด    
          รถบรรทุกพุ่งชนร้านค้า (C) เกิดระเบิด (C) แต่ไม่มีไฟไหม้
            ร้านค้านั้นไม่ได้รับความคุ้มครอง
2) ลักษณะมีภัย หรือเหตุอื่นเข้าสอดแทรก 
     เกิดไฟไหม้ (A) ขนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหนี แล้วถูกรถยนต์
     คันอื่นวิ่งมาชนทรัพย์สินนั้น (C) 
         ความเสียหายจากรถชนนั้นเป็นเหตุอื่นที่เข้ามาสอดแทรก และ
         เป็นผลโดยตรงจากการถูกรถชน มิใช่มีต้นเหตุต่อเนื่องมาจาก
         ไฟไหม้ เว้นแต่รถคันนั้นเป็นรถที่เข้ามาช่วยดับเพลิง หรือช่วย
         ขนของหนี     
3) ลักษณะมีหลายภัยเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน
    ก) ไม่มีภัยที่ยกเว้นเข้ามาเกี่ยวข้อง

         พายุฤดูร้อน (C) ทำให้ฝนตก (C) ฟ้าผ่า (A) และลูกเห็บตก 
        (C)
          ร้านค้าที่เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองเฉพาะฟ้าผ่าเท่า
          นั้น  
    ข) มีภัยที่ยกเว้นเข้ามาเกี่ยวข้อง
        พายุฤดูร้อน (C) ทำให้ฝนตก (C) น้ำฝนเอ่อล้นจากรางน้ำไหล
        เข้าข้างใน (B)
          ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายในบ้านที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับ
          ความเสียหายจากน้ำฝน แม้บ้านจะคุ้มครองทั้งภัยลมพายุ 
          และภัยเนื่องจากน้ำก็ตาม แต่ตัวบ้านมิได้รับความเสียหาย
          จากลมพายุจนทำให้น้ำฝนไหลเข้าไปได้ ทั้งภายใต้ภัยเนื่อง
          จากน้ำระบุคุ้มครองเฉพาะกรณีน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายใน
          อาคารจากการเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบ
          ประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำ หรือรางน้ำ
          เท่านั้น นั่นหมายความว่า หากรางน้ำมิได้เสียหาย จึงถือเป็น
          กรณียกเว้น อันส่งผลทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายใน
          บ้านหลังนั้น จึงไม่ได้รับความคุ้มครองดังกล่าว

แนวทางวิเคราะห์หลักสาเหตุใกล้ชิดนี้ คงช่วยทำให้สามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาได้บ้าง แต่ทั้งนี้ คงขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ และมุมมองในการตีความของศาล ซึ่งอาจส่งผลทำให้ได้ผลสรุปที่แตกต่างกันไปได้ เพราะกระทั่งในต่างประเทศ ก็ยังมีคดีข้อพิพาทกันอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด