วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 227 : อากาศเสีย (Poor Air Quality) ใช่ความเสียหายทางกายภาพ (Physical Damage) ที่บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดไหม?

 

เราเคยคุ้นชินกับความเสียหายทางกายภาพ (physical damage) ที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านรูปร่าง (change or alteration towards structure or appearance) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจนรู้สึกปกติธรรมดาไปแล้ว

 

เราอาจเคยรู้สึกแปลกใจไปบ้าง เมื่อได้รับฟังถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านกลิ่น (odor) ที่มีต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเคยเล่าสู่กันฟังหลายเรื่องแล้ว

 

แต่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านสภาพอากาศ (air quality) นี่นะ

 

เชื่อว่า หลายท่านอาจร้องอุทานด้วยความตกใจ ล้อกันเล่นหรือเปล่า? ใช่เรื่องจริงไหม? แล้วจะเป็นไปได้ยังไง?

 

คำเฉลยจะอยู่ในสิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ครับ

สมาคมผู้ชื่นชมบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ (Oregon Shakespeare Festival Association) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไรแห่งรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดดำเนินการแสดงดังกล่าวให้แก่ประชาชนผู้เป็นแฟนประจำได้รับชมตามตารางเวลาอย่างสม่ำเสมอ โดยมีอาคารโรงละครอยู่ทั้งหมดสามหลัง สองหลังแรกเป็นอาคารปิดตามปกติทั่วไป ขณะที่หลังที่สามจะเป็นอาคารลักษณะกึ่งกลางแจ้ง คือ มีหลังคาปิดเฉพาะส่วนของเวทีเท่านั้น

 

สมาคมแห่งนี้ได้นำทรัพย์สินของตนไปจัดทำการประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัยควบคู่กับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสูญเสียรายได้ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

ช่วงฤดูร้อน คือ ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2013 ได้เกิดมีกลุ่มควันขนาดใหญ่จากไฟไหม้ป่าหลายจุดด้วยกัน ล่องลอยเข้ามาปกคลุมบริเวณโรงละครดังกล่าว โดยเฉพาะโรงละครที่สามจนก่อให้เกิดควัน คราบเขม่ากับเศษขี้เถ้ากระจายแทรกเข้าไปอยู่ตามที่นั่งพลาติก พื้นคอนกรีต ตลอดจนตัวอาคารทั้งภายนอก ภายใน รวมทั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การหมุนเวียนปรับสภาะอากาศกับการกรองอากาศ (Heating Ventilation & Air Conditiong – HVAC) ระบบไฟฟ้าแสงสีเสียง และระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จนส่งผลทำให้จำต้องตัดสินใจยกเลิกการแสดงตามตารางปกติของโรงละครที่สามซึ่งเป็นอาคารกึ่งเปิดโล่งดังกล่าวรวมสี่คืน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยแก่สุขภาพของพนักงาน นักแสดง และผู้เข้าชม

 

อนึ่ง การพิจารณาตัดสินใจยกเลิกตารางการแสดงปกติแต่ละรอบของคณะกรรมการของโรงละครนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลจากปัจจัยหลัก ดังนี้

 

ก) สภาพภูมิอากาศแต่ละวัน

ข) คำพยากรณ์สภาพภูมิอากาศล่วงหน้าของแต่ละวัน

ค) สุขภาพอนามัยของนักแสดง

 

โดยอาศัยการอ้างอิงเครื่องมือวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) ของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่รู้จักกันดีว่า ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เว้นแต่กรณีมีปริมาณมากจะดูคล้ายหมอก หรือควันปกคลุมอยู่ หากวัดได้คุณภาพอากาศที่ไม่ปลอดภัยเป็นอันตรายแก่สุขภาพ คณะกรรมการนั้นก็จะตัดสินใจยกเลิกล่วงหน้า สำหรับรอบการแสดงนั้น ๆ

 

นอกจากนี้ ยังอาศัยข้อมูลภายหลังจากการแสดงแต่ละรอบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจอีกด้วย

 

วันแรกกับวันที่สองที่มีการยกเลิกการแสดง ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ระดับร้ายแรงที่  400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

วันที่สามกับที่สี่ซึ่งมีการยกเลิกเช่นเดียวกัน ลดระดับลงมาอยู่ที่ 250 กับ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

 

แม้วันถัดมาจะคงยังมีระดับสูงเกินกว่าระดับความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก คือ อยู่ที่ไม่เกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ตาม คณะกรรมการก็ไม่ได้ตัดสินใจยกเลิกแต่ประการใด

 

กรณีเหล่านี้ได้เกิดเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล โดยมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

 

1) ผู้เอาประกันภัยโจทก์จะได้รับความคุ้มครองจากความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ โรงละครที่สามซึ่งมีลักษณะกึ่งเปิดโล่งจากควันของไฟป่าที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในทรัพย์สินนั้นจนส่งผลทำให้ไม่สามารถใช้งานทรัพย์สินนั้นได้อีกต่อไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่?

 

คู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่า ทรัพย์สินที่อยู่ ณ โรงละครที่สามเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่เห็นต่างกันในประเด็นเรื่องการแปลความหมายของถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทที่ระบุว่า “ความความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (direct physical loss or damage)” เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดคำนิยามเฉพาะเจาะจงเอาไว้  

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์หยิบยกความหมายของคำว่า “ทางกายภาพ” ตามพจนานุกรมทั่วไปมาแสดงว่า หมายความถึง วัตถุที่จับต้องได้ตามสภาพ หรือตามปกติทั่วไป (natural or material thing) ไม่ใช่สิ่งที่นึกคิดไปเองตามอารมณ์ความรู้สึก ฉะนั้น ควันจากไฟป่าได้สร้างความเสียหายแก่สิ่งตกแต่งภายในโรงละครนั้น ซึ่งรวมถึงอากาศ (air) ที่อยู่ภายในนั้นด้วย

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยโต้แย้งว่า อากาศไม่อาจเอาประกันภัยได้ เพราะไม่ถือเป็นทรัพย์สิน อีกทั้งก็ไม่ได้ข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่า อากาศที่อยู่ภายในนั้นจะถึงขนาดได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพจากการปนเปื้อน หรือการแทรกตัวได้

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ได้พยายามอธิบายชี้แจงอย่างเพียงพอที่จะทำให้ศาลรับฟังเข้าใจได้ว่า อากาศไม่มีสภาพทางกายภาพ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกแน่นอน ดั่งเช่น ความมีชื่อเสียง หรือมูลค่าทางการตลาด เป็นต้น

 

จริงอยู่ อากาศไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะพูดว่า อากาศไม่จัดเป็นทรัพย์สินได้เลยนั้นไม่ได้ (ทรัพย์สินอาจหมายความถึง วัตถที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่างก็ได้)

 

นอกจากนี้ ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยยังต่อสู้อีกด้วยว่า การเกิดความเสียหายทางกายภาพจะต้องมีลักษณะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่าง หรือรูปลักษณะแก่วัตถุด้วย จนถึงขนาดทำให้จำต้องทำการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทน เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิม มิฉะนั้นแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั้งสองฉบับก็ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้

 

ในที่นี้ อากาศตามที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์อ้างว่า เสียหายทางกายภาพแล้ว ก็ไม่ปรากฏจะต้องได้รับการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทนแต่ประการใด ซึ่งไม่ปรากฏมีถ้อยคำตรงจุดใดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทระบุไว้ หรือสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยเช่นนั้นอยู่เลย

 

คดีนี้ ไม่อาจโต้แย้งได้ว่า จะต้องมีการทำความสะอาดแก่ทรัพย์สินที่เสียหายทั้งภายนอก ภายในโรงละครที่สามดังกล่าว ด้วยการเปลี่ยนไส้กรองอากาศบ่อยครั้ง การเช็ดถูทำความสะอาด (ไม่มีการใช้น้ำยาเคมี) ทุกจุด โดยเฉพาะบริเวณที่เปิดโล่งซึ่งใช้เวลานานนับชั่วโมงก่อนจะเปิดการแสดงแต่ละรอบ

 

ส่วนข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยมากล่าวอ้างเพิ่มเติม อันได้แก่

 

1.1) การล่าช้า การขาดประโยชน์จากการใช้งาน และการสูญเสียตลาด

 

การแปลความหมายว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเสียหายจากภัยที่คุ้มครอง แล้วยังจะต้องตกอยู่ในข้อยกเว้นเรื่องกรณีข้างต้นนั้น ไม่น่าถูกต้อง และรับฟังได้ น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกอย่างอื่นมากกว่า เป็นต้นว่า ความไม่พร้อมของนักแสดง ทำให้การแสดงรอบนั้นต้องถูกเลื่อนเวลา ถึงจะเข้าข่ายในข้อยกเว้นนี้

 

1.2) ควันพิษ หรือควัน (smog or smoke)

 

ควันพิษจะปรากฏอยู่ในข้อยกเว้น แต่ไม่มีคำนิยามเฉพาะกำหนดไว้ ครั้นไปดูความหมายนี้ของพจนากรมทั่วไป ควันพิษจะหมายความรวมถึง ควัน ก็จะกลายเป็นว่า ควันทุกชนิดจะพลอยไม่ได้รับความคุ้มครองไปด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน

 

1.3) มลพิษ

 

เช่นเดียวกัน ศาลก็ไม่ยอมรับการแปลความหมายกว้างถึงขนาดนั้น

 

2) ควันเป็นอุบัติเหตุที่ส่งผลทำให้ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยโจทก์หยุดชะงักหรือเปล่า?

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยพยายามต่อสู้เพิ่มเติมว่า การยกเลิกรอบการแสดงเกิดขึ้นตามความประสงค์ด้วยความสมครใจของฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์เอง ไม่ได้บังเกิดจากสาเหตุของอุบัติภัย

 

ศาลไม่เห็นพ้องด้วย ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้แสดงพยานหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจนแล้วว่า อากาศภายในโรงละครนั้นถูกแทรกตัวอยู่จากควันของไฟป่าที่เกิดขึ้นหลายแห่ง ควันไม่อยู่ภายใต้สิ่งที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์จะสามารถจำกัดควบคุมได้ ทั้งอากาศที่อยู่ภายในนั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยแก่สุขภาพอนามัยแก่ผู้คนทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จำต้องยกเลิกรอบการแสดงเหล่านั้นลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

 

อนึ่ง ลักษณะโครงสร้างพิเศษของอาคารโรงละครแห่งนี้ ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยได้รับรู้ และยอมรับสภาพตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้พยายามที่จะจำกัด หรือวางกรอบการรับประกันภัยเป็นกรณีจำเพาะแต่ประการใด รวมถึงการเขียนถ้อยคำให้ชัดแจ้งกว่านี้ ซึ่งฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยอยู่ในสถานะที่จะกระทำได้อยู่แล้ว แต่กลับละเลย

 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ศาลจึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั้งสองฉบับ

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Oregon Shakespeare Festival Association v. Great American Insurance Co., 2016 WL 3267247)

 

หมายเหตุ

 

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ส่วนท่านใดจะเห็นพ้อง หรือเห็นต่าง สุดแล้วแต่ใจท่านครับ

 

เคยพยายามชี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เวลามีโอกาสบรรยายความรู้ด้านการประกันภัยต่าง ๆ

 

บริษัทประกันภัยมักระบุถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

ถ้าไปพลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดูจะพบว่า ทรัพย์สินนั้นมีความหมายกว้างขวางนัก

 

มาตรา 137 ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง

 

มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

 

ไม่เคยพบใครใช้คำว่า “ทรัพย์ที่เอาประกันภัย” บ้างเลย

 

แถมบางรายยังไปใช้คำว่า Real Property & Personal Property (อสังหาริมทรัพย์กับสังหาริมทรัพย์) เข้าไปอีก

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น